‘วีรพัฒน์’ระบุรธน.ม.190 ไม่เกี่ยวกรณี‘เขาพระวิหาร’

9 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1438 ครั้ง

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวถึงร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับคดีปราสาทพระวิหาร ว่า การต่อต้านกฎหมายมาตรา 190 ในโลกออนไลน์ขณะนี้เป็นเรื่องผิดเพี้ยน คนที่ปลุกปั่นการต่อต้านประเด็นมาตรา 190 ควรหันไปต่อต้านมาตรา 309 ที่รับรองรัฐประหารจะดีกว่า พูดเลยว่าคนที่ปล่อยข่าวต่อต้านเรื่องนี้มีปัญหา นี่เป็นประเด็นการเมือง ไม่ใช่ประเด็นกฎหมาย โดยเฉพาะคดีปราสาทพระวิหารยิ่งไม่เป็นเรื่อง

            “ความจริงร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่แก้ไขแล้ว สามารถถกเถียงกันได้ว่า มันมีปัญหาอย่างไร ในแง่มุมต่าง ๆ แต่ไม่สามารถนำมาโยงกับกรณีคดีปราสาทพระวิหารได้แน่ๆ”

นายวีรพัฒน์ อธิบายว่า มาตรา 190 ทั้งฉบับ ที่มีการแก้ไขผ่านสภาวาระ 3 ไป หรือมาตรา 190 ฉบับก่อนหน้าการแก้ไขไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นพื้นที่พิพาทปราสาทพระวิหารเลยแต่อย่างใด มาตรานี้จะมีผลกับการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ หรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่า สนธิสัญญาระหว่างประเทศ เท่านั้น ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยตีความไว้ว่า  “หนังสือสัญญาระหว่างประเทศ” เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องทำสองฝ่าย หรือหลายฝ่ายเป็นข้อตกลงในทางกฎหมายระหว่างประเทศ

นายวีรพัฒน์กล่าวต่อว่า ในกรณีฟังคำพิพากษาศาลโลก คดีปราสาทพระวิหาร และฝ่ายไทยจะมีการตีความคำพิพากษาใด ๆ ออกมา ไม่ถือว่าเข้าข่ายมาตรา 190 แต่อย่างใด เพราะเราไม่ได้ไปตกลง หรือเซ็นอะไรกับศาลโลก เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศ มากกว่าศาลโลก เรื่องของมาตรา 190 เท่ากับจงใจทำให้เป็นประเด็นโจมตีรัฐบาล

ส่วนกรณีการให้สภาฯ มีส่วนร่วมกับคำพิพากษาศาลโลก ที่อาจพูดเรื่องเกี่ยวกับเขตแดนหรืออธิปไตย นายวีรพัฒน์กล่าวว่า สามารถใช้มาตรา179 ในรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเป็นมาตราที่เปิดช่องให้คณะรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งไปทำคดีศาลโลกสามารถขอเปิดอภิปรายเป็นการทั่วไปในสภาฯ ทำให้ส.ส.และส.ว.ทั้งหลายสามารถแสดงความคิดเห็น แนะนำ ท้วงติงแก่ครม.ในการดำเนินการต่อศาลโลกได้ หลังแสดงความเห็นกันแล้ว ครม.ก็นำไปประมวลและประกอบการพิจารณาในการดำเนินการต่อไป

ส่วนที่มีการขยายประเด็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จะไปเอื้อให้เสียดินแดนนั้น นายวีรพัฒน์กล่าวว่า นี่เป็นเรื่องตื่นตระหนก เพราะมาตรา 190 นั้นไม่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว และไม่ใช่ว่าทันทีที่ศาลโลกตัดสินแล้ว กัมพูชาจะส่งทหารเข้ามา ในเรื่องระหว่างประเทศ ทำเช่นนี้คือสงคราม เรื่องระหว่างประเทศตามปกติก็ต้องมีการเจรจากัน ที่ผ่านมารัฐบาลก็ชัดเจน เพราะมีการแถลงร่วมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งไทยและกัมพูชาว่า หากมีการดำเนินการใด ๆ ต้องเห็นร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีกรอบคณะกรรมมาธิการร่วมไทย-กัมพูชา หรือเจซีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากมีการเจรจาในกรอบเจซี กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหมต้องรายงานกรอบการเจรจาให้สภาฯทราบอยู่แล้ว หากกรรมาธิการ หรือสว.ท่านใดสงสัยก็สามารถออกคำสั่งเรียกเอกสารดู หรือเรียกมาชี้แจงได้ทันที ไม่ต้องเข้าสภาให้เสียเวลา

นายวีรพัฒน์กล่าวด้วยว่า ช่วงประมาณปีที่แล้ว รัฐบาลไทยเอา MOU ปี 2543 ที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ได้ทำไว้ไปจดบันทึกสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ ที่นิวยอร์กว่า เป็นสนธิสัญญาแล้ว แสดงว่ารัฐบาลไทยเห็นชัดเจนแล้วว่า เอ็มโอยูฉบับนี้เป็นสนธิสัญญา แต่การจะเป็นสนธิสัญญานั้น ต้องดูฝ่ายกัมพูชาด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่

ส่วนประเด็นที่มีความสับสนระหว่างเขตแดนทางบกกับทางทะเล ต่อกรณีพื้นที่พิพาทคดีปราสาทพระวิหาร นายวีรพัฒน์มองว่า เรื่องทะเลก็มีกฎหมายทางทะเลที่จะใช้ ที่ผ่านมาไทย-กัมพูชามีเอ็มโอยูปี 2544 ในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ตกลงสำรวจหาไหล่ทวีปในทะเลร่วมกัน เป็นเพียงหาเส้นไหล่ทวีปในทะเลร่วมกันเท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาเรื่องศาลโลกมาเกี่ยวกับเส้นเขตแดนทางทะเล หากอ้างก็อ้างได้ฝ่ายเดียว ซึ่งไม่มีผลทางกฎหมายอยู่ดี

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: