ลาวอ้างผุด‘เขื่อนดอนสะโฮง’ในแม่น้ำเล็ก จวกหวังได้แต่ศก.-ทำลายนิเวศทั้งระบบ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 11 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2812 ครั้ง

หลังจากประกาศว่า จะเดินหน้าสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่สองในแม่น้ำโขง ไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ต่อการตัดสินใจที่ถูกระบุว่า ไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่อยู่ตอนล่างของแม่น้ำโขงลงไป เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่า การสร้างเขื่อนดอนสะโฮงจะสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างหนักอีกครั้ง เพราะบริเวณจุดสร้างเขื่อนแห่งใหม่นี้ ถือเป็นลำน้ำสาขาหลักของแม่น้ำโขง และอาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศโดยเฉพาะ ทางเดินของปลาเล็ก จนทำให้การประมงในแม่น้ำโขงจะล่มสลายตามไปด้วย

‘เขื่อนดอนสะโฮง’เดินหน้าก่อสร้างเปิดใช้ปี 2018

การแจ้งผลการตัดสินใจที่จะสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ของ สปป.ลาว ผ่านคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) ทราบว่า เขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำกำลังผลิตขนาด 260 เมกะวัตต์ ในเขตนทีสี่พันดอน ทางตอนใต้ของลาว ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลเรียบร้อยแล้วและจะได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยระบุว่า  โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวกับบริษัทเมกะเฟิร์สต์คอเปอเรชั่น (Mega First Corporation Bhd) ของมาเลเซีย และจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนพฤศจิกายน มีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 และจะสามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนพฤษภาคม 2018

โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ในพื้นที่ที่เรียกกันว่า “สี่พันดอน” ที่มีเกาะแก่งจำนวนมากอยู่ในเขตเมืองโขง แขวงจําปาสัก ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว ห่างจากเมืองปากเซ 150 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนกัมพูชา ในเขตจังหวัดสตึงเตร็ง เพียง 1 กิโลเมตร โดยมีบริษัทมาเลเซีย เป็นผู้ดำเนินการภายใต้เงินลงทุนในโครงการนี้ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เขื่อนดอนสะโฮงจะมีกําลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 240 เมกะวัตต์ เป็นเขื่อนแบบ run-of-river (คือใช้ลําน้ำเป็นอ่างเก็บน้ำ เช่นเดียวกับเขื่อนปากมูลในประเทศไทย) และมีแผนว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้กัมพูชา ไทย และ เวียดนาม

ลาวไม่สนข้อตกลงปกป้องแม่น้ำโขง

ทั้งนี้การแจ้งรายละเอียดเรื่องการตัดสินใจ ในการเดินหน้าเขื่อนดอนสะโฮงของ สปป.ลาวต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสังเกต และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่า เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ของการเป็นสมาชิกประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ที่ระบุว่า ในการจัดทำโครงการใด ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขง ควรจะต้องให้เวลาในการปรึกษาหารือกันอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนจะเริ่มเดินหน้าก่อสร้าง แต่สปป.ลาว กลับไม่ทำตามข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ลาวได้เดินหน้าสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่กั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกคือ เขื่อนไซยะบุลีที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 1,260 เมกะวัตต์ โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงคัดค้านจากเหล่าประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขงมาแล้ว

และการตัดสินใจเดินหน้าโครงการเขื่อนดอนสะโฮง นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์สำคัญว่า สปป.ลาวไม่สนต่อเสียงทักท้วงต่าง ๆ รวมถึงการนำเสนอข้อมูลรายละเอียดให้ประเทศอื่นๆ รับรู้ แม้ว่าจะเคยมีการร้องขอข้อมูลดังกล่าว จากตัวแทน 10 ชาติ ผู้บริจาคความช่วยเหลือระหว่างประเทศให้แก่ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง  เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา มาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม

MRC ระบุทำอะไรไม่ได้เพราะลาวแค่ขอแจ้งให้ทราบ

รศ.ดร.ชัยยุทธ สุขศรี คณะทำงานในคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (Thai National Mekong Committee) และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในระหว่างการสรุปบรรยายสำหรับสื่อมวลชน เรื่อง เขื่อนดอนสะโฮง ความท้าทายต่อการจัดการแม่น้ำนานาชาติ แม่น้ำโขง โดย ชมรมนักข่าวอาเซียน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า การตัดสินใจสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ของ สปป.ลาวในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC) ได้รับเอกสารแจ้งให้ทราบล่วงหน้า หรือ Notification จาก สปป.ลาว  ล่วงหน้าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายนไม่นานนัก แม้ว่าสถานะที่แท้จริงจะเป็นที่ทราบกันว่า ลาวและบริษัทผู้สัมปทานได้เริ่มกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเตรียมการก่อสร้างมานานแล้วก็ตาม แต่การให้เหตุผลโดยอ้างว่า เขื่อนดอนสะโฮงจะสร้างขึ้นในสายน้ำ 1 ใน 17สายของแม่น้ำโขงที่แยกจากกัน เมื่อไหลผ่านบริเวณชายแดนลาว-กัมพูชา ภายในอาณาเขตสปป.ลาว ไม่ได้เป็นการสร้างอยู่บนแม่น้ำสายหลัก จึงไม่จำเป็นต้องยื่นเอกสารเพื่อการปรึกษาหารือล่วงหน้า (Prior Consultation) ต่อ MRC ตามขั้นตอนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่มีการพิจารณาโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในแม่น้ำโขงสายหลัก

            “และเมื่อลาวให้เหตุผลมาเช่นนี้  ทำให้ MRC ไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการทักท้วงใด ๆ ได้ ทำได้เพียงแต่พิจารณาข้อกังวล และข้อห่วงใยต่าง ๆ ตามเอกสารที่ลาวนำเสนอมาเท่านั้น” ดร.ชัยยุทธกล่าว พร้อมระบุว่า การตีความดังกล่าวของสปป.ลาว เกี่ยวกับแม่น้ำสาขาและแม่น้ำสายหลัก ทำให้การเดินหน้าโครงการไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามขั้นตอนของ MRC ทั้งที่หากพิจารณาแล้วจะพบว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อน จะไปปิดกั้น “ฮูสะโฮง” ในพื้นที่สี่พันดอน ซึ่งเป็นช่องทางน้ำไหลผ่านตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง และเป็นเส้นทางอพยพที่สำคัญของปลาเล็กในหน้าแล้ง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ ที่ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขงอย่างแน่นอน

ห่วงปลาหาย ได้พลังงานไม่คุ้ม

ดร.ชัยยุทธยังกล่าวด้วยว่า ในฐานะของการเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ MRC สิ่งที่ทำได้คือการตั้งคำถามต่อข้อห่วงใยต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องของสัตว์น้ำ การประมงต่าง ๆ ที่การสร้างเขื่อนจะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ จำนวนสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาเล็กที่จะหายไป เพราะหากมีการสร้างเขื่อน ปลาเหล่านี้จะไม่มีทางไปไหนได้ และย่อมส่งผลกระทบโดยรวมมาวิถีชีวิตของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศไทย ทั้งนี้ผู้ที่จะแสดงข้อคิดเห็นต่อเรื่องนี้ ในนามของประเทศไทยได้นั้น อยู่ที่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของไทยเท่านั้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ

ขณะที่ นางเปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการร่วม โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง ระบุว่า ขณะที่การสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ทำให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลุ่มผู้ทำประมงลุ่มแม่น้ำโขง อาจต้องสูญเสียรายได้ไปมหาศาลในแต่ละปี การประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การคิดคำนวณค่าใช้จ่ายในการชดเชยเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบในลุ่มน้ำโขงจึงไม่อาจทำได้ หากทางสปป.ลาวเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาข้อมูลรอบด้าน ซึ่งไม่ใช่เพียงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย พร้อมยกตัวอย่างกรณีปลาบึกน้ำโขงซึ่งมีขนาดใหญ่มาก แต่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า แหล่งกำเนิดของปลาบึกเหล่านี้มาจากไหน เพราะยังไม่มีใครเริ่มศึกษากันอย่างจริงจัง

            “เมื่อยังไม่มีการศึกษาข้อมูลลุ่มน้ำโขง บริเวณสี่พันดอนอย่างละเอียดถี่ถ้วน จะยิ่งทำให้ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากพลังงานที่ผลิตจากเขื่อน ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องสูญเสียไปในระยะยาว ทั้งยังจะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดยที่ MRC ไม่สามารถทำอะไรได้เลย และที่ผ่านมาคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมประจำอาเซียน ถูกนำไปแอบไว้ในเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม แต่ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน ขณะที่ MRC ก็ไม่อาจคัดค้านหรือถ่วงดุลใครงการก่อสร้างใด ๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า กลุ่มภาคประชาสังคมในอาเซียน เพิ่งจัดทำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเซียน พบว่า 9 ใน 10 ของกรณีละเมิดสิทธิฯ เกี่ยวพันกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและการทำลายธรรมชาติ”

หลากผลกระทบ “เขื่อนดอนสะโฮง” ทำลายวิถีคนลุ่มน้ำโขง

จากข้อมูลของเว็บไซต์ ww.savethemekong.org ระบุว่า ถึงแม้ว่าผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงจะอ้างว่า เขื่อนนี้ไม่ได้สร้างคร่อมแม่น้ำโขงทั้งสาย แต่ข้อเท็จจริงคือ เขื่อนจะไปปิดกั้นหนึ่งช่องทางน้ำหลักในพื้นที่สีพันดอน หรือ“ฮูสะโฮง” ซึ่งมีความยาว 5 กิโลเมตร กว้าง 100 เมตร ซึ่งเป็นเส้นทางอพยพปลา เพียงจุดเดียว ที่ปลาเล็กจะอพยพไปได้ง่ายที่สุด เพราะมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะปลาในทะเลสาบเขมร ซึ่งร้อยละ 70 เป็นปลาอพยพ ซึ่งอพยพขึ้นลงจากทะเลสาบเขมรขึ้นมาตามแม่น้ำโขงสายหลัก สู่ทางตอนบนของลําน้ำในประเทศลาว และประเทศไทย

นอกจากผลกระทบในอาณาเขตกว้างขวาง ต่อชาวบ้านหลายพันคนของลาว รวมถึงกัมพูชา เวียดนาม และประเทศไทยแล้ว เขื่อนดอนสะโฮง จะก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วม และผลกระทบร้ายแรงต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อน คือดอนสะโฮง (1หมู่บ้าน) และดอนสะดํา (2 หมู่บ้าน) รวมถึงชาวบ้านผู้หาปลาเลี้ยงชีพที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงบริเวณนี้ ซึ่งรวมถึงบ้านเรือนและพื้นที่ทํากินของชาวบ้าน และในที่สุดและต้องถูกอพยพออกจากถิ่นเกิดของตัวเอง

            “เขื่อนดอนสะโฮงยังจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำของน้ำตกคอนพะเพ็ง น้ำตกขนาดใหญแห่งเดียวในแม่น้ำโขงตอนล่าง หนึ่งในพื้นที่ทางธรรมชาติที่สําคัญที่สุดของลาว และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะได้รับการประกาศเป็นพื้นมรดกโลกในทางธรรมชาติ อีกทั้งเขื่อนดอนสะโฮงนี้ จะตั้งอยู่ในบริเวณที่พบโลมาอิระวดี ในพื้นที่เขตรอยต่อของประเทศลาวและกัมพูชา การสร้างเขื่อนจึงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อถิ่นที่อยู่ของโลมา เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และหมายถึงรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของท้องถิ่น”

กระทบรายได้คนชาวประมงอย่างรุนแรง

เว็บไซต์ดังกล่าว ยังชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ด้านการประมงจากแม่น้ำโขงตอนล่าง ด้วยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพีจากการประมง มีสัดส่วนระหว่าง ร้อยละ 6-8ส่วนในประเทศกัมพูชามีตัวเลขสูงถึงร้อยละ 12 ส่วนตัวเลขของรายได้ต่อปีจากการจับปลาเฉพาะในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนั้น ก็สูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากรายงานของ  WorldFish Center จะเกิดความสูญเสียอย่างกว้างขวางทางด้านสังคม นิเวศวิทยา และเศรษฐกิจของลุ่มน้ำ หากมีการปิดกั้นเส้นทางการอพยพของปลาในบริเวณนี้ ซึ่งรายงานระบุว่า การจับปลาในลําน้ำโขง เป็นวิถีชีวิตที่สําคัญมากต่อความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านในแถบนี้ เนื่องจากร้อยละ 27 ถึง 78 ของโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ที่ชาวบ้านในแถบจังหวัดในลุ่มแม่น้ำโขงได้รับ คือโปรตีนจากปลา โดยเฉพาะในพื้นที่ลาวใต้ การจับปลาเป็นกิจกรรมของครัวเรือนมากกว่าร้อยละ 80 เฉพาะในเขตสี่พันดอน รายได้หลักของชาวบ้าน คือร้อยละ 80-95 มาจากการหาปลา

            “จากการศึกษาในปี 2550 โดยกลุ่มนักวิจัยอิสระพบว่า ในกลุ่มชาวบ้านจากบ้านดอนสะโฮง, หัวสะดํา และหางสะดํา ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนดอนสะโฮงและดอนสะดํา คือดอน (เกาะ) ที่ขนาบสองฝั่งของฮูสะโฮง ครอบครัวที่มีลวงหลี่ (พื้นที่สําหรับการจับปลาโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “หลี่” วางตามแนวลําน้ำ) หนึ่งลวง มีรายได้จากการขายปลาสดต่อปีไม่ ต่ำกว่า 10 -20 ล้านกีบ (40,000-80,000 บาท) เมื่อรวมปลาที่จับได้ด้วยเครื่องมือชนิดอื่น ๆ ก็อาจสร้างรายได้จากการขายปลาให้ชาวบ้านมากถึง 24-40 ล้านกีบต่อปี (100,000-160,000 บาท) จํานวนตัวเลขนี้ ถือว่าเป็นรายได้ที่สูงมากสําหรับชาวบ้านใน สปป.ลาว และยากจะสามารถทดแทนได้ด้วยอาชีพอื่นใด”

ตำหนิ MRC ทำงานล้มเหลว

นอกจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวของสปป.ลาว ในการเดินหน้าเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่สอง โดยไม่สนใจต่อความคิดเห็นของประเทศเพื่อนบ้าน ที่เป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) ด้วยกันแล้ว อำนาจหน้าที่ในการทำงานอย่างรวดเร็วและมีพลังของ คณะกรรมาธิการ MRC ยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการทักท้วงต่อประเทศสมาชิกที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขง และล่าสุดกับเขื่อนดอนสะโฮง

ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตวุฒิสมาชิกการต่างประเทศ ติดตามประเด็นการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ตั้งข้อสังเกตต่อการทำงานของ MRC ในประเด็นนี้ โดยตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงไม่สามารถที่ทักท้วงการตัดสินใจของ สปป.ลาวได้ เพราะแม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำที่มีผลกระทบต่อชีวิตประชากรในพื้นที่ ไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคนอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าการทำงานของ MRC ล้วนแต่เป็นการทำงานในลักษณะของการเกรงอกเกรงใจ แม้จะมีการทำสัญธิสัญญา แต่กลับปล่อยให้เป็นเอกสิทธิ์ภายในขอบเขตของประเทศตัวเอง MRC มีหน้าที่ แต่กลับไม่มีอำนาจในการบังคับ มีเพียงแค่แจ้งให้รับทราบ โดยที่สาธารณชนไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลเรื่องเขื่อน รวมถึงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การทำงานไม่แตกต่างกับการรวมตัวกันของอาเซียนที่ดูอ่อนปวกเปียก และถือเป็นการรวมตัวที่ล้มเหลวที่สุด

            “ที่ผมว่าล้มเหลวที่สุด คืออาเซียนที่รวมตัวกัน ไม่เคยคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย ไม่มีประเทศไหนคิดถึงเรื่องนี้ ทั้งที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ ล้วนพึ่งพาการเกษตร ดังนั้นเรื่องของอนุรักษ์ ป่า ทะเล แม่น้ำลำธาร เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่สุด เพราะเป็นการเลี้ยงตัวเอง อาเซียนจะต้องใช้ธรรมชาติ แต่ทุกประเทศกลับไปมองว่าการพัฒนาที่ดีที่สุด คือการพัฒนาเขื่อน ที่รัฐบาลส่วนใหญ่มีนโยบายใกล้เคียงกัน คือไม่เคยคิดจะถามความคิดเห็น คิดแต่จะสร้างอย่างเดียว ทั้งไทย หรือ เช่นที่มาเลเซีย ตอนนี้ชาวบ้านในกาลิมันตัน ซาลาวัก ซาบา ในมาเลเซียมีปัญหา ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเผ่าพันธุ์ต้องอดตาย ถูกล้างเผ่าพันธุ์ มีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะเคยอยู่แต่กับธรรมชาติมาก่อน แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ประชาชนพึ่งมามากที่สุดมี ความหลากหลายทางชีวภาพทุกอย่างเกี่ยวโยงกันหมด การสร้างเขื่อนไซยะบุรี ดอนสะโฮง ชัดเจนว่าจะกระทบกระเทือนเรื่องปลา และปุ๋ยธรมชาติ ที่จะมากับน้ำ ถือเป็นการทำลายธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุด” ดร.ไกรศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature  : WWF) ออกแถลงการณ์ทันทีหลัง สปป.ลาวประกาศจะเดินหน้าเขื่อนดอนสะโฮง โดยเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั้ง 4 ของลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเร่งจัดการประชุมกันทันทีเพื่อ “แก้ไข” ขั้นตอนและกระบวนการปรึกษาหารือในการอนุมัติรับรองการสร้างเขื่อนบนทางน้ำของแม่น้ำโขง พร้อมกับตำหนิด้วยว่า หากพิจารณาแล้ว การทำงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงถือว่าล้มเหลว ตั้งแต่สปป.ลาวตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว ที่จะเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุลี ทำให้ไม่สามารถตั้งความหวังได้เลยว่า ประชากรในลุ่มน้ำโขงจะสามารถใช้ประโยชน์จากแม่น้ำแห่งนี้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร ถ้าหากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมิได้ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องเหมาะสม

ตัวแทน MRC แจงอำนาจไม่พอ-ใจเขาใจเรา

อย่างไรก็ตาม ดร.ชัยยุทธในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการ MRC กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ได้ยินเรื่องการตำหนิการทำงานของ MRC มาโดยตลอด แต่ในฐานะที่อยู่ในคณะกรรมการฯ คิดว่า ข้อวิพากษ์วิจารณ์ไม่ยุติธรรม เพราะแท้จริงแล้ว โครงสร้างไม่ได้ให้อำนาจกรรมการฯ ในการตัดสินใจในทุกๆ เรื่องมีบางเรื่องเท่านั้นที่จะตัดสินใจร่วมกัน แต่กรณีที่ไปอยู่ในเขตอธิปไตยของอีกคนหนึ่ง คณะกรรมการดูได้เรื่องเดียวคือเรื่องข้อกังวล หรือว่าติดตามว่ามีผลกระทบอย่างไร ซึ่งตรงนี้ถูกวิพากษ์อยู่เรื่อยว่า ต้องรอให้เกิดเหตุการณ์ก่อน เราไม่สามารถทำป้องกันก่อนไม่ได้ ต้องดูว่าเสียหายแล้วใช้มาตราบางมาตรา แก้ไข แต่ถ้าไปดูข้อตกลงอื่น ๆ ในแม่น้ำอื่น ๆ ระหว่างประเทศก็ไม่ได้แตกต่าง กลายเป็นว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดอยู่ที่ว่าคนที่เป็นสมาชิกมีความรับผิดชอบร่วมกัน ว่าจะทำอะไรไม่ให้เกิดผลกระทบมากกว่า ซึ่งเป็นการยาก กรณีที่เกิดขึ้น ย้อนไปที่ไซยะบุลี ถ้าสปป.ลาวบอกว่า การเลือกแบบนี้ เป็นเครื่องมือยกระดับประเทศของเขาจากที่คนอื่นไปประทับตาประเทศด้อยพัฒนา เป็นประเทศที่พัฒนาขึ้น มา เพราะรัฐเขามีหน้าที่ยกระดับประเทศ ไม่อย่างนั้นก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ดูแลประเทศตัวเองให้พัฒนาขึ้นมา ดังนั้นในแง่ของภาพลักษณ์ เขาก็ต้องหาวิธียกระดับ และเผอิญว่าไฟฟ้าพลังน้ำเป็นวิธีการที่จะทำให้ยกระดับได้เร็วที่สุด เป็นทางเลือกที่เร็วที่สุด แน่นอนว่าแม้จะมีผลกระทบ แต่เขาเลือกที่จะทำให้เร็ว เมื่อได้ทรัพยากรมาแล้ว ค่อยมาแก้กันที่หลัง ถามว่าเป็นเรื่องผิดหรือไม่ ตามทัศนะของผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก

 

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: