ไทยกับการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน

7 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 9626 ครั้ง


จากข้อมูลของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม นับจากปี 2516 – 2555 มีการบันทึกสถิติน้ำมันรั่วไหล จำนวน 225 ครั้ง หากคำนวนปริมาณแล้วพบว่ามีน้ำมันรวมกันอย่างน้อยมากถึง 3,010,316 ลิตรรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำของไทย

ทั้งนี้ ไม่อาจรวมปริมาณในบางรายงานที่ระบุหน่วยปริมาณเป็น “ตัน” ซึ่งมีข้อจำกัดในการคำนวนเป็นลิตร เนื่องจาก ลิตร คือ ปริมาตร, ตัน คือ น้ำหนัก การจะคำนวนแปลงให้ตันเป็นลิตรจึงขึ้นอยู่กับความหนาแน่น (density) ของน้ำมัน และน้ำมันแต่ละชนิดจะมีความหนาแน่นต่างกันไป ดังนั้น น้ำ 1 ลิตร เทียบกับน้ำมัน 1 ลิตร จะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน 

โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของสถิติมิได้ระบุปริมาณการรั่วไหล นับว่าตัวเลขที่รวบรวมดังกล่าวน้อยกว่าความเป็นจริง

แนวคิดของการนำหลักการขจัดไขมันด้วยการนำมาผสมรวมเข้ากับสารเคมีขจัดคราบน้ำมันเพื่อแยกตัวน้ำมัน (เช่นสบู่ ผงซักฟอก) แล้วล้างออกนั้น ได้นำมาใช้ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1960 เพื่อขจัดคราบน้ำมันบนหาดแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ ได้มีการใช้สารดังกล่าวเพื่อขจัดคราบน้ำมันในเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลจากเรือ Torrey Canyon นอกชายฝั่งประเทศอังกฤษในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1967 อย่างไรก็ตาม ระดับความเข้มข้นที่ใช้นั้นมีความเป็นพิษสูง จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล แม้จะมีประสิทธิภาพในการขจัดคราบน้ำมันเป็นอย่างดีก็ตาม หลังจากเหตุการนั้นจึงมีการปรับปรุงสารเคมีขจัดคราบน้ำมันให้มีพิษน้อยลง และมีการพัฒนามาจนยุคปัจจุบัน

ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการสารเคมีขจัดคราบน้ำมันทั้งในคลอง แม่น้ำ และทะเล บ่อยครั้งที่ใช้วิธีนี้แก้ปัญหา แต่ไม่มีครั้งใดที่สังคมจะตั้งคำถามและสนใจวิธีการดำเนินการขจัดคราบน้ำมันจนเป็นกระแสเรียกร้องข้อมูลข้อเท็จจริง กระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลจากท่อส่งน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กลางทะเลอ่าวไทย ที่จ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555

แถลงการณ์ของบริษัทแม่คือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วันที่ 1 สิงหาคม  ระบุว่า ได้ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันชื่อ Dasic Slickgone NS (ผลิตภัณฑ์ของบริษัท Dasic International ประเทศอังกฤษ) จำนวน 5,000 ลิตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ตรงกันกับการเปิดเผยของกรมควบคุมมลพิษวันที่ 30 กรกฎาคม ที่บอกว่าได้รายงานจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ว่าใช้สารกำจัดคราบน้ำมันไปแล้ว 3.2 หมื่นลิตร

 

ตัวอย่างการดำเนินการจัดการน้ำมันรั่วไหลด้วยการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันในประเทศไทย

1 มกราคม 2555     น้ำมันเตาที่ค้างจากการจมของเรือบรรทุกเหล็กสัญชาติปานามาชื่อ Unison Vigor

วันที่ 1 -10 มกราคม 2555 ระหว่างกู้เรือ เจ้าหน้าที่พบคราบน้ำมันรั่วไหลจึงใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันฉีดพ่น 2 ถัง

2 สิงหาคม 2554     น้ำมันเชื้อเพลิง 67 ตัน และน้ำมันดีเซล 12 ตันรั่วไหล เนื่องจากเรือบรรทุกเหล็กสัญชาติปานามาชื่อ Unison Vigor จม

วันที่ 3 สิงหาคม – 15 พฤศจิกายน 2554 เจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากท่าเรือแหลมฉบัง บริษัท เจ ซี มารีน จำกัด และกลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG) ร่วมกันปฏิบัติงานขจัดคราบน้ำมัน โดยใช้ทุ่นกักคราบน้ำมัน จำนวน 400 เมตรล้อมรอบเรือที่เกิดเหตุ พร้อมกับติดตั้งทุ่นดูดซับคราบน้ำมัน 2 ทุ่นเพื่อปิดรอยต่อระหว่างทุ่นกักคราบน้ำมัน จากนั้นจึงทำการเก็บคราบน้ำมันในวงทุ่นกักคราบน้ำมันด้วยเครื่องเก็บคราบน้ำมัน  ซึ่งสามารถเก็บน้ำปนน้ำมันได้จำนวน 10,000 ลิตร แล้วให้บริษัท เอสเอสซี ออยล์ จำกัด รับไปบำบัดต่อไป ส่วนคราบน้ำมันที่อยู่นอกวงทุ่นกักคราบน้ำมันได้ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน 59 ถังฉีดพ่น และแผ่นดูดซับคราบน้ำมัน 2 ม้วน

วันที่ 27 ธันวาคม 2554 – 10 มกราคม 2555 ในระหว่างการกู้เรือ Unison Vigor พบคราบน้ำมันรั่วไหลจึงฉีดสารเคมีขจัดคราบน้ำมันอีก 2 ถัง

13 สิงหาคม 2547   น้ำมันเตา 500 ลิตรรั่วไหลจากความผิดพลาดของคนประจำเรือดรากอน 1

กลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของวงการอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG) ใช้สารเคมี... 2,700 ลิตร

19 พฤศจิกายน 2547 มีคราบน้ำมันเตาและน้ำมันเครื่องคลุมพื้นที่ประมาณ 10,000 ตร.ม.

กลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของวงการอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG) ใช้สารเคมี... 100 ลิตร

และมีอีกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2553 น้ำมันดีเซล (B5) 40,000 ลิตรรั่วไหล เนื่องจากเรือบรรทุกน้ำมันชื่อ ส.โชคถาวร 6 จม การดำเนินงานคือ  เจ้าหน้าที่จากกรมเจ้าท่า กองเรือภาคที่ 3 และกลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG) นำข้อมูลที่ได้มาหารือร่วมกันทางโทรศัพท์ และสรุปได้ว่าสามารถปล่อยให้คราบน้ำมันดังกล่าวสลายตัวไปเองตามธรรมชาติได้โดยการระเหย เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากชายฝั่ง ประกอบกับน้ำมันในกลุ่มดีเซลจัดเป็นน้ำมันเบา แม้จะมีปริมาณการรั่วไหลถึง 40,000 ลิตร

ส่วนการดำเนินการทางกฎหมายกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาแทบไม่ปรากฏในสถิติน้ำมันรั่วไหลเลย ที่มีบันทึกไว้นั้นน้อยมาก เช่น กรณีน้ำมันล้นถังเก็บของรพ.หัวเฉียวจนไหลลงสู่คลอง ถูกปรับ 7,000 บาท กรณีสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 6 (สมุทรปราการ) ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่ทำให้น้ำมันล้นถังเก็บจนไหลลงคลอง เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐาน แต่ไม่ปรากฎการดำเนินคดีในกรณีที่น้ำมันรั่วไหลจำนวนมากเลย

การอนุญาตใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันในประเทศไทย

สารเคมีขจัดคราบน้ำมันที่ใช้ในบ้านเรานั้น ได้นำรายชื่อสารเคมีขจัดคราบน้ำมันตามที่หน่วยงานของรัฐของต่างประเทศมาใช้ ดังนี้

1.สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

2.Ministry of Agriculture, Fisheries and Food (MAFF) ประเทศอังกฤษ

3.U.S. Environmental Protection Agency (U.S. EPA) ประเทศสหรัฐอเมริกา

4.Australian Maritime Safety Authority (AMSA) ประเทศออสเตรเลีย

ซึ่งบัญชีรายชื่อสารเคมีขจัดคราบน้ำมันที่อนุญาตให้ใช้ในประเทศไทย ณ กันยายน 2550 โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีทั้งหมด 42 รายชื่อ และสารเคมีขจัดคราบน้ำมันที่ ปตท.ระดมฉีดที่ระยองชื่อ Dasic Slickgone NS อยู่ในลำดับที่ 15 ของบัญชีรายชื่อนี้ ได้รับอนุญาตจาก MAFF และ AMSA ส่วนบริเวณที่ให้ใช้ได้ทั้ง ทะเล หาด หาดหิน และส่วนที่ไม่ได้กำหนด

 

แม้ประเทศไทยจะนำสารเคมีขจัดคราบน้ำมันแบบเดียวกับต่างประเทศใช้ แต่ก็ควรมีการทดสอบสารเคมีขจัดคราบน้ำมันในส่วนของ 1.ประสิทธิภาพ 2.ความเป็นพิษ 3.การย่อยสลายทางชีวภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าสารเคมีขจัดคราบน้ำมันชนิดใด ๆ มีความเป็นพิษต่ำที่สุด มีความเหมาะสมต่อการใช้งานตามแต่ละกรณี และปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศแบบประเทศไทย นอกจากนี้ยังต้องมีการทดสอบความเป็นพิษของคราบน้ำมันที่กระจายตัวออกแล้วด้วย (หลังฉีดพ่นสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน) ทั้งนี้ สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน อย่างที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization, IMO) แนะนำว่ารัฐบาลแต่ละประเทศควรจัดทำรายชื่อดังกล่าวขึ้นโดยอาศัยวิธีการตรวจสอบที่เหมาะสมกับสภาพของแต่ละประเทศ ซึ่งแม้จะเกิดเหตุการณ์ที่จังหวัดระยองขึ้นก็ยังมิได้มีหน่วยงานเกี่ยวข้องเปิดเผยถึงการทดสอบลักษณะนี้เลย

แต่นักวิชาการและบางหน่วนงานราชการเริ่มพูดถึงผลกระทบที่สารเคมีขจัดคราบน้ำมันอาจก่อได้

 

ปริมาณและอัตราการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน

จากเอกสาร ‘คู่มือการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน’ ของส่วนแหล่งน้ำทะเล สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กำหนดอัตราส่วนของการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันชนิดเข้มข้นต่อน้ำมัน เท่ากับ 1 : 10 ถึง 1: 20 เช่น ต้องใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน 100 ตันต่อน้ำมัน 1,000ตัน

นอกจากนี้อัตราการใช้ยังขึ้นอยู่กับประเภทของน้ำมันที่รั่วไหล ตลอดจนความหนาและความกว้างของชั้นน้ำมัน สภาพแวดล้อม อัตราการฉีด และความเร็วของพาหนะที่ใช้ฉีด หากขนาดของหยดสารเคมีใหญ่ไปก็จะตกลงสู่พื้นทะเลแทนที่จะตกที่ตัวน้ำมัน หากเล็กเกินไปก็ถูกลมพัดไป (ควรมีขนาดประมาณ 400 – 700 ไมโครเมตร) ฉะนั้นการฉีดสารเคมีขจัดคราบน้ำมันจึงต้องมีการวางแผนและคำนวนมิใช่สักแต่ว่าฉีดพ่น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

จากที่ปตท. อ้างว่าได้ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันไปแล้ว 3.2 หมื่นลิตร ต่อน้ำมัน 50 ตัน ดูจะมากไปโขเลยทีเดียว หรือแท้จริงแล้วปริมาณที่รั่วไหลอาจจะมากกว่าที่รายงานต่อสาธารณะ ?

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน

- ระดับความลึกของน้ำมากกว่า 10 เมตร

- ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอ่อนไหวสูง

- ไม่ควรใช้กับคราบน้ำมันที่เป็นฟิมล์บาง ๆ ควรใช้กับส่วนหนา

- มีประสิทธิผลดีที่สุดใน 12 – 48 ชั่วโมงหลังการการรั่วไหล

- สารเคมีขจัดคราบน้ำมันแต่ละชนิดมีความเหมาะสมกับน้ำมันตามแต่ประเภท ไม่ใช่ทุกสารใช้ได้กับทุกน้ำมัน

- สารเคมีขจัดคราบน้ำมันมีพิษ แต่จะมากน้อยหรือส่งผลอย่างไรนั้น มีความแตกต่างกัน

- ควรยกเลิกการปฏิบัติการฉีดสารเคมีขจัดคราบน้ำมันเมื่อถึงจุดที่ไม่เกิดการแพร่ตัวของน้ำมันสีส้มหรือน้ำตาลอีกต่อไป

ทรัพยากรที่ควรใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน 6 ประเภท

ตามที่ ‘คู่มือการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน’ ระบุ ซึ่งขอหยิบยกข้อความอธิบายเหตุผลของกรมควบคุมมลพิษมาว่า

1.ป่าชายเลน

ป่าชายเลนเมื่อถูกน้ำมันแล้วยากที่จะทำความสะอาด และแม้จะทำความสะอาดแล้วก็ตามก็จะไม่สามารถรักษาต้นไม้เอาไว้ได้หากน้ำมันเข้าสู่ดินและทำลายระบบรากของต้นไม้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะต้องป้องกันป่าชายเลน ทั้งนี้ป่าชายเลน

สามารถทนต่อน้ำมันที่กระจายตัวได้ ดังนั้นถ้าจำเป็นก็ควรต้องใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันบริเวณนอกชายฝั่งไกลออกไปจากป่าชายเลน การใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันอาจพิจารณาใช้กับบริเวณเขตน้ำตื้นใกล้ชายฝั่งหรือตามคลองย่อยในเขตป่าชายเลนได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีการติดตามตรวจสอบและควบคุมการใช้อย่างระมัดระวัง อีกทั้งความเข้มข้นของน้ำมันที่กระจายตัวจะต้องไม่เกินกว่า 10 ppm แต่ถ้ามากกว่านั้นจะต้องนานไม่เกินกว่า 2 ชั่วโมง (SEA, 1995)

2.หาดทราย

โดยทั่วไปหาดทรายมีผลิตผลทางชีวภาพต่ำ ซึ่งหาดที่มีคลื่นแรงนั้นโดยธรรมชาติแล้วมักจะทำความสะอาดได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อเปื้อนน้ำมันก็จะทำความสะอาดได้ค่อนข้างง่าย อย่างไรก็ตามในบางกรณีการป้องกันหาดทรายโดยใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันที่บริเวณนอกชายฝั่งอาจเป็นสิ่งสำคัญ ในกรณีเช่น

- ส่วนบนของหาดเป็นที่วางไข่ของเต่า และฤดูการวางไข่กำลังใกล้เข้ามา หรือ

- เป็นหาดท่องเที่ยวที่สำคัญ และฤดูการท่องเที่ยวกำลังใกล้เข้ามา

3.แหล่งท่องเที่ยว/สันทนาการ

พื้นที่สันทนาการ เช่น หาดที่คนลงเล่นน้ำ หรือบริเวณจอดเรือ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อสภาวะเศรษฐกิจท้องถิ่น การใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันบริเวณนอกชายฝั่ง จึงเป็นทางเลือกเพื่อป้องกันทรัพยากรพวกนี้ พื้นที่ดังกล่าวมักมีความสำคัญในแง่ของชีวภาพต่ำ และอาจใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันได้แม้ในบริเวณใกล้ชายฝั่งก็ตาม

4.หาดหิน

หาดหินที่เป็นหาดเปิดมีคลื่นแรงสามารถทำความสะอาดตัวเองได้ค่อนข้างรวดเร็ว หาดหินที่กำบังคลื่น (ไม่ถูกคลื่นหรือหาดค่อนข้างปิด) มีผลิตผลทางชีวภาพค่อนข้างสูง และทำความสะอาดโดยธรรมชาติและฟื้นฟูทางชีวภาพได้ค่อนข้างช้า การใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันบริเวณนอกชายฝั่ง จึงเป็นทางเลือกเพื่อป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันเข้าใกล้หาด และเพื่อป้องกันหาดหินที่กำบังคลื่นเหล่านั้น

5.หาดกรวด

หาดกรวดมักมีผลิตผลทางชีวภาพต่ำ แต่คราบน้ำมันอาจซึมผ่านชั้นผิวของหาดได้ และยากที่จะทำความสะอาด ดังนั้นอาจจำเป็นที่จะต้องพิจารณาป้องกันหาดกรวดเหล่านี้ การใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันบริเวณนอกชายฝั่งเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่การใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันบนหาดพวกนี้มีแนวโน้มส่งผลให้น้ำมันซึมลงหาดกรวดได้

6.นก

นกที่เปื้อนคราบน้ำมันโดยทั่วไปมักตายเพราะอุณหภูมิในร่างกายสูงเกินไป เนื่องจากไม่สามารถแพร่กระจายความร้อนได้ (Hypothermia) และ/หรือเป็นเพราะกินน้ำมันเข้าไป นอกจากนี้น้ำมันยังส่งผลไปยังไข่และโอกาสที่ลูกนกจะฟักไข่ออกมาได้จะลดลงเป็นอย่างมาก ดังนั้นการฉีดพ่นสารเคมีขจัดคราบน้ำมันจึงเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อป้องกันถิ่นที่อยู่อาศัยของนก

ควรฉีดพ่นสารเคมีขจัดคราบน้ำมันให้ไกลที่สุดจากบริเวณที่นกรวมตัวกันอยู่ เพื่อลดความเสี่ยงที่สารเคมีขจัดคราบน้ำมันจะถูกเข้ากับตัวนก (อาจส่งผลเสียหายได้) นกแต่ละชนิดพันธุ์มีจำนวนมากน้อยแตกต่างกันตามฤดูกาล ดังนั้นอาจไม่จำเป็นที่จะต้องคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยของนกตลอดทั้งปี

เขตการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

นอกจากผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลโดยตรงอย่างคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) ที่เราได้รู้จักจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งประกอบประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ ซึ่งรับผิดชอบในการรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมัน ในกรณีเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลที่สำคัญ

มีหน่วยปฏบัติการอีกหน่วยที่น่าสนใจ คือ กลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของวงการอุตสาหกรรมน้ำมัน (Oil Industrial Environmental Safety Group, IESG) หน่วยงานเอกชนหน่วยงานเดียวในแผนปฏิบัติการรฉุกเฉินสำหรับกรมควบคุมมลพิษของประเทศ เป็นกลุ่มบริษัทน้ำมันที่รวมตัวกันเพื่อรับมือกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ประกอบด้วย 9 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศไทย ดังนี้

บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (บางจาก)

บริษัท บีพี ออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด (บีพี)

บริษัท คาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด (คาลเท็กซ์)

บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (เอสโซ่)

บริษัท โมบิล ออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด (โมบิล)

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด (เชลล์)

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (ไทยออยล์)

บริษัท อัลลายน์แอนซ์ รีไฟน์นิ่ง จำกัด (เออาร์ซี)

สมาชิกของกลุ่ม ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ขจัดคราบน้ำมันและบุคลากรให้พอเพียงในการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันในระดับที่ 1 (Tier 1) กลุ่ม IESG ดำเนินการโดยคณะกรรมการหลัก ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกของบริษัทน้ำมันและกลุ่มที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วยกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และกรมการพลังงานทหาร ภายใต้คณะกรรมการยังมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการออกเป็น 5 คณะตามพื้นที่ประกอบการ ซึ่งแต่ละคณะประกอบด้วยสมาชิกของบริษัทน้ำมันที่ประกอบการอยู่ในพื้นที่นั้นๆ

ในกรณีที่สมาชิก IESG ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้ก่อให้เกิดน้ำมันรั่วไหล แผนของ IESG ได้กำหนดให้ผู้นั้นเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการขจัดคราบน้ำมัน โดยสามารถขอการสนับสนุนจากสมาชิกอื่นๆ ภายในกลุ่ม IESG และหน่วนงานราชการต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ตามหน่วยงานราชการยังต้องดำเนินบทบาทหลักในการรับมือกับน้ำมันรั่วไหลในกรณีที่มีการนำแผนปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันมาใช้

โครงสร้างหน่วยงานกลุ่มอนรักษส์ภาพแวดล้อมของวงการอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG)

ข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศ

ความร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซียในการดำเนินการป้องกันและขจัดคราบน้ำมัน (Thailand-Malaysia Co-operation in Prevention andCombating of Oil Spills)

มีที่มาจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลกรณี Nagasaki Spirit ซึ่งส่งผลกระทบต่อน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ความตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ดังนี้

- เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของแต่ละประเทศในการรับมือกับเหตุการณ์น้ำมัน ซึ่งเกินขีดความสามารถของประเทศนั้น ๆ

- เพื่อให้มีแผนประสานงานความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลครั้งสำคัญๆ ที่เกินขีดความสามารถในการรับมือของรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศนั้นๆ

- เพื่อให้มีมาตรการดำเนินการอย่างทันทีทันใดเพื่อควบคุมและลดผลกระทบของน้ำมันที่รั่วไหล ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นเกิดจากอุบัติเหตุหรือเจตนา

- เพื่อร่วมมือและประสานงานในการดำเนินการป้องกันและขจัดคราบน้ำมันของประเทศไทยและมาเลเซีย

บันทึกความเข้าใจแผนการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหลของกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN-OSRAP MOU)

บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของประเทศบรูไน ดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทยในการรับมือกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ได้ดำเนินการที่กรุงโตเกียว ในปี ค.ศ. 1993 โดยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ OSPAR ด้านความร่วมมือในการรับมือกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในภูมิภาคอาเซียน บันทึกความเข้าใจนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกันในระดับการ

ปฏิบัติการตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญา International Convention on Oil Pollution Preparedness, Response and Co-operation (OPRC) ปี ค.ศ. 1990 และเพื่อการยกร่างแผนปฏิบัติการ ASEAN Oil Spill Response Action Plan (ASEAN-OSRAP) และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการดังนี้

- ให้ความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมและรับมือกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล

- ดำเนินการฝึกซ้อมและฝึกอบรมร่วมกัน

- ส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนามาตรการในการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน

- อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายกำลังพล เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้ในการเสริมสร้างความร่วมมือ โครงการ OSRAP ได้ร่วมกันในการจัดตั้งคลังเก็บอุปกรณ์ขจัดคราบน้ำมันในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งพัฒนาระบบเครือข่ายข้อมูล (Information Network System) ด้วย

 

**********************************************

ที่มา

http://www.vcharkarn.com

http://topicstock.pantip.com

http://www.engineeringtoolbox.com

แผนปฏิบัติการฉุกเฉินสำหรับกรมควบคุมมลพิษ (PCD Oil Spill Emergency Plan)

คู่มือการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน, ส่วนแหล่งน้ำทะเล สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถิติน้ำมันรั่วไหล, กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม 

แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลในทะเล (ฉบับร่าง)

Bioenergy Feedstock Information Network (BFIN)

กระทรวงพาณิชย์

บริษัท Dasic International

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ผู้จัดการออนไลน์

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

หนังสือพิมพ์กรุงเทพ

 

ขอบคุณภาพ

Voice TV

http://www.graysonline.com

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: