ช่องว่างเพาะ-ฟอก-ขายสัตว์ป่า

4 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2601 ครั้ง


สวนสัตว์มีคำเรียกเป็นภาษาราชการว่า 'สวนสัตว์สาธารณะ' หมายความว่า สถานที่หรือบริเวณซึ่งรวบรวมสัตว์ป่าไว้เพื่อประโยชน์แก่การพักผ่อนหย่อนใจ การศึกษา การค้นคว้าหรือวิจัยของประชาชน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ป่า

สวนสัตว์มีหลายประเภท ไม่ใช่เพียงเป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์ป่าไว้ในบริเวณที่จำกัด เช่น กรง คอก บ่อ ตู้ เช่น สวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน) หรือสวนสัตว์เชียงใหม่เท่านั้น ยังแบ่งเป็นสวนสัตว์เปิด สถานที่และบริเวณเลี้ยงสัตว์ป่าจะมีขนาดกว้างขวาง โดยสัตว์ป่าไม่ได้ถูกกักไว้ในบริเวณที่คับแคบ หากเป็นกรงก็จะเป็นกรงขนาดใหญ่ หรือเป็นคอกที่มีขนาดกว้างขวางและมีพันธุ์พืชขึ้นอยู่เพื่อให้กลมกลืนกับสภาพถิ่นที่อยู่มากที่สุดหรือมีการตกแต่งสถานที่ด้วยไม้ประดับและแบ่งบริเวณกั้นระหว่างสัตว์กับผู้ชม เช่น สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ประเภทซาฟารี จะปล่อยให้สัตว์ขนาดใหญ่อยู่ในบริเวณกว้างปะปนกันคล้ายคลึงธรรมชาติ อาณาเขตกว้างขวางจนเกือบไม่เห็นบริเวณรั้วกั้น ในการเข้าชมภายในซาฟารีจะต้องใช้พาหนะที่เหมาะสม หรืออยู่ในการควบคุมการรักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุม สวนสัตว์ประเภทนี้ทำโดยเอกชน คือ ซาฟารีเวิลด์

นอกจากนี้สถานที่ที่จัดแสดงเฉพาะประเภทของสัตว์ เช่น สวนงู ฟาร์มจระเข้ อะควาเรียม (สถานที่แสดงพันธุ์ปลาทะเลหรือปลาน้ำจืด) คอรัลเรียม (สถานแสดงพันธุ์ปะการัง) อินเซกท์ทาเรียม (สถานที่แสดงแมลง) สวนผีเสื้อ สวนนก เหล่านี้ก็เป็นอีกประเภทหนึ่งของสวนสัตว์

แม้จะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ที่แปรสภาพจาก ‘สัตว์ป่า’ เป็น ‘สัตว์กรง’ ทำหน้าที่ให้ความรู้และความบันเทิงแก่ผู้คนมากหน้าหลายตาในสวนสัตว์มีจำนวนเท่าใด แต่เพียงแค่รวมตัวเลขของ 4 สวนสัตว์อันได้แก่ สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ และสวนสัตว์นครราชสีมามีถึง 17,711 ชีวิต ขณะที่จำนวนสวนสัตว์ที่ดำเนินการโดยรัฐหรือเอกชนในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนมีกว่า 45 แห่ง (ข้อมูล ณ พ.ศ.2551)

ปัจจุบันมีสวนสัตว์ของรัฐ 8 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมป์ (อสส.)  ได้แก่ สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์ขอนแก่นหรือสวนสัตว์เขาสวนกวาง และคชอาณาจักร

การซื้อขายสัตว์ในสวนสัตว์ ทำได้หรือไม่?

สัตว์ป่าออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. สัตว์ป่าสงวน เป็นสัตว์ป่าหายากหรือกำลังจะสูญพันธุ์ จึงห้ามล่าหรือมีไว้ในครอบครอง ทั้งสัตว์ที่ยังมีชีวิตหรือซากสัตว์ เว้นแต่กระทำเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ หรือเพื่อกิจการสวนสาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้เป็นกรณีพิเศษ โดยสัตว์ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้มี 15 ชนิด ได้แก่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แรด กระซู่ กูปรี ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมัน เลียงผา กวางผา นกแต้วแล้วท้องดำ นกกระเรียน แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เก้งหม้อ และพะยูน

2. สัตว์ป่าคุ้มครอง หมายถึง สัตว์ป่าตามที่กระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และมีชื่ออยู่ในบัญชีแนบท้ายของกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ประกอบด้วยสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด แมลง 20 ชนิด ปลา 14 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ 12 ชนิด รวม 1,302 ชนิด ซึ่งกฎหมายไม่อนุญาตให้ล่าหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งรวมถึงซากของสัตว์เหล่านี้ด้วย เว้นแต่การกระทำโดยทางราชการ

สัตว์ทั้ง 2 ประเภทนี้ ห้ามล่า เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการสำรวจ การศึกษาและวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครองสัตว์ป่า การเพาะพันธุ์ หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ซึ่งกระทำโดยราชการ และโดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี

ห้ามเพาะพันธุ์ เว้นแต่เป็นการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนด (53 ชนิด) โดยได้รับใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์จากอธิบดี และเป็นการเพาะพันธุ์โดยผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะอย่างถูกกฎหมาย

ห้ามครอบครอง ทั้งที่ยังมีชีวิตและซากของสัตว์ เว้นแต่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์หรือมีเพื่อจะเพาะพันธุ์ตามที่ได้อนุญาต และเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ

ห้ามค้า หมายรวมถึงการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่าย แจก หรือโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และมีหรือแสดงไว้เพื่อขายด้วย ทั้งที่ยังมีชีวิต ซากของสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ เว้นแต่สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดได้มาจากการเพาะพันธุ์ ซากของสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ทั้งนี้โดยได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี

กล่าวโดยสรุปคือ การห้ามตามเบื้องต้นนั้นไม่บังคับใช้แก่การกระทำเพื่อประโยชน์ในการสำรวจ การศึกษาและวิจัยทางวิชาการ การคุ้มครองสัตว์ป่า การเพาะพันธุ์ หรือเพื่อกิจการสวนสัตว์สาธารณะ  ไม่ว่าจะเป็นราชการหรือเอกชนที่ได้รับอนุญาต

ในการกำหนดคุณสมบัติผู้ขออนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ มิได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการเพาะพันธุ์ บุคคลใดใดก็สามารถขออนุญาตหากสามารถทำตามหลักเกณฑ์ได้

การจะเป็นเจ้าของสวนสัตว์เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล มีคุณสมบัติกำกับไว้ 7 ข้อ ข้อสำคัญคือไม่เคยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2553  หรือผิดกฎหมายวาด้วยศุลกากร หรือกฎหมายวาด้วยการส่งออกหรือการนําเข้ามาในราชอาณาจกรซึ่งสินค้าเกี่ยวกับสัตว์ป่า ว่ากันตามตรงแล้วคนส่วนมากก็มักจะไม่มีคดีตามความผิดนี้ แม้ว่ารายงานสถิติคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 54 – 26 พฤษภาคม 56 มี 1,054 คดี มีสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าของกลาง 23,615 ตัว แต่มีคดีใดบ้างที่คนที่มีคุณสมบัติในแง่ของทรัพย์สินฐานะมากพอที่จะมีสวนสัตว์ผิดในคดีดังกล่าว เรามักเห็นข่าวจับคนที่ถูกจ้างไปล่าสัตว์เสียมากกว่า ดังนั้นการมีสวนสัตว์เป็นของตัวเองฟังดูเป็นไปได้มากทีเดียว

ในเบื้องต้นได้กล่าวถึง 'ขาเข้า' หรือการได้สัตว์มาไปแล้ว 'ขาออก' จะเป็นการค้า การแลกเปลี่ยน การนำเข้า ส่งออก

ซึ่งตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2553 สามารถค้า นำเข้า ส่งออกได้ หากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดได้มาจากการเพาะพันธุ์ ซากของสัตว์ป่าดังกล่าว หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ทั้งนี้โดยได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี ส่วนจะค้าหรือส่งให้ใครนั้นมิได้กำหนดคุณสมบัติไว้

จึงจะเห็นได้ว่า การเพาะพันธุ์นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการมีซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองและอาจนำไปสู่การค้าก็เป็นได้

ข้อสังเกตที่สำคัญอีกอย่างคือ แม้กฎหมายจะบอกว่าสามารถค้า นำเข้า ส่งออกได้ หากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดได้มาจากการเพาะพันธุ์ แต่หากอ้างถึงการศึกษาและวิจัยทางวิชาการแล้ว จะนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ชนิดใดก็ได้ ที่สำคัญสวนสัตว์มีสิทธิที่จะเพาะพันธุ์สัตว์ทุกชนิดทุกประเภท

นี่เป็นเพียงการชี้ช่องโหว่ของกฎหมายส่วนหนึ่งเท่านั้น ผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์ยังใช้วิธีการอื่นใดที่ขัดต่อกฎหมาย เช่น การสวมใบทะเบียนสัตว์ จากสัตว์ที่ล่าจากธรรมชาติมาเป็นสัตว์ที่ถูกเพาะพันธุ์ขึ้นถูกต้อง 

ยกตัวอย่างคดีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี ส่งออกเสือเบงกอลไปประเทศจีนเมื่อ พ.ศ.2545 เริ่มจากบริษัท ศรีราชา ไทเกอร์ซู จำกัด ยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตส่งออกเสือโคร่งพันธุ์เบงกอล จำนวน 100 ตัว ซึ่งได้จากการเพาะพันธุ์ไปให้บริษัท ซันย่า ไมตรี คอนเซป จำกัด (ประเทศจีน) เพื่อเพาะเลี้ยงและขายพันธุ์ภายในระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2554 จากนั้นนายปลอดประสพ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้น ได้อนุมัติการส่งออกนี้ ทั้งที่เสือโคร่งหรือเสือลายพาดกลอน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Panthera tigris) จัดอยูในบัญชีหมายเลข 1 ตามอนุสัญญาไซเตส

ประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาไซเตส หรือมีชื่อเต็มว่า อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518

การค้าสัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ จะถูกควบคุมโดยระบบใบอนุญาต (Permit) ซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่อนุสัญญาควบคุมจะต้องมีใบอนุญาตในการนำเข้า (Import) ส่งออก (Export) นำผ่าน (Transit) และส่งกลับออกไป (Re-Export)

หากอ้างอิงอนุสัญญาไซเตส ก็ต้องบอกว่าการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่าย แจก หรือโอนกรรมสิทธิ์เพื่อประโยชน์ในทางการค้าและหมายความรวมถึงมีหรือแสดงไว้เพื่อขายด้วย จะขึ้นอยู่กับบัญชีอนุสัญญา ได้แก่ บัญชีหมายเลข 1,2,3 ของอนุสัญญา โดยได้กำหนดหลักการไว้ดังนี้

                - ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I)

เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยหรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับคำยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย

                - ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II)

เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้ง จะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นในธรรมชาติ

                - ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 3 (Appendix III)

เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วขอความร่วมมือประเทศภาคีสมาชิกให้ช่วยดูแลการนำเข้า คือจะต้องมีหนังสือรับรองการส่งออก จากประเทศถิ่นกำเนิด

ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับคดีนายปลอดประสพ ศาลได้ตรวจหลักฐานเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 56 แต่ท่าทีของนายปลอดประสพและทนายความดูมั่นใจเหลือเกินว่าสามารถพ้นความผิดนี้ได้ ต้องจับตาดูด้วยหวังว่าผ่านเวลา 10 ปีแล้วคงไม่ต้องรอกันต่อไป

 

ดาวน์โหลดเอกสาร

บัญชีสัตว์ป่าตามอนุสัญญาไซเตส

บทความ บัญชีอนุสัญญาไซเตส: สัตว์ป่า โดย อภิญญา ใจแท้ กองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา

ราคาสัตว์ป่าที่กำหนดโดยราชการ

รายชื่อสัตว์ป่าสงวนของไทย

รายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง

คู่มือการขออนุญาตสวนสัตว์สาธารณะ

ชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้

ชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ ฉบับที่ 2

โครงการสถานการณ์สัตว์ป่าไทย: การค้าขายสัตว์ป่า สวนสัตว์ และเขตอนุรักษ์: ปัญหา ทางออก และโจทย์วิจัย โดย นายนิคม พุทธาและคณะ, มีนาคม 2551

............................................................................................

ที่มา

องค์การสวนสัตว์

กรมทรัพยากรธรณี

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

หนังสือชีวิตในสวนสัตว์ แต่งโดย รศ. สุรินทร์ มัจฉาชีพ

เว็บไซต์โลกสีเขียว

พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕

กฎกระทรวง กําหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบอนุญาตในการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง การครอบครองและการนําเคลื่อนที่เพื่อการค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองและซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง และการค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครองและผลิตภัณฑ์ที่ทําจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. ๒๕๕๑

กฎกระทรวง กำหนดของชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่คุ้มครองได้ พ.ศ.2546

กฎกระทรวง กำหนดของชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่คุ้มครองได้ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2556

โครงการสถานการณ์สัตว์ป่าไทย: การค้าขายสัตว์ป่า สวนสัตว์ และเขตอนุรักษ์: ปัญหา ทางออก และโจทย์วิจัย โดย นายนิคม พุทธาและคณะ, มีนาคม 2551

รายงานองค์การสวนสัตว์ประจำปี พ.ศ.2552

รายงานบริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ประจำปี พ.ศ.2555

 

ขอบคุณรูปภาพ

ไทยรัฐออนไลน์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: