เปิดพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ'สุดซอย'

ศูนย์ข่าว TCIJ 3 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 4318 ครั้ง


ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....

คงเดิม-- มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ...."

คงเดิม-- มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

แก้ไขเป็น-- มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทำต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

คงเดิม-- มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้ที่กระทำการตามมาตรา 3 ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ในกรณีที่บุคคลใดอยู่ระหว่างการรับโทษ ให้ลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวให้ผู้นั้น ทั้งนี้ ให้ทุกองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อกระทำการตามมาตรา 3 ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัดต่อไป

คงเดิม-- มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง

คงเดิม-- มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสินใจของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดชอบตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

คงเดิม-- มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ฉบับ

อย่างไรก็ตาม ในอดีตมีกฎหมายนิรโทษกรรม 22 ฉบับ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 จนถึงปี พ.ศ.2550 พบว่าเหตุผลของการนิรโทษกรรมเป็นการนิรโทษให้ผู้กระทำการปฏิวัติ/รัฐประหาร 11 ครั้ง นิรโทษให้ผู้ก่อกบฏ (รัฐประหารแล้วแพ้) 5 ครั้ง นิรโทษให้ประชาชน/นิสิตนักศึกษา 5 ครั้ง และอื่นๆ 1 ครั้ง (นิรโทษให้กับผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินสงครามญี่ปุ่น)

กฎหมายนิรโทษกรรมทั้ง 22 ฉบับ มีทั้งที่ตราเป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และถ้อยคำบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2475 ประกาศโดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ โดยให้การกระทำทั้งหลายของคณะราษฎรที่เป็นการละเมิดกฎหมาย ไม่ให้เป็นการละเมิดบทกฎหมายใดๆ

2. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2476 ออกโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา โดยคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476

3. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ.2488 ออกโดย นายควง อภัยวงศ์ มีการปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมดเป็นอิสระ โดยผู้กระทำผิดจะได้ถูกฟ้องรับโทษตามคำพิพากษาแล้วหรือไม่ และไม่ว่าผู้กระทำผิดนั้นจะได้หลบหนีจากที่ใดไปยังที่ใดหรือไม่ ให้เป็นอันพ้นจากความผิดนั้นๆ ทั้งสิ้น

4. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ.2489 ออกโดย นายปรีดี พนมยงค์ เป็นการยกโทษให้แก่ผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่นในครั้งที่ญี่ปุ่นเข้ามาไทย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

5. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ.2490 ออกโดย นายควง อภัยวงศ์ ในครั้งที่มีกลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แล้วให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนิรโทษแก่ผู้ที่ทำการรัฐประหารในคราวนั้นทั้งหมด

6. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 กลับมาใช้ พ.ศ.2494 ออกโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นการรัฐประหารของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เรียกได้ว่าเป็นการ "รัฐประหารตัวเอง"

7. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2499 ออกโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เนื่องจากพระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ 25 ศตวรรษ จึงมีการอภัยทานความผิดฐานกบฏจลาจลนั้นเพื่อไม่มุ่งหมายจองเวรแก่กัน จึงได้นิรโทษกรรมทั้งหมด

8. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 พ.ศ.2500 ออกโดย นายพจน์ สารสิน เป็นการรัฐประหาร จอมพล ป.พิบูลสงคราม นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันเนื่องมาจากประชาชนไม่พอใจการเลือกตั้งที่ทุจริต และสมาชิกพรรคมนังคศิลาของ จอมพล ป. เสนอให้จัดการเด็ดขาดกับ จอมพลสฤษดิ์ ที่แถลงให้ จอมพล ป.ลาออกจากตำแหน่ง จอมพลสฤษดิ์จึงทำการรัฐประหารตัดหน้าเสียก่อน แล้วให้ นายพจน์ สารสิน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง

9. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502 ออกโดย จอมพลถนอม กิตติขจร สืบเนื่องจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม ในการรัฐประหารในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการ "รัฐประหารเงียบ" หรือ "ยึดอำนาจตัวเอง" ออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเต็มที่ เบ็ดเสร็จ และเด็ดขาด ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 17

10. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 พ.ศ.2515 ออกโดย จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นการรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทยเพื่อยึดอำนาจตัวเอง โดยได้มีการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการรัฐประหารหรือร่วมทำการรัฐประหารพ้นจากความผิดทั้งสิ้น

11. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียนนิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516 พ.ศ.2616 ออกโดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยเหตุที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนเดินขบวนเรียกร้องในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไทย 14 ตุลาคม 2516 ภายหลังจากเหตุการณ์จึงมีการนิรโทษกรรมทั้งหมด

12. พระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2515 พ.ศ. 2517 ออกโดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นการนิรโทษกรรมบุคคล โดยให้ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ที่ให้ควบคุมตัวนายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และ นายบุญเกิด หิรัญคำ

13. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 พ.ศ.2519 ออกโดย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งมาจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐบาลในขณะนั้นคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช คุมสถานการณ์ไม่อยู่ คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ และให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการนิรโทษกรรมสำหรับผู้ทำการรัฐประหารในคราวนั้น

14. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2520 พ.ศ.2520 ออกโดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จากเหตุการณ์กบฏในวันที่ 25 มีนาคม 2520 ซึ่งเป็นความพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ เมื่อคราวผ่านพ้นไปจึงได้มีการนิรโทษกรรมทั้งหมด

15. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ.2520 ออกโดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องมาจากการรัฐประหารนำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐประหาร นายธานินท์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นการกระชับอำนาจตนเอง ถือเป็นการรัฐประหารตัวเอง และได้นิรโทษกรรมทั้งหมด

16. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ.2521 ออกโดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ โดยเห็นว่าหากมีการดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น จึงมีการนิรโทษกรรม

17. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 พ.ศ.2524 ออกโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในเหตุการณ์ที่มีความพยายามจะรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.เปรม โดยเรียกชื่อกลุ่มว่า "ยังเติร์ก" แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้น พล.อ.เปรม จึงได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมกลุ่มเหล่านี้ทั้งหมดเพื่อความสามัคคีของคนในชาติ

18. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2528 พ.ศ.2531 ออกโดย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จากเหตุความพยายามรัฐประหารของนายทหารนอกราชการ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า "กบฏทหารนอกราชการ" หรือ "กบฏ 9 กันยาฯ" แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการนิรโทษกรรมเพื่อความสามัคคีของชนในชาติ

19. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2532 ออกโดย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์

20. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 พ.ศ.2534 ออกโดย นายอานันท์ ปันยารชุน จากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำการรัฐประหาร พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยให้นิรโทษผู้ที่ร่วมในการรัฐประหารทั้งหมด

21. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 พ.ศ.2535 ออกโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นพ้นผิดทั้งหมด ไม่ว่าจะประชาชนที่เข้าชุมนุม และทหารที่ทำการปราบปรามประชาชน

22. บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในมาตรา 309 ที่ระบุ "บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้" ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติการนิรโทษกรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ จากสาเหตุการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

**************************************

ที่มา

เว็บไซต์บ้านเมือง

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: