กรมชลฯยันน้ำไม่ท่วมกทม.-หวั่นจะแล้ง ชี้‘เขื่อน’จำเป็น-วอนคนค้านเห็นประโยชน์

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 9 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1984 ครั้ง

สถานการณ์อุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศขณะนี้ กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนที่มีแนวโน้มว่า ปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมหนัก สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน เหมือนกับปี 2554 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ส่วนใหญ่กังวลว่า ปริมาณน้ำที่ทะลักเข้าท่วมพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดปริมณฑล อาจจะส่งผลกระทบมาถึงพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ แม้จะมีหลายหน่วยงานออกมายืนยันว่า ในปีนี้ถึงแม้จะมีน้ำมาก แต่ก็จะไม่ได้สร้างความเสียหายเหมือนเดิมก็ตาม

อธิบดีกรมชลฯ ยันน้ำไม่ท่วม กทม.เหมือนปี 2554 แน่นอน

นายเลิศวิโรจน์  โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า น้ำที่จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ นั้น ส่วนใหญ่เป็นน้ำเหนือ ซึ่งขณะนี้จากการตรวจสอบพบว่า เป็นน้ำที่อยู่ในระดับปกติของน้ำหลาก โดยน้ำยังในลำน้ำต่าง ๆ ยังอยู่ในระดับ 2 ใน 3 ของแม่น้ำทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะลดลง อย่างไรก็ตามในช่วงสัปดาห์นี้คือตั้งแต่วันที่ 7-11 ตุลาคม 2556 เป็นช่วงที่น้ำทะเลจะหนุนเข้ามา จึงทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมตลิ่งได้บ้าง

สำหรับปริมาณของน้ำทุ่งนั้น กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และหลังจากนี้บางแห่งเกษตรกรได้ผันน้ำเข้าทุ่งแล้ว เพื่อเตรียมทำการเกษตรในฤดูแล้ง หรือการทำนาปรัง ดังนั้นจึงเชื่อว่าระดับน้ำจะไม่เป็นปัญหาอย่างแน่นอน

            “ตอนนี้หากบอกว่าน้ำล้อมกรุงเทพฯ คงไม่ใช่ เพราะเรามีการบริหารจัดการน้ำได้ในระดับที่ดีแล้ว แต่ตัวแปรสำคัญคือ ปริมาณของฝนที่จะตกลงมา เพราะในช่วงสัปดาห์นี้ พบว่ามีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ทำให้ในวันสองวันนี้จะยังมีฝนอยู่ทำให้มีผลต่อระดับน้ำ แต่ยืนยันว่าน้ำจะไม่ท่วมหนักเหมือนกับปี 54 อย่างแน่นอน ไม่ต้องกังวล เพราะถึงจะท่วมในกรณีที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องใหม่หยุด น้ำก็จะท่วมในบางแห่งและจะค่อยๆ ลดระดับลงไปเป็นปกติ” นายเลิศวิโรจน์กล่าว

ชี้ไทยไม่มีเครื่องมือป้องกันน้ำท่วมโดยตรง

เมื่อถามถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการบริหารจัดการน้ำ นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า กรมชลประทานมีการทำงานร่วมกับ กทม.อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบริเวณพื้นที่ปริมณฑล เป็นพื้นที่ในเขตชลประทานอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องประสานงานกัน เช่น การดำเนินการในช่วงของการระบายน้ำในคลองหกวาสายล่าง ซึ่งมีประตูน้ำของกรมชลประทานอยู่ ก็จะมีการประสานงานกันว่า จะระบายน้ำไปทางจุดไหนได้บ้าง ทั้งน้ำในพื้นที่ด้านตะวันออก ที่มีการระบายน้ำผ่านคลองแสนแสบออกไปทางคลองพระโขนง ทางทิศเหนือระบายน้ำออกทางคลองรังสิต สู่แม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่ผ่านมา กรมชลประทานก็ได้ใช้ประตูน้ำบริเวณสุวรรณภูมิระบายน้ำที่ตกมาท่วมขังเขตลาดกระบังออกเป็นต้น

อย่างไรก็ตามในส่วนของข้อสงสัยเกี่ยวกับประตูน้ำต่าง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ดูเหมือนจะชำรุดหลายแห่งนั้นอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 กรมชลประทานก็ได้ดำเนินการซ่อมแซมประตูน้ำทั้งหมด ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างดีแล้ว แม้ว่าบางแห่งจะยังไม่ได้สร้างก็ตาม โดยได้งบประมาณจากรัฐบาลในการเพิ่มประสิทธิภาพของประตูน้ำทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องสร้างความเข้าใจว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีระบบป้องกันน้ำท่วมโดยตรง แต่ที่ผ่านมาเป็นการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้ระบบชลประทานมาดัดแปลงในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น ซึ่งสามารถบรรเทาไปได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นเครื่องมือที่ใช้จึงเป็นเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับระบบชลประทานไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันปัญหาน้ำท่วม ถ้าหากน้ำมาในระดับปกติก็จะสามารถบรรเทาไปได้ แต่หากน้ำมากในระดับผิดปกติเหมือนปี 2554 ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแน่นอน

            “ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องทำก็คือการสร้างเครื่องไม้เครื่องมือ สำหรับการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยโดยตรงอย่างอี่น ตามที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้าน ซึ่งจะมีเครื่องมือต่าง ๆ ทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง หรือฟลัดเวย์ ที่ล้วนแต่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการบริหารจัดการน้ำ ป้องกันปัญหาอุทกภัยโดยตรงทั้งสิ้น”

ระบุแผนน้ำของกบอ.เป็นแนวทางเดียวกับกรมชลฯ

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาประชาชนส่วนหนึ่งอาจไม่เข้าใจ เรื่องของการดำเนินการจัดหาเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านอย่างมาก แต่ก็เป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่จะดำเนินการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพราะในส่วนของกรมชลประทานเอง มีหน้าที่ในส่วนของบริหารจัดการในพื้นที่ชลประทานอยู่แล้ว โดยในพื้นที่รอบ ๆ กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ชลประทานด้วยจึงเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลอยู่แล้ว แต่หากในพื้นที่อื่น ๆ ที่หากเกิดน้ำท่วม แต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมชลประทานก็จะไม่มีเครื่องมือป้องกันอุทกภัยเลย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการในแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านนั้น ส่วนใหญ่เป็นแผนงานเก่าของกรมชลประทาน อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า แผนงานของ กบอ.เป็นเครื่องมือแบบเดียวกับที่กรมชลประทานใช้ในการป้องกันอุทกภัยอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นแนวทางเดียวกัน บางส่วนเป็นอ่างเก็บน้ำ เพราะกรมชลประทานมีโครงการป้องกันอุทกภัยที่ทำไปแล้ว เช่น การป้องกันน้ำท่วมที่ อ.หาดใหญ่ หรือ การป้องกันน้ำท่วมที่ จ.จันทบุรี และหลายส่วน กรมชลประทานมีแผนและมีแบบไว้แล้วในหลายพื้นที่ ดังนั้นเมื่อกบอ.ก่อตั้งและเป็นแนวทางเดียวกันจึงนำมาใช้ร่วมกันได้

คนกรุงเทพฯเห็นประโยชน์เขื่อนดีกว่าคัดค้าน

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าเรื่องน้ำท่วมในขณะนี้ กลับจะเป็นเรื่องของระดับน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพลมากกว่า เพราะขณะนี้น้ำในเขื่อนทั้งสองแห่งอยู่ในระดับที่น้อยมาก ไม่มีน้ำไหลลงเขื่อนเนื่องจากมีฝนไปตกที่ท้ายเขื่อนแทน ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงว่าในฤดูแล้งจะมีผลกระทบต่อเนื่อง ไม่เพียงพอที่จะส่งให้กับเกษตรกร เนื่องจากกรมชลประทานจะต้องใช้น้ำในเขื่อนทั้งสองแห่งในการสนับสนุนการใช้น้ำให้กับคนในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ทั้งใช้ในการผลิตน้ำประปา หรือการใช้ในการผลักดันน้ำเค็ม เพื่อรักษาสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งป้องกันเหตุดินสไลด์ต่าง ๆ  ตอนนี้จึงต้องเตรียมน้ำจากเขื่อนในลุ่มน้ำแม่กลองมาเติมในกรณีที่น้ำน้อยแบบนี้

            “คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ จะไม่รู้ว่า ชีวิตเราที่ต้องใช้น้ำอยู่ตลอดเวลา มีเขื่อนเป็นที่พึ่งสำคัญ เขื่อนมีประโยชน์มาก เพราะทุกวันที่เราใช้น้ำอย่างสบาย นึกอยากจะอาบน้ำเมื่อไหร่ก็เข้าไปอาบได้ หรืออยากจะล้างรถเมื่อไหร่ก็เปิดน้ำ น้ำเหล่านั้นมาจากเขื่อนทั้งสิ้น แต่หากน้ำในเขื่อนไม่มี หรือไม่มีที่เก็บน้ำไว้ใช้ เราก็จะไม่สามารถทำอะไรแบบนั้นได้เลย และถ้าหากน้ำในเขื่อนภูมิพลหรือเขื่อนสิริกิติ์มีน้อย คนที่ใช้น้ำประปาจะไม่รู้สึก เพราะกรมชลประทานนำน้ำมาสนับสนุนการใช้สำหรับประชาชน 100 เปอร์เซนต์ อยู่แล้ว แต่มันจะส่งกระทบไปถึงภาคเกษตรกรรม ที่จะต้องไปหาน้ำที่อื่นมาใช้ มันก็จะกระทบกันเป็นลูกโซ่แบบนี้ ดังนั้นจึงอยากให้กลุ่มที่คัดค้านเข้าใจถึงประโยชน์ของเขี่อนด้วยว่า มันมีความจำเป็นกับชีวิตของเราจริงๆ” นายเลิศวิโรจน์กล่าว

พร้อมกับระบุว่า สำหรับปัญหาเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่คนเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวสรุปว่า ขอให้มั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมรุนแรงเท่ากับปี 2554 แน่นอน เพราะเครื่องมือที่มีอยู่ในขณะนี้ กับระดับน้ำในตอนนี้ถือว่ารับมือได้ เพราะปริมาณน้ำสะสมในปัจจุบันไม่เท่ากับปี 2554

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: