สภาสนามม้า-สภาประชาชนคนละบริบท แล้วกปปส.จะพาประเทศไทยไปทางไหน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ ภาพโดย ราชพล เหรียญศิริ ศูนย์ข่าว TCIJ 10 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2302 ครั้ง

การชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มต้นจากการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษเหมาเข่ง ยืดเยื้อเป็นการขับไล่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ผันตัวเองมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และประกาศเสียงแข็งว่า ต่อให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ลาออกหรือยุบสภาก็จะไม่ยุติการชุมนุม จนกว่าจะล้างระบอบทักษิณออกจากประเทศไทย และถึงที่สุดรัฐบาลก็ประกาศยุบสภา

เป็นจุดเริ่มต้นข้อกังขาว่า เมื่อมาถึงการยุบสภาแล้ว ประเทศไทยจะเดินหน้าต่ออย่างไร ภายหลังสุเทพจึงออกมาเสนอแนวคิดการตั้งสภาประชาชนโดยเทียบเคียงกับการตั้งสภาสนามม้าภายหลังเหตุการณ์  14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเสียงสะท้อนจากนักกฎหมายต่อประเด็นนี้แตกออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า สภาประชาชนไม่สามารถมีได้ เพราะไม่มีข้อกฎหมายใด ๆ รองรับ ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าสามารถทำได้ โดยยกเอามาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งสามารถหลักการในมาตรานี้มาปรับใช้ได้

‘สภาประชาชน’ ไม่ใช่ ‘สภาสนามม้า’ เทียบกันไม่ได้

สภาสนามม้าที่สุเทพกล่าวถึง เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีลักษณะเป็นสุญญากาศทางการเมือง เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็เหลือสมาชิกอยู่เพียง 11 คน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสมัชชาแห่งชาติ

สมัชชาแห่งชาติประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายอาชีพและกลุ่มผลประโยชน์ มีสมาชิกถึง 2,347 คน และเลือกกันเองเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เหตุเพราะมีจำนวนสมาชิกมาก จึงต้องเปิดประชุมที่ราชตฤณมัยสมาคมหรือสนามม้านางเลิ้ง อันที่มาของคำว่า “สภาสนามม้า” กระทั่งมีการยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติลง เพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งและแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่ จำนวน 299 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ

แต่การเทียบเคียงสถานการณ์ขณะนี้กับสถานการณ์หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าการเป็นเทียบเคียงที่ผิดฝาผิดตัว เนื่องจากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้เกิดภาวะสุญญากาศเช่นนั้น การตั้งสภาประชาชนจึงทำไม่ได้

ทั้งต้องเข้าใจด้วยว่า ธรรมนูญการปกครอง 2515 ได้ให้อำนาจไว้ในมาตรา14 ที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ซึ่งผิดกับรัฐธรรมนูญ 2550 ในปัจจุบัน ที่ไม่ได้มีการระบุเช่นนั้น เหตุนี้การเปรียบเทียบสภาประชาชนกับสภาสนามม้าของสุเทพจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้

ไม่มีสภาประชาชนในรัฐธรรมนูญปี 2550

อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายซีกที่เห็นด้วยได้หยิบยกมาตรา 3 และมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อใช้เป็นฐานค้ำยันให้แก่การตั้งสภาประชาชน แต่วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ แสดงทัศนะว่า สภาประชาชนเท่ากับการทำหน้าที่แทนระบบตามรัฐธรรมนูญปกติ ซึ่งชัดเจนว่าไม่มีมาตราใดในรัฐธรรมนูญที่เขียนให้อำนาจไว้ สภาประชาชนจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้

            “ส่วนข้ออ้างเรื่องมาตรา 3 เลิกอ้างได้แล้วครับ เพราะมาตรา 3 เขียนไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจของปวงชนชาวไทยผ่านรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ถามว่าสภาประชาชนเขียนไว้ตรงไหน เมื่อไม่มี ก็ต้องหยุดอ้างมาตรา 3 เพราะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนมาตรา 7 ยิ่งอ้างไม่ได้ เพราะต้องเป็นกรณีที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเขียนไว้ แต่ต้องทำ ถามว่าวันนี้สิ่งที่ต้องทำคืออะไร คือการที่ต้องมีสภา มีคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่แทนประชาชน ซึ่งในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้แล้ว แต่ถ้ามีคนไม่พอใจกับสภาแบบนี้ก็ต้องไปเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

            “การอ้างมาตรา 7 มีปัญหาอย่างร้ายแรงว่า ถ้ามาตรา 7 ถูกใช้อ้างอย่างพร่ำเพรื่อ หมายความว่าเมื่อไม่พอใจก็ขอให้นายกรัฐมนตรีลาออก แล้วใช้นายกฯ มาตรา 7 ผมก็ย้อนถามว่าถ้ารัฐบาลไม่พอใจผู้นำฝ่ายค้านและขอให้ผู้นำฝ่ายค้านลาออก แล้วหาผู้นำฝ่ายค้านคนใหม่โดยไม่ต้องเลือกตั้งได้หรือไม่ ที่สำคัญคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเตือนไว้แล้วว่า มาตรา 7 จะนำมาใช้ขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานไม่ได้ พระมหากษัตริย์มีอำนาจอย่างจำกัด”

นอกจากนี้ วีรพัฒน์ยังกล่าวคล้ายคลึงกับ ศ.ดร.ชาญวิทย์ว่า ขณะนี้การเมืองไทยยังไม่เกิดสุญญากาศ ส่วนกรณีที่กล่าวว่า ให้รัฐบาลยุบสภาและให้นายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ลาออกเพื่อให้เกิดสภาพสุญญากาศ เช่นนี้จะสามารถใช้มาตรา 7 ได้หรือไม่ วีรพัฒน์ ตอบด้วยคำถามว่า แล้วเหตุใดจึงต้องปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปเช่นนั้น ในเมื่อการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ก็เป็นวิถีปกติที่รัฐธรรมนูญวางแนวทางไว้แล้ว

            “ถ้าคุณสุเทพอยากจะตั้งสภาประชาชน ก็ต้องเสนอเป็นญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือถ้าไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญก็ให้สภารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ค้างวาระ 3 อยู่ แล้วให้ สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ทำหน้าที่ร่างเรื่องสภาประชาชนเข้าไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าทำแบบอื่นก็เท่ากับกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ” วีรพัฒน์กล่าว

นักวิชาการแนะยุบสภาแล้วต้องทำประชามติแก้รธน.

ด้านพรรคเพื่อไทยก็มีการเสนอให้ผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในวาระ 3 เพื่อเปิดทางให้ตั้ง สสร. และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นอีกเกมหนึ่งที่จะลดความร้อนแรงของการชุมนุมที่นำโดย กปปส. พร้อมกันนั้นยังสอดรับกับแนวทางของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ด้วยเหตุผลว่าเป็นผลพวงของเผด็จการ

ขณะที่ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเป็นอีกทางหนึ่ง เป็นทางที่ดูเหมือนจะมีความประนีประนอมกว่า พิชญ์อธิบายว่า หากละรากเหง้าอันสลับซับซ้อนของปัญหาที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันถือเป็นปัญหาทางเทคนิคของรัฐธรรมนูญว่า ใครมีอำนาจเหนือใคร เนื่องจากเป็นการขัดกันของสองหลักคือหลักเสียงข้างมากกับหลักการตรวจสอบเสียงข้างมากเพื่อไม่ให้เสียงข้างมากเป็นเผด็จการรัฐสภา โดยที่ทั้งสองหลักการถูกใช้ผ่านสององค์กรคือสภากับศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งในทางเทคนิคตรงนี้ ฝ่ายหนึ่งอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มาจากการทำประชามติ ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงของรัฐประหาร จนเกิดการปะทะกันระหว่างพลัง 2 ฝ่ายนี้ ปัญหาคือต่างฝ่ายต่างลากความขัดแย้งออกมาบนท้องถนน

            “ผมพูดอยู่บนหลักการ ไม่ใช่พูดว่าฝ่ายฉันถูกฝ่ายเดียว คือฝ่ายเสียงข้างมากก็ควรเป็นเสียงข้างมากที่ยอมรับหลักการของการไม่ฉีกกฎเกณฑ์และเคารพหลักนิติรัฐ นิติธรรม แต่ฝ่ายนิติรัฐและนิติธรรมก็ต้องเข้าใจด้วยว่า เสียงข้างมากก็มีความสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ เมื่อขัดกัน ต่างฝ่ายก็ต่างไม่ยอม ต่างก็ลากคนออกมาบนถนน จึงไปผสมปนเปกับเรื่องเก่าๆ ที่เจ็บช้ำกันมาทั้งสองฝ่าย”

พิชญ์เสนอว่า ควรหยุดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ควรดึงดันเอาชนะคะคานว่าใครมีอำนาจเหนือกว่า แต่ควรกลับไปถามประชาชนโดยการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พร้อมๆ กับการทำประชามติต่อประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ

            “ผมเคยแสดงความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ว่า ควรยุบสภาและทำประชามติว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือเปล่า ในแง่บวก ประชาชนอาจยืนยันว่าต้องการรัฐบาลนี้ แต่เป็นรัฐบาลที่ต้องยืนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้เช่นกัน ทำไมเราไม่มองว่าสังคมอาจจะมีกระบวนการประนีประนอมของตัวเอง โดยใช้กระบวนการทางรัฐธรรมนูญอย่างถึงที่สุด แทนที่จะตีความว่าฝ่ายตัวเองถูกฝ่ายเดียว ซึ่งผมคิดว่าหนทางตามรัฐธรรมนูญยังมี และมันไม่ใช่เวลาที่ต้องพิสูจน์ว่า ใครเหนือกว่าใคร ถ้าจะพิสูจน์ก็ควรพิสูจน์ด้วยกระบวนการทางรัฐธรรมนูญมากกว่าการขยายขอบเขตของรัฐธรรมนูญออกไปที่มาตรา 3 และมาตรา 7” พิชญ์กล่าว

แนวทางของพรรคเพื่อไทยที่จะดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ต่อ คงยุติลง หลังจากการประกาศยุบสภา ขณะที่การชุมนุมในวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา เดินหน้าต่อไป ซึ่งต้องจับตากันต่อไปว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำกปปส.จะเลือกแนวทางไหนเพื่อนำพาประเทศไทยต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: