อีไอเอ13โครงการฉลุย ประมูล2.2ล้านล.เริ่มตค.

9 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1415 ครั้ง

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการประชุมติดตามงานภายใต้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และจะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับโครงการติดตามความก้าวหน้าทุกเดือน ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมให้สามารถเร่งดำเนินการได้ทันที หลังจาก พ.ร.บ.กู้เงินฯ ผ่านการอนุมัติ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทำกรอบเวลาการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ กำหนดแผนประมูลก่อสร้าง เวนคืนที่ดิน และการใช้เงินแต่ละปีต่อไปได้

 

ซึ่งทุกโครงการหลังกฎหมายบังคับใช้แล้ว ก่อนการประมูลงานจะต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรี ทั้งหมดเป็นเพียงกรอบลงทุนที่กระทรวงการคลังเตรียมไว้เท่านั้น และทุกโครงการก็ต้องมีการทำอีไอเอ และจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

 

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ในที่ประชุมได้เชิญตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุม ด้วย เพื่อหารือถึงแนวทางการทำอีไอเอโครงการ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากการใช้เงินกู้ใน 7 ปี จะขึ้นอยู่กับการอนุมัติอีไอเอด้วยว่า เร็วหรือช้า เพื่อกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจน ไม่ให้แผนคลาดเคลื่อน เช่น ภายใน 90 วัน หรือ 120 วัน

 

 

             “แผนลงทุนมีโครงการที่ยังไม่ได้ทำอีไอเอ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าทางคู่ ซึ่งทางคู่บางสายได้ผ่านคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญแล้ว รอพิจารณาอีไอเอ เช่น สายจิระ-ขอนแก่น สายประจวบฯ-หัวหิน แต่น่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะเมื่อรู้เวลาทำอีไอเอชัดเจนจะสามารถออก พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินและประมูลก่อสร้างต่อไป” นายจุฬากล่าว

 

 

สำหรับรถไฟความเร็วสูงคาดว่า จะเสนออีไอเอเฟสแรกสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ปลายเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นภายใน 2-3 เดือนจะเป็นสายกรุงเทพฯ-โคราช, กรุงเทพฯ-หัวหิน คาดว่าจะเริ่มประมูลก่อสร้างในปี 2557 เป็นต้นไป ส่วนการคัดเลือกระบบจะเริ่มภายในปีนี้

 

นายจุฬากล่าวต่อว่า จากการจัดลำดับโครงการที่ผ่านอีไอเอ และพร้อมประมูลก่อสร้างในปี 2556 หลัง พ.ร.บ.กู้เงินฯ มีผลบังคับใช้ คาดว่าเริ่มเปิดประมูลได้ในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ มีประมาณ 13 โครงการหลัก มูลค่าลงทุนรวมกันประมาณ 334,552 ล้านบาท มีหน่วยงานต้นสังกัดที่รับผิดชอบแผนลงทุน 3 หน่วยงานหลัก คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 7 โครงการ, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 2 โครงการ และกรมทางหลวง 4 โครงการคือ สะพานข้ามทางรถไฟ 22 แห่ง งานปรับปรุงทาง ราง หมอน สะพาน และติดตั้งรั้ว รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) จะเข้าครม.เพื่อขออนุมัติโครงการปลายเดือนสิงหาคมนี้

 

สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) จะเสนอให้ สผ.รับทราบถึงการปรับเพิ่มสถานีจาก 24 สถานี เป็น 30 สถานี คาดว่าใช้เวลาไม่นานและทันประมูลปลายปีนี้, สายสีแดง (รังสิต-ธรรมศาสตร์), สายสีแดง (ตลิ่งชัน-ศาลายา) ที่อีไอเอผ่าน สามารถประมูลก่อสร้างได้ทันที สำหรับรถไฟฟ้าที่ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ แล้วจะเดินหน้าต่อไป แม้จะไม่ได้เงินกู้ใน 2 ล้านล้านบาท แต่ไม่ทำให้โครงการสะดุด โดยจะเปลี่ยนมาใช้เงินกู้ในประเทศแทน

 

นายจุฬากล่าวด้วยว่า จากการประชุมร่วมกับกรรมาธิการวิสามัญ เมื่อ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ผลการพิจารณาภาพรวม ลดวงเงินลงทุนอีก 11,538.25 ล้านบาท เช่น ลดค่าที่ปรึกษา 2,782.71 ล้านบาท จาก 44,373.48 ล้านบาท เหลือ 41,590.78 ล้านบาท, ค่าที่ดินเพิ่มขึ้น 7,205.41 ล้านบาท จาก 101,377.04 ล้านบาท เป็น 108,582.45 ล้านบาท มาจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) เนื่องจากตัดผ่านที่ดินในเมือง

 

ค่าก่อสร้างลดลง 15,155.71 ล้านบาท จาก 1,533,816.79 ล้านบาท เหลือ 1,518,661.08 ล้านบาท จากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ปรับรูปแบบเป็นโมโนเรล, ค่างานระบบรถไฟฟ้าลดลง 805.25 ล้านบาท จาก 298,400.92 ล้านบาท เหลือ 297,595.67 ล้านบาท จะนำไปรวมอยู่ในส่วนเผื่อเหลือเผื่อขาดหากในอนาคตมีโครงการที่ต้องปรับเพิ่มวงเงินตามค่าเค (ชดเชยค่างานก่อสร้าง)

 

นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ในปี 2556 มีงานประมูลภายใต้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท มูลค่ารวม 139,600 ล้านบาท แยกเป็นบูรณะทางสายหลัก 235 โครงการ วงเงิน 31,600 ล้านบาท ขยาย 4 ช่องจราจร 6 สายทาง 18,000 ล้านบาท มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช 84,600 ล้านบาท สะพานข้ามทางรถไฟ 22 แห่ง 5,400 ล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: