ศาลโลกไม่ตัดสินเขตแดน‘เขาพระวิหาร’ ‘ภูมะเขือ’รอด-แนะจับมือดูแล‘มรดกโลก’

11 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1903 ครั้ง

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 11 พฤศจิกายน ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ อ่านคำพิพากษาคดีที่ประเทศกัมพูชา ยื่นให้ศาลโลกตีความคำตัดสินข้อพิพาท ปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 โดยภายหลังคำตัดสิน นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ได้สรุปสาะของคำพิพากษาหลังศาลโลกพิจารณาว่า

1.ศาลมีอำนาจพิจารณาตีความตามคำร้องกัมพูชา ในเรื่องการดูแลตัว ปราสาทพระวิหาร

2.บริเวณใกล้เคียงปราสาทโดยรอบ ที่เรียกว่า ตัวปราสาทพระวิหาร ให้ยึดตามคำตัดสินของศาลโลกในปี พ.ศ.2505 ไม่ได้มีแผนที่แนบ

3.กัมพูชาไม่ได้รับตามคำร้องขอ กรณีเขตแดนพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่บริเวณภูมะเขือ  ไม่ใช่ของกัมพูชา

4.ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน เว้นแต่ในพื้นที่เล็กๆ ที่กำลังมีการคำนวณกันอยู่

5.ศาลไม่ได้ระบุว่า แผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000 เป็นส่วนหนึ่งบนคำตัดสินที่ผูกพัน เมื่อปีพ.ศ.2505

และสุดท้าย ศาลแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกัน ในการที่จะดูแลปราสาทพระวิหาร ในฐานะมรดกโลก โดยนายวีรชัยได้กล่าวทิ้งท้ายว่า

            “เบื้องต้นขอเรียนเลยว่า กัมพูชาไม่ได้รับสิ่งที่มาขอต่อศาล กัมพูชาไม่ได้รับ 4.6 ตร.กม. หรือ 4.5 , 4.7 ใดใดก็ตาม กัมพูชาไม่ได้ พื้นที่ภูมะเขือ กัมพูชาไม่ได้ ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน เว้นแต่ในบริเวณที่แคบมาก ๆ ศาลเน้นคำว่าพื้นที่เล็กอยู่มาก ขณะนี้พื้นที่นี้กำลังคำนวนอยู่ และที่สำคัญศาลไม่ได้ระบุว่าแผนที่ 1 ต่อ 200,000 นั้น เป็นส่วนหนึ่งของบนส่วนคำตัดสินในคำตัดสินในปี 2505ที่ผูกพัน ผมคิดว่าอันนี้สำคัญมาก ๆ ศาลแนะนำให้ทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมมือกันในการที่จะดูแลปราสาทในฐานะที่เป็นมรดกโลก ศาลแนะนำให้ร่วมมือกัน”

วันเดียวกัน เวลา 19.20 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงว่า รัฐบาลเห็นว่าเป็นคำพิพากษาให้ความสำคัญกับการที่ทั้งสองประเทศต้องเจรจากัน และมีหลายส่วนที่ให้คุณกับประเทศไทย โดยมีประเด็นหลักๆ ดังนี้ ข้อ 1.ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทย และได้ตัดสินภายในขอบเขตของคำพิพากษาเดิมในปี 2505

ข้อ 2.ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทย โดยยืนยันว่าคำพิพากษาเดิมเมื่อปี 2505 ไม่ได้ตัดสินเกี่ยวกับประเด็นเขตแดน เพราะเป็นอยู่นอกเหนือคำพิพากษาเดิม ซึ่งหมายความว่าศาลไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องของกัมพูชา เหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรและที่สำคัญศาลไม่ได้ตัดสินว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ผูกพันกับไทย โดยคำพิพากษาปี 2505

ข้อ 3.ศาลรับตีความเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาท ตามคำพิพากษาเดิมในปี 2505 โดยศาลอธิบายว่า เป็นพื้นที่ขนาดเล็กมาก ซึ่งทั้งหมดขึ้นตามสภาพภูมิศาสตร์ ที่ประกอบขึ้นเป็นยอดเขาพระวิหาร โดยไม่ได้กำหนดเส้นเขตแดน และที่สำคัญไม่รวมพื้นที่ภูมะเขือ ซึ่งในส่วนของพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทนี้ ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องหารือกัน ในรายละเอียดต่อไปโดยกลไกทวิภาคี ที่มีอยู่

ข้อ 4.ศาลได้แนะนำให้ความสำคัญที่ทั้งสองฝ่าย จะร่วมมือกันในการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหารในฐานะที่เป็นมรดกโลก ดังนั้นรัฐบาลได้สั่งให้ทีมที่ปรึกษากฎหมายศึกษารายละเอียด และสาระสำคัญของคำพิพากษา เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป จากนั้นไทยและกัมพูชาจะต้องเจรจาหารือภายใต้กลไกที่มีอยู่ระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย และจะคำนึงถึงขั้นตอนกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

            “ดิฉันขอยืนยันว่า การดำเนินการของรัฐบาลจะรักษาอธิปไตย และผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง เกียรติภูมิของชาติ และประชาคมอาเซียน พร้อมกันนี้รัฐบาลได้กำชับให้ทหาร ฝ่ายความมั่นคงรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน รักษาอธิปไตย และดูแลความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ดังที่ได้ปฏิบัติมาโดยตลอด นอกจากนี้ประเทศไทยและกัมพูชาเป็นเพื่อนบ้านกัน ซึ่งนอกจากมีพรมแดนติดกันเกือบ 800 กม. ยังเป็นสมาชิกอาเซียนที่ต้องพึ่งพากัน อีกทั้งประชาชนทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ฉันญาติมิตร มีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างช้านาน ในนามของรัฐบาลขอให้ประชาชนไทย มีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่าง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนไทยทุกคน และของชาติอย่างสูงสุด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: