เปิดธุรกิจ‘เรืออวน-ปลาป่น-อาหารสัตว์’ เส้นทางผลประโยชน์ทำ'ทะเลไทย'วิกฤต

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 9 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 11636 ครั้ง

‘ปลาป่น’ เป็นอุตสาหกรรมสำคัญอุตสาหกรรมหนึ่งในระบบเศรษฐกิจไทย ตัวเลขของสำนักมาตรฐานสินค้านำเข้าส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2555 ประเทศส่งออกปลาป่น ชั้น 1, ชั้น 2 และชั้น 3 รวมกันเป็นปริมาณ 58,365.61 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,032.62 ล้านบาท

นอกจากนี้ ปลาป่นยังถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และต่อเนื่องไปสู่อุตสาหกรรมฟาร์มปศุสัตว์ ตัวเลขประมาณการประชากรสัตว์ (หมายถึงสัตว์เลี้ยงเพื่อบริโภคเนื้อ) ปริมาณอาหารสัตว์ และการใช้วัตถุดิบ ปี 2556  ของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย พบว่า ในอุตสาหกรรมสัตว์จะมีประชากรสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ ไก่ไข่ หมูขุน เป็ดเนื้อ เป็นต้น รวมกันกว่า 1,480,870,000 ตัว กุ้งและปลารวมกันถึง 896,108 ตัน และคาดว่าต้องใช้อาหารสัตว์เพื่อหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ประมาณ 16,474,501 ตัน ในจำนวนนี้เป็นปลาป่น 645,806.7 ตัน ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดแก่อุตสาหกรรมปลาป่นย่อมส่งผลต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปลาป่นก็ถือเป็นจำเลยสำคัญที่ถูกกล่าวหาว่า สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลของไทย เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ทำปลาป่นก็คือปลาเป็ดหรือปลาไก่ ซึ่งเป็นคำเรียกรวม ๆ ของปลาขนาดเล็ก ปลาที่ยังไม่โตเต็มวัย หรือปลาที่คนไม่นำมาบริโภค แต่มิได้หมายความว่า ปลาเหล่านี้ไม่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในทะเล อีกทั้งในความเป็นจริงแล้ว ปลาที่ถูกนำมาทำเป็นปลาป่นก็มิใช่ปลาเป็ด ปลาไก่ เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนอีกมาก ที่พลัดเข้าไปสู่วงจรปลาป่น

ทะเลไทยยังดูแลไม่ทั่วถึง-สัตว์น้ำจับได้ลดลงมาก

แนวชายฝั่งของประเทศไทยมีความยาวประมาณ 2,614 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานของประชากรราว 12 ล้านคน ขณะที่พื้นที่ทางทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันครอบคลุมพื้นที่ถึง 316,118.3 ตารางกิโลเมตร พื้นที่อันใหญ่โตนี้มีเพียง 5,812 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 1.8 ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้นที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของอุทยานแห่งชาติ

เมื่ออำนาจการดูแลท้องทะเลของรัฐปกคลุมพื้นที่ทะเลได้เพียงน้อยนิด ซ้ำมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการประมงก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการทำการประมงเกินขนาดหรือถึงขั้นทำลายล้าง สถิติของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ตั้งแต่ 2493 ผลผลิตจากการประมงในทะเลไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทั่งเริ่มคงที่ในปี 2532 จนถึงปี 2547 ผลผลิตจึงเริ่มลดลง

ข้อมูลจากกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า การจับสัตว์ทะเลหน้าดินหรือสัตว์ทะเลที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นทะเลในอ่าวไทยไม่ควรเกิน 916,000-993,000 ตัน เพื่อให้ทะเลสามารถรักษาความยั่งยืนเอาไว้ได้ แต่ปัจจุบันอัตราการจับสัตว์ทะเลในอ่าวไทยสูงกว่าตัวเลขข้างต้นมาก ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อัตราการจับสัตว์ทะเลจึงลดลงจาก 300 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในปี 2504 เหลือเพียง 25 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในปี 2554

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปลาป่นอย่างไร

ผลผลิตปลาเป็ดลดลง

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ประเทศไทยไม่มีการทำการประมงปลาเป็ดโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับประเทศเปรูที่ถือเป็นอันดับ 1 ของโลกในอุตสาหกรรมนี้ ปัจจุบันปลาเป็ดของไทยที่นำมาใช้ในการทำปลาป่น ส่วนหนึ่งเป็นสัตว์น้ำที่ถูกคัดแยกออกจากสัตว์น้ำเป้าหมาย ที่ผู้คนนำมาใช้บริโภค เรียกว่าเป็นผลพลอยได้จากการทำประมง

ข้อมูลจากสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ช่วงก่อนปี 2533 ผลผลิตปลามากกว่าร้อยละ 50 ถูกนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ แต่ผลจากการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้ความต้องการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น กอปรกับความคุ้นเคยในการนำสัตว์น้ำ โดยเฉพาะสัตว์หน้าดินที่มีรูปร่าง ลักษณะ และสีแปลก ๆ มาบริโภค ทำให้สัดส่วนของผลผลิตปลาที่ถูกนำไปใช้เป็นปลาเป็ด จึงมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น

การผลิตปลาป่นส่วนใหญ่จึงไม่ได้ใช้วัตถุดิบจากปลาเป็ดที่เป็นผลพลอยได้จากท้องทะเล แต่มาจากเศษเหลือวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการแปรรูปสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาทูน่าและซูริมิถึงร้อยละ 65 ของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตปลาป่น

นายกสมาคมปลาป่นฯระบุ ปลาป่นเป็นแค่ปลายทาง

สงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตปลาป่นได้ประมาณ 4-5 แสนตันต่อปี และใช้เองภายในประเทศเกือบทั้งหมด มีประมาณร้อยละ 10 เท่านั้นที่ส่งออก โดยราคาปลาป่นในประเทศ จะถูกกำหนดจากซีพีหรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่มาโดยตลอด เนื่องจากซีพีเป็นผู้ใช้ปลาป่นมากกว่าร้อยละ 50 ของปลาป่นที่ผลิตได้ในการผลิตอาหารสัตว์

             “ถ้าซีพีประกาศว่า วันนี้จะรับซื้อราคาเท่านี้ ทุกรายก็จะไปอิงราคาของซีพี เวลาซีพีต้องการก็จะขึ้นราคา ถ้าไม่ต้องการก็จะลดราคา”

สงวนศักดิ์กล่าวกับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ปัจจุบันปริมาณปลาเป็ดจากเรือลดลงเรื่อย ๆ แต่ปริมาณเศษปลาจากโรงงานก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยทำเนื้อปลาส่งออกและใช้ภายในมากขึ้น เศษปลาเหล่านี้จึงสามารถทดแทนปริมาณปลาเป็ดที่ลดลงได้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขการผลิตปลาป่นอยู่ที่ประมาณ 5 แสนตันมาโดยตลอด ไม่ขึ้นหรือลงมากไปกว่านี้

               “ทุกวันนี้ปลาเป็ดจับได้น้อยลง พวกโรงงานแปรรูปปลาก็มีเครื่องจักรเอง ทำปลาป่นเอง นอกจากเจ้าเล็กๆ ที่เอาเศษปลาไปส่งโรงปลาป่นใกล้ ๆ บ้าน แต่ไม่มาก ปลาเป็ดอีกส่วนก็เอาไปตากแห้งให้คนกินมากขึ้น ทำให้โรงงานปลาป่นต้องแย่งกันซื้อ ถ้าวัตถุดิบน้อยลง โรงงานก็อยู่ไม่ได้ ทำให้ต้องซื้อแพง

                “โรงงานปลาป่นเป็นจุดที่อยู่ปลายน้ำ เรือประมงอยู่ที่ต้นน้ำ เรื่องนี้จึงอยู่ที่มุมมอง ถ้ามองว่าเป็นโรงงานปลาป่นหรือเปล่าที่ไปรับซื้อปลาเป็ด ซึ่งถ้ามองลักษณะนี้ก็จะเป็นลูกโซ่ไปถึงผู้ผลิตอาหารสัตว์ เช่นที่เอ็นจีโอบางคนโจมตีซีพีหรืออุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้ง การมองแบบนี้ล้วนแต่เป็นการมองจากปลายเหตุ” สงวนศักดิ์กล่าว

ทั้งกรมประมงและสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยยืนยันตรงกันว่า ปริมาณการจับปลาเป็ดลดลงเรื่อยๆ ทั้งอุตสาหกรรมปลาป่นและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ก็เป็นเพียงปลายทางในฐานะผู้รับซื้อ ถ้าอย่างนั้น ต้นทางของเรื่องนี้อยู่ที่ไหน

ลูกปลาเศรษฐกิจกว่า 1.3 แสนตันถูกจับทำปลาป่น

คำตอบก็คือ การทำประมงพาณิชย์แบบทำลายล้าง ด้วยเครื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมาย อย่างเรืออวนลากและอวนรุน

ข้อมูลของกรีนพีซ ระบุว่า ปริมาณสัตว์ทะเลที่ถูกจับโดยเรืออวนลาก มีปลาเป็ดอยู่ถึงร้อยละ 60 ทว่า ร้อยละ 32 ของปลาเป็ดเหล่านี้ ไม่ใช่ปลาเป็ดในความหมายที่กล่าวไปข้างต้น หากเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน หมายความว่า สัตว์น้ำเหล่านี้ไม่มีโอกาสเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ในอนาคต ที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า

ตัวเลขปี 2553 ของกรมประมง ยังพบว่า ปริมาณสัตว์ทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งสิ้น 1,601,320 ตัน ในจำนวนนี้เป็นปลาเป็ดถึง 418,990 ตัน หรือร้อยละ 26.17 ของสัตว์ทะเลที่จับได้ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 2,745,199,000 บาท ปลาเป็ดเหล่านี้กระจายไปสู่โรงงานผลิตปลาป่น 83 โรง (ตัวเลขปี 2553) ผลิตออกมาเป็นปลาป่นได้ 332,664 ตัน ทำให้มูลค่าจากปลาเป็ดสู่การเป็นปลาป่นเพิ่มขึ้นเป็น 8,782,923.42 บาท

เมื่อนำตัวเลขที่ว่า ร้อยละ 32 ของปลาเป็ด คือลูกปลาเศรษฐกิจมาคำนวณ ย่อมหมายความว่า ปลาเป็ด 418,990 ตัน จะมีลูกปลาเศรษฐกิจที่ไม่มีโอกาสโตเต็มวัยอยู่ถึง 134,077 ตัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นการทำประมงที่ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจและสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลของไทย

เรืออวนลาก อวนรุน ต้นเหตุประมงทำลายล้าง

เรืออวนลากถือเป็นเรือประมงที่สร้างความเสียหายแก่ท้องทะเลและปริมาณสัตว์น้ำมากที่สุด การสำรวจเรือประมงของกรมประมงในปี 2554 พบว่า ประเทศไทยมีเรือประมงทั้งสิ้น 57,141 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเรืออวนลาก 4,180 ลำ และเรืออวนรุนอีก 1,233 ลำ แต่ข้อมูลของกรีนพีซ พบว่า ปัจจุบันมีเรืออวนลากเถื่อนที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกกฎหมายมากกว่า 2,100 ลำ

บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวถึงข้อมูลงานวิจัยของกรมประมงที่เคยทำไว้ พบว่า เรืออวนลากเคยลากได้สัตว์น้ำประมาณ 265 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในปี 2504 ลดลงเหลือประมาณ 49 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในปี 2525 ปี 2534 ลดเหลือประมาณ 23 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และเหลือประมาณ 14 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในปี 2549 ข้อมูลยังพบว่า ตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา มีการจับสัตว์น้ำหน้าดินด้วยอวนลากเกินศักยภาพการผลิตของทะเล โดยที่ในปี 2525 ผลผลิตของประมงอวนลากอยู่ที่ 990,000 ตัน ซึ่งเกินกว่ากำลังการผลิตของทะเลกว่าร้อยละ 30 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเล

              “ปลาป่นที่มีคุณภาพดีจะต้องมีโปรตีนอย่างต่ำ 60 เปอร์เซ็นต์ จากการค้นคว้า พบว่า โรงงานปลาป่นในประเทศของเรามีอยู่อยู่ทั้งหมด 107 โรง อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ 80 โรง ในภาคกลางและภาคตะวันออก 27 โรง หลายโรงงาน ที่มุ่งผลิตปลาป่นเพื่อการส่งออก ซึ่งต้องใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ เพื่อให้ปลาป่นของตัวเองมีโปรตีนอย่างต่ำ 60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เป็นปลาป่นเกรดเอ เพราะเป็นความต้องการของตลาดและมีราคาสูง การนำเอาปลาเศรษฐกิจมาทำปลาป่นจะเป็นการเพิ่มโปรตีนในปลาป่น” บรรจงกล่าว

บรรจงกล่าวว่า ร้อยละ 80 ของปลาป่นส่วนใหญ่มาจากเศษปลาตามโรงงาน มีเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่ได้จากเรือลากอวน แต่เป็นร้อยละ 12 ที่มีการทำลายล้างสูง ส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงชายฝั่งใน 23 จังหวัดของประเทศ ที่มีหลายแสนครอบครัว กระทบต่อแหล่งอาหารโปรตีนธรรมชาติของผู้คนในสังคมไทย

สัตว์น้ำขนาดเล็กหาย กระทบระบบนิเวศในทะเลอย่างรุนแรง

การจับสัตว์น้ำขนาดเล็กด้วยเรืออวนลาก อวนรุน ไม่เพียงไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ แต่ยังหมายถึงการรบกวนระบบนิเวศในทะเลอย่างรุนแรง ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวถึงผลกระทบจากการหายไปของสัตว์น้ำขนาดเล็กที่มีต่อท้องทะเลว่า

             “สำหรับปลาเศรษฐกิจที่ถูกจับไปก่อนที่จะมีโอกาสขยายพันธุ์ ผลที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันนี้คือ ในอ่าวไทยมีปลาใหญ่ลดน้อยลง ปลาขนาดเล็ก เช่น ปลากระตัก ปลาสายไหม เพิ่มจำนวนขึ้นมาก เพราะไม่มีปลาใหญ่มากิน หมึกก็เช่นกัน เมื่อไม่มีปลาใหญ่มากินไข่หมึก กินลูกหมึก ทุกวันนี้ ในอ่าวไทยมีหมึกเพิ่มขึ้นมาก มองออกไปในทะเล มีเรือปั่นไฟจับหมึกอยู่เต็มอ่าวไทย บางคงอาจคิดว่าอย่างนี้ก็ดีสิ มีหมึกเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้ แต่จริงๆ ในเชิงนิเวศ การมีหมึกหรือปลาขนาดเล็กมาก ในขณะที่ปลาใหญ่ลดน้อยลง มันสะท้อนถึงการเสียสมดุลของระบบนิเวศ”

ดร.ศักดิ์อนันต์อธิบายเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ถูกกวาดไปกับเรืออวนลากเท่านั้น แต่สัตว์ทะเลอื่น ๆ ที่มีความสำคัญในเชิงนิเวศ ซึ่งหลายชนิดไม่มีการบันทึกไว้ในการศึกษาวิจัย และสัตว์หน้าดินอีกจำนวนมากที่ถูกกวาดเข้ามาในอวนลาก ซึ่งแทบจะไม่มีสัตว์น้ำอะไรหลุดรอดออกไปได้ ดังนั้นภาพแรกที่เห็นเมื่อเทสัตว์น้ำออกจากอวนลาก จึงเต็มไปด้วยโคลนและสัตว์ทะเลขนาดเล็ก อย่างดาวเปราะ เม่นทะเล ปลิงทะเล ปูขนาดเล็ก ไส้เดือนทะเล สัตว์กลุ่มกุ้ง ปู ชนิดเล็ก ๆ อีกหลากหลายชนิดที่อาศัยอยู่บริเวณหน้าดิน รวมถึงฟองน้ำติดขึ้นมาด้วย สัตว์เหล่านี้หลายชนิดเป็นอาหาร หลายชนิดเป็นที่หลบภัย เช่น ฟองน้ำ กัลปังหา โขดหิน โขดหอยใต้ทะเล

ความเสียหายที่รุนแรงที่สุดจากเรืออวนลาก คือการทำลายแหล่งที่เกิดที่หลบภัยของสัตว์น้ำ โขดหิน โขดหอย ฟองน้ำ กัลปังหา ปะการังน้ำลึก ในอ่าวไทย ถูกอวนลากกวาดล้างกลายเป็นพื้นโคลนโล่ง ๆ จนสัตว์น้ำไม่มีแหล่งวางไข่ หาอาหาร หรือหลบภัย ดร.ศักดิ์อนันต์กล่าวว่า หากเห็นภาพเก่า ๆ เมื่อสัก 30 ปีที่แล้วจะพบว่า ในถุงอวนลาก มีกัลปังหา แส้ทะเล โขดหอยใต้ทะเลติดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันภาพเหล่านี้ไม่มีอีกแล้ว โดยเฉพาะทางอ่าวไทย เพราะพื้นทะเลอ่าวไทยมีแต่โคลนหรือฟองน้ำ เนื่องจากฟองน้ำขยายพันธุ์ได้ง่าย

             “อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ทุกตารางนิ้วในอ่าวไทย ผ่านการถูกอวนลากกวาดมาแล้ว จนสัตว์น้ำไม่มีแหล่งที่เกิดที่อาศัย เพื่อเพิ่มประชากรทดแทนประชากรสัตว์น้ำดั้งเดิมได้เลย”

บรรจงและ ดร.ศักดิ์อนันต์ เห็นตรงกันว่า ทางแก้ปัญหาประการหนึ่ง คือการยกเลิกเรืออวนลาก อวนรุน และเรือที่ใช้เครื่องมือการทำประมงแบบทำลายล้างทั้งหมด

กรมประมง-เอกชน จับมือควบคุมแหล่งที่มาปลาเป็ด

ทางฟากกรมประมง โดย มาโนช รุ่งราตรี ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล ให้ข้อมูลกับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ทางกรมประมงมิได้นิ่งนอนใจ แต่ได้ออกมาตรการต่าง ๆ ในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง โดยมีทั้งมิติการฟื้นฟูทรัพยากรและมิติการควบคุมการทำการประมง เช่น มาตรการการห้ามทำการประมง, มาตรการการควบคุมเครื่องมือทำการประมง, มาตรการห้ามทำการประมงในช่วงปลาวางไข่และเลี้ยงตัวอ่อนหรือมาตรการปิดอ่าว, มาตรการควบคุมประสิทธิภาพการทำประมง เป็นต้น

มาโนชกล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมประมงพยายามผลักดันและส่งเสริมให้ชาวประมงใช้เครื่องมือประมงที่เหมาะสม โดยในปี 2556 กรมประมงจะส่งเสริมให้มีการขยายขนาดของตาอวนอวนลากเพื่อลดปริมาณการจับลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจ

ทางซีกอุตสาหกรรมปลาป่นและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์นำโดยซีพีเอฟ ได้ร่วมมือกับกรมประมงและ The International Fishmeal and Fish Oil Organization (IFFO) กำหนดแผนพัฒนาประมงทะเลไทยและสร้างมาตรฐานจัดหาแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทปลาป่นที่มาจากแหล่งและใช้เครื่องมือประมงที่ถูกต้อง ไม่สร้างผลกระทบต่อท้องทะเล โดยทางซีพีเอฟจะสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทปลาป่นภายในประเทศ ด้วยการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการโรงงานปลาป่น ด้วยการจ่ายเพิ่มอีกกิโลกรัมละ 3 บาท จากราคามาตรฐาน ให้แก่โรงงานปลาป่นที่ใช้วัตถุดิบปลาจากแหล่งที่มาที่ถูกต้อง มีเอกสารหลักฐานรับรอง และผ่านการตรวจสอบของกรมประมง ซึ่งได้นำร่องประกาศใช้อัตราพรีเมียมนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

เอ็นจีโอฉะกรมประมงไม่จริงใจแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม บรรจงวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาของกรมประมง ซึ่งเขามองว่า มาตรการของกรมประมงค่อนข้างล้าหลัง และอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมือง และกลุ่มธุรกิจประมง ทั้งประมงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการประมงชนิดต่าง ๆ

             “ยกตัวอย่างเมื่อกรมประมงมีนโยบายจะนิรโทษกรรมเรืออวนลากในปี 2555 ภาคประชาชนก็ตั้งคำถามสำคัญ ซึ่งกรมประมงก็ตอบไม่ได้คือ จะนิรโทษกรรมเรือกี่ลำ กรมประมงอ้างผลการศึกษาวิจัยดั้งเดิมว่า ในปี 2546 เคยมีการศึกษาวิจัยโดยองค์กรด้านอาหารและการเกษตร สหประชาชาติ ร่วมกับกรมประมงพบว่า ปริมาณการจับสัตว์น้ำของไทยเกินศักยภาพที่รองรับได้ไป 33 เปอร์เซ็นต์ แต่กรมประมงกลับตีความว่า จำนวนเรืออวนลากของประเทศไทย เกินศักยภาพที่ทรัพยากรจะรองรับได้ไป 33 เปอร์เซ็นต์

             “เมื่อได้ตัวเลขนี้ กรมประมงจึงนำตัวเลขเรือประมงที่มีอยู่ในขณะนั้น 7,968 ลำ ในอ่าวไทย 6,793 ลำ ในทะเลอันดามัน 1,175 ลำ มาเป็นตัวตั้ง และใช้บัญญัติไตรยางค์ง่ายๆ คำนวณออกมาว่า เรือประมงในอ่าวไทยควรมี 4,551 ลำ เมื่อรวมกับในทะเลอันดามันแล้ว ประเทศไทยควรจะมีเรืออวนลาก 5,693 ลำ และจากข้อมูลในปี 2552 พบว่า ประเทศไทยเรามีเรืออวนลากที่ได้รับอาชญาบัตรไปแล้ว 3,619 ลำ จึงสามารถให้อาชญาบัตรได้อีก 2,107 ลำ เมื่อถูกตั้งคำถามถึงมาตรการในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและการจัดการกับเครื่องมือที่ทำลายล้าง มาตรการเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น เช่น การเพิ่มขนาดตาอวน การบันทึกปูมเรือ การควบคุมตั้งแต่ตัวเรือจนถึงผู้รับซื้อจึงออกมา ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่การแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาแต่อย่างใด”

ด้านสงวนศักดิ์กล่าวว่า ต้องเข้าใจอาชีพการทำประมงว่า ชาวประมงจริง ๆ ไม่ได้ต้องการปลาเป็ด แต่ต้องการปลาเศรษฐกิจเพราะราคาดีกว่า แต่การทำประมงไม่ว่าด้วยเครื่องมืออะไร จะติดปลาใหญ่และเล็กขึ้นมาด้วย เมื่อได้มาแล้วชาวประมงก็จะทำการคัด ส่วนที่เหลือจากปลาเศรษฐกิจจึงเข้าโรงงานปลาป่น ชาวประมงจึงไม่ต้องการจับปลามาเข้าโรงปลาป่น สำหรับสงวนศักดิ์เห็นว่า กรมประมงจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย

อุตสาหกรรมปลาป่น (และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์) แม้จะเป็นปลายทางของวัตถุดิบ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งหมดได้ การออกกฎเกณฑ์ควบคุมแหล่งที่มาของปลาเป็ดจึงเป็นมาตรการที่ควรสนับสนุน แต่ยังต้องติดตามต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจังเพียงใด อย่างไรก็ตาม มาตรการการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการลงโทษอย่างเด็ดขาด กับเรือประมงที่ใช้เครื่องมือทำลายล้าง น่าจะเป็นหนทางการควบคุมตั้งแต่ต้นทางที่ดีที่สุด คำถามอยู่ที่ว่ารัฐจะมีความจริงใจหรือไม่ เพียงใด

 

ขอบคุณรูปภาพประกอบข่าวจาก Greenpeace

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: