จี้ตั้ง'ประกันสังคม'เป็นองค์กรอิสระ แฉใช้เงินมั่วซื้อคอมพ์-ดูงานตปท. ยื่นสอบขวางร่างพรบ.ฉบับปชช.

ปาลิดา พุทธประเสริฐ, พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 11 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1529 ครั้ง

หลังจากที่สภาผู้แทนราษฏร มีมติเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556  ไม่รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ของภาคประชาชน  ที่เสนอโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน ร่วมลงชื่อ และร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับ...) พ.ศ.... ที่เสนอโดยนายนคร มาฉิมและคณะ ทำให้ ร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองร่างเป็นอันตกไป โดยถือเอา ร่าง พ.ร.บ. ของคณะรัฐมนตรีและร่างที่เสนอโดยนายเรวัติ อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลักในการพิจารณา กลายเป็นประเด็นที่สร้างความไม่พอใจให้กับเครือข่ายภาคประชาชนต่อการลงมติดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้พยายามเคลื่อนไหวเดินหน้ารวมตัวเพื่อแสดงจุดยืนต่อเจตนารมย์ของการร่วมร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

ร้องวุฒิสภา-กก.สิทธิ์ดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชน

 

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย พร้อมด้วยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และกลุ่มเครือข่ายแรงงานภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อ นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้วุฒิสภาพิจารณาหลักการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเข้าชื่อของน.ส.วิไลวรรณ แซ่เตียและคณะ โดยระบุว่า การที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่รับร่างฯ ฉบับดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับภาคประชาชนเป็นอย่างมาก โดยถือว่า ส.ส.จงใจละเมิดสิทธิของประชาชน และปิดกั้นขัดขวางการใช้สิทธิทางการเมืองโดยตรงของประชาชนที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 ขณะเดียวกันยังเห็นว่า ทำให้ผู้ใช้แรงงานสิบกว่าล้านคน ไม่มีโอกาสเสนอหลักการและเหตุผลในการแก้ไขกฏหมายประกันสังคมทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ และไม่ได้รับสิทธิเป็นกรรมาธิการวิสามัญ 1 ใน 3 ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ

 

พร้อมกันนี้ยื่นหนังสือต่อ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร โดยเห็นว่าการมีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ภาคประชาชนนั้น ถือเป็นการที่ ส.ส.จงใจละเมิดสิทธิของประชาชน และปิดกั้นขัดขวางการใช้สิทธิทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 อีกทั้งยังไม่ปกป้องสิทธิและเคารพสิทธิของประชาชนในฐานะผู้แทนของปวงชน และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง รวมทั้งยังเห็นว่า ผู้ใช้แรงงานสิบกว่าล้านคน ไม่มีโอกาสเสนอหลักการและเหตุผลในการแก้ไขกฏหมายประกันสังคมทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ และเป็นกฎหมายเข้าชื่อ  อีกทั้งไม่ได้รับสิทธิเป็นกรรมาธิการวิสามัญ 1ใน 3 ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ

 

 

คปก.ชี้สภาฯ ไม่รับร่างภาคประชาชน ถือปิดกั้นโอกาส

 

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีสาธารณะ เรื่อง “การร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่กับจุดเปลี่ยนที่สำคัญ:  อิสระ..ครอบคลุม..โปร่งใส?” โดยมีนายโกวิท สัจจวิเศษ ตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้แทนประชาชน เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ฉบับประชาชน และนายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ... อีกฉบับหนึ่ง ร่วมแสดงความคิดเห็น

 

 

 

นางสุนีย์ ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวในระหว่างการเปิดเวทีโดยระบุว่า แต่เดิม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มีการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานาน บทบัญญัติหลายประการมีความไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับภารกิจการบริหารจัดการที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งไม่สอดคล้องกับรูปแบบการจ้างงานที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264  คน ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับคณะทำงานผลักดันร่างกฎหมายประชาชนและองค์กรเครือข่ายพันธมิตรด้านแรงงาน จึงร่วมกันจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ.... โดยเรียกร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ‘ฉบับบูรณาการแรงงาน’

 

แต่เมื่อทางคณะรัฐบาลมีมติไม่รับหลักการ ร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน ทางคณะกรรมาการปฏิรูปกฎหมายหรือ คปก. จึงส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ซึ่งหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

 

            “การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การที่ร่างกฎหมายฉบับประชาชนตกไป 1 ฉบับไม่ได้หมายถึงแค่ร่างกฎหมายประกันสังคม แต่หมายถึงร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอที่รอคิวอยู่อีกนับ 10 ฉบับจะมีโอกาสที่สภาผู้แทนราษฎรจะไม่รับหลักการได้” นางสุนีย์กล่าว และว่า จากการที่รัฐบาลไม่รับหลักการของร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน จึงเท่ากับเป็นการใช้อำนาจปฏิเสธสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน และใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย

 

 

            “คปก. เห็นว่า ร่างกฎหมายประกันสังคมที่ประชาชนเสนอ มีหลักการสาระที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างกว้างขวาง และรัฐสภาควรอย่างยิ่งที่จะนำความคิดเห็นของประชาชนเข้าไปร่วมพิจารณากฎหมายในสภา เพื่อรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่การที่สภาไม่รับร่างของภาคประชาชนย่อมถือเป็นการปิดกั้นโอกาสของประชาชนที่จะได้เสนอเหตุผลในสภาผู้แทนราษฎรและในวุฒิสภา” นางสุนีย์กล่าว

 

 

ตัวแทนรัฐแจงร่าง ครม. ขยายสิทธิผู้ประกันตน

 

 

ด้านนายโกวิท สัจจวิเศษ ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลได้ชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับคณะรัฐมนตรี ว่า เน้นไปที่สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนหรือลูกจ้างให้มีความครอบคลุม ทั้งลูกจ้างรายเดือน รายวันหรือรายชั่วโมง รวมถึงลูกจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบหรือแรงงานนอกระบบด้วย

 

การขยายการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้แก่ผู้ประกันตน เช่น กรณีเกิดไข้หวัดนกระบาด หากผู้ประกันตนมีความประสงค์จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคสามารถทำได้ เป็นการป้องกันนอกเหนือจากการให้ความคุ้มครองในการรักษาเพียงอย่างเดียวหรือการให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนกรณีเสียชีวิต จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เดิมหากผู้ประกันตนไม่มีทายาท เงินบำเหน็จจะตกเป็นของกองทุนประกันสังคม แต่ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ เพื่อให้เงินบำเหน็จถึงทายาทผู้มีสิทธิ์จึงมีการขยายการรับสิทธิประโยชน์จากเดิมกำหนด 1  ปี เพิ่มขึ้นเป็น  2 ปี และเพิ่มความยืดหยุ่นมากขึ้นหากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด ผู้ประกันตนยังสามารถขอขยายระยะเวลาได้กรณีมีความจำเป็น

 

 

 

ส่วนประเด็นการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ที่เดิมทีทรัพย์สินของกองทุนประกันสังคม ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีใดก็ตามถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์จะต้องตกเป็นของแผ่นดิน แต่ร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรีอนุญาตว่า ในกรณีที่กองทุนประกันสังคมไปซื้ออสังหาริมทรัพย์แล้วขายเพื่อการลงทุน เงินเหล่านั้นจะตกเป็นของกองทุน แต่ถ้าซื้อที่ดินเพื่อสร้างสำนักงาน ทรัพย์สินส่วนนี้ยังต้องถือเป็นของแผ่นดินอยู่

 

 

ร่างประชาชนขยายสิทธิ์-หวังดันประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ

 

 

ขณะที่น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย กล่าวถึงจุดแข็งของร่างกฎหมายฉบับประชาชนว่า มีความครอบคลุมลูกจ้างทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน-นักศึกษาฝึกงาน ผู้รับงานไปทำที่บ้านหรือผู้ที่ทำงานบ้าน นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องความเป็นมืออาชีพของคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อความมั่นคงและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนจะเพิ่มมากขึ้น มีกระบวนการสรรหาคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการโดยอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดกระทรวงแรงงาน สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นในร่างกฎหมายฉบับประชาชน เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาลโดยไม่มีข้อยกเว้น สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญาของภาครัฐ มีการตรวจสุขภาพประจำปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือกรณีที่ผู้ประกันตนอายุ  55  ปี เมื่อออกจากงานแล้วควรได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และควรได้รับสิทธิกรณีว่างงาน

 

ร่างกฎหมายฉบับประชาชน นอกจากการให้สิทธิประโยชน์กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือเจ็บป่วยถึงทุพพลภาพ ยังครอบคลุมถึงการได้รับการสูญเสียทางจิตใจด้วย โดยคำนวณจากอายุการส่งเงินประกันสังคมเป็นตัวตั้ง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกันตน โดยเฉพาะการคุ้มครองบุตรควรมีการขยายระยะเวลาถึง 20 ปี และกรณีที่สมัครใจลาออกจากงานหรือกรณีที่เจ็บป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ก็ควรได้รับค่าตอบแทนเช่นกัน

 

 

ร่างฉบับครม.ไม่สนประกันสังคมใช้เงินมั่ว ตรวจสอบไม่ได้

 

 

อย่างไรก็ตาม น.ส.วิไลวรรณยังกล่าวถึงข้อด้อยของร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรีที่ยังละเลยในแง่ความเป็นอิสระ โปร่งใส และตรวจสอบได้ของกองทุนประกันสังคม ร่างกฎหมายฉบับประชาชนจึงมีความต้องการผลักดันให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ เนื่องจากกองทุนประกันสังคมมีเงินจำนวนมหาศาลจึงเกิดปัญหาการถูกแทรกแซงได้ง่าย โอกาสที่จะเกิดการคอร์รัปชั่นสูง และไม่มีความโปร่งใส

 

 

 

            “การที่กองทุนประกันสังคมนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทั้งในเรื่องของการทำประชาสัมพันธ์ด้วยจำนวนเงิน 177 ล้านบาทต่อปี การเดินทางไปดูงานต่างประเทศจำนวน 30 ล้านบาทต่อปี การนำงบไปทำวิจัยที่ไม่เกิดประโยชน์ การจัดซื้อคอมพิวเตอร์ 2,300 ล้านบาท ซึ่งมีข้อสงสัยว่าจะมีการลงนามโดยมิชอบ หรือการสนับสนุนสภาองค์กรลูกจ้างและนายจ้าง ปีละ 24 ล้าน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคณะกรรมการมีอำนาจในการตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว ขณะที่เจ้าของเงินไม่มีสิทธิตัดสินใจในการนำเงินไปใช้

 

 

            “สิ่งที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการถูกแทรกแซง เอื้อประโยชน์ให้แก่สถานประกอบการและผู้มีอำนาจ เรายังเห็นว่า 22-23 ปีที่ผ่านมา สิทธิประโยชน์ยังล้าหลังมาก ไม่ได้เน้นเรื่องการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกันตนเลย ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยกว่า 40 แห่ง จะขอถอนตัวออกจากประกันสังคม ผู้ประกันตนเองก็อยากถอนตัวเองเพราะว่าไม่ได้ทำให้เราอยากอยู่ในระบบประกันสังคม นี้คือ สิ่งที่พี่น้องเราสะท้อนมา”

 

 

น.ส.วิไลวรรณจึงเสนอให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ เป็นนิติบุคคลภายใต้การปกครองของรัฐและอยู่ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี ต้องการให้มีคณะการตรวจสอบพิเศษ คณะกรรมการลงทุนพิเศษ และคณะกรรมการประกันสังคมต้องมาจากกการเลือกตั้งโดยผู้ประกันตน เพื่อความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และง่ายต่อการตรวจสอบ

ในขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมมีจำนวนเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท ถือว่าใหญ่มากเมื่อเทียบกับสถาบันทางการเงิน แต่ยังมีการบริหารแบบข้าราชการ ไม่ใช่มืออาชีพ คณะกรรมการประกันสังคมมาจากการเลือกตั้งในระบบไตรภาคี ซึ่งมีสหภาพแรงงานเพียง 1,200 กว่าแห่งเท่านั้น ทั้งที่มีสมาชิกกว่า 3 แสนคน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            “กองทุนเงินประกันสังคมไม่ใช่เงินสงเคราะห์ แต่เป็นเงินที่ผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐจ่ายสมทบร่วมกัน เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ขณะที่กองทุนเงินบำเหน็จข้าราชการมีสมาชิกอยู่ 1.2 ล้านคน แต่มีนักบริหารมืออาชีพที่มาจากการสรรหาเป็นผู้บริหารกองทุน แต่กองทุนประกันสังคมซึ่งมีผู้ประกันตน 13 ล้านคน กลับไม่มีมืออาชีพมาบริหาร เพราะกฎหมายระบุให้ผู้บริหารต้องมาจากข้าราชการและเลขาธิการประกันสังคม ซึ่งถือว่ามีคุณสมบัติไม่เพียงพอ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่ใช่มืออาชีพที่จะเข้ามาบริหารเพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: