แฉไทยไม่คุม'สารพิษ'ตกค้างในข้าวสาร ส่งออกปลอดภัย-บริโภคในไทยน่าห่วง

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 11 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3793 ครั้ง

 

กระแสข่าวเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยของข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล สืบเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่จำเป็นต้องนำสารรมควันพิษเมทิลโบร์ไมด์ (Methyl Bromide) มาใช้ในกระบวนการการเก็บสต๊อกข้าวป้องกันมอด แมลง ก่อนที่จะนำส่งขาย จนกลายเป็นความห่วงใยว่า อาจจะมีสารตกค้างในข้าวและส่งผลต่อผู้บริโภค กลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากข่าวหนึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

กรมวิชาการเกษตรแจง ข้าวไทยปลอดภัย ส่งออกฉลุย

 

แม้ว่าหลังการนำเสนอข่าวนี้ของสื่อมวลชน และแตกประเด็นไปมากมาย จนทำให้นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ต้องออกมายืนยันว่า ข้าวสารของไทยมีความปลอดภัยแน่นอน เพราะแม้จะใช้สารรมเมทิลโบรไมด์และฟอสฟิน ในการรมยาเพื่อป้องกันมอดและแมลง แต่สารทั้งสองชนิดก็เป็นสารที่ใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก เนื่องจากสามารถทำลายแมลงศัตรูได้ทุกชนิดและทุกระยะการเจริญเติบโต ไม่มีพิษตกค้าง และมีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการที่กำหนด และตามความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures- SPS) ขณะเดียวกันยังได้รับการกำหนดให้ใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชภายในโรงเก็บจากคณะอนุกรรมการด้านสุขอนามัยขององค์การค้าโลก (WTO) อีกด้วย

 

การยืนยันของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร หลังเกิดความแตกตื่นในความไม่ปลอดภัยอันเกิดจากสารตกค้างดังกล่าวนั้น เน้นย้ำว่า ข้าวสารเป็นสินค้าที่กรมวิชาการเกษตรจะร่วมกับผู้ควบคุมการรมยา ในการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบปริมาณสารตกค้าง ซึ่งจะต้องไม่มีหรือน้อยกว่าเกณฑ์ที่ โคเด็กซ์ (คณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ Codex Alimentarius Commission) กำหนด คือ เมทิลโบรไมด์ อนุญาตให้ตกค้างได้ 5 มิลลิกรัมต่อหนึ่งกิโลกรัม หรือ ppm ฟอสฟิน อนุญาตให้ตกค้างได้ 0.1 ppm และมีการส่งข้าวออกไปต่างประเทศทั้ง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ได้อย่างราบรื่น กว่า 40 ปีที่ผ่านมาก็ไม่เคยถูกเตือนว่าพบสารตกค้าง ทั้ง ๆ ที่ประเทศเหล่านี้ มีความเข้มงวดเรื่องสุขอนามัยอย่างเข้มงวด ดังนั้นจึงมั่นใจได้ในความปลอดภัยของข้าวไทย

 

เป็นการปฏิเสธข่าวสารเมทิลโบร์ไมด์ตกค้างในข้าวสต๊อกของรัฐบาล โดยระบุว่า ข่าวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยไปยังต่างประเทศเป็นอย่างมาก

 

 

 

          “การรมข้าวสารจะใช้เมทิลโบรไมด์ในอัตรา 32 กรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 50 กรัมต่อข้าวสาร 1 ตัน ระยะเวลาในการรม 24 ชั่วโมง และจะระเหยหมดไปทันทีที่เปิดพลาสติก สารชนิดนี้เป็นที่นิยมใช้เพราะเบากว่าอากาศ จะใช้การระเหยขึ้นด้านบน สามารถแทรกในช่องว่างระหว่างเม็ดข้าวได้ และราคาถูกกว่าสารชนิดอื่น ส่วนสารฟอสฟินเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง กรมวิชาการเกษตรจึงเตือนผู้รมยาว่า ต้องหลีกเลี่ยงการได้รับสารนี้ แม้ในปริมาณน้อยก็ตาม เพียงสูดดมระยะเวลาสั้นๆ ที่ความเข้มข้น 2.8 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร สามารถทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งสารฟอสฟินสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทางคือ ทางระบบหายใจและการกิน แต่ไม่สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ ลักษณะของฟอสฟินจะเป็นเม็ดเล็ก ๆ ลักษณะการทำงานคล้ายลูกเหม็น จะใช้การระเหิดจากที่สูงสู่ที่ต่ำ การรมข้าวสารใช้ฟอสฟินในอัตรา 2-3 เม็ด ต่อข้าวสาร 1 ตัน (น้ำหนักเม็ดละ 3 กรัม) หรือฟอสฟิน 9-10 กรัมต่อข้าวสาร 1 ตัน ระยะเวลาการรม 5-7 วัน หลังจากการรมแล้วต้องมีระยะเวลาการถ่ายเทก๊าซ 12 ชั่วโมง วิธีการนี้จะใช้เวลานานกว่าเมทิลโบรไมด์ จึงได้รับความนิยมน้อยกว่า”นายดำรงค์กล่าว

 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรระบุต่อว่า สารทั้งสองชนิดถูกควบคุมตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ดังนั้นผู้ที่ครอบครองและใช้สาร จะต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ต้องมีใบอนุญาตการรมจากกรมวิชาการเกษตร และต้องมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการรม เวลานำเข้าต้องมีแผนให้กรรมการพิจารณาว่าใช้เพื่ออะไร และไม่อนุญาตให้นำเข้าจำนวนมากมาเพื่อเก็บสต๊อกไว้ นอกจากนี้ ต้องได้รับใบประกาศเป็นผู้ควบคุมการใช้ รับจ้างรมยากำจัดแมลงศัตรูผลิตผลเกษตร ซึ่งใบประกาศมีอายุการใช้งาน 5 ปี และจะมีการตรวจสอบประเมินผู้ผ่านการอบรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อครบกำหนดต้องเข้ารับการอบรมใหม่

 

 

 

เมทิลโบรไมด์ (Methyl bromide) มีพิษทำลายปอดและสมอง

 

“เมทิลโบรไมด์” (Methyl bromide) เป็นสารเคมีที่ใช้ในภาคเกษตร ใช้สำหรับป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ มีชื่อเรียกอื่นว่า โบรโมมีเทน หรือดาวฟูม หรือเฮลอน 1001 โดยจะมีการใช้สารนี้ในการรมควันในดิน พืชไร่( เช่น ข้าวข้าวโพด ถั่วต่าง ๆ และมันสำปะหลังอัดเม็ด) ปลาป่น เครื่องยาจีนสมุนไพร เฟอร์นิเจอร์ไม้/หวาย รมในโรงเก็บ และเรือ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารกำจัดไรและกำจัดวัชพืชด้วย โดยส่วนใหญ่ เมทิลโบรไมด์ถูกนำมาใช้เพื่อเก็บรักษาผลผลิตการเกษตร งานกักกันพืชที่นำเข้า และการรมกำจัดศัตรูพืชก่อนการส่งออก

 

จากข้อมูลของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ระบุถึงพิษของสารเมทิลโบร์ไมด์ต่อมนุษย์ ไว้ว่าเป็นก๊าซที่ทำความระคายเคืองต่อปอดและเป็นพิษต่อระบบประสาท (neurotoxin) และทำให้เสพติด (narcotic) ที่ความเข้มข้นสูง โดยหากได้รับพิษ จะทำให้เกิดอาการ

 

- ระยะสั้น ทำให้ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน มองไม่ชัด พูดพันกันและชัก ถ้าได้รับความเข้มข้นสูงอาจไม่ได้สติและตายได้ นอกจากนี้อาจระคายเคืองต่อปอด ทำให้ไอเป็นเลือด เจ็บอก หายใจขัดและทำลายไต อาการที่เกิดขึ้นต่อปอดอาจแสดงออกช้า ส่วนผิวหนังอาจเกิดผื่นแดงจนถึงผุผองและไหม้ อาการได้รับพิษดังกล่าวอาจแสดงออกหลังเวลาผ่านไป 2-3 ชั่วโมงถึง 2-3 วัน

 

- ระยะยาว จะทำลายระบบประสาทส่วนกลางทำให้มองไม่ชัดพูดพันกัน แขนขาชา สับสน สั่น และไม่ได้สติ อาการได้รับพิษอาจหยุดภายใน 2-3 วัน หรือหลายเดือนหลังจากที่ไม่ได้รับสาร โดยปกติร่างกายจะฟื้นคืนสภาพเดิมได้ เมทิลโบรไมด์ไม่จัดเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์

 

 

เป็นสารควบคุม Annex E ของพิธีสารมอนทรีออลเพราะทำลายโอโซน

 

นอกจากนี้สารเมทิลโบรไมด์ที่ใช้ในการรมข้าวสารเพื่อไล่แมลงนี้ ยังเป็นสารที่มีผลต่อการทำลายโอโซนอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนอีกด้วย โดยจากบทความเรื่อง “ลด ละ เลิก เมทิลโบรไมด์” ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่การวิจัยและพัฒนา เขียนโดย อังคณา สุวรรณกูฏ ระบุว่า เมธิลโบรไมด์มีอะตอมโบรมีนที่มีผลทำลายโอโซนได้มากกว่าคลอรีนถึง 30-60 เท่า และพบว่ามีปริมาณการปล่อยมากกว่า 40,000 ตัน หรือสองเท่าในทศวรรษที่ 80 และยังพบว่าปลดปล่อยจากแหล่งธรรมชาติ เช่น การเผาไหม้มวลชีวภาพถึง 30,000-50,000 ตัน/ปี และมากกว่าครึ่งของเมทิลโบรไมด์ ที่ผลิตขึ้นจะถูกปล่อยสู่บรรยากาศ

 

จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า เมทิลโบรไมด์จะระเหยขึ้นไปในอากาศอยู่ระหว่างร้อยละ 50-95 ของปริมาณการใช้ในแต่ละครั้ง ซึ่งหากเป็นการรมพืชผลทางการเกษตรในโรงเก็บ จะมีปริมาณการปลดปล่อยสู่อากาศ ประมาณร้อยละ 80-95 แต่หากเป็นการใช้รมดินจะถูกปลดปล่อยสู่อากาศได้สูงถึงมากกว่าร้อยละ 90   ปัจจุบันมีความเข้มข้นระหว่าง 8-15 ต่อพันล้านส่วน โดยปริมาตร และยังไม่มีสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพ

 

ทำให้เมทิลโบรไมด์ ถูกกำหนดให้เป็นสารควบคุมที่อยู่ใน Annex E ของพิธีสารมอนทรีออล ในขณะที่ประเทศไทยเองก็ต้องดำเนินการในการลดการใช้ และกำหนดให้ยกเลิกการใช้ในปี 2558 นี้ด้วย

 

 

ไทยควบคุมนำเข้า เตรียมพร้อมเลิกใช้ภายในปี 2558

 

ในบทความชิ้นเดียวกันระบุด้วยว่า ในประเทศไทยเมทิลโบรไมด์จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 การนำเข้าจะต้องขออนุญาตและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในกฎหมายดังกล่าว โดยปริมาณสารเมทิลโบรไมด์ที่อนุญาตให้นำเข้าในแต่ละปีของประเทศไทย กำหนดไว้ดังนี้

ปี 2551 จำนวน 146.61 ตัน จากค่าเดิมคือ 183.14 ตัน ซึ่งลดลงร้อยละ 20

ปี 2552 กำหนดปริมาณนำเข้าที่ 73.26 ตัน ลดลงร้อยละ 60 

ปี 2554 ลดปริมาณการนำเข้าเหลือ 36.63 ตัน ลดลงร้อยละ 80

ปี 2555 กำหนดการนำเข้าเหลือเพียง 18.31 ตัน ลดลงร้อยละ 90 ก่อนที่จะยกเลิกการนำเข้าในปี 2556  ซึ่งเร็วกว่าพันธกรณีที่กำหนดไว้ในพิธีสาร 3 ปี อย่างไรก็ตามปริมาณการนำเข้าสารเมทิลโบรไมด์ดังกล่าว    เป็นการนำเข้าสารเมทิลโบรไมด์ เพื่อมาใช้ในงานการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร ส่วนการใช้งานด้านกักกันพืช และการรมกำจัดศัตรูพืชก่อนการส่งออก หรือ เรียกว่า Quarantine and Preshipment-QPS ตามคำจัดความของพิธีสารนั้นไม่อยู่ในเงื่อนไขของการลดการใช้

 

มูลนิธิชีววิถีแฉข้อมูลตัวเลขนำเข้า-เพิ่มขึ้นหลังจำนำข้าว

 

อย่างไรก็ตามหลังการนำข้อมูลตัวเลขการนำเข้าสารเมทิลโบรไมด์ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีปริมาณเพิ่มขึ้นหลังปี 2554 โดยมูลนิธิชีววิถีนำสถิติมาเปรียบเทียบโดยระบุว่า แม้ว่าจะมีเป้าหมายในการลด ละ เลิกใช้สารเมทิลโบรไมด์ แต่กลับปรากฎตัวเลขการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปี 2555 เป็นต้นมา โดยเป็นการนำเข้าในรูปแบบของเมทิลโบไมด์ และการผสมกับคลอโรพิคริน สารอีกชนิดหนึ่งที่ประกาศห้ามใช้แล้วตั้งแต่ปี 2554 ทำให้กลายเป็นประเด็นจนนำมาสู่การตอบโต้ทางการเมือง และโดยไปสู่เรื่องความปลอดภัยในข้าวไทยนั่นเอง

 

 

 

ภายหลังประเด็นการปริมาณการนำเข้าสารนี้ถูกเผยแพร่ออกไป กรมวิชาการเกษตรได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ที่ผ่านมามีการดำเนินการตามพิธีสารมอนทรีออล มาโดยตลอด มีการลดปริมาณการนำเข้าสารนี้ในการนำไปใช้ในการรมเพื่อวัตถุประสงค์อื่น นอกจากการกักกันพืชเพื่อการส่งออก พร้อมชี้ให้เห็นตัวเลขว่ามีการนำเข้าสารนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2553 ที่นำเข้า 567 ตัน ปี 2554 นำเข้า 377 ตัน ปี 2555 นำเข้า 321 ตัน และปี 2556 (ม.ค.-มิ.ย.) นำเข้า 27 ตันจนเป็นที่ยอมรับจากประเทศเยอรมนีว่าดำเนินการลดการนำเข้าได้อย่างรวดเร็ว จนได้ตั้งสำนักงานลดเลิกการใช้สารดังกล่าว เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางสนับสนุนนโยบายลดใช้สารเมทิลโบรไมด์ ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาว พม่า ด้วย

 

แต่ประเด็นนี้ก็ถูกตอบโต้อีกครั้งว่า ตัวเลขการนำเข้าเมทิลโบรไมด์ในปี 2554 เป็นตัวเลขที่สับสน เพราะจากการตรวจสอบจากข้องมูลสถิติของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรของมูลนิธิชีววิถีก่อนหน้านี้กลับพบว่าไม่เคยมีการนำเข้าสารชนิดนี้เลย

 

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากข้อกำหนดในพิธีสารมอนทรีออล การนำเข้าสารเมทิลโบรไมด์เพื่อนำมาใช้ในการรมกำจัดศัตรูพืชในสินค้าข้าวเพื่อส่งออกจึงถือว่าไม่ได้เป็นการกระทำผิดตามเงื่อนไขในพิธีสารนี้ แต่ในกรณีของข้อสงสัยเรื่องตัวเลขการนำเข้าสารเมทิลโบรไมด์ในปี 2554 ที่มูลนิธิชีววิถีนำมาเปิดเผย ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ข้าวส่งออกปลอดภัย แต่บริโภคในไทยยังน่าห่วง

 

เมื่อย้อนกลับมาถึงประเด็นเรื่องความปลอดภัยของข้าวไทย ที่กลายเป็นข้อกังวลหลังการเปิดเผยข้อมูลการนำเข้าสารเมทิลโบรไมด์ ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง เพราะจากข้อมูลพิษที่ส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ก็ดูจะน่ากลัวไม่น้อยหาก สารตกค้างสะสมอยู่ในร่างกายยาวนาน

 

ประเด็นที่ต้องกลับมาพิจารณาอีกก็คือแม้ว่านายอธิบดีกรมวิชาการเกษตรจะออกมายืนยันว่า การใช้สารรมแมลงเมทิลโบรไมด์และฟอสฟินทั้งในโกดังและเรือสินค้าถูกหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนด และผลผลิตได้มาตรฐาน และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งข้าวสารที่ส่งออกและบริโภคภายในประเทศจะมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน เพราะมีการตรวจติดตามตลอดเวลา พร้อมระบุในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งข้าวไปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไม่เคยถูกตีกลับ เพราะพบสารตกค้างแม้แต่ครั้งเดียว และยืนยันจากการที่ กรมวิชาการเกษตรได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้าวถุงตามร้านสะดวกซื้อหลายยี่ห้อ ผลการตรวจสอบก็ไม่พบสารตกค้างในข้าวเลย

 

 

ไทยไม่กำหนดมาตรฐานสารเมทิลโบรไมด์ในข้าว

 

แต่จากตรวจสอบจากข้อมูลเรื่องค่ากำหนดมาตรฐานสารพิษตกค้างสูงสุด หรือ MRLs-Maximum Residue Limits ของเมทิลโบรไมด์ในสินค้าข้าวภายในประเทศไทย ทั้งในประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 163) พ.ศ.2538  เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2548 และมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (มกอช.9002-2547 และ 2551)กลับไม่พบค่ากำหนดนี้ในประกาศเหล่านั้น ในขณะที่ในต่างประเทศได้กำหนดค่า MRLs ของเมทิลโบรไมด์ในสินค้าข้าว ไว้อย่างชัดเจน เช่น ไต้หวัน 1.0 มก/กก สาธารณรัฐเกาหลี 50.0 มก/กก.  กลุ่มสหภาพยุโรป 0.1 มก/กก. อังกฤษ 0.1 มล./กก. ออสเตรเลีย 50  มก/กก. นิวซีแลนด์50   มก/กก. เป็นต้น

 

จากเอกสารประกอบการประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปี 2555 โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN) ระบุว่า ในการกำหนดค่า MRLs ของสหภาพยุโรป สิ่งสำคัญที่กำหนดไว้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคือ เรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค ทำให้ค่า MRLs ที่กำหนดจะเป็นค่าที่ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ขณะเดียวกัน การกำหนดค่า MRLs ของไทย และของ โคเด็กซ์ (คณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ Codex Alimentarius Commission) นั้น มาจากมุมมองในเรื่องของการกำหนดเพื่อการค้าเป็นหลัก  ค่า MRLs ที่กำหนดออกมาจึงเป็นค่าสูงสุดเท่าที่จะยอมรับได้ เมื่อตรวจแล้วพบว่าไม่เกินจากค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ก็ยอมรับได้ว่าผลผลิตการเกษตรดังกล่าวมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

 

 

ดังนั้นจากข้อมูลทั้งหมด ประเด็นจึงกลับกลายมาเป็นว่า ข้าวที่ถูกส่งออกไปต่างประเทศน่าจะดูไม่น่าห่วง เพราะถูกควบคุมความปลอดภัยจากการกำหนดค่า MRLs ในการนำเข้าประเทศนั้น ๆ ไว้แล้ว แต่สำหรับภายในประเทศไทยเอง กลับกลายเป็นสิ่งที่น่าห่วงมากกว่า เพราะข้อมูลชี้ชัดว่าไม่มีการกำหนดค่า MLRs ของเมทิลโบรไมด์ไว้ในประกาศที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านสุขภาพ

 

ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภคข้าวของคนไทย จึงไม่ใช่เรื่องปกติ หรือการตอบโต้กันทางการเมืองอีกแล้ว แต่หมายถึง ความปลอดภัยของคนไทยในประเทศ ที่ยังต้องซื้อข้าวสารบริโภคภายในประเทศ เพราะต้องยอมรับว่าแม้ว่า จะมีการยืนยันในความปลอดภัย โดยมีการออกสุ่มตรวจข้าวถุงโชว์ แต่ก็คงเป็นเพียงครั้งคราวในกรณีเกิดเป็นข่าวเท่านั้น แต่หากในสถานการณ์ปกติ คงไม่มีใครยืนยันได้ว่า ข้าวสารที่ขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาดประเทศไทย จะปลอดภัยจากสารพิษป้องกันมอดแมลงที่ตกค้าง ตราบใดที่ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานสารพิษตกค้างเหล่านี้ในข้าวสารอาหารหลักของคนไทยให้ชัดเจน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: