หวั่นม็อบยืดเยื้อทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ระบุไม่อยากให้วุ่นวาย-กระทบปากท้อง

เรื่อง : ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ ขอบคุณภาพประกอบข่าว The Nation คมชัดลึก เดลินิวส์ โพสต์ทูเดย์ 8 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1639 ครั้ง

 

หลังจากรัฐบาลผลักดันกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคม 2556 คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปีพ.ศ.2557 ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พร้อมกันนั้นรัฐบาลประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคง ในพื้นที่ 3 เขตของกรุงเทพมหานคร คือ เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และมีการประกาศปิดถนนหลายสายในพื้นที่ดังกล่าว สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนจำนวนมากว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจต่างวิตกกังวลว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมและภาพลักษณ์ของประเทศอีกครั้ง เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นมาชุมนุมเพื่อคัดค้านการเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 7 สิงหาคม

ม.หอการค้าเผยดัชนีเศรษฐกิจไทยตกต่ำสุดในรอบปี

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงถึงข้อมูลการพยากรณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในขณะนี้ โดยระบุว่า สถานการณ์การเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา โดยการชุมนุมครั้งนี้ เชื่อว่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหากการชุมนุมมีระยะเวลายาวนาน ย่อมส่งผลกระทบต่อจีดีพีที่จะลดลง โดยจากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม ถือว่าต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา คืออยู่ที่ 80.3 เท่านั้น และยังจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย เนื่องจากประชาชนมีความกังวลต่อสถานการณ์บ้านเมือง ที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ดร.ธนวรรธน์ระบุตัวเลขว่า หากการชุมนุมมีระยะเวลา 1 เดือน อาจจะส่งผลให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่จะ ลดลง 0.1 - 0.2 เปอร์เซนต์ มาเป็นขยายตัว 3.3 - 3.8 เปอร์เซนต์ และส่งผลกระทบโดยรวมต่อระบบเศรษฐกิจให้สูญเสียเม็ดเงินประมาณ 2.1-3.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว 1-2 หมื่นล้านบาท การบริโภค 1-1.6 หมื่นล้านบาท และเกิดจากการลงทุน 1-2 พันล้านบาท แต่หากยืดเยื้อออกไปจนถึง 3 เดือน อาจมีผลกระทบต่อจีดีพีให้ลดลง 0.3-0.5 เปอร์เซนต์ โดยเหลือขยายตัวในอัตรา 3.0-3.5 เปอร์เซนต์ และจะมีผลกระทบโดยรวมต่อระบบเศรษฐกิจ ที่จะทำให้เม็ดเงินสูญไปประมาณ 70,000-100,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว 4-5 หมื่นล้านบาท ต่อภาคบริโภค 2-3 หมื่นล้านบาท และต่อการลงทุน 1-2 หมื่นล้านบาท

เชื่อเศรษฐกิจยังโตได้ ถ้ารัฐบาลแก้ไขปัญหาเร็ว

สำหรับผลสำรวจทัศนคติต่อสถานการณ์ทางการเมืองพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน โดย 33.8 เปอร์เซนต์ มีความกังวลระดับปานกลาง ขณะที่ 28.7 เปอร์เซนต์ ระบุว่า มีความกังวลมากที่สุด ส่วนเหตุผลที่รู้สึกมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมือง ประชาชน 24.1 เปอร์เซนต์ ระบุว่า เป็นเพราะกลัวสถานการณ์มีความรุนแรง รองลงมา 21.3 เปอร์เซนต์  กลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชน ในขณะที่คำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายส่วนตัวประชาชน 40.2 เปอร์เซนต์ เห็นว่าน่าจะกระทบในระดับปานกลาง 17.8 เปอร์เซนต์ ระบุว่า กระทบน้อย และในคำถามที่ว่า มีความเห็นอย่างไรต่อการชุมนุมครั้งนี้ ประชาชน 30.4 เปอร์เซนต์ กล่าวว่า เห็นว่าทำได้ และไม่มีใครเดือดร้อน 29.6 เปอร์เซนต์ ระบุว่าไม่ควรทำเลย และเสนอแนะว่า ทุกฝ่ายควรหันหน้ามาคุยกันเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน

              “จากผลสำรวจสะท้อนว่า ประชาชนมีความกังวลมากที่สุด ในเรื่องของสถานการณ์การเมือง โดยมีตัวเลขดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองนั้นอยู่ที่ 65.3 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 25 ปี ขณะเดียวกันการลงทุนของเอสเอ็มอีก็ชะลอตัว ส่งผลให้ดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนอยู่ในระดับ 80.2 ต่ำที่สุดในรอบ 10 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 97.9 ต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภค และภาคการท่องเที่ยวด้วย เพราะคนไทยไม่อยากท่องเที่ยว จากข่าวความวุ่นวายทางการเมือง” ดร.ธนวรรธ์กล่าว

อย่างไรก็ตามโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ในระดับ 3.5-4 เปอร์เซนต์ ยังคงมีอยู่ แต่ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์การชุมนุมไม่ให้ยืดเยื้อออกไปนานกว่า 1 เดือนหรือไม่ เพราะหากการชุมนุมจบเร็วการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็มีโอกาสเป็นไปได้

การเมืองส่งผลค่าบาทอ่อนตัว ธปท.เตือนธุรกิจจับตาใกล้ชิด

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยระบุว่า หากพิจารณาสถานการณ์ในขณะนี้ หากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อออกไป เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อออกมาไปย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน ทั้งนี้ผลกระทบที่เห็นได้จากสถานการณ์ในประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมืองในขณะนี้ คือการอ่อนตัวของค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นในระยะสั้น เพราะสถานการณ์ในต่างประเทศ เป็นประเด็นที่จะต้องติดตามและความไม่แน่นอนหลายด้าน ซึ่งขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งสัญญาณให้ภาคธุรกิจเตรียมการรองรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามเตรียมการไว้เช่นกัน เช่น ด้านระหว่างประเทศก็พยายามดูงบดุลระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นดุลชำระเงิน เงินทุนสำรองฯ นโยบายดอกเบี้ย นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน รวมไปถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่ต้องพยายามทำให้แข็งแกร่งรองรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้” นายประสารกล่าว และว่า สิ่งที่ทุกคนจะต้องคำนึงถึงคือประโยชน์ของประเทศ เพราะประเทศไทยยังมีโจทย์อื่นอีกมากที่จะต้องร่วมกันแก้ไข จึงไม่ควรที่จะมาสร้างอุปสรรคกันขึ้นเอง เพราะจะทำให้ประเทศไทยมีปัญหาได้

กรอ.หวั่นญี่ปุ่นขยายฐานลงทุน

เช่นเดียวกับภาคเอกชน ที่เตรียมวางแผนรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการชุมนุมนี้เช่นกัน โดยได้เปิดประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในช่วงก่อนการชุมนุม โดย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงว่า การชุมนุมจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันก็ยังไม่พบว่า จะหาทางออกทางการเมืองได้อย่างไร แต่อย่างไรก็ตามภาคเอกชนอยากให้การชุมนุมเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไป ธุรกิจการค้าจะต้องไม่หยุดชะงัก เพราะการพัฒนาการค้าและการลงทุนของไทยที่มีศักยภาพในการพัฒนาได้อีกมาก ซึ่งจึงอยากให้ทุกฝ่ายคำนึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

                “สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความเป็นห่วงเรื่องของสถานการณ์บ้านเมือง ผลกระทบทางการเมืองมาตั้งแต่เดือนเมษายานแล้ว โดยเฉพาะเจโทร (องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น) เองก็แสดงความเป็นห่วงเรื่องในประเทศไทยเช่นกัน เราก็ได้แต่หวังว่า ทุกฝ่ายจะเร่งหาแนวทางเพื่อคลี่คลายปัญหาการเมืองไปได้อย่างเร็วที่สุด เพราะภาคเอกชนต้องการเห็นการเดินหน้าของเศรษฐกิจ ไม่ต้องการให้เกิดภาวะชะงัก ขณะเดียวกัน อยากให้รัฐบาลเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทที่จะใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้วย เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนของต่างชาติ ที่จะให้ความเชี่อมั่น เพราะหากช้า ก็จะเกิดการย้ายฐานการผลิตออกไป แม้ว่าปัจจุบันยังคงมีความเชื่อมั่น และยังไม่ได้ย้ายฐาน แต่ก็ต้องระมัดระวังและเร่งสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้น” นายพยุงศักดิ์กล่าว

รัฐบาลยันเจโทรยังมั่นใจเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตามรัฐบาลเปิดเผยผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยครึ่งแรกของปี 2556 โดย คณะรัฐมนตรีรับทราบผลในการประชุม ครม.โดยผลสำรวจดังกล่าวจัดทำโดยผู้แทนองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ระบุว่า นักลงทุนของญี่ปุ่นมองว่า สภาพธุรกิจของไทยโดยรวมในครึ่งปีแรก ยังอยู่ในทิศทางที่ดีในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกเว้น กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนครึ่งปีหลังมองว่า ยังปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ดีน้อยกว่าปี 2555

สำหรับการขยายฐานการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้าน นักลงทุนญี่ปุ่นตัดสินใจจะขยายฐานการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้าน 34 เปอร์เซนต์ อยู่ในช่วงตัดสินใจ 24 เปอร์เซนต์ ไม่ตัดสินใจขยายฐานการลงทุน 42 เปอร์เซนต์ โดยประเทศที่เป็นเป้าหมายของการขยายฐานอุตสาหกรรมของนักลงทุนญี่ปุ่น อันดับหนึ่งคือประเทศอินโดนีเซีย 59 เปอร์เซนต์ รองลงมาคือ เวียดนาม พม่า ฟิลิปินส์ และกัมพูชา ตามลำดับ ทั้งนี้นักลงทุนญี่ปุ่นมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยคือ การพัฒนาพิธีการศุลกากร 50 เปอร์เซนต์ รองลงมาเป็นการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง การพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน กทม.

ในส่วนของภาคธนาคาร นายชาติศิริ โสภณพนิช นายกสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ที่จะขยายตัว 4.0-4.5 เปอร์เซนต์ เป็นอัตราการขยายตัวค่อนข้างดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น และสถานการณ์เช่นนี้สมาคมธนาคารไทย ยังเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยหวังว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้น จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเดินไปข้างหน้าอีกมาก แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการมีเสถียรภาพทางการเมือง แม้ขณะนี้ภาคการเงินจะยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีการปล่อยสินเชื่อไปตามเป้าหมาย แต่หากต้องการพัฒนาไปมากกว่าประเทศไทยก็ควรมีการเมืองที่เข้มแข็ง

สอดคล้องกับข้อมูลของภาคธนาคารต่าง ๆ ที่ระบุเช่นเดียวกันว่า การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ได้กระทบในส่วนของธุรกิจธนาคารมากนัก ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เนื่องจากการเมืองไทยอยู่บนความขัดแย้งมาเป็นเวลานานแล้ว อย่างไรก็ตามแต่ละธนาคารก็ได้เตรียมแผนรองรับไว้ด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นแผนตามกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้

ประกันภัยขยายตัว ลูกค้าแห่งซื้อประกันก่อการร้าย-ผลกระทบการเมือง

อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจที่ดูจะได้รับอานิสงค์จากการชุมนุม คือธุรกิจประกันภัย รายงานข่าวระบุว่า จากความกังวลต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินรุนแรงหลายครั้ง ทำให้ธุรกิจประกันภัยขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประกันภัยก่อการร้าย หรือประกันที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ร้ายทางการเมืองทุกรูปแบบ พบว่าเบี้ยประกันจะเพิ่มขึ้นจากปกติอีก 10-15 เปอร์เซนต์ แต่ก็ยังมีการซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเอกชน ในกลุ่มประเภทธนาคาร และห้างสรรพสินค้า โดยการพิจารณาเบี้ยบริษัทประกันภัยจะพิจารณาหลายอย่างรวมทั้งทำเลที่ตั้งที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมต่าง ๆ ด้วย โดยส่วนใหญ่ผู้ซื้อประกันภัยก่อการร้ายจะประกอบธุรกิจอยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก

ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงมีความผันผวนค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งอาจมาจากปัจจัยทางการเมืองที่ส่งผลกระทบในระยะสั้น ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยทั้งในเชิงบวกและเชิงลบมากนัก แต่ยังแนะนำให้นักลงทุนติดตามสถานการณ์ภาพรวมในต่างประเทศ ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของเม็ดเงินที่ไหลเข้าและไหลออก

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเชียพลัส กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์การเมืองจะมีความไม่แน่นอน แต่ก็ไม่น่ากังวล เพราะที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้หลายครั้ง แต่สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยกังวล คือโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐ ไม่มีความคืบหน้า หรือไม่เป็นไปตามแผน

ด้านนายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง กล่าวว่า เชื่อว่าการลงทุนของภาครัฐจะสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไร เพราะผลที่ออกมาคงไม่ออกมาในลักษณะสุดขั้ว คือลงทุน 100 เปอร์เซนต์ หรือไม่มีการลงทุนเลย ทำให้กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างยังคงน่าสนใจ

โพลระบุประชาชนเบื่อการเมืองสร้างปัญหาปากท้อง

ส่วนความคิดเห็นของประชาชน ก่อนหน้าการชุมนุม สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรณีสถานการณ์ความรุนแรงในบ้านเมือง สรุปผลดังนี้ สำหรับความคิดเห็นของประชาชนนั้น สวนดุสิตโพลประชาชนคิดอย่างไรกับ “การชุมนุมทางการเมือง” ณ วันนี้ 54.07 เปอร์เซนต์ รู้สึกเบื่อ ไม่อยากให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น ก่อให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย  25.00 เปอร์เซนต์ เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ควรอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย11.63 เปอร์เซนต์ เจ้าหน้าที่ของรัฐควรมีมาตรการการป้องกันที่เด็ดขาด รัดกุม ดูแลผู้ที่มาชุมนุมเป็นอย่างดี และต้องระวังผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างความวุ่นวาย 09.30 เปอร์เซนต์ กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ประชาชนไม่ได้รับความปลอดภัย เกิดการสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

ต่อคำถามที่ว่า “การชุมนุมทางการเมือง” แบบใด ที่ประชาชนต้องการให้เป็น ผลสำรวจระบุว่า 52.57 เปอร์เซนต์ ควรพูดคุยกันด้วยเหตุผล มีสติ ใจเย็น /แกนนำต่าง ๆ ต้องไม่ยั่วยุหรือปลุกปั่น 22.29 เปอร์เซนต์ การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีการปะทะกัน ไม่มีการพกพาอาวุธร้ายแรง 13.14 เปอร์เซนต์การชุมนุมจะต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย 12.00 เปอร์เซนต์ เป็นการชุมนุมที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือชุมนุมในสถานที่ที่มีการจัดเตรียมให้

ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ใช้อาวุธทำร้ายร่างกาย

สำหรับประเด็น “การชุมนุมทางการเมือง” แบบใด ที่ประชาชนไม่ต้องการให้เป็น ผลสำรวจพบว่า 43.27 เปอร์เซนต์ การประท้วงที่รุนแรง /การทำร้ายร่างกาย มีอาวุธ /ทำลายทรัพย์สินให้เสียหาย 42.69 เปอร์เซนต์ ขาดสติ ไม่มีเหตุผล ใช้อารมณ์ในการตัดสิน /เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง 07.61 เปอร์เซนต์ การชุมนุมที่ยืดเยื้อติดต่อกันเป็นเวลานาน 06.43 เปอร์เซนต์ ปิดเส้นทางจราจร กีดขวางทางเดินหรือบริเวณที่มีการค้าขาย

เห็นด้วยหรือไม่ กับการชุมนุมคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่จะนำเข้าสภาในเดือนสิงหาคมนี้ 37.24 เปอร์เซนต์ เฉยๆ เพราะ เป็นเรื่องปกติทางการเมือง ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ที่ผ่านมาก็เคยมีกลุ่มต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหวโดยตลอด ฯลฯ 33.67เปอร์เซนต์ ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ สังคมเกิดความวุ่นวาย เสี่ยงต่อการเกิดเหตุร้ายแรง ผู้ชุมนุมปะทะกัน ควรใช้วิธีการพูดคุยหรือส่งตัวแทนเจรจาอย่างสันติจะดีกว่า ฯลฯ

29.09 เปอร์เซนต์ เห็นด้วยกับการชุมนุม เพราะทำให้รัฐบาลรู้ถึงความต้องการและความคิดเห็นของประชาชน รัฐบาลจะได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ และรัดกุมมากขึ้น เป็นการกระตุ้นให้คนในสังคมตื่นตัว รับรู้ข้อมูลหลายด้าน ฯลฯ

แนะสื่อเสนอข่าวสร้างสรรค์ ประชาชนอย่าวู่วาม

สิ่งที่ประชาชนกลัว/กังวลเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ คือ 46.47 เปอร์เซนต์ อาจเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ส่งผลต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินการปะทะกันของผู้ชุมนุม และผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

22.35 เปอร์เซนต์ ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 18.23 เปอร์เซนต์ มีผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างความวุ่นวายในการชุมนุม ทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น 12.95 เปอร์เซนต์ เหตุการณ์ยืดเยื้อ บานปลาย /การจราจรติดขัด ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก

เมื่อถามว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดความวุ่นวายทางการเมือง ณ วันนี้ 38.01 เปอร์เซนต์ ทุกคนต้องมีสติ ไม่วู่วาม มีเหตุผล และนึกถึงบ้านเมืองเป็นสำคัญ 25.73 เปอร์เซนต์ ทุก ๆ ฝ่ายควรร่วมมือกัน /ประชาชนไม่ออกมาเคลื่อนไหว /สื่อมวลชนจะต้องนำเสนอข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง ชัดเจน 23.39 เปอร์เซนต์ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดูแลอย่างเข้มงวดกวดขัน ตรวจสอบป้องกันไม่ให้มีการพกพาอาวุธเข้ามาในกลุ่มผู้ชุมนุม 12.87 เปอร์เซนต์ ผู้ที่เป็นแกนนำจะต้องดูแลควบคุมผู้ชุมนุมให้อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการสื่อสารและทำความเข้าใจที่ชัดเจนตรงกันกับผู้ชุมนุม

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก The Nation คมชัดลึก เดลินิวส์ โพสต์ทูเดย์ 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: