จากงานวิจัยงานวิจัย “การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของครัวเรือนไทยภายใต้โครงการเรียนฟรี 15 ปี” โดย ณัฏฐาภรณ์ เลียมจรัสกุล สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่าโครงการเรียนฟรี 15 ฟรีมียอดงบประมาณรายจ่ายโครงการสูงถึงประมาณ 73,300 ล้านบาท ในปี งบประมาณ พ.ศ. 2553 และคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะเป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ. 2556 รวมเป็นยอดเงินทั้งโครงการประมาณ 319,190 ล้านบาทตลอดระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2552-2556) (สํานักงบประมาณ, 2552) เงินอุดหนุนที่ให้แก่สถานศึกษาและครอบครัวนักเรียนนั้นจำแนกเป็น 5 รายการหลัก ประกอบด้วย ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบ และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนโดยกําหนดจํานวนเงินตามระดับชั้นการศึกษา
ความเข้าใจของครัวเรือนต่อโครงการเรียนฟรี
หลังจากรัฐบาลประกาศโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพแก่สาธารณะนั้น การใช้คําเรียกหรืออธิบายรายละเอียดโครงการไม่ชัดเจน ส่งผลทําให้ผู้ปกครองหรือครัวเรือนจํานวนมากมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากการดําเนินนโยบายของรัฐบาลจริง โดยพบว่าประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 51 ) ของกลุ่มตัวอย่างทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลเข้าใจว่า “โครงการเรียนฟรี 15 ปี นั้นหมายความว่า ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานแล้ว” ขณะที่อีกร้อยละ 45 มีความเข้าใจว่า “ผู้ปกครองอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายบางส่วนอยู่” และอีกประมาณเกือบร้อยละ 5 ที่ไม่เชื่อถือโครงการดังกล่าวและคิดว่าผู้ปกครองจะยังคงต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่แตกต่างไปจากก่อนมีการประกาศใช้โครงการเรียนฟรี 15 ปีหลังจากมีดําเนินโครงการเรียนฟรี 15 ปี แล้ว พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นด้วยว่า “โครงการเรียนฟรี 15 ปี นั้น ไม่ฟรีจริง ผู้ปกครองยังคงต้องเสียค่าใช้จ่าย” ซึ่งพบว่ามีเพียงร้อยละ 4 ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่ระบุว่าโครงการเรียนฟรี 15 ปี เป็นโครงการเรียนฟรีจริง ขณะทีร้อยละ 78 ของกลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นว่ารายจ่ายทางการศึกษาปรับลดลง และที่น่าสนใจคืออีกเกือบร้อยละ 5 ของผู้ปกครองให้ความเห็นว่า รายจ่ายทางการศึกษากลับเพิ่มสูงขึ้น
จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ทําให้ทราบข้อมูลว่า แม้มีการประกาศโครงการเรียนฟรี 15 ปี แต่ในทางปฏิบัติสถานศึกษาบางแห่งปรับเปลี่ยนรูปแบบค่าเล่าเรียนไปสู่การเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาแทน อาทิเช่น การเก็บค่าสมาคมครูผู้ปกครอง การเรียกเก็บจ้างบุคลากรในสถานศึกษา (นักการ/ภารโรง) การเรียกเก็บค่าจ้างครูชํานาญการ หรือการจ้างครูต่างประเทศ โดยมีผู้ปกครองจํานวนหนึ่งสามารถระบุได้ว่ารายการดังกล่าวไม่เคยมีการเรียกเก็บมาก่อนที่จะมีโครงการเรียนฟรี 15 ปี แต่มีการเรียกเก็บหลังจากมีการดําเนินโครงการเรียนฟรี 15 ปีแล้ว
ผู้ปกครองต้องจ่ายอะไรเพิ่ม
ทั้งนี้มีรายการที่รัฐบาลประกาศห้ามสถานศึกษาเรียกเก็บเพิ่มเติมจากผู้ปกครองภายใต้โครงการเรียนฟรี 15ปี
ก. ค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถขอรับการสนับสนุนจากนักเรียนหรือผู้ปกครอง
a. ค่าเล่าเรียน
b. ค่าหนังสือเรียน
c. ค่าอุปกรณ์การเรียน
d. ค่าเครื่องแบบนักเรียน
e. ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมวิชาการ ปี ละ 1 ครั้ง
f. ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมคุณธรรม/ชุมนุมลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด ปี ละ 1 ครั้ง
g. ค่าใช้จ่ายในการไปทัศนศึกษาปี ละ 1 ครั้ง
h. ค่าใช้บริการอินเทอร์เนตนอกเหนือการเรียนตามหลักสูตรปกติปีละ 40ชั่วโมง
i. ค่าวัสดุฝึก สอน สอบ
j. ค่าคู่มือนักเรียน
k. ค่าบัตรประจําตัวนักเรียน
l. ค่าปฐมนิเทศนักเรียน
m. ค่าสมุดรายงานประจําตัวนักเรียน
n. ค่าบริการห้องสมุดขั้นพื้นฐาน
o. ค่าบริการห้องพยาบาล
p. ค่าวัสดุสํานักงาน
q. ค่าวัสดุเชืhอเพลิงและหล่อลืjน
r. ค่าวัสดุงานบ้านงานครัว
s. ค่าอุปกรณ์กีฬา
t. ค่าซ่อมแซมครุภัณฑ์และอุปกรณ์การเรียนการสอบ
u. ค่าใช้จ่ายในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
v. ค่าวารสารโรงเรียน
ที่มา. หนังสือสพฐ.ด่วนที่สุด ที่ศธ. 04002/ว 510 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2552 เรื่อง หลักเกณฑ์เงินบํารุงการศึกษาของสถานศึกษาสังกัด สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ค่าบำรุงการศึกษา
องค์ประกอบหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่มีการเรียกเก็บ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าการศึกษาคือ ค่าบำรุงการศึกษา โดยส่วนใหญ่ลักษณะรายจ่ายพิเศษหรือค่าธรรมเนียมที่มีการเรียกเก็บจะแตกต่างกันไปตามสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาของรัฐจะมีการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาที่เป็นแบบแผนแตกต่างกันไป บางสถานศึกษาอาจเรียกเก็บ 1-2 รายการ บางสถานศึกษาอาจเรียกเก็บ 3-5 รายการ ตัวอย่างรายการค่าบำรุงการศึกษาของสถานศึกษาสังกัดรัฐบาลที่พบประกอบด้วยรายการสำคัญต่อไปนี้
1. ค่าจ้างครูต่างประเทศ (หากมีการเรียกเก็บ มักเฉลี่ยภาคเรียนละประมาณ 500 บาท)
2. ค่าจ้างครูที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา (หากมีการเรียกเก็บ มักเฉลี่ยภาคเรียนละประมาณ 500บาท)
3. ค่าสอนคอมพิวเตอร์ กรณีโรงเรียนจัดสอนคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนเกินมาตรฐานที่รัฐจัดให้ (1 เครื่อง : 20 คน)
4. ค่าประกันชีวิตนักเรียน/ค่าประกันอุบัติเหตุนักเรียน (มักเฉลี่ยปี ละประมาณ 100-150 บาท)
5. ค่าตรวจสุขภาพนักเรียนเป็นกรณีพิเศษ นอกเหนือจากการให้บริการสาธารณสุขของรัฐ
6. ค่าสาธารณูปโภคสำหรับนักเรียนในห้องเรียนปรับอากาศ
7. ค่าจัดจ้างบุคลากรปฏิบัติงานในสถานศึกษา (ค่านักการภารโรง/ค่าเก็บขยะ)
รายการค่าใช้จ่ายทั้ง 5 รายการแรกเป็นรายการที่พบว่ามีการเรียกเก็บกับผู้ปกครองเกือบทุกรายหากสถานศึกษาของรัฐแห่งใดมีห้องเรียนปรับอากาศ พบว่าจะมีการเรียกเก็บค่าบำรุง “ค่าสาธารณูปโภคสำหรับนักเรียนในห้องเรียนปรับอากาศ” เพิ่มเติมด้วย ขณะที่ยังพบ“ค่าจ้างบุคลากรปฏิบัติงานในสถานศึกษา” หรือเรียกโดยทั่วไปในกลุ่มผู้ปกครองว่า “ค่าจ้างเก็บขยะ/นักการภารโรง” เฉลี่ยตั้งแต่เทอมละ 200 จนถึงเทอมละ 500 บาทต่อหัวนักเรียน ซึ่งมักพบในโรงเรียนกลุ่มสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งรายการดังกล่าวยังเป็นข้อวิพากษ์ในกลุ่มครัวเรือนว่ามีความเหมาะสมในการเรียกเก็บเงินดังกล่าวหรือไม่
สำหรับสถานศึกษาของเอกชนรายจ่ายมักไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน เนื่องจากขึ้นอยู่กับเหตุผลของการเรียกเก็บต่างกันไปตามลักษณะการจัดการเรียนการสอน แต่ส่วนใหญ่มักจะมีการเรียกเก็บมากกว่า กรณีสถานศึกษาของรัฐ เช่น อาจเรียกเก็บค่าอาหารกลางวัน ค่าเครื่องปรับอากาศ ค่าจัดจ้างอาจารย์ชาวต่างประเทศ ค่าทัศนศึกษา เป็นต้น ขณะที่สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลุ่มที่มีการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาน้อยมาก ส่วนใหญ่มักเป็นค่าประกันอุบัติเหตุนักเรียนต่อปี เฉลี่ยปีละประมาณ 100-150 บาทเท่านั้น หรือหากเป็นโรงเรียนภายใต้การดูแลของศาสนา จะอยู่ในรูปเงินเรี่ยไรทำบุญ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น ค่าสอนคอมพิวเตอร์กรณีโรงเรียนจัดคอมพิวเตอร์นักเรียนเกินมาตรฐาน 200-500 บาท ค่าทัศนศึกษาเกินนมาตรฐานที่รัฐจัดให้ 150-400 บาท ค่าใช้จ่ายในการจัดโครงการและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเกินมาตรฐานที่รัฐจัดให้ 350-500 บาท
สถานศึกษาบางแห่งมีการกำหนดเงื่อนไขภายในไว้หากนักเรียนรายใดไม่ชำระ จะไม่ออกใบคะแนนให้ซึ่งจะมีผลต่อการศึกษาต่อของนักเรียน หรือมีผลต่อการกำหนดห้องเรียนที่สำคัญยังยากต่อการตรวจสอบเพราะบางแห่งไม่มีการออกใบเสร็จ
นอกจากนี้ยังมีรายการค่าใช้จ่ายที่พบจากการสำรวจกลุ่มครัวเรือน บางรายการมีข้อสังเกตว่าอาจเข้าข่ายรายจ่ายที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้สถานศึกษาเรียกเก็บกับผู้ปกครอง ยกตัวอย่างเช่น
ค่ากระดาษข้อสอบ พบกรณีการเรียกเก็บค่ากระดาษสอบทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นครราชสีมาและนครศรีธรรมราช โดยบางแห่งเรียกค่าใช้จ่ายเป็นภาคการศึกษาบางแห่งคิดเป็นจำนวนครั้งการสอบวัดผลโดยรวมแล้ว มีอัตราเรียกเก็บตั้งแต่ 50 – 200 บาทต่อปี การศึกษา
ค่าเข้าห้องน้ำ บางสถานศึกษามีการเรียกเก็บค่าห้องน้ำ ของนักเรียน ครั้งละ 3 บาทสำหรับห้องน้ำสะอาด แต่หากเป็นห้องน้ำทั่วไปก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วควรเป็นสิทธิของนักเรียนที่จะได้รับบริการห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ
ค่าน้ำดื่มสะอาด ค่าบริการสระว่ายน้ำ ค่าชุดไทย ชุดประจำท้องถิ่น ชุดกิจกรรมพิเศษ ค่ารับปริญญาอนุบาลเด็กน้อย และค่าส่ง SMS (บางสถานศึกษาในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการเรียกเก็บค่าส่งข้อความ SMS ภาคเรียนละ 100 บาท โดยแจ้งว่าเป็นค่าใช้จ่ายจากบริการในการส่งข้อมูลนักเรียนแก่ผู้ปกครองโดยตรง)
ค่าชุดเครื่องแบบนักเรียน
ในแต่ละปี ครอบครัวของนักเรียนจะมีค่าใช้จ่ายด้านเสื้อผ้านักเรียนปีละประมาณ 2,250 บาทต่อครัวเรือน โดยนักเรียนที่กำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นกลุ่มที่มีรายจ่ายด้านเสื้อผ้าชุดเครื่องแบบสูงที่สุด ซึ่งสำหรับการเปลี่ยนชั้นเรียนแรกของทุกระดับการศึกษาจะเป็นปีที่มีรายจ่ายด้านเสื้อผ้าสูงที่สุด เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนเครื่องแบบใหม่ทั้งหมด
ค่าหนังสือเรียน
สำหรับหนังสือเรียนพบว่านอกจากหนังสือที่รัฐกำหนดให้สถานศึกษาจัดซื้อให้แก่นักเรียนเพื่อใช้เรียนหนังสือแล้ว ในทางปฏิบัติยังพบว่านักเรียนจำนวนหนึ่งยังมีรายจ่ายด้านหนังสือเรียนปรากฏอยู่ แต่จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างน้อย คือ ประมาณปี การศึกษาละ 300 บาท ทั้งนี้ยังมีปัญหาสถานศึกษาบางแห่งห้ามนำหนังสือเรียนกลับบ้านทำให้ผู้ปกครองต้องซื้อหนังสืออีกชุดไว้ให้บุตรหลาน
ค่าอุปกรณ์การเรียน
ผู้ปกครองยังต้องจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียนบางส่วนเพิ่มเติมด้วย ซึ่งเฉลี่ยแล้วมีรายจ่ายปีละประมาณ 420 บาท ไม่นับรวมค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนในสายอาชีวศึกษาที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนในสายอื่นๆ
ค่าอาหารกลางวัน
ค่าใช้จ่ายด้านอาหารกลางวันเป็นค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วนมากที่สุด เมื่อบุตรหลานเรียนสูงขึ้นค่าอาหารจะสูงขึ้นตามระดับการศึกษา
ค่าเดินทางไปเรียน
เป็นที่น่าสังเกตว่าค่าเดินทางของครอบครัวที่มีรายได้น้อยสูงกว่าครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่า นอกจากนี้ครอบครัวทีอาศัยในชนบทหรือชานเมืองนิยมส่งบุตรหลานมาเรียนในตัวเมืองจึงเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการเดินมาทางมากขึ้น
ค่าเรียนพิเศษ
มัธยมศึกษาตอนปลายเป็นช่วงที่มีรายจ่ายด้านการเรียนพิเศษสูงที่สุด เฉลี่ยแล้วนักเรียนหนึ่งคนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะเสียค่าเรียนพิเศษประมาณปีละ 11,000 บาทสำหรับสถานศึกษาของรัฐ และ 9,200 บาทสำหรับสถานศึกษาของเอกชน
อ่านฉบับเต็มได้ที่
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ