เป็นที่ทราบกันดีว่า ใต้ท้องทะเลมีสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ บางชนิดมีไม่มีพิษ บางชนิดมีพิษถึงตาย ขณะที่ในประเทศไทย มีพื้นที่ชายทะเลที่สวยงามที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเที่ยวพักผ่อนได้ตลอดทั้งปี และที่ผ่านพบว่ามีนักท่องเที่ยวได้รับอันตรายจากสัตว์ทะเลมีพิษอยู่เป็นระยะ บางรายเป็นเพียงแค่อาการบาดเจ็บเล็กน้อย แต่บางรายถึงขนาดได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการสัมผัสสัตว์ทะเลมีพิษเหล่านี้เป็นข่าวดังมาแล้วเช่นกัน
ล่าสุดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยข้อมูล พบแมงกะพรุนกล่องหรือตัวต่อทะเล ในพื้นที่น่านน้ำไทย ซึ่งแมงกะพรุนดังกล่าวจัดว่าเป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง
พบแมงกะพรุนกล่อง เพิ่มมากขึ้นในชายทะเลไทย
น.ส.จรัสศรี อ๋างตันญา นักวิชาการประมง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน เปิดเผย การสำรวจแมงกะพรุนในปีพ.ศ.2553-2556 พบแมงกะพรุนกล่อง ในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน 5 จังหวัด และพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย 13 จังหวัด ดังนี้
- อ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง และตราด
- อ่าวไทยตอนบน ได้แก่ จ.เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา
- อ่าวไทยตอนกลาง ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี
- อ่าวไทยตอนล่าง ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี
- ทะเลอันดามันตอนบน ได้แก่ จ.พังงา และภูเก็ต
- ทะเลอันดามันตอนล่าง ได้แก่ จ.กระบี่ ตรัง และสตูล
น.ส.จรัสศรีกล่าวว่า พบแมงกะพรุนกล่องในไทยเกือบทุกจังหวัดที่มีการสำรวจ พบทั้งชนิดที่มีรายงานความเป็นพิษ และยังไม่มีรายงานความเป็นพิษ รวมทั้งชนิดที่คาดว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก ซึ่งแมงกะพรุนชนิดนี้เป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก สามารถทำให้เสียชีวิตภายใน 2-10 นาที ทั้งนี้แมงกะพรุนกล่องทั่วโลกมีทั้งหมด 36 ชนิด มีทั้งชนิดที่พบรายงานความเป็นพิษและไม่เป็นพิษ แมงกะพรุนส่วนใหญ่จะพบในเขตร้อนหรืออบอุ่น ดำรงชีวิตในทะเลน้ำตื้น มีประมาณ 9,000 สายพันธุ์และมากกว่า 100 สายพันธุ์ มีพิษต่อมนุษย์
นอกจากนี้แมงกะพรุนกล่อง ยังสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วมาก และว่ายน้ำได้เร็วถึง 5 ฟุตต่อวินาที จึงสามารถจับสัตว์ทะเลด้วยกันกินเป็นอาหารได้อย่างง่ายดาย มักอาศัยอยู่ตามทะเลในเขตอุ่น เช่น ตามชายฝั่งของประเทศออสเตรเลียตอนเหนือ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฮาวาย ฯลฯ ช่วงที่พบได้มากคือ เดือนตุลาคม - เมษายน และหลังช่วงพายุฝนที่จะถูกน้ำทะเลพัดพาเข้ามาจนใกล้ฝั่ง
พิษร้ายถึงทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ถึงแม้ว่า แมงกะพรุนกล่องไม่ได้เป็นอันตรายทุกชนิด บางชนิดอาจทำให้เกิดอาการเจ็บหรือคันเพียงเล็กน้อย หรือเป็นตะคริว กล้ามเนื้อหดเกร็งและเป็นเหตุให้จมน้ำได้ง่ายขึ้น มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่มีอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากหัวใจหรือระบบหายใจล้มเหลว โดยเข็มพิษมีกว่าล้านเซลล์ในบริเวณหนวดที่ยืดออกมาของแมงกะพรุน พิษนี้จะสร้างความทรมาน เจ็บปวดอย่างรุนแรง ทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสตายได้ โดยพิษสามารถเข้าสู่กระแสเลือดไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง และเมื่อเข้าสู่ระบบประสาท ก็จะกดทับระบบประสาททำให้หยุดหายใจ และยังมีผลต่อระบบหัวใจ โดยทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นเฉียบพลัน เช่น แมงกะพรุนชนิด Chironex Fleckeri หนวดมีความยาว 3-5 เมตร หรือมีขนาดความสูง 8-10 เมตร (วัดจากส่วนบนสุดของร่มจนถึงขอบร่ม) ซึ่งแมงกะพรุนกล่องชนิดดังกล่าวสามารถทำให้ผู้ใหญ่เสียชีวิตได้ และที่มีขนาดความยาวหนวด 1- 2 เมตร สามารถทำให้เด็กเสียชีวิตได้
ในไทยพบเสียชีวิตแล้ว 4 ราย
จากสถิติของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2542-2553 รายงานผู้ป่วยที่สงสัยว่าเสียชีวิตจากแมงกะพรุนพิษ 4 ราย และผู้ป่วยที่สงสัยว่าเกือบเสียชีวิตและบาดเจ็บรุนแรงจากแมงกะพรุนพิษอีก 4 ราย มีอาการและรอยแผลตามาร่างกายคล้ายการได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่อง ซึ่งเป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษร้ายแรงที่สุด สามารถทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 2-10 นาที
“แมงกะพรุนที่มีรายงานการเสียชีวิตบ่อยที่สุด คือ แมงกะพรุนกล่อง ซึ่งพบรายงานการเสียชีวิตในอเมริกา ตอนเหนือของออสเตรเลีย ประเทศฟิลิปปินส์ เกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ในขณะที่ยังไม่พบรายงานการเสียชีวิตจากแมงกะพรุนกล่องในประเทศไทย” นางสาวจรัสศรี กล่าว
หาดท่องเที่ยวสำคัญ เป็นพื้นที่เสี่ยงทั้งสิ้น
ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับชนิดของแมงกะพรุนพิษ และที่สงสัยว่ามีพิษในน่านน้ำไทยรวมทั้งการพยาบาลเบื้องต้น เมื่อสัมผัสแมงกะพรุนพิษ โดยได้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์และท่อบรรจุน้ำส้มสายชูในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว อุทยาน รวมทั้งพื้นที่เสี่ยง
จังหวัด |
พื้นที่เสี่ยง |
ตราด |
เกาะหมาก เกาะกูด |
ชลบุรี |
หาดพัทยา |
เพชรบุรี |
หาดชะอำ |
ประจวบคีรีขันธ์ |
หัวหิน |
สุราษฏร์ธานี |
เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า |
นครศรีธรรมราช |
อ่าวขนอม |
พังงา |
เขาหลัก |
ภูเก็ต |
หาดกะตะ เกาะราชาใหญ่ |
กระบี่ |
เกาะลันตา เกาะห้อง หาดพระนาง |
นอกจากนี้ ยังติดตั้งท่อบรรจุน้ำส้มสายชู เพื่อใช้รักษาพยาบาลเบื้องต้น จากการสัมผัสแมงกะพรุนพิษและที่สงสัยว่าจะมีพิษ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตโดยแมงกะพรุนดังกล่าว ในพื้นที่
ระนอง : อุทยานแห่งชาติแหลมสน (หาดบางเบน หมู่เกาะกำ (อ่าวเขาควาย) หาดประพาส) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง (เกาะช้าง) และเกาะหยาม (อ่าวใหญ่)
พังงา : อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง (หาดท้ายเหมืองและเขานายักษ์) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง (หมู่เกาะระ) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ (อ่าวช่องขาดและอ่าวไม้งาม เกาะสุรินทร์เหนือ) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน (เกาะสิมิลัน (เกาะแปด) เกาะเมียง (เกาะสี่) และเกาะตาชัย) อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ (หาดเขาหลัก) เกาะไข่ใน เกาะไข่นอก หาดบางสัก และหาดป่าทราย
ภูเก็ต : อุทยานแห่งชาติสิรินาถ หาดในยาง หาดในทอน หาดบางเทา หาดสุรินทร์ หาดกมลา หาดป่าตอง หาดกะตะ หาดกะรน หาดในหาน และเกาะราชาใหญ่
กระบี่ : หาดบากันเตียง หาดคลองดาว หาดพระแอะ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา (แหลมโตนด เกาะไหง และเกาะรอก) และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี (เกาะปอดะ ทะเลแหวก ถ้ำพระนาง หาดไร่เลย์ หาดนพรัตน์ธารา อ่าวนาง เกาะไม้ไผ่ และอ่าวมาหยา)
ตรัง : อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม (หาดฉางหลาง หาดเจ้าไหม หาดหยงหลิง หาดสั้น หาดปากเมง เกาะลิบง และเกาะกระดาน
สตูล : เกาะสาหร่าย และอุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา (เกาะหลีเป๊ะ เกาะหินงาม เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะตะรุเตา)
ตราด : เกาะหมาก เกาะกูด และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง (เกาะช้าง เกาะหวาย)
ระยอง : หาดแหลมแม่พิมพ์ และอุทยานแห่งชาติเข้าแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด (หาดแม่รำพึง)
จันทบุรี : หาดเจ้าหลาวและหาดคุ้มลิมาน
แนะ 7 ข้อ ปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากพิษร้ายแมงกะพรุน
ส่วนขั้นตอนการปฐมพยาบาลจากการสัมผัสแมงกะพรุน ที่สงสัยว่ามีพิษและไม่มีพิษ ให้สังเกตจากลักษณะของบาดแผล ถ้าถูกแมงกะพรุนกล่องบาดแผลจะลึกและเป็นเส้นๆ ให้ปฐมพยาบาล ดังนี้
1.นำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำ หรือไปยังบริเวณที่ปลอดภัย
2.เรียกให้คนช่วยหรือเรียกรถพยาบาล (โทร.1669) และไม่ให้ผู้บาดเจ็บอยู่ตามลำพัง
3.ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ เพื่อลดการแพร่กระจายจากแมงกะพรุน
4.ไม่ให้ผู้บาดเจ็บและผู้อื่น สัมผัสหรือขัดถูบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุน
5.ถ้าหมดสติและไม่มีชีพจร ให้ปั้มหัวใจทันที
6.นำน้ำส้มสายชูราดบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนให้ทั่วอย่างน้อย 30 วินาที (ห้ามราดด้วยน้ำเปล่า)
7.รถจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึงหรือาการดีขึ้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ