เจาะประวัติอนาคตผู้ว่าฯกทม. ตอน2

9 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 5689 ครั้ง


 

3.พลตำรวจเอก ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ

พล.ต.อ.พงศพัศ มีชื่อเดิมว่า ไพรัช พงษ์เจริญ ชื่อเล่นคือ จูดี้ เกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2498 ที่จังหวัดจันทบุรี ชีวิตครอบครัว สมรสกับนางกรพัณณ์ พงษ์เจริญ เดิมชื่อ วิริยา มีบุตร-ธิดา 3 คน ได้แก่ น.ส.จิตจุฑา พงษ์เจริญ นายอินทัช พงษ์เจริญ และ ด.ญ.วนัชพรรณ พงษ์เจริญ

 

การศึกษา

                - ประถมศึกษา โรงเรียนวัดโป่งแรด, โรงเรียนสฤษดิเดช

                - มัธยมศึกษา โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี, โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 15 (ตท.15)

                - ป.ตรี รป.บ.(ตร.) รัฐประศาสนศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.31)

               - ป.โท (M.S.CJ.) การบริหารงานกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สหรัฐอเมริกา

                - ป.เอก (Ph.D) การบริหารงานการศึกษาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สหรัฐอเมริกา

 

การดำรงตำแหน่งราชการที่สำคัญ

2538-2542 - ผุ้บังคับการกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

2542-2543 - ผู้บังคับการศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

2543-2545 - ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานแผนงานและงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

2545-2546 - รองผู้บัญชาการสำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

2546-2547 – รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

2547-2548 - ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

2548-2550 - ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

2550-2553 – ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

2553-2554 - ที่ปรึกษา สบ 10 ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ

2554 - ปัจจุบัน - รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

                    - เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

 

พล.ต.ท.พงศพัศ เคยทำหน้าที่โฆษก ตร.มาแล้วถึง 5 สมัย ครั้งแรกเมื่อปี 2537 ขณะดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการกองสารนิเทศ สมัย พล.ต.อ.พจน์ บุณยจินดา เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ครั้งที่ 2 พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ เป็น ผบ.ตร.ครั้งที่ 3 พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ เป็น ผบ.ตร.ครั้งที่ 4 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็น ผบ.ตร. และครั้งที่ 5 พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร.

 

 

การรับราชการตำรวจ

 

รับราชการครั้งแรกด้วยการเป็นนายเวรติดตาม พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ ตั้งแต่ยังเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ช.น.) จนกระทั่งได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ จากนั้น พล.ต.อ.พงศพัศ ได้รับการเลื่อนยศเป็น พลตำรวจตรี (พล.ต.ต.) ถือเป็นคนแรกในรุ่นที่ได้รับนายพล และได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้บังคับการศูนย์คอมพิวเตอร์ตำรวจ และ ผู้บังคับการกองสารนิเทศ กรมตำรวจ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อจาก ไพรัช พงษ์เจริญ เป็น พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ เชื่อว่าเพราะถูกลดบทบาทลงตามกระแสการเมือง ประจวบกับถูกหยิบยกเรื่องเก่าๆ สมัยเรียนหนังสือเมืองนอกมาโจมตี ทำให้ต้องถือเคล็ดไปเปลี่ยนชื่อใหม่

 

จากนั้นได้เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และได้รับเลื่อนยศเป็น พลตำรวจโท (พล.ต.ท.) ในตำแหน่ง ผู้บัญชาการประจำตำรวจประสานงานนายกรัฐมนตรีและมหาดไทย

 

พล.ต.อ.พงศพัศ เป็นที่รู้จักดีของสังคม เนื่องจากเป็นโฆษกกรมตำรวจและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการทำหน้าที่นี้นับว่าโดดเด่นมาก จนเป็นที่กล่าวขานกันโดยทั่วไป จากนั้นได้เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2550

 

แต่ในต้นปี พ.ศ. 2551 ได้มีคำสั่งจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ย้ายออกจากตำแหน่งโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยแต่งตั้ง พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ แทน โดยให้เหตุผลว่า พล.ต.ท.วัชรพล มีความเป็นนักวิชาการมากกว่า

 

จนกระทั่งในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552 หลังจากที่ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รับตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.พงศพัศ กลับเข้ามาทำหน้าที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง ซึ่งในปลายปีเดียวกันนั้น สื่อมวลชนได้ตั้งฉายาให้แก่ พล.ต.อ.พงศพัศ ว่า "ดาราสีกากี" อันเนื่องจากมักปรากฏบทบาทผ่านทางสื่อต่าง ๆ แทบทุกวัน เสมือนดาราภาพยนตร์คนหนึ่ง

 

ในกลางปี พ.ศ. 2553 พล.ต.อ.พงศพัศ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้เหตุผลว่าดำรงตำแหน่งนี้ยาวนานถึง 5 สมัยแล้ว โดยเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 อีกทั้งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษา(สบ.10)ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ เทียบเท่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และได้รับเลื่อนยศให้เป็น พลตำรวจเอก (พล.ต.อ.) พล.ต.อ.พงศพัศ ยังรับตำแหน่งเป็นโฆษกด้านตำรวจประจำศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกด้วย

 

กระทั่งวันจันทร์ ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับยศ นายพลตำรวจวาระประจำปี 2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 46 ตำแหน่ง โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ โดยตำแหน่งดังกล่าวนั้นให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. 2554 แต่งตั้ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา สบ 10 เป็น รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตำรงตำแหน่งเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) อีกตำแหน่งหนึ่งและได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการการไฟฟ้านครหลวง

 

พล.ต.ท.พงศพัศ ยืนยันว่า ตัวเขาเองมีสไตล์การทำหน้าที่โฆษกเฉพาะตัว ด้วยบุคลิกที่ดูเป็นกันเอง ที่นอกจากจะไม่ล้ำเส้นนาย แล้วยังพยายามชูบทบาทและรักษาภาพลักษณ์นายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เป็นที่ชอบใจของผู้บังคับบัญชาตลอดมา ที่สำคัญรู้จักจังหวะเล่นกับกระแสสังคมได้กลมกลืน และเข้าถึงสื่อในทุกสาขา

 

ข้อพิพาทเรื่องตำแหน่ง

 

มีข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย เว็บไซต์สารานุกรมเสรีที่ทุกคนสามารถร่วมแก้ไขได้ กล่าวถึงการเลื่อนยศของ พล.ต.อ.พงศพัศ ว่า ในสมัยที่ยังใช้ชื่อไพรัช พงษ์เจริญนั้น เป็นนายตำรวจคอมพิวเตอร์ รุ่นแรกที่ได้ทุน ก.พ. ไปศึกษาวิชาอาชญวิทยา ที่ประเทศสหรัฐ ขณะศึกษาได้เข้าไปขโมยวิทยุ ในร้านค้า และถูกจับกุมนำตัวเข้าคุกดำเนินคดี ปรากฏตามหลักฐาน บันทึกการจับกุม แต่เพื่อรักษาภาพพจน์ของไทยจึงมีการดำเนินทางการทูต จนได้รับการปล่อยตัว เมื่อกลับมาจึงถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน พบว่าผิดจริง

 

กระทั่งมีการขอพระราชทานยศ เป็น พลตำรวจตรี ได้รับการคัดค้านจากสำนักพระราชวังเรื่องประวัติต้องคดี ในภายหลังจึง เปลี่ยนชื่อเป็น พงศพัศ ตรงกับวันที่ปรับโครงสร้างจากกรมตำรวจเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสอดไส้โผแต่งตั้ง ทำเอกสารเท็จทูลเกล้าฯ ทำให้ได้รับเลื่อนเป็นพลตำรวจตรี

 

*********************************

 

 

4.นายสุหฤท สยามวาลา

การศึกษา

-มัธยมศึกษา โรงเรียนอัสสัมชัญ

-ปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

-ปริญญาโท สื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เข้าสู่วงการดนตรีจากการเป็นนักร้องนำวง “ครับ” ร่วมกับเพื่อนสมัยมัธยม จากนั้นได้มาทำงานบริหารธุรกิจของครอบครัว แต่ยังใช้เวลาว่างเล่นดนตรี ร้องเพลง และออกผลงานเพลงในแนวอิเล็กทรอนิกส์มาแล้ว 4 ชุด มีจุดเด่นที่การแต่งกายสีสันฉูดฉาด  และเป็นนักจัดรายการวิทยุ คลื่นแฟตเรดิโอ

 

โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 โต้ สุหฤท โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่า "ลับสุดยอด ผมตัดสินใจแล้วครับ ผมกำลังศึกษาระเบียบการลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครครับ เสียวไม่รู้ออกหัวหรือก้อย ผมมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ครับ ในการที่จะขอลงสมัครเป็นผ้ว่ากรุงเทพมหานคร เชิญชมครับ

 

            1. ชายไทยเชื้อสายอินเดีย อายุ 45 ปี

 

            2. เชื่อว่าการแต่งตัวแปลกของผมไม่เกี่ยวกับความสามารถทางมันสมอง

 

            3. ไม่มีนโยบายหาเสียง มีแต่สิ่งที่อยากทำให้คนกรุงเทพ ถ้าชอบก็ขอเสียงให้ผม เพราะผมก็อยู่กรุงเทพ

 

            4. มาตัวคนเดียวครับ ไม่มีเส้นสายใด ๆ ไม่มีพรรค

 

            5. มีความเชื่อส่วนตัวว่า คนตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ถึงเวลาทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้แล้ว

 

            6. ผมมีอาชีพเป็น MD บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด ขายเครื่องเขียนครับ

 

            7. ผมจะไม่ลบรูปทั้งหมดของผมใน Facebook เพื่อให้ท่านได้เห็นตัวตนก่อนตัดสินใจ

 

            8. ถ้าผิดระเบียบแม้แต่ข้อเดียวในการสมัคร ผมจะเลือกไม่ลงสมัครแทน

 

            9. ผมมีอดีตที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่ผมก็เป็นคนคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำถูกตลอดเวลา

 

            10. ผมมีความตั้งใจจริง ถ้าทำไม่ได้ที่จะซื่อสัตย์สุจริตก็ไม่ทำ

 

            11. เชื่อว่าในวงการราชการยังมีคนดีจำนวนมาก ถ้าผมขอความช่วยเหลือเขาอย่างจริงใจ

 

            12. นโยบายกำลังร่างอยู่ อย่าตกใจนะครับ เพราะมันจะไม่เหมือนเดิม โปรดติดตามนะครับ ผมอยากทำจริง ๆ ครับ"

 

            "ผมขอเสียงท่านตรง ๆ ครับ และจะไม่ทำให้ผิดหวังครับ ขอนะครับ สวัสดีครับ สุหฤท สยามวาลา ติดตามนโยบายได้ในเร็ว ๆ นี้นะครับ เย็น ๆ มาแพรมนโยบายให้ทราบกันนะครับ พอหอมปากหอมคอครับ ผมรักทุกคนครับ" โต้ สุหฤท กล่าว

 

เหตุผล 10 ข้อ ว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 

 

            1. สุหฤทคิดว่า ตัวเองควรจะเริ่มหยุดบ่นและลุกขึ้นมาทำ ชีวิตคนเราต้องเริ่มต้นด้วยการลงมือทำ มิใช่หลบอยู่ข้างหลังกำแพง

 

            2. สุหฤทคิดว่า การได้ทำกับทำได้ต่างกัน การได้ทำและทำได้ คือจุดประสงค์สูงสุดของการลงสมัครครั้งนี้ แต่ทำได้สำเร็จหรือไม่ ผมตัดสินไม่ได้

 

            3. สุหฤทคิดว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความสุขได้ เรามีเสน่ห์มาก ๆ เพียงแต่อยากจะลุกขึ้นมาแล้วทำให้สำเร็จ กรุงเทพมันสวยมากว่ะ

 

            4. สุหฤทเชื่อว่า ไม่ต้องเก่งทุกเรื่อง แต่ต้องอยู่ห้อมล้อมคนที่เก่งเพื่อผลักดันฝัน และผมก็เชื่ออีกเช่นกันว่า เราไม่ได้โง่ทุกเรื่อง

 

            5. สุหฤทเชื่อว่า เมื่อถึงอายุหนึ่งในชีวิต เราต้องลุกขึ้นมาทำเพื่อสังคม เราเลือกได้และสังคมจะต้อนรับเราถ้าเราจริงใจ

 

            6. สุหฤทเชื่อมั่นว่า ไม่มีใครในโลกที่จะมีคนรัก 100 % และสุหฤทก็เชื่อว่าตัวเองไม่ได้มีคนเกลียด 100% ถ้าเราจริงใจ

 

            7. สุหฤทเบื่อความขัดแย้ง แต่อยู่ได้บนความขัดแย้ง ไม่เคยเห็นใครเป็นศัตรู แต่ถ้าเขาเห็นเราเป็นศัตรู เราเศร้า

 

            8. สุหฤทเชื่อที่พ่อบอกว่า จงเป็นปลาแซลมอนที่ว่ายทวนน้ำ เหนื่อยอย่างแสนสาหัส เพื่อสัมผัสน้ำที่บริสุทธิ์สดชื่นกว่าด้านล่าง

 

            9. สุหฤทเชื่อว่า คนกรุงเทพฯ ทุกคนมีฝันเป็นของตัวเอง สุหฤทเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ ต้องเป็นคนสร้างเมืองให้สวยงาม สุหฤทเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ ทำได้

 

            10. สุหฤทเชื่อว่า คนเราทุกคนมีอดีต ดีบ้างแย่บ้าง เพราะเราเป็นมนุษย์ มิใช่เทวดา แต่อดีตมันแก้ไม่ได้แต่ควบคุมได้ สุหฤทจึงคิดเริ่มที่จะทำ

 

            11. สุหฤทรู้ตัวว่า กำลังเขียนเกิน 10 เหตุผลแต่ยังอยากเขียนต่อให้ทุกคนได้อ่าน นะคะเบยงุงิ

 

            12. สุหฤทคิดว่า ยังมีคนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่พร้อมจะ SURPRISE BKK และอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ถึงเวลาของพวกท่านแล้วครับ

 

            13. รักสุหฤทนะตะเอง SURPRISE BKK FUN BKK SUHARIT RUN BKK

 

นโยบายหาเสียงภายใต้แนวคิด “SURPRISE BKK FUN BKK SUHARIT RUN BKK!”

      

หลักการทำงานจะอยู่ภายใต้ 3 แนวคิด ได้แก่ “surprise” หมายถึงสิ่งที่จะทำจะต้องสร้างความตื่นเต้นแปลกใหม่ สร้างความประหลาดใจในแง่บวก “fun” คือ เน้นความสุขอย่างเต็มที่ในการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ และ “run” คือ เน้นความฉับไวในการทำงาน ไม่ปล่อยให้สูญเสียโอกาส ซึ่งจะเน้นโครงการที่ทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน เช่น โครงการ “1 เขต 1 เสน่ห์” ส่งเสริมกิจกรรมขี่จักรยาน โยคะ ออกกำลังกาย

 

สุหฤทกับบทบาทดีเจนักธุรกิจ

 

อินดี้ตัวพ่อของเมืองไทย “โต้” สุหฤท สยามวาลาต้องนั่งทำงานในออฟฟิศสืบทอดกิจการในฐานะทายาทรุ่น 4 และผู้บริหารรุ่นที่ 5 ของตระกูลสยามวาลา

 

โดย กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 ตุลาคม 2554

 

“วันนี้พี่แต่งตัวน้อยนะนี่ สีสันไม่ค่อยมี” เขาหัวเราะก่อนที่เราจะเริ่มสัมภาษณ์ที่สำนักงานของเขาย่านสุรวงศ์ สุหฤท สยามวาลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด (DHAS) องค์กรที่มีอายุกว่า 100 ปี เจ้าของแบรนด์เครื่องเขียนดังที่ครองใจคนไทยมากว่า 50 ปี อย่างแฟ้มตราช้าง และปากกาลูกลื่นควอนตัม

 

“จริงๆ แล้วพี่ก็ไม่ค่อยเต็มใจที่จะเข้ามารับงานนี้นะ แต่พอดีว่าพี่ชาย (ยิ่งศักดิ์ สยามวาลา) บอกว่าเขาอยากให้เราเข้ามาช่วยดูแล เพราะเขาต้องการวางมือก็เลยต้องมา เพราะมันคือกิจการของครอบครัว ต้องเข้ามาช่วยๆ กัน” เจ้าพ่ออินดี้ยิ้ม

 

ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่ สุหฤท จะเข้ามาดูแลกิจการนี้  เขาทำงานอยู่ในแวดวงบันเทิงหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานด้านโฆษณาและเพลงรวมทั้งการเป็นดีเจ  ที่เขาเองได้ชื่อว่าเป็นพ่อมด DJ Club House ในแนวเพลงอิเล็กทรอนิกส์ ค่าตัวแพงอันดับต้นๆ ของเมืองไทย

 

 ด้วยประสบการณ์งานดีเจแนว Electro Minimal Progressive house นานกว่า 15 ปี แถมยังเคยออกอัลบั้มมาแล้วถึง 2 ชุด เริ่มจากอัลบั้มแรกชื่อ สุหฤท ตามด้วยอัลบั้ม ดิจิทัล พังก์ ด้วยความสามารถทั้งในและต่างประเทศบวกกับสไตล์การแต่งตัวสุดล้ำ ทำให้หลายๆ คนยกเขาไว้เป็นอินดี้ตัวพ่อ ซึ่งเขาให้นิยามตัวเองว่า… "พี่เป็นวัยรุ่นที่แก่ที่สุดในเมืองไทย"

 

ทว่าตั้งแต่ต้นปี 54 เขาต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่ที่ท้าทายไม่น้อยกับตำแหน่ง "กรรมการผู้จัดการ" แต่เขาก็ยังไม่ละทิ้งงานที่เขารัก โดยมักจะหาโอกาสในวันว่างๆ แวบไปทำงานด้านดีเจอยู่เสมอๆ

 

“ผมอยากจะปรับภาพลักษณ์ของที่นี่ใหม่ อยากทำให้แบรนด์เครื่องเขียนในบริษัทของครอบครัวดูหนุ่มขึ้น ทันสมัยขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็ควรจะเริ่มต้นที่ตัวพนักงานก่อน ไม่ต้องใส่เสื้อทำงานแบบทางการแบบนี้ก็ได้ ผมไม่อยากให้เขายึดติดกับการทำงานในกรอบเดิมๆ  อยากให้มีไอเดียคิดนอกกรอบมากขึ้น”

 

โดยเขายอมรับว่าแนวคิดแบบนี้ได้มาจากการทำงานในวงการบันเทิงที่ต้องใช้ไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา และมองว่าน่าจะปรับใช้ได้กับการทำธุรกิจในยุคนี้ จากแนวคิดแบบนี้ เขาขอเรียกตัวเองว่าเป็น Executainer เป็นการรวมของ 2 คำ คือ Executive กับ Entertainer เข้าด้วยกัน หมายถึงผู้บริหารหัวใจบันเทิง กรอบเดิมๆ มันคือ ขนบเก่าๆ  ยกตัวอย่างเครื่องเขียนที่ยังไงๆ ก็ต้องขายให้กับนักเรียน นักศึกษา ทำให้รูปแบบการทำโฆษณาไม่หวือหวามาก  โชว์เครื่องแบบชุดนักเรียน ตอนใกล้เปิดเทอม แค่นี้ก็จบ นี่คือแนวคิดที่ยังอยู่ในกรอบเดิมๆ  ซึ่งความจริงแล้วน่าจะทำอะไรที่แตกต่างได้มากกว่านี้ เขาบอก

 

หรืออย่างวิธีคิดโฆษณาปากกาลูกลื่น อยากให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในโฆษณามากขึ้น กลายเป็นการเปิดโครงการจัดประกวดคลิปวีดิโอเลยในคอนเซปต์มันส์ๆ เพื่อโชว์ว่าปากกาลูกลื่นควอนตัม ลื่นตัวจริงเป็นยังไง

 

“มีเป็นร้อยคลิปที่ส่งเข้าประกวด เรามีคณะกรรมการตัดสินให้รางวัลและนำคลิปนั้นมาเป็นโฆษณาตัวใหม่ของเรา อันนี้เป็นอีกเรื่องที่ใหม่และแหวกแนวสำหรับที่นี่ ซึ่งปกติเขาจะอยู่กันแบบเรื่อยๆ และค่อนข้างอนุรักษนิยม” สุหฤท บอก

 

ขณะที่สไตล์การทำงาน เขาบอกว่า ไม่มีรูปแบบตายตัว หลักๆ คือ “อย่ายึดติด” ต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงาน และต้อง “ไม่ปิดกั้น” แนวคิดใหม่ๆ และต้องเป็นการทำงานอย่างมี “มิตรภาพ” ซึ่งถือเป็นแนวคิดหลักในการทำงานขององค์กรที่มีอายุกว่า 100 ปี ที่เน้นเรื่องความจริงใจกับมิตรทางธุรกิจมาโดยตลอด องค์กรแห่งนี้ยังถือโอกาส ปรับ Business  Model  ใหม่ในรอบ 20 ปี เพื่อให้เข้ากับตัวตนของเอ็มดีคนใหม่ และรับการเป็นเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ที่ตลาดอาเซียนจะรวมเป็นหนึ่ง (Single Market)

 

การทำงานในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงในประเทศ ธุรกิจจึงจำเป็นต้องตื่นตัวและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อเป็นเออีซี สินค้าของสยามวาลาจะต้องมีพื้นที่ในตลาดนี้ด้วย เขาบอก

 

สยามวาลาจะบริหารงานเป็น Business Unit เพื่อให้แต่ละยูนิตการทำงานมีความอิสระและคล่องตัวในการทำงาน โดยในแต่ละแบรนด์ในกลุ่ม จะสามารถวางแผนการตลาด และกำหนดกลยุทธ์การทำงานได้เอง จากเดิมที่จะเป็นการบริหารในแบบไลน์สินค้า อะไรอยู่ในหมวดเดียวกันก็ทำไปพร้อมกัน  โครงสร้างใหม่จะแบ่ง Business Unit ออกเป็นสินค้าในกลุ่มตราช้าง กลุ่มปากกาควอนตัม และกลุ่มเครื่องเขียนมาสเตอร์อาร์ต

 

ปัจจุบัน  กลุ่มสินค้าที่ถือว่าเป็นรายได้หลักของสยามวาลาคือ กลุ่มตราช้าง มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่  50%  รองลงมาได้แก่กลุ่มมาสเตอร์อาร์ตมีสัดส่วนรายได้ 30% และกลุ่มปากกาควอนตั้ม มีสัดส่วนรายได้ 20%  ขณะที่สัดส่วนยอดขายในประเทศรวมทุกกลุ่มที่ประมาณ  70%    ที่เหลือเป็นต่างประเทศที่ 30%  ในกว่า 27 ประเทศทั่วโลก (มีตลาดหลักในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง) ทั้งที่เป็นแบรนด์ของสยามวาลาและการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์อื่นๆ  ซึ่งไม่รวมกลุ่มประเทศในอาเซียน  ที่กลุ่มนี้ตั้งเป้าว่าภายใน 5-7  ปี จะมีสัดส่วนรายได้จากตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบันที่ตลาดกลุ่มอาเซียนมีสัดส่วนอยู่ที่ 20-25%

 

เขาบอกว่าเป้าหมายนี้ถือว่าเป็นความฝันที่ต้องทำให้ได้ และหากฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้ในช่วง 5-7 ปีข้างหน้า จะส่งผลให้สัดส่วนยอดขายในต่างประเทศขยับขึ้นมาอยู่ที่ 65%  เมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายในประเทศที่จะลดสัดส่วนลงเหลือราวๆ    35%

 

กลยุทธ์ที่เขาวางไว้ในการทำตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน คือ เป็นการหา “ตัวแทนจำหน่าย”  หรือการร่วมทุนกับผู้ค้าในพื้นที่ โดยขณะนี้ได้เตรียมทีมวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคไว้แล้ว ขณะที่กลยุทธ์ในไทยนั้น จะเน้นการทำตลาดที่เรียกว่า Below the Line ให้ต่อเนื่องและมีความแปลกใหม่มากขึ้น สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ทุกช่องทาง รวมทั้ง New Media ทั้งหลาย และในอนาคตก็ขอเกาะกระแส Green Products  ไปกับคนอื่นๆ เขาด้วย

 

นอกจากนี้ ดีเจนักบริหาร ยังวางแผนที่จะขยายกำลังการผลิต เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของ Economy  of Scale ปัจจุบันเขาเล็งที่จะเปิดโรงงานแห่งใหม่ในเมือง ร่างกุ้ง ประเทศพม่า พร้อมกันนั้น ยังได้ลงทุน 700 ล้านบาท ในการตั้งโรงงานประกอบตอกคลิปแฟ้มและคลังสินค้าในต่างประเทศ ในโปแลนด์ ซึ่งจะเป็นฐานการกระจายสินค้าในกลุ่มประเทศในยุโรป

 

อีกทั้งยังได้ลงทุนสร้างคลังสินค้าใหม่ขนาด 40,000 ตร.ม.บน ถนนพหลโยธิน รองรับกับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนขยายโรงงานในจีนและอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2555 โดยใช้งบลงทุน 200 ล้านบาท

 

“ปีนี้ คาดว่ารายได้รวมของเราน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,500  ล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 15% ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดของสยามวาลาในรอบ 4-5 ปี ส่วนหนึ่งเพราะว่าตลาดเครื่องเขียนมีการขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10% จากมูลค่ารวมของตลาดเครื่องเขียน 12,000  ล้านบาท  แต่หากไม่รวมกับกลุ่มกระดาษมูลตลาดเครื่องเขียนจะมีมูลค่าที่ 6,000-7,000  ล้านบาท”

 

แบรนด์ที่ครองตลาดอันดับหนึ่งได้แก่ นานมี รองลงมาได้แก่ นูแวล  และสยามวาลา เขายังทิ้งท้ายว่า ผู้บริหารที่ดีต้องรู้จักบริหารเวลาให้ลงตัวระหว่างสิ่งที่รัก กับธุรกิจ ต้องรู้จุดและจังหวะที่พอดี ระบบที่ดีจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเลือกใช้คนก็สำคัญ หากใช้คนเป็นก็จะช่วยแบ่งเบาการทำงานของผู้บริหารได้

 

*******************************************

 

 

      

     

       

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: