แอมเนสตี้ระบุการนิรโทษฯ ไม่ควรให้ผู้ละเมิดร้ายแรง

9 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1229 ครั้ง

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นายสมชาย หอมลออ ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่กำลังเป็นที่จับตาอย่างเคลือบแคลงจากสังคมอยู่ในขณะนี้ว่า การนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นจะต้องนำไปสู่การปรองดองที่แท้จริงและยั่งยืน ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่สร้างความขัดแย้ง จะต้องแก้ไขปัญหาหลายอย่าง ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และต้องมีการพิจารณาว่า ความผิดแบบไหนควรได้รับการนิรโทษกรรม หรือบางความผิดจะต้องมีการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข

            “การนิรโทษกรรมจะต้องไม่ปล่อยคนผิดลอยนวล ในคดีความผิดอาชญากรรมร้ายแรง เช่น การฆ่าคน หรือการทำร้ายร่างกาย ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด ควรจะต้องรับผิด ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือถ้าจะมีการนิรโทษกรรมก็ต้องมีการทำอย่างมีเงื่อนไข”

น.ส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการใช้กฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้วทั้งสิ้น 22 ฉบับ ทุกฉบับต่างยกความผิดให้กับผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง โดยไม่มีการนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีเพียง 3 ฉบับเท่านั้น ที่ประชาชนและผู้ชุมนุมได้รับประโยชน์ด้วย นั่นคือจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 และพฤษภาทมิฬ 2535

หลายประเทศที่ดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้ง การนิรโทษกรรมเป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการต่าง ๆ ที่อาจเลือกมาใช้ประกอบ เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น กระบวนการที่สำคัญเพื่อสร้างความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นการป้องกันและยับยั้งไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนอีกในอนาคต โดยแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ทำความผิดจะไม่สามารถรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายไปได้ และเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อด้วย การสืบค้นหาความจริง การเยียวยาให้เหยื่อ ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเงินเท่านั้น ต้องทำให้ญาติเหยื่อสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นปกติ และแสดงออกอย่างเป็นทางการว่า รัฐตระหนักรับรู้ถึงความเจ็บปวดสูญเสียที่เหยื่อและญาติได้รับ การปฏิรูปสถาบันและองค์กรที่มีส่วนทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน การไม่ให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลับมามีอำนาจในการบริหารประเทศต่อไป ซึ่งเป็นบทลงโทษหนึ่งที่เยอรมันตะวันออกได้นำมาใช้ ส่วนการนิรโทษกรรม เป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะนำมาใช้ เพราะยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มาก และต้องทำอย่างมีเงื่อนไขและไม่เหมารวมให้กับทุกฝ่าย

            “การนิรโทษกรรมอาจจะเป็นทางเลือกสุดท้าย และต้องทำอย่างมีเงื่อนไขไม่เหมารวม เพราะการนิรโทษกรรมแบบเหมารวมให้กับทุกฝ่ายโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นสิ่งที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังทำให้คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเหยื่อลดลงด้วย เพราะรัฐไม่สามารถคืนความยุติธรรมให้กับพวกเขาได้ การนิรโทษกรรมที่ผ่านมานำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้กับผู้มีอำนาจทั้งทางการเมืองและกฎหมาย ส่งผลให้ไม่มีการยับยั้งชั่งใจ เพราะเชื่อว่าจะมีกฎหมายมายกโทษ และประชาชนจะลืมเลือนเรื่องราวร้าย ๆ ไปในที่สุด”

การจัดการความขัดแย้งในช่วงเปลี่ยนผ่านรของประเทศแอฟริกาใต้ ได้รับการศึกษาอย่างมาก หลังเหตุการณ์ความขัดแย้งกันเป็นเวลาหลายสิบปี ระหว่างคนผิวสีกับคนผิวขาว ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อค้นหาความจริง นิรโทษกรรมผู้กระทำผิดโดยผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องรับสารภาพ และเขียนคำร้อง เพื่อเป็นการแสดงความร่วมมือในการให้ข้อเท็จจริง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับการนิรโทษ เพราะจะต้องให้เหมาะสมกับความผิดที่พวกเขาได้กระทำลงไปด้วย รวมทั้งการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างเต็มที่  แสดงให้เห็นว่ากระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ต้องเดินหน้าควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ มิใช่การนิรโทษกรรมแบบเหมารวมโดยไร้เงื่อนไข

            “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยืนยันจุดยืนชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมนั้น ไม่ควรให้กับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เพราะถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมซ้ำต่อครอบครัวของเหยื่อ แต่ควรจะมีการปล่อยตัว (นิรโทษกรรม) นักโทษทางความคิด ผู้ซึ่งได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงและความเกลี่ยดชัง ซึ่งรวมถึงผู้ต้องขังในคดีความผิดจากมาตรา 112 ด้วย”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: