มายาคติของความเป็น กลาง

5 ก.ย. 2556


           โรงเรียนนักข่าว TCIJ เพิ่งจะจบการเรียนรู้ในชั้นเรียน  ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับมายาคติชุดต่างๆ  เช่น ประเด็นความเป็นชาติ สถาบัน  การพัฒนา  ความยุติธรรม  ศีลธรรม  ฯ  โดยจุดประสงค์ของหลักสูตรนี้คือ  เพื่อให้นักข่าวหรือคนทำงานสื่อสาธารณะ  รู้เท่าทัน”ความไม่รู้” และ”อคติ” ของตน  ซึ่งอาจจะแฝงฝังมากับการศึกษา  การบ่มเพาะในวิชาชีพ  รวมถึงการซึมซับรับรู้ทางสังคม  เพราะเชื่อว่า  คนทำงานสื่อควรมีคุณสมบัติด้านวิธีคิดเชิงวิเคราะห์  หรือ system thinking

            นักข่าวใหม่คนหนึ่งที่เข้าร่วมโรงเรียนนักข่าว TCIJ  ตั้งคำถามแย้งกลับต่อหลักสูตรนี้ว่า  เรากำลังเอามายาคติชุดใหม่มาแทนที่มายาคติชุดเก่าหรือเปล่า ?  ซึ่งทำให้อยากนำมาตอบดังๆในที่นี้ด้วย

            อันที่จริง ถ้าเราเริ่มรู้สึกหรือรู้คิดว่า  อ้ายที่วิทยากรกำลังบรรยายอยู่นี้ก็เป็นมายาคติอีกชุดหนึ่งแหละวะ  มายาคติชุดนั้นก็จะอ่อนกำลังลง  จนทำให้เราเริ่มมีสายตาที่จะมองมายาคตินั้นๆ ด้วย critical mind มากขึ้น จนแม้แต่เริ่มอยากคิดท้าทายหรือตั้งคำถามต่อความเชื่อ  คำสั่งสอน  หรือค่านิยมต่างๆอีกมาก  ไปจนถึงสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า“การถอดรื้อ” ความคิดและความรู้ชุดเก่า  (deconstruct และreconstruct ) ไปสู่การอธิบายมันเสียใหม่  คิดใหม่  สร้างความรู้ใหม่

            แต่จริงๆ ดิฉันออกจะสงสัยคำถามของน้องนักข่าวใหม่ว่า  มาจากมายาคติอีกอย่างหนึ่งอันว่าด้วย นักข่าวต้อง”เป็นกลาง”  ซึ่งสื่อมวลชนไทยมักอ้างกันติดปาก จนแม้ในนาทีที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงสลับซับซ้อน  อาจจะเป็นด้วยเชื่อโดยสัตย์จริงว่า  ความเป็นกลางคือการเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พูดเท่าๆกัน  แม้แต่ลงรูปผู้นำทางการเมือง  ก็ต้องนับจำนวนให้เท่าๆกันและเป็นรูปที่ดูดีพอๆกัน (ฮา)  ความเป็นกลางแบบนี้ไม่มีมิติอะไรมากไปกว่าการ”หารสอง”ตามหลักคณิตศาสตร์   ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมวลชนไทยมีส่วนสร้างธรรมเนียมความเป็นกลางแบบนี้  มาตั้งแต่ยุคการแบ่งฝักฝ่ายเป็นซ้าย-ขวา  เมื่อฝ่ายซ้ายถูกตราหน้าว่าหนักแผ่นดิน  และฝ่ายขวาถูกหาว่าไดโนเสาร์เต่าล้านปี  คนจำนวนมากรวมถึงสื่อมวลชน  จึงต้องอยู่รอดที่ความ”เป็นกลาง”  อันเป็นเส้นแบ่งครึ่งที่ปลอดภัยที่สุด 

            วิธีคิดแบบจับคู่ตรงข้ามและศาสตร์แยกส่วนที่เป็นฐานคิดของความรู้สมัยใหม่ก็มีส่วนไม่น้อย  เช่น การแยก subject กับ object  การมองความรู้เป็นชุดวิชาต่างๆที่ไม่เกี่ยวข้องกัน  เป็นต้น  ทำให้มองไม่เห็นองค์รวมหรือความสัมพันธ์ของสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่นๆทั้งมวล  มัชฌิมาปฏิปทาในทางพุทธ  ก็ถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าคือ ”ทางสายกลาง”หรือความพอดี  ไม่ซ้ายไม่ขวาไม่มากไม่น้อย  ซึ่งที่จริงแล้ว มัชฌิมาปฏิปทามีความหายที่เป็นมรรค หรือวิถีทางหรือวิธีการที่มีความเกี่ยวเนื่องแยกไม่ออกจากทุกข์ สมุหทัย นิโรธ  หมายความว่าเมื่อเราเข้าใจตัวปัญหาหรือทุกข์  ได้คิดโดยแยบคาย แยกแยะเหตุปัจจัยอย่างรอบด้านแล้ว  จึงจัดวางท่าทีและการกระทำที่เหมาะสมต่อทุกข์หรือเรื่องนั้นๆได้อย่างถูกต้อง  นี่คือทางสายกลางที่แท้จริง

            น่าสนใจที่ภาษาอังกฤษไม่มีศัพท์คำนี้  มีก็แต่”ความเป็นธรรม”  หรือ Justice  ความเป็นธรรมจะเกิดมีได้  ก็โดยที่คนส่วนใหญ่หรือสังคม  มีเครื่องมือหรือกติกาที่ใช้กำกับความเป็นธรรมนั้นด้วย  ในสังคมฝรั่งจึงใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสร้างความเป็นธรรม  โดยการทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ไม่เลือกปฏิบติแก่ใคร  แต่ในบางสังคม  กติกากำกับความเป็นธรรม  อาจเป็นมติสาธารณะหรือเสียงข้างมาก

            มนตราว่าด้วยความเป็นกลางของผู้มีอาชีพหรือบทบาทต่อสาธารณะ  จึงเรียกร้องความเข้าใจที่ลุ่มลึกมากไปกว่าความเป็นกลางแบบหารสอง  โดยเฉพาะสื่อมวลชน  ที่ต้องรู้เท่าทันตัวเองเสียก่อนว่าตัว”ไม่รู้อะไร”ด้วยการเปิดใจเปิดสมอง  ยอมรับข้อมูลความรู้ที่พ้นไปจากความเคยชินและความเข้าใจแบบเดิมๆ 

            และอย่างน้อยที่สุด  ต้องตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ความเป็นข่าวให้ได้ว่า  อะไรบ้างที่ตาเราไม่ได้เห็นหูเราไม่ได้ยิน  นั่นแหละ  จึงจะ”ทำความจริงให้ปรากฎ”ได้  โดยที่ความจริงนั้นจะไม่ใช่ความจริงแบบ ใคร ทำอะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน...อีกต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: