พลังชาวบ้านอุบลฯ ฟ้องศาลปกครอง หยุดโรงไฟฟ้าชีวมวล หวั่นก่อมลพิษ-แย่งน้ำ

สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี 9 พ.ย. 2556


สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี เปิดเวทีสะท้อน “ชัยชนะยกแรก” ชาวบ้านคำสร้างไชย ต่อโรงไฟฟ้าชีวมวลบริษัทบัวสมหมายไปโอแมส จำกัด เพื่อป้องคุณภาพชีวิตที่รัฐหมกเม็ดอ้างความเจริญ แต่ปล่อยชาวบ้านเผชิญชะตากรรมรับผลกระทบกันเอง

ที่ศาลาอาศรมสร่างโศก บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยูเสดประเทศไทย (USAID) เปิดเวทีเสวนาหยุดโรงไฟฟ้าคำสร้างไชยชัยชนะประชาชน โดยเชิญนักวิชาการ แกนนำชาวบ้าน สื่อมวลชน ร่วมวิเคราะห์ถอดบทเรียนการหยุดยั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ชาวบ้านร่วมสู้มานานกว่า 6 ปี

หลังจากวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองจังหวัดอุบลราชธานี ตัดสินสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลบริษัท บัวสมหมายไปโอแมสจำกัด ฐานไม่ทำตามกระบวนการรับฟังความเห็นให้ครอบคลุมครบถ้วน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2548 ทำให้บริษัทต้องหยุดการก่อสร้างและการดำเนินการโครงการดังกล่าวไว้ชั่วคราว

นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการ ถามถึงจุดประกายที่ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกับนายบุญโฮม วงค์สีกุล อดีตผู้ใหญ่บ้านใหม่สารภี ซึ่งอยู่ใกล้กับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ มีอะไรเป็นแรงจูงใจสำคัญ เพราะภาครัฐบอกโรงไฟฟ้ามาสร้างความเจริญให้หมู่บ้านและชาวบ้านจะได้ใช้ไฟฟ้าฟรีในบางส่วนด้วย

นายบุญโฮมเล่าว่า พื้นที่ 5 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่รายรอบโรงไฟฟ้า มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าน้ำซับที่มีปริมาณน้ำใช้ทำทำเกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี เพียงแค่โรงงานลงมือขุดบ่อใช้กักเก็บน้ำไว้หล่อเลี้ยงโรงไฟฟ้า ขนาดกว้าง 15 ไร่ลึกกว่า 10 เมตร ชาวบ้านก็รับรู้ถึงผลกระทบ เพราะน้ำที่เคยมีใช้เพาะปลูกพืชไร่ พืชสวน ทำนาหน้าแล้งได้ไหลไปรวมกันอยู่ในบ่อของโรงไฟฟ้า ชาวบ้านก็ไม่มีน้ำใช้หล่อเลี้ยงผลผลิต จึงเป็นข้อหวาดวิตกกังวลแรกของชาวบ้านที่วิถีชีวิตได้เริ่มเปลี่ยนไป

ประการต่อมาคือ หลังจากชาวบ้านรวมกลุ่มศึกษาผลกระทบร่วมกับนักวิชาการ ทำให้ทราบถึงกำลังการผลิตและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากการเผาแกลบ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสร้างพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้า

            “การเผาแกลบวันละกว่า 30 ตัน ชาวบ้านคงอยู่ไม่ได้ เพราะต้องมารับฝุ่นละอองที่ปลิวมาในอากาศ รวมทั้งฝุ่นละอองที่เกิดจากการขนถ่ายแกลบเข้าสู่โรงงานตลอดทั้งวันทั้งคืน โดยบริษัทบอกว่าจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ไม่มีผลกระทบแน่นอน”

แต่เมื่อไปดูโรงไฟฟ้าที่บริษัทแห่งนี้สร้างขึ้นที่จ.ร้อยเอ็ด พบความจริงตามบ้านเรือนมีแต่ฝุ่นละอองขี้เถ้าของแกลบ ต้นไม้ของชาวบ้านตายหมด จึงเริ่มต้นกลับมารวบรวมเพื่อนบ้านในเขตที่จะได้รับผลกระทบ 5 หมู่บ้านกว่า 2,000 คน ซึ่งมีคนเห็นด้วยกับการคัดค้านกว่า 80 เปอร์เซนต์ บางส่วนไม่ได้มาเดินขบวน เพราะต้องทำมาหากิน แต่ช่วยเรื่องปัจจัยใช้เคลื่อนไหว

นายบุญโฮมยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองตัดสินเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวล บริษัท บัวสมหมายไปโอแมส จำกัด นอกจากความดีใจแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านรู้สึกมีที่พึ่งและได้รับความเป็นธรรม ส่วนยกที่สองที่บริษัทกำลังยื่นอุทธรณ์ชาวบ้านก็ยังสู้ต่ออีก

            “มั่นใจศาลแรกเราชนะแล้ว ศาลสองต้องชนะอีก เพราะหลักการเรื่องราวก็ยังเป็นละครตัวเดิม ปัจจุบันชาวบ้านทราบถึงอันตรายแล้ว จึงขอให้ทุกชุมชนที่จะมีโรงไฟฟ้าสร้างขึ้น ให้พ่อแม่พี่น้องช่วยกันผลักดันออกห่างจากชุมชน อย่างน้อยอย่าให้ต่ำกว่าสิบกิโลเมตร”

ผู้ดำเนินรายการถาม น.ส.สดใส สร่างโศก แกนนำชาวบ้านอีกคน ที่มีส่วนสำคัญในการรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากแหล่งต่าง ๆ มาให้ความรู้ระหว่างกัน มีการวางยุทธศาสตร์ในการรวบรวมชาวบ้านให้มาร่วมกันคัดค้านอย่างไรและได้รับทุนจากใคร

น.ส.สดใสระบุว่า ปกติที่อาศรมสร่างโศกเป็นจุดรวมความรู้ของเหล่าเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน เมื่อทราบมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าในหมู่บ้าน จึงเริ่มชวนชาวบ้านมาร่วมประชุม เพื่อสรุปผลดีผลเสีย เพราะขณะนั้นชาวบ้านยังแตกเป็นสองกลุ่มคือ มีชาวบ้านที่เห็นดีกับการมีโรงไฟฟ้า เพราะเชื่อตามที่ทางการบอกจะเป็นการพัฒนาหมู่บ้านให้ดีขึ้น

            “จึงต้องลงพื้นที่ในจ.ร้อยเอ็ด ไปถ่ายทำเป็นหนังสั้น ให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าเล่าความเป็นอยู่ ตอนแรกชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ เพราะไม่รู้ว่าเราเป็นใคร แต่เมื่อบอกจะมีโรงไฟฟ้าจากบริษัทเดียวกันไปสร้างที่จ.อุบลราชธานี ชาวบ้านยินดีเล่าความทุกข์ที่ได้รับมานานนับสิบปีให้ฟังอย่างหมดเปลือก”

เมื่อนำหนังสั้นที่ทำขึ้นเองมาฉายให้ชาวบ้าน ตามหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบดู ชาวบ้านก็เริ่มเห็นด้วยกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยไม่ได้เกิดแค่คนรุ่นนี้ แต่จะเกิดกับคนรุ่นลูก คนรุ่นหลาน พร้อมยกบทเรียนของเขื่อนปากมูลที่ทำลายวิถีชีวิตของผู้คนตามสองฝั่งแม่น้ำ

            “ก่อนเอาหนังไปฉายมีชาวบ้านเข้าร่วมคัดค้านหลักสิบ แต่พอได้ดูหนังคนเข้าร่วมเป็นหลักร้อยหลักพัน และเริ่มมีการยื่นหนังสือ ให้ทบทวนการออกใบอนุญาตก่อสร้างตั้งแต่ระดับ อบต. อำเภอ จังหวัด จนถึงกระทรวง แต่ไม่ได้รับความสนใจ สุดท้ายชาวบ้านต้องขอพึ่งบารมีของศาลปกครอง จนได้รับชัยชนะ” การต่อสู้ของชาวบ้านใช้กฎหมายหลายฉบับทั้ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ร.บ.การให้ข้อมูลข่าวสาร กับผู้ได้รับผลกระทบ

ตลอด 6 ปีของการต่อสู้หลายคนเหนื่อย หลายคนท้อ แต่ต้องสู้ต่อ เพื่อไม่ให้เรื่องเงียบ ตัวเองก็เหนื่อย แต่คิดจะทำอย่างไรให้ชุมชนมีความสุข เพราะเมื่อมีโรงไฟฟ้ามาชุมชนขัดแย้งไม่มองหน้ากัน ห้ามกระทั่งลูกหลานมาหากัน เมื่อไม่มีโรงไฟฟ้าแล้วทุกคนคงหันหน้ามาหากันอีก

ขณะที่สื่อมวลชนอิสระ นายพงษ์สันต์ เตชะเสน ตอบคำถามผู้ดำเนินรายการถึงการเข้ามาจับข่าวนี้ว่า ได้รับทราบข้อมูลความขัดแย้งของชาวบ้านกับโรงไฟฟ้าจากแกนนำชาวบ้าน และทราบถึงการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างกลุ่มทุนกับชาวบ้าน เพราะก่อนจะมีโรงไฟฟ้าของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด จังหวัดก็มีโรงไฟฟ้าของบริษัทก้าวหน้า ที่อ.สำโรง ซึ่งชาวบ้านประสบปัญหาทั้งน้ำเสียและการขาดแคลนน้ำทำเกษตรกรรม

และชุมชนคำสร้างไชยโชคดีที่มีแกนนำไม่ยอมให้กลุ่มทุนครอบงำ มีการเคลื่อนไหว สืบค้นข้อมูลประสานกับสื่อมวลชนใช้นำเสนออย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีความเชื่อถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนต่าง ๆ แม้ภาครัฐจะใช้คำว่าต้องพัฒนาเศรษฐกิจ โดยต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้า แต่เชื่อว่าความเจริญที่เกิดขึ้น ชุมชนที่ตั้งของโรงไฟฟ้าควรได้รับก่อน โดยชุมชนต้องมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าเดิม ไม่ใช่ดีแต่กลุ่มผู้ลงทุน

ความแตกต่างระหว่างโรงไฟฟ้าชีวมวลคำสร้างไชย กับโรงไฟฟ้าที่อ.สำโรง เพราะชาวบ้านโรงไฟฟ้าชีวมวลมีความเข้มแข็งกว่า พร้อมลุกขึ้นสู้เพื่อชุมชนของตนเอง กล้าบอกกล่าวถึงผลกระทบในวิถีชีวิต สื่อก็เป็นเพียงผู้รับสารจากชาวบ้านแล้วส่งต่อไปสู่ระดับจังหวัด ระดับประเทศ และไปสู่ทั่วโลกให้ทราบว่า ชาวบ้านคำสร้างไชยกำลังมีปัญหา

สำหรับที่มีบางคนมองว่า สื่ออย่างเราไม่เป็นกลาง หรือเอาใจชาวบ้าน ขวางความเจริญใช้พัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งที่ความจริงเห็นด้วยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่คำว่าพัฒนาคือวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องดีขึ้นด้วย ไม่ใช่บอกว่าพัฒนาแล้วชีวิตชาวบ้านต้องล่มสลาย นาหน้าแล้งทำไม่ได้ แล้วชาวบ้านจะเอาอะไรมาเลี้ยงดูครอบครัว เพราะการเพาะปลูกคือวิถีชีวิตของชาวบ้าน

            “หากให้คิดแบบเป็นกลาง ก่อนที่โครงการต่างๆ จะเข้ามาอยู่ในบ้านของเขา ต้องถามเจ้าของบ้านก่อน ต้องการอย่างไร ไม่ใช่หักหาญน้ำใจแล้วใช้คำสวยหรูว่า พัฒนาหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างที่รัฐชอบใช้กัน ถ้ามองย้อนไปกรณียายไฮ ขันจันทา สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า ทำให้ครอบครัวแย่ลง ซึ่งไม่ต่างจากชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าที่จ.ร้อยเอ็ด บ้านแต่ละหลังต้องปิดประตูหน้าต่างทั้งวันทั้งคืน เพราะทนรับกับฝุ่นละอองไม่ไหว รัฐเคยไปช่วยพวกเขาหรือไม่”

            “การลงทุนต้องมั่นใจว่าไม่มีผลกระทบแน่นอน ไม่ใช่แค่คาดว่าจะไม่มีผลกระทบ เพราะเรื่องนี้รัฐได้ประโยชน์ เจ้าของโรงงานได้ประโยชน์ แต่ชาวบ้านเสียประโยชน์ จึงต้องสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้าน”

นายพงษ์สันต์ระบุต่อว่า เมื่อนำเสนอข่าวการเคลื่อนไหวของชาวบ้านคำสร้างไชย ก็มีสื่ออื่นสนใจเข้ามาทำด้วย ทำให้เกิดการขยายตัวของข้อมูล ส่งผลให้คนระดับอำเภอ จังหวัด กระทรวง ให้ความสนใจ กลายเป็นปัญหาระดับชาติ ส่วนหนึ่งคือการปกป้องชาวบ้าน เพราะไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงกับแกนนำหรือชาวบ้านเหมือนหลายจังหวัด ที่มีการตัดสินปัญหาด้วยการส่งมือปืนมาฆ่าแกนนำ

เมื่อเรื่องราวกลายเป็นเรื่องเปิดที่สังคมสนใจ ผู้ลงมือต้องคิดหนัก จึงเป็นกระบวนการกดดันผู้คิดใช้ความรุนแรงให้คิดหนัก แต่การนำเสนอข่าว ก็ต้องได้การยอมรับจากคนฝ่ายอื่นด้วย สื่อก็ต้องหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาใช้อ้างอิง ซึ่งกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลคำสร้างไชยได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าหลายท่าน ทั้ง นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ จากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต ใช้ยืนยันผลกระทบหากมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่

ส่วนคำถามก่อนทำข่าวคิดว่า ชาวบ้านจะชนะหรือไม่นั้น ความจริงคือยุทธศาสตร์ที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มเข้ามาจับข่าว เนื่องจากชาวบ้านไม่เคยแพ้ เพราะจะมีความรู้มากขึ้น เช่นเดียวกับชาวบ้านปากมูล ปัจจุบันถ้าถามเขื่อนปากมูลส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร ชาวบ้านตอบได้หมด หากเกิดการเรียนรู้แบบนี้ โครงการที่รัฐนำเข้ามาต้องตอบคำถามให้ได้ก่อน

            “สิ่งที่ฝากไว้คือ ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น และชาวบ้านไม่ต้องเสียเวลาสู้ถึง 6 ปี ถ้าเลือกคนที่มองประโยชน์ของชุมชนเป็นตัวแทน ปัญหาจะจบอยู่ตั้งแต่ขั้นตอนแรก เพราะไม่ผ่านความเห็นชอบของท้องถิ่นก็ทำอะไรไม่ได้” นายพงษ์สันต์กล่าว

ทางด้านนายสุรสม กฤษณะจูฑะ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งมีบทบาทช่วยเหลือการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกล่าวว่า การเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ต้องเข้มแข็งก่อน ช่วยตนเองก่อน ถ้าไม่มีพลังก็ทำอะไรไม่ได้ ชัยชนะของชาวบ้านครั้งนี้ สะท้อนถึงสิทธิชุมชนที่ชาวบ้านใช้เป็นเครื่องมือดูแลทรัพยากรที่ชาวบ้านใช้ โดยสังคมที่พัฒนาแล้ว ต้องเป็นสังคมที่มีกติกา ไม่ใช่พัฒนาไปเรื่อย ๆ แต่สังคมดีคือ ต้องดูแลคนทุกคนให้อยู่ในกติกาเดียวกัน แสวงหาความสุขร่วมกัน ไม่ทำลายสิทธิคนอื่น แต่ที่ผ่านมานายทุนชอบหลีกเลี่ยงกติกา เช่น ยื่นขออนุญาตผลิตไฟฟ้า 9.9 เมกกะวัตต์ เมื่อไม่ถึง 10 เมกกะวัตต์ ก็ไม่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ผิดกฏหมาย แต่เป็นการเลี่ยงเพื่อละเมิดกติกา

ต้องไม่ลืมว่า วันนี้ประเทศไทยสว่างขึ้น เปิดให้มองเห็นชัดขึ้น ไม่เหมือนกรณีเขื่อนปากมูลเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ขณะนั้นสำนึกของชาวบ้านไม่ใช่แค่กลัวจะมีเขื่อน แต่รู้จริงว่าถ้ามีโรงไฟฟ้าแล้วจะมีผลกระทบอะไร มองภาพรวมการพัฒนาระดับประเทศขณะนี้ ผิดพลาดตรงไม่ทำตามกติกา จะสร้างก็เริ่มพยายามทำลายกติกา

            “จึงเกิดการต่อสู้แบบมึงสร้าง กูเผา แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลคำสร้างไชยสามารถจบลงด้วยความสงบ หกปีที่ต่อสู้ จึงเป็นระยะเวลาไม่มาก เพราะที่อื่นสี่สิบปี ห้าสิบปีก็ยังสู้ไม่เสร็จ ขออย่าท้อ อย่าถอย ไม่ว่าจะสิบปี ยี่สิบปี ชัยชนะยังรออยู่ เพราะตอนนี้สังคมไทยเปิดให้มีการต่อสู้ภายใต้เหตุผลแล้ว” นายสุรสมกล่าว

ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านบอกโครงการโรงไฟฟ้ามาแบบไม่ทันให้ตั้งตัว รวบรัดทำประชาคม อาศัยช่วงคนรู้ไม่อยู่เอาคนแก่ไปรับฟังและลงมติเลย เมื่อมีเสียงคัดค้านก็เสนอเงินให้นำไปใช้สาธารณกุศล 30,000 บาท แต่โรงเรียนไม่เอา เพราะโรงไฟฟ้าจะมาเผาชุมชนให้เดือดร้อน

ขณะที่นายพล ศิลปะชาติ รองนายกเทศมนตรีตำบลทาช้าง กล่าวว่า เป็นผู้บริหารคนละชุดกับผู้บริหารชุดเก่า และไม่เคยเห็นด้วยกับโรงไฟฟ้า เพราะมีผลกระทบมาก ทั้งฝุ่นละออง มลพิษทางเสียง เมื่อเป็นผู้บริหารท้องถิ่นต้องดูแลพี่น้อง วันนี้ผู้บริหารเห็นด้วยกับชาวบ้าน ถ้าบริษัทโรงไฟฟ้ายื่นอุทธรณ์ก็จะร่วมต่อสู้กับชาวบ้าน เพราะถ้าชุมชนไม่เข้มแข็งการพัฒนาก็ไม่เดินหน้า

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่สร้าง สุขแชนแนล วีเคเบิลทีวี โสภณเคเบิลทีวี ราชธานีเคเบิลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHz อุบลราชธานี

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: