ข้อมูลการเจรจาFTA ไทย-ยุโรป

18 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1263 ครั้ง


นับตั้งแต่กลางปี 2555 เป็นต้นมา มีความเคลื่อนไหวจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งเปิดการเจรจา  ในเดือนกรกฎาคม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า จะนำร่างกรอบการเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรการ 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยไม่มีการจัดประชาพิจารณ์ร่างกรอบฯ อีก แต่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศไม่นำร่างกรอบการเจรจามารับฟังความคิดเห็นของประชาชนและศึกษาผลกระทบโดยหน่วยงานที่เป็นกลาง ก่อนการเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาดังที่เคยปฏิบัติมา

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป สาระสำคัญของกรอบการเจรจาจะครอบคลุม 17 ประเด็น ได้แก่ 1. การค้าสินค้า  2. พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า  3. กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า  4. มาตรการเยียวยาทางการค้า   5. มาตรการปกป้องด้านดุลการซำระเงิน     6. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช  7. อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า  8. การค้าบริการ 9. การลงทุน 10. การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ  11. ทรัพย์สินทางปัญญา 12. การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 13. ความโปร่งใส  14. การแข่งขัน 15. การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 16. ความร่วมมือ และ 17.  เรื่องอื่น ๆ

แม้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จะพูดถึงประเด็นที่เป็นห่วง 3 เรื่องอยู่บ้าง คือ การมีข้อผูกพันทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดทางการ เกษตรอย่างครบวงจร รวมถึงอุปสรรคต่อการใช้มาตรการสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) และการเข้าถึงยาที่จำเป็นของประชาชน ,การเปิดเสรีสินค้าแอลกอฮอล์และบุหรี่ ที่อาจส่งเสริมให้เกิดการบริโภคมากขึ้น และการสูญเสียฐานทรัพยากรของประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  แต่ก็ยังคงไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาร่างกรอบเจรจา ในที่สุดการมีการลงมติให้ความเห็นชอบอย่างรวดเร็วหลังการรับฟังความคิดเห็นร่างกรอบการเจรจาเพียงไม่กี่วัน ซึ่งการจัดรับฟังความคิดเห็นนี้มิได้นำร่างกรอบการเจรจาน ทั้งฉบับไปรับฟังความคิดเห็น ซึ่งไม่ตรงกับมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่าคณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น

เหตุผลสำคัญที่ใช้สนับสนุนการเร่งการเจรจา คือ โอกาสที่ไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (Generalized System of Preferences: GSP) โดยอ้างตัวเลขในปี พ.ศ. 2554 ว่า สินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สิทธิจีเอสพี มีมูลค่ากว่า 2.97 แสนล้านบาท  สินค้าสำคัญที่ใช้สิทธิ์ดังกล่าว ได้แก่ รถยนต์ขนส่ง, เครื่องปรับอากาศ, อาหารทะเลสด, อาหารทะเลแช่แข็ง, สัปปะรดกระป๋อง, ถุงมือยาง เป็นต้น  แต่ไม่มีคำอธิบายว่า การถูกตัดสิทธินั้น เนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูงติดต่อกัน 3 ปีและมีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 17.5 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว และแม้จะถูกตัดสิทธิ จีเอสพี ทั้งหมด ก็จะส่งผลกระทบจากการสูญเสียรายได้เนื่องจากถูกแย่งตลาด ประมาณ 2,562 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 79,422 ล้านบาท) ไม่ใช่ทั้งหมดของมูลค่าการส่งออก

ยิ่งไปกว่านั้น จากเอกสารของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก เรื่องผลกระทบของการปฏิรูประบบ GSP ของหสภาพยุโรปจ่อการส่งออกของไทย ที่นำเสนอเมื่อวันที่ 9 ก.ค.55 ระบุอย่างชัดเจนว่า “ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ 1) ช่วงปี 2557 และ 2) ช่วงปี 2558 เป็นต้นไปนั้น ในช่วงปี 2557 สินค้าที่มีแนวโน้มถูกตัด GSP เพราะมีส่วนแบ่งตลาดเกินเกณฑ์ที่ EU กำหนด จานวน 50 รายการ โดยประเมินผลกระทบเป็นมูลค่าเท่ากับ 77.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วงที่ 2 คือ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป ที่ไทยมีแนวโน้มถูกตัดสิทธิทั้งประเทศทาให้สินค้าที่เหลือจานวน 723 รายการไม่สามารถใช้สิทธิ GSP มีผลกระทบเป็นมูลค่า 64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ การที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ยังมีแนวโน้มที่อาจเกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าจากสินค้าของไทยไปยังสินค้าของคู่แข่งที่ยังคงรับสิทธิ GSP เป็นมูลค่า 938 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”

นั่นหมายความว่า การถูกตัดสิทธิ GSP ของไทยส่งผลกระทบรวมทั้งสิ้น 1,080 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 34,560 ล้านบาทเท่านั้น

ในเอกสารของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า  จากการรวบรวมข้อคิดเห็นทั่วประเทศของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น ที่ตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี  มีข้อห่วงกังวลที่เด่นชัดคือ การมีข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเกินไปกว่าที่ตกลงไว้แล้วในองค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาดภาคเกษตรกรรมครบวงจร กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีชีวิตของชุมชนและเกษตรรายย่อย รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการใช้มาตรการสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา และการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน, การเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ จะทำให้มีการบริโภคมากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง รวมถึงการสูญเสียทรัพยากรของประเทศและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จากข้อห่วงกังวลดังกล่าว  คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น ได้มีข้อเสนอแนะในหลายเรื่องสำคัญ อาทิ  การเจรจาเรื่องระดับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าที่ผูกพันในองค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) และควรให้สหภาพยุโรปถ่ายทอดเทคโนโลยีและความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทย, การเจรจาต้องไม่มีผลให้มีการนำข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ และสินค้าที่มีความละเอียดอ่อนและอ่อนไหวทางสังคมสูง ได้แก่ ยา สุรา บุหรี่ ต้องเจรจาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง แต่แนวทางการไม่ยอมรับทริปส์พลัสของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลความตกลงการค้าเสรีกลับไม่ปรากฎในร่างกรอบเจรจาฯ ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555 

กระทรวงสาธารณสุขและภาคประชาสังคมเป็นกลุ่มที่ไม่สนับสนุนทริปส์พลัสโดยเห็นว่าต้องจำกัด เนื่องจากเกรงผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน รวมไปถึงอุตสาหกรรมยาภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา (data exclusivity) ซึ่งจะกล่าวต่อไป

ขณะที่นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ในฐานะตัวแทนสภาหอการค้าไทย และที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งจะได้ประโยชน์โดยตรงกับการคงสิทธิ จีเอสพีแบบถาวร และนางอำพร เจริญสมศักดิ์ ตัวแทนสมาคมพรีม่า ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยาข้ามชาติอยู่ในกลุ่มที่สนับสนุนทริปส์พลัส

หากพิเคราะห์ร่างกรอบเจรจาฯ โดยตลอดจะพบว่า สาระที่เกี่ยวกับความต้องการของภาคธุรกิจไทย จะได้รับการคุ้มครองป้องกันอย่างหนักแน่น เช่น ประเด็นแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่ยืนหยัดให้ใช้กฎหมายและระเบียบภายในประเทศที่มีอยู่ และเน้นเรื่องความร่วมมือมากกว่าการบังคับ เป็นต้น จึง น่าจะเป็นความจงใจที่เน้นการวัดเป็นตัวเลขที่จะสูญเสียหากไม่มีการเจรจาให้เกินจริงโดยละเลยที่จะ “วางแนวทางป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้น กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ”

การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป รอบแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556  ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม สำหรับการเจรจารอบ 2 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2556 ที่จังหวัดเชียงใหม่

การเจรจาครั้งนี้แตกต่างจากการเจรจาเอฟทีเอที่ผ่านมาๆ  เพราะฝ่ายไทยต้องการเจรจาอย่างรวบรัดให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี เพื่อให้ทันกับการต่อสิทธิพิเศษทางการค้าหรือ จีเอสพีให้กับสินค้าส่งออกบางชนิด ดังนั้น ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมักจะถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันในช่วงกลางของการเจรจา จึงถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาในการเจรจารอบแรกทันที

การเร่งรีบ รวบรัด โดยสร้าง “กรอบเวลา 2 ปี” ไว้เป็นเงื่อนรัดคอตัวเองไว้เช่นนี้ จะทำให้ขาดความละเอียด รอบคอบ ขาดการคิดค้นยุทธวิธีต่อรองไปมา ยกตัวอย่างประสบการณ์การเจรจาของอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าไทย เจรจากับสหภาพยุโรปมาแล้วกว่า 5 ปี ก็ยังไม่ยุติ มิหนำซ้ำยังสามารถทำให้สหภาพยุโรปยอมที่จะไม่กดดันให้อินเดียต้องแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา

ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับยา

4 กันยายน พ.ศ. 2555 นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข การพัฒนาสังคม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 84 คนได้ทำหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่า  ข้อสรุปของกรมเจรจาฯ เป็นการสรุปที่บิดเบือนจากความเป็นจริงและไม่ได้มีการใช้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่   ซึ่งจะชี้นำทิศทางที่ผิดพลาดให้แก่ผู้กำหนดนโยบายโดยเฉพาะกับรัฐบาลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ

“การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาหรืออีกนัยหนึ่งคือ การผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา (data exclusivity) ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป เป็นการสร้างระบบการผูกขาดทางการตลาดยาขึ้นใหม่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “สิทธิบัตรอำพราง” เพื่อเพิ่มการผูกขาดของสิทธิบัตรที่มีอยู่เดิม โดยอาจมีระยะเวลาการผูกขาดเพิ่มมากขึ้นถึง 10 ปี  และจากประสบการณ์ในหลายประเทศ เช่น โคลัมเบีย หลังจากที่สหภาพยุโรปบังคับให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 10 ปี ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้นถึง 340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (10,200 ล้านบาท) ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยในไทย ที่พบว่า ถ้าปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 (ซึ่งเป็นปีที่ทำการศึกษา) ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยในอีกห้าปีข้างหน้า (พ.ศ. 2556)  จะสูงถึง 81,356 ล้านบาทต่อปี”

กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้ให้ เห็นถึงปัญหาโดยกรณี พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2535 ที่มีการแก้ไขขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 15 ปี เป็น 20 ปีและการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิบัตรยา ส่งผลให้เกิดความพลิกผันของมูลค่าการใช้จ่ายยาในประเทศ ระหว่างยานำเข้าที่มีสิทธิบัตรกับยาผลิตในประเทศ จากเดิมที่มูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 34 เปอร์เซ็นต์  และมูลค่าการใช้ยาผลิตในประเทศอยู่ที่ 66 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการใช้ยาทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันมูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 77 เปอร์เซ็นต์  ขณะที่มูลค่าการใช้ยาที่ผลิตในประเทศเหลือเพียงแค่ 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากมูลค่ายาของทั้งประเทศอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท (ข้อมูลปี พ.ศ. 2554) ทั้งนี้เนื่องมาจากการนำเข้ายามีสิทธิบัตรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่องบประมาณภาครัฐ ความยั่งยืนในการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ นอก จากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตและการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมยาภายในประเทศอย่างมาก เกิดการชะลอการผลิตยาสามัญใหม่ๆ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้

                “ประเด็นข้อเรียกร้องสำคัญจากฝ่ายอียูที่จะส่งผลกระทบอย่างมากโดยตรงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐซึ่งจะเกี่ยวพันกับปัญหาอุปสรรคการเข้าถึงยาของประชาชน ประกอบไปด้วย  ๑) การขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างน้อย 5 ปี;  ๒) การคุ้มครองข้อมูลในรูปแบบการได้รับสิทธิพิเศษเพียงผู้เดียวเหนือข้อมูลที่ยื่นทะเบียนยาครั้งแรกและครั้งต่อๆไป อย่างน้อย 5 ปี หรือ data exclusivity ซึ่งอยู่ในหมวดการเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญา; ๓) การจับ ยึด อายัด หรือทำลายสินค้ายาและเวชภัณฑ์ที่สงสัยว่า อาจจะละเมิดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นๆ ณ จุดผ่านแดน ซึ่งอยู่ในหมวดการเจรจาด้านมาตรการ ณ จุดผ่านแดน (Border Measure)”

กระทั่งกรมเจรจาฯได้นำเสนอส่วนหนึ่งของ (ร่าง) กรอบการเจรจาฉบับใหม่ด้วยข้อความที่แตกต่างไปจากเดิมที่ระบุว่า “ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลก และ/หรือความตกลงใด ๆ ที่ไทยเป็นภาคี” แต่อธิบดีกรมเจรจาฯ ขยายความว่า (ร่าง) กรอบการเจรจาดังกล่าวอนุญาตให้เจรจาความตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ได้ เพราะในความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกเป็นมาตรการขั้นต่ำ

สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาชื่อสามัญในประเทศ ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมเจรจาฯ เพื่อแสดงจุดยืนโดยระบุว่า สินค้ายาสำเร็จรูปที่นำมาจำหน่ายในประเทศไทยส่วนใหญ่นำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU-EFTA) และ สหรัฐฯ แต่ประเทศหลักที่ไทยส่งยาออกไปไม่ใช่ประเทศเหล่านี้ ดังนั้น ในหมวดสินค้ายาในรูปวัตถุดิบ สินค้ายาสำเร็จรูป และของเสียจากเภสัชภัณฑ์ประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์จากการเจรจาเอฟทีเอแต่อย่างใด จึงขัดกับหลักการและวัตถุประสงค์ของการเจรจาเอฟทีเอที่ว่าจะส่งเสริมให้การ ค้าระหว่างกันสูงขึ้น ทางสมาคมฯ จึงไม่เห็นด้วยเพราะ นอกจากประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากความตกลงดังกล่าวแล้ว กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้สินค้ายาฯ มีปริมาณและมูลค่านำเข้าสูงขึ้น ประกอบกับถ้าหากกรมเจรจาฯ ยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่าความตกลงทริปส์ หรือ ทริปส์พลัส ก็จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและใหญ่หลวงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ

เอกสารของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้หยิบยกงานศึกษาและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในต่างประเทศ พบว่า หลังจากที่จอร์แดนทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ และต้องยอมรับข้อเรียกร้องที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ เมื่อปี พ.ศ. 2546 ราคายาได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ยาในตลาดร้อยละ 79 ไม่มียาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันได้ ทำให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลสูงขึ้นและราคายาแพงกว่าอียิปต์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านถึง 8 เท่า

แม้แต่สภายุโรปก็เคยมีข้อมติห้ามมิให้คณะกรรมาธิการยุโรปไปบีบบังคับให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องยอมรับข้อตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ เพราะเกรงผลกระทบจะเกิดกับประเทศกำลังพัฒนาในการแก้ปัญหาสาธารณสุขในประเทศ และล่าสุด นายคาเรล เดอ กุช ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรปซึ่งกำลังเจรจาการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับอินเดีย แต่เกิดความชะงักงันมากกว่าครึ่งปี สาเหตุจากที่ฝ่ายอินเดียไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่ต้องการให้อินเดียปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเกินไปกว่าความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลก ได้เขียนบทความลงนิตยสาร Government Gazette ของอังกฤษ ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ. 2012 ระบุว่า สหภาพยุโรปจะไม่กดดันให้อินเดียต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาในด้านนี้แล้ว เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบที่จะเกิดต่อการเข้าถึงยารักษาโรคในราคาที่เหมาะสมทั้งที่อินเดียและที่อื่นๆ ทั่วโลก

แล้วความมุ่งหมายที่แท้จริงของสหภาพยุโรปอยู่ที่ไหน?....น่าจะอยู่ที่การยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในหมวดย่อยว่าด้วยการบังคับให้เป็นไปตามสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Enforcement of Intellectual Property Rights) รวมทั้งมาตรการ ณ จุดผ่านแดน (Border Measures) ซึ่งสหภาพยุโรปต้องการให้มีการยึดจับยาที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจนำไปสู่การยึดจับยาชื่อสามัญ และทำลายผู้ผลิตยาชื่อสามัญในประเทศ ด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมได้

ตัวอย่างข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่จะขยายการยึดจับอายัดสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ดูได้ด้วยตาเปล่า นั่นคือ เครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ให้รวมไปถึงสินค้าที่ถูกกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิบัตรทั้งที่ดูด้วยตาเปล่าไม่ได้ แม้คดีขึ้นสู่ศาลทรัพย์สินฯก็ยังใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี และยังเรียกร้องให้สามารถร้องต่อศาลให้ยึดจับและระงับโดยแม้ไม่มีหลักฐานเพียงพอ, ไม่วางเงินประกัน, ไม่ฟังคำชี้แจงอีกฝ่ายหนึ่ง, ไม่กำหนดระยะเวลาการยึด, ให้ระงับทุกกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่ถูกกล่าวหานั้น เช่นการขนส่ง การจัดหาวัตถุดิบ, ให้ยึดจับแม้อาจยังไม่ได้ละเมิด ฯลฯ ซึ่งนี่จะเป็นการแก้กฎหมายเพื่อเข้าข้างผู้ทรงสิทธิจนละเมิดสิทธิผู้อื่น

สหภาพยุโรปแสดงเจตจำนงค์อย่างชัดเจนที่จะยกเลิกสิทธิบางประการของหน่วยราชการในการจัดหาจัดหายาจำเป็นที่มีคุณภาพ มาตรการด้านราคาและการเบิกจ่ายค่ายา ตลอดจนการเข้าถึงยาเพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการเจรจาหัวข้อ Government Procurement และยังมีความต้องการกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-State Dispute Settlement) ให้ครอบคลุมยาและเวชภัณฑ์ด้วย

กล่าวโดยสรุปคือ ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับยาที่สหภาพยุโรปต้องการ คือ

•ขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร

•ผูกขาดข้อมูลทางยา

•เพิ่มกรอบความคุ้มครองสิทธิบัตร

•แทรกแซงการจัดซื้อและจัดหายาของประเทศ

•เพิ่มการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและมาตรการผ่านแดนอย่างเข้มงวดและเกินเลย

•จำกัดการใช้มาตรการยืดหยุ่น ด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน

ทรัพย์สินทางปัญญาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

ความตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรป กับประเทศต่างๆ นั้น ล้วนแล้วแต่มีเงื่อนไขให้ประเทศคู่เจรจาต้องยอมรับระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาและสนธิสัญญา 2 ฉบับ   คือ ต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูปอฟ ฉบับปี ค.ศ. 1991 ( UPOV 1991)   และเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) ในบางกรณีถึงกับต้องยอมรับระบบสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต (Patent on Life) อีกด้วย เช่น EU-South Africa FTA ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ. 1999 ประเทศแอฟริกาใต้ต้องให้การคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่มีประสิทธิภาพในระดับมาตรฐานระหว่างประเทศขั้นสูงสุด

1.อนุสัญญายูปอฟ (UPOV) เพิ่มสิทธิผูกขาดพันธุ์พืช

ยูปอฟ (UPOV) หรือ สหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants เป็นความตกลงเพื่อให้สิทธิผูกขาดพันธุ์พืชใหม่แก่บริษัทและนักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งประเทศมหาอำนาจตะวันตกทั้งสหรัฐเมริกาและสหภาพยุโรป มีเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ก้าวล้ำนำหน้าประเทศอื่นๆ หลายเท่า อีกทั้งยังมีบรรษัทค้าเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง

หากประเทศไทยยอมรับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญายูปอพ ค.ศ.1991 (UPOV1991) การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดผลกระทบต่อเกษตรกร ความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร ดังต่อไปนี้

                - ต้องถูกบังคับให้คุ้มครองพันธุ์พืชทุกชนิดโดยไม่ต้องมีการประกาศชนิดพืชคุ้มครองก่อน ซึ่งในกรณีประเทศไทยนั้น การประกาศรายชื่อชนิดพืชที่จะคุ้มครองต้องอยู่ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ส่วนจะเป็นพืชชนิดใดนั้นต้องพิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร  การผูกขาดของบริษัทปรับปรุงพันธุ์ หรือมีทางเลือกให้เกษตรกรหรือไม่ เป็นต้น

                - อนุญาตให้มีการคุ้มครองซ้ำซ้อน

                - แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขเรื่อง “ความใหม่”

                - ขยายระยะเวลาการคุ้มครองพันธุ์พืช จากเดิม 15 ปีเป็น 20 ปีสำหรับพืชทั่วไป และเป็น 25 ปีสำหรับไม้ยืนต้นและองุ่น (น่าสังเกตว่าองุ่นคือพืชที่ปลูกกันมากในสหภาพยุโรป เพื่อผลิตไวน์)

                - ขยายขอบเขตของสิทธิให้กว้างขึ้น    โดยนักปรับปรุงพันธุ์มีสิทธิเด็ดขาดที่จะกีดกันผู้อื่นมิให้นำเอาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ของพืชไปใช้ประโยชน์ทั้งในทางพาณิชย์ และในการเพาะปลูกทั่วไป รวมทั้งมีสิทธิห้ามการส่งออก นำเข้า หรือเก็บรักษาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ของพืชเพื่อการจำหน่าย หรือเพื่อการเพาะปลูก

                - จำกัดข้อยกเว้นเรื่อง “สิทธิพิเศษของเกษตรกร” (Farmers’ exemption) ในการเก็บรักษาและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ให้แคบลง โดยภาคีสมาชิกอาจไม่ให้การรับรองสิทธิพิเศษของเกษตรกรก็ได้

การคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์หรือบริษัทธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืชเช่นนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับสิทธิผูกขาดภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรนั่นเอง ผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้นคือ

1) ผลกระทบที่มีต่อการวิจัยเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ของภาคสาธารณะและการปรับปรุงพันธุ์โดยรวม

ระบบกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชทำให้ข้อมูลความรู้และเชื้อพันธุ์พืชจากภาคธุรกิจเมล็ดพันธุ์ถ่ายทอดไปสู่สถาบันสาธารณะที่ทำหน้าที่ปรับปรุงพันธุ์พืชน้อยลง ในทางกลับกัน ข้อมูลและความรู้ในการปรับปรุงพันธุ์ของสาธารณะจะถูกบรรษัทเมล็ดพันธุ์ดึงไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนมากขึ้นกว่าเดิม

2)  ผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

กฎเกณฑ์พื้นฐานของระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ 2 ประการคือ ต้องมีลักษณะสม่ำเสมอประจำพันธุ์ (Uniformity) และความมีเสถียรภาพ (Stability) ของสายพันธุ์ เป็นการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (monoculture) ในพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่  และจะกระตุ้นให้นักปรับปรุงพันธ์ใช้เฉพาะเชื้อพันธุกรรมชั้น “หัวกะทิ” เท่านั้น  ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงพันธุ์ขาดความหลากหลายของฐานพันธุกรรม

3)  การผูกขาดของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ

ไม่ว่าจะเป็นการขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ให้ยาวนานขึ้น โดยพืชทั่วไปจาก 15 ปี เป็น 20 ปี และ25 ปี สำหรับไม้ยืนต้นและองุ่น อีกทั้งยังเปิดช่องกฎหมายให้บริษัทเอกชนสามารถ “ห้าม” เกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกในฤดูถัดไป รวมถึงห้ามการแจกจ่ายแลกเปลี่ยนพันธุ์กับเพื่อนบ้านทั้งในหรือนอกชุมชน ทั้งนี้ก็เพราะเป้าหมายสูงสุดของบริษัทเมล็ดพันธุ์คือการบีบบังคับให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่ต้องการเพาะปลูก  การใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อลดทอนสิทธิของเกษตรกรที่ว่านี้ดำเนินไปพร้อมๆ กับการใช้มาตรการอื่นๆ ด้วย เช่น การทำสัญญากับเกษตรกรเป็นรายๆ การใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ได้ครั้งเดียวเพราะไม่สามารถเก็บผลผลิตไปทำพันธุ์ต่อได้ ทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาสูงประมาณ 3 เท่าของราคาเมล็ดพันธุ์ทั่วไป   ส่งผลให้เกิดการไล่จับกุมเกษตรกรราวกับเป็นอาชญากร และเรียกค่าปรับจำนวนมหาศาล

ในกรณีของไทย จากการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2539 ตลาดเมล็ดพันธุ์แทบทั้งหมด ตกอยู่ในมือของบรรษัทข้ามชาติและบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ยักษ์ใหญ่การเกษตรของประเทศ ที่ร่วมทุนกับต่างชาติ ยกเว้นเพียงเมล็ดพันธุ์ผสมเปิดของรัฐ ในขณะที่บริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดเล็กอื่นๆ มีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก ปัจจุบันบริษัทเหล่านี้ครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และเมล็ดพันธ์ผักเอาไว้ได้แล้วแทบสิ้นเชิง การให้อำนาจผูกขาดผ่านสนธิสัญญา UPOV 1991 จะเปิดโอกาสให้สามารถขยายการผูกขาดไปยังพืชอื่นๆ เช่น ข้าว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ฯลฯ และจะส่งผลให้ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องซื้อมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 3-5 เท่าตัว

4) การทำลายหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ของเจ้าของทรัพยากรชีวภาพ

ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) กำหนดให้แต่ละประเทศมีอธิปไตยเหนือทรัพยากรชีวภาพ  การนำพันธุกรรมไปใช้ประโยชน์ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า (Prior Informed Consent) และต้องแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยุติธรรม (Equitable Benefit Sharing) ในประเทศไทย หลักการของเรื่องนี้ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยบรรจุอยู่ในพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เพื่อคุ้มครองดูแลสิทธิของเกษตรกร และรักษาฐานทรัพยากรชีวภาพของชาติ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ทั้งในและนอกประเทศจึงผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ในประเด็นสำคัญๆ อาทิ ให้แยกส่วนที่ว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นออกไปเพื่อจะได้สิทธิผูกขาดโดยง่าย  และตัดหลักการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์จากพันธุ์พืชออกไป ซึ่งทำให้ไม่ต้องขออนุญาต และแบ่งปันผลประโยชน์เมื่อมีการนำพืชป่า พันธุ์พืชทั่วไป และพันธุ์พืชท้องถิ่นไปใช้ประโยชน์

เคยมีการพยายามแก้ไขโดยร่างดังกล่าวผ่านมติคณะรัฐมนตรี แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงที่ชี้ได้ว่า การใช้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 มีปัญหา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเห็นว่าไม่ควรแก้ ต่อมาความพยายามได้ปรากฎอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.2556 กรมวิชาการเกษตร นักวิชาการ นักปรับปรุงพันธุ์ ร่วมมือกันร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่โดยมีเนื้อหาเหมือนกับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อียู แทบทุกประการ อีกทั้งยังให้ยกเลิกกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชซึ่งมีที่มาจากการคัดสรรกันเองของเกษตรกร นักวิชาการ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ตามกฎหมายเดิม มาเป็นการแต่งตั้งแทน  มีรายงานด้วยว่าแกนนำในการร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในคณะตัวแทนเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียูนั่นเอง

2.สนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) กับการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์

ประเทศที่จะให้การคุ้มครองสิทธิบัตรในจุลชีพตามสนธิสัญญาบูดาเปสต์ หรือชื่อเต็มว่า Budapest Treaty on the International Recognition of the Deposit of Microorganisms for the Purposes of Patent Procedure, or Budapest Treaty ต้องสร้างระบบการรับฝากสารชีวภาพที่เรียกว่า “องค์กรรับฝาก (สารชีวภาพ) ระหว่างประเทศ (International Depositary Authority - IDA) ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประดิษฐ์ได้อย่างเพียงพอซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร และอำนวยสะดวกให้ผู้วิจัยได้ใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรจุลชีพ

การเป็นภาคีในสนธิสัญญานี้ให้ประโยชน์แก่นักวิจัยหรือบริษัทไทยที่มีศักยภาพในการนำ เทคโนโลยีและผลการวิจัยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศ  และสามารถลดการนำเชื้อจุลินทรีย์ไปเก็บไว้ที่ IDA ในต่างประเทศ หากประเทศไทยได้จัดตั้ง IDA ให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานและข้อกำหนดที่วางไว้ แต่ประเด็นที่สำคัญคือสนธิสัญญาดังกล่าว “ห้ามเปิดเผยแหล่งที่มา” ในการจดสิทธิบัตรจุลชีพ ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าในการจดสิทธิบัตรจุลชีพนั้น มีการลักลอบนำของประเทศไทยไป พัฒนาหรือไม่ และเมื่อไม่มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากร การแบ่งปันผลประโยชน์ตามหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพก็จะไม่สามารถทำได้  อีกทั้ง สนธิสัญญาไม่ได้กำหนดขอบเขตของคำว่า “จุลชีพ” ซึ่งอาจทำให้แนวทางปฏิบัติและนโยบายการคุ้มครองสิทธิบัตรต้องขยายไปถึงการยอมรับการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ทั้งสองประเด็นปัญหาดังกล่าว จะสร้างปัญหาตามมาอีกหลายประการ อาทิ 

-บริษัทข้ามชาติและประเทศอุตสาหกรรมจะใช้ความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เหนือกว่าเข้าครอบครองทรัพยากรชีวภาพของประเทศ

-ให้สิทธิผูกขาดแก่ผู้ได้รับสิทธิบัตรในระดับสูงตั้งแต่ส่วนขยายพันธุ์ ไปจนถึงผลผลิต ซึ่งอาจรวมไปถึงขั้นตอนการนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์ต่างๆได้ด้วย

-ละเมิดสิทธิของเกษตรกรในการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพ การนำไปปลูกต่อ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมระหว่างเกษตรกรและชุมชน

-นักปรับปรุงพันธุ์พืช และสัตว์คนไทยจะสูญเสียศักยภาพในการเข้าถึงฐานพันธุกรรม เนื่องจากความเป็นเจ้าของในพันธุกรรมอยู่กับภาคเอกชน

อนุญาโตตุลาการ-กลไกระงับข้อพิพาท-นโยบายสาธารณะในกำมือ “มาเฟียวงใน”

“กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน” (Investor State Dispute Settlement – ISDS) ถูกนำมาใช้โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจว่า การลงทุนของตนจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลของประเทศผู้รับการลงทุน โดยจะได้รับการชดเชย ได้รับความคุ้มครองการการเวนคืน ได้รับสิทธิปฏิบัติเยี่ยงคนในชาติ รวมทั้งได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันกับการลงทุนในประเทศผู้รับการลงทุนอื่นๆ และสามารถทำธุรกรรมการโอนได้อย่างเสรี … ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น นักลงทุนจะสามารถฟ้องร้องรัฐบาลของประเทศผู้รับการลงทุนผ่านกลไกการอนุญาโตตุลาการได้  โดยจะคุ้มครองเฉพาะผลกระทบจาก “มาตรการที่ออกโดยรัฐ” เท่านั้น แต่ไม่คุ้มครองความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบธุรกิจตามปกติของนักลงทุนเอกชน แต่ในความตกลง NAFTA NAFTA หรือเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ-แคนาดา-เม็กซิโก) พ.ศ.2537 เป็นครั้งแรกที่มีการระบุถึง “การยึดทรัพย์ทางอ้อม” (Indirect Expropriation) ซึ่งไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่ามันคืออะไร ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นอะไร เอกชนก็นำไปฟ้องรัฐได้ และไม่ใช่การฟ้องผ่านศาลยุติธรรม แต่ผ่านระบบที่เรียกว่าอนุญาโตตุลาการ (เป็นการพิจารณากรณีพิพาทของเอกชนกับรัฐ ที่ให้คน 3 คน ซึ่งคู่กรณี 2 ฝ่ายเลือกตัวแทนข้างละ 1 คน และเห็นชอบร่วมกันเลือกอีก 1 คนมาเป็นผู้พิจารณา)

ประสบการณ์จากกลไก ISDS ที่ว่านี้ นักลงทุนจึง “ได้” ทั้งค่าชดเชยที่มาจากภาษีประชาชน และ “ได้” ทั้งการล้มนโยบายสาธารณะ

ในพ.ศ.2554 มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการของธนาคารโลก (ICSID) 450 คดี ในจำนวนนี้มี130 คดีที่ที่ตกอยู่ในกำมือของ บริษัทที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำ เพียงแค่ 3 บริษัท คือ Freshfields Bruckhaus Deringer (สหราชอาณาจักร), White & Case (สหรัฐฯ) และ  King & Spalding (สหรัฐฯ) อนุญาโตตุลาการ จำนวนแค่ 15 คน ต้องวิ่งรอกรับพิจารณาคดีกว่าครึ่งของกรณีพิพาททั้งหมด พวกนี้จึงได้รับฉายาว่า “มาเฟียวงใน” มีการประเมินว่า หากกรณีพิพาทมีมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ อนุญาโตตุลาการจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 350,000 เหรียญสหรัฐนอกเหนือไปจากค่าให้คำปรึกษาและค่าอื่น ๆ แถมยังมีบรรดากองทุนต่างๆ เสนอประกันความเสี่ยงวงเงินเยียวยา ซึ่งจะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

ขณะนี้มีหลายประเทศที่ออกมาคัดค้านกลไกอนุญาโตตุลาการดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนโบลิเวีย เวเนซุเอลา และ เอกวาดอว์ ประกาศยกเลิกข้อตกลงลักษณะดังกล่าว และถอนตัวจากการเป็นภาคีของอนุญาโตตุลาการของธนาคารโลก

การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำลังทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป อย่างรอบด้าน ซึ่งชุดงานวิจัยนี้จะเสร็จภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2556   เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการเจรจา นับเป็นครั้งแรกที่คณะเจรจาฝ่ายไทยจะมีงานวิจัยที่รอบด้านถึงผลกระทบเพื่อประกอบการเจรจา โดยมีโจทย์วิจัย 7 ด้านดังนี้

1.ความตกลงการค้าเสรีทำให้ประเทศไทยคงสถานะทางเศรษฐกิจ หรือ เกิดการเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจ ด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนอย่างไร

2.การยอมรับในข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดซื้อรัฐ จะมีผลกระทบอย่างไร

3.การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเจ้าของสิทธิบัตรควรเป็นอย่างไร

4.การขยายระยะเวลาการผูกขาดเชิงพาณิชย์ด้านข้อมูลประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาในระบบสิทธิบัตรและระบบการขออนุญาตจำหน่าย จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างไร

5.การบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรและมาตรการผ่านแดนจะเกิดผลกระทบอย่างไร

6.การแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร

7.การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมศักยภาพในห่วงโซ่อุปทานยาของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ค่อนข้างรอบด้านที่สุดนี้พร้อมด้วยชุดข้อเสนอสำหรับการเจรจานี้ จะถูกผู้เจรจาและรัฐบาลนำไปใช้ในการเจรจาหรือไม่ ยังเป็นคำถามสำคัญ เมื่อกลุ่มธุรกิจซึ่งมีอิทธิพลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองพยายามที่จะบีบคอรัฐบาลให้เร่งเจรจาให้เสร็จภายในเวลาปีเศษๆ เพื่อหวังได้ต่อสิทธิพิเศษทางการค้าเท่านั้น

และนี่ คือ โจทย์ใหญ่ของสังคมไทย ว่า เราจะปล่อยให้นักธุรกิจเหล่านี้ใช้อิทธิพลกดดันรัฐบาลจนไม่อาจทำหน้าที่ปกป้องประชาชนและสังคมไทยเช่นนี้หรือ

********************************************

อ่านฉบับเต็มได้ที่

ข้อมูลพื้นฐาน การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป จัดทำโดยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: