อาหารฉายรังสีใกล้ตัวเรา

4 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 37919 ครั้ง


 

 

การฉายรังสีอาหาร Food irradition

 

การฉายรังสี เป็นวิธีการถนอมอาหา (food preservation) โดยการฉายแสงอิเล็กตรอน (electron beams) รังสีเอ็กซ์ (X ray) หรือรังสีแกมม่า (gamma ray) ลงบนผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นการแปรรูปอาหาร โดยไม่ใช้ความร้อน (non thermal processing)

 

การฉายรังสีอาหารมีวัตถุประสงค์ เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค (pathogen) เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา เพื่อชะลอการสุก เพื่อลดปริมาณปรสิต เพื่อยับยั้งการงอกระหว่างการเก็บรักษา เพื่อทำลายและยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแมลง หรืออื่นๆ ทั้งนี้ การฉายรังสีอาหารต้องมีปริมาณรังสีดูดกลืนต่ำสุดที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี และมีปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่ทำลายคุณภาพอาหาร สามารถคงคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร โดยไม่ทำลายโครงสร้าง คุณสมบัติเชิงหน้าที่ และคุณลักษณะทางประสาทสัมผัสของอาหาร

 

 

ชนิดของรังสีที่ใช้เพื่อการฉายรังสีอาหาร

 

ชนิดของรังสีที่ใช้เพื่อการฉายรังสีอาหาร ต้องได้จากแหล่งของรังสีที่เป็นต้นกำเนิด ดังต่อไปนี้

1 รังสีแกมมา (gamma ray) จากเครื่องฉายรังสีที่มีโคบอลต์ -60 (Cobolt 60) หรือ ซีเซียม-137 (Cesium-137)

2 รังสีเอกซ์ (x-ray) จากเครื่องผลิตรังสีเอกซ์ที่ทำงานด้วยระดับพลังงานที่ต่ำกว่า หรือเท่ากับ 5 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์

3รังสีอิเล็กตรอน จากเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน (electron accelerator) ที่ทำงานด้วยระดับพลังงานที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 10 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์

 

 

หน่วยวัดการฉายรังสีในอาหาร

หน่วยที่นิยม ใช้เพื่อการวัดการฉายรังสีอาหาร คือ แรด (Rad) และ เกรย์ (Gray)

-แรด (rad) เป็นปริมาณของรังสีที่ใช้กับอาหาร มีผลให้อาหารสามารถดูดพลังงานจากรังสีไว้ได้ 100 เออร์ก (ergs) โดย 1 kRad = 1,000 Rad และ 1 MRad = 1,000,000 Rad

-เกรย์ (gray) เป็น หน่วย SI ของการดูดกลืนรังสีโดยรังสี1 เกรย์หมายถึง การดูดกลืนพลังงาน 1 จูลต่อ อาหาร 1 กิโลกรัม และมีค่าเท่ากับ 100 Rad และเป็นหน่วยที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ตามกฎหมาย

 

 

ระดับการฉายรังสีอาหาร

 

Radappertization คือ การทำให้อาหารปลอดจากเชื้อจุลินทรีย์ด้วยการฉายรังสี (food irradiation) เทียบเท่ากับระดับ sterilizationด้วยความร้อน โดยการฉายรังสี ด้วยระดับสูง ระหว่าง 20-45 กิโลเกรย์ (kilo gray) รังสีจะทำลายจุลินทรีย์ในอาหารทุกชนิด ทั้งจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค (pathogen) และ จุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย (microbial spoilage) รวมทั้งสปอร์ของแบคทีเรีย (bacterial spore) โดยอาหารต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดผนึกสนิท (hermectically sealed container)

  

อาหารหลังผ่านการฉายรังสี ระดับ Radappertization เก็บได้นานหลายเดือน หรือเป็นปีที่อุณหภูมิห้องอย่างปลอดภัย

 

สำหรับอาหารประเภทกรดต่ำ (low acid food) ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะพบ สปอร์ของแบคทีเรียก่อโรค เช่น Clostridium botulinum , Clostridium perfringens ซึ่ง สามารถทนรังสีได้สูงมาก การฉายรังสีอาหารที่มีความเป็นกรดต่ำ (low acid food) เพื่อทำลายสปอร์ของแบคทีเรีย (bacterial spore) จึงต้องใช้รังสีสูงถึง 45 กิโลเกรย์ (kilo gray,KGy) จึงจะสามารถลดปริมาณจุลินทรีย์ลงที่ระดับปลอดภัย (12D process หรือ จุลินทรีย์ลดลง 12 log cycle ใช้เวลา 12เท่าของ D value) ได้ แต่การใช้รังสีสูงมากระดับนี้ จะทำให้อาหารมีคุณสมบัติเปลี่ยนไปจนไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้รังสีอย่างเดียว มาใช้เทคนิคการถนอมอาหรอย่างอื่นร่วมด้วย (hurdle technology) เช่น การแช่เยือกแข็งอาหารก่อนนำมาฉายรังสี หรือใช้วิธีการใช้รังสีร่วมกับการลดค่า water activityเป็นต้น

 

อาหารนั้นมีความเป็นกรดสุง (acid food) หรือมีเกลือสูง จะไม่สามารถใช้การฉายรังสีวิธีนี้ได้ เนื่องจากอาหารจะเกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติอย่างมาก

 

ตัวอย่างอาหารที่ผ่านการฉายรังสีเพื่อทำให้ปลอดจุลินทรีย์ ได้แก่ เนื้อหมู (pork) เนื้อวัว เนื้อไก่งวงรมควัน อาหารสำหรับคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันปกพร่อง และอาหารสำหรับมนุษย์อวกาศ

 

Reference

Irving H. Anellis. Abe Anellis and the Microbiology of Irradiated Food

 

 

วัตถุประสงค์ของการฉายรังสีเพื่อการถนอมอาหาร

 

1. ควบคุมการงอกของพืชหัวในระหว่างการเก็บรักษา พืชหัว ได้แก่ กระเทียม หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง ขิง จะงอกระหว่างการเก็บ ทำให้สูญเสียน้ำหนัก ฝ่อ สูญเสียสารอาหาร กลิ่นรส หรือเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของอาหาร การฉายรังสีปริมาณไม่เกิน 0.15 กิโลเกรย์ จะหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ทำให้เกิดการงอก ทำให้สามารถ เก็บรักษาผลผลิตได้นานหลายเดือน โดยไม่งอกหรืองอกเล็กน้อยการเก็บรักษาด้วยการแช่เย็น (cold storage) ร่วมกับการฉายรังสี จะช่วยทำให้การเก็บรักษาคุณภาพผลผลิตได้ดียิ่งขึ้น

  • มันฝรั่งที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ในอุตสาหกรรมอาหารขบเคี้ยว เช่นpotato chip french friedระหว่างงอก มีการเพิ่มของน้ำตาลรีดิวส์ (reducing sugar) ทำให้ ผลิตภัณฑ์ไหม้เป็นจุดระหว่างการทอด การฉายรังสีปริมาณ 0.08-0.15 กิโลเกรย์ เก็บรักษาด้วยการแช่เย็น (cold storage) ที่อุณหภูมิ 10-15 องศาเซลเซียส สามารถยับยั้งการงอกได้
  • หอมหัวใหญ่ การฉายรังสีปริมาณ 0.06-0.1 กิโลเกรย์ เก็บที่อุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส สามารถยับยั้งการงอกได้นาน 5-6 เดือน

 

2.ควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลง รังสีสามารถกำจัดแมลงได้หลายชนิด เช่น แมลงวันผลไม้รวมทั้ง ไข่หนอน ดักแด้ ทึ่อาจติดมากับผลิตผลทางการเกษตร เช่น มะม่วง เมล็ดธัญพืช ข้าว ข้าวสาลี ถั่วเมล็ดแห้ง รวมทั้งอาหารแห้ง เช่น ปลาแห้ง หอมแห้ง หอมผงเครื่องเทศ วัตถุเจือปนอาหาร เครื่องปรุงรสชนิดผง ทำให้หยุดการขยายพันธ์ได้ แมลงวันวัน ผลไม้ในผลมะม่วง ปริมาณรังสีที่ใช้ประมาณ 0.2-0.7 กิโลเกรย์ อนุญาตให้ใช้ได้สูงสุดถึง 1 กิโลเกรย์ เช่น ข้าว ถั่วเมล็ดแห้ง เครื่องเทศ ปลาแห้ง

 

3. ชะลอการสุกของผลไม้ การฉายรังสีผลไม้ เช่น มะม่วง กล้วย ยืดอายุการเก็บ เห็ด 1-2 กิโลเกรยจะชลอการบานของเห็ด ทำให้การจำหน่ายมีระยะนานขึ้น

 

4. ยืดอายุการเก็บรักษาอาหารสด มีการใช้รังสี ปริมาณต่ำ เช่น ไก่สด ปลา เนื้อหมู เพื่อลดปริมาณจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร เพราะการฉายรังสีด้วยปริมาณต่ำๆ เปรียบได้กับการพาสเจอรไรซ์ ด้วยความร้อน อย่างไรก็ตามจะต้องเก็บอาหารไม่ให้มีการปนเปื้อนของจุลลินทรีย์กลับไปอีก ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และควบคุมไม่ให้จุลินทรีย์ที่เหลือเจริญอย่างรวดเร็ว เช่น เก็บที่อุณหภูมิต่ำ ผักผลไม้สด บางชนิด เช่น สตอเบอรี่

 

5.ทำลายเชื้อโรคและพยาธิในอาหาร รังสี 2-3 กิโลเกรย์ สามารถทำลายแบคทีเรียที่เป็นเชื้อโรค เช่น Salmonella,Campylobacterและหนอนพยาธิ

 

อาหารผ่านรังสีต้องมีสัญลักษณ์นี้

 

นอกจากจะต้องแสดงชื่อและที่ตั้งของสํานักงานใหญ่ของผู้ผลิตอาหารและผู้ฉายรังสีอาหารแล้ว บนผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการฉายรังสีจะต้องมีรูปสัญลักณ์การผ่านรังสี ดังรูปภาพต่อไปนี้

ทั้งยังมีข้อความระบุว่า 'ผ่านการฉายรังสีแล้ว' และระบุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสีด้วยข้อความดังนี้ ‘เพื่อ......’

มีวันเดือนปีที่ทำการฉายรังสี (ไม่ใช่วันที่ผลิต) แม้ว่าสิ่งที่ฉายรังสีเป็นเพียงส่วนประกอบของอาหารนั้น ก็ต้องระบุว่าสิ่งนั้นๆผ่านรังสีบนฉลาก เช่น กระเทียมฉายรังสีแล้ว

 

 

จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารฉายรังสี ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2553 ได้กำหนดปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดที่อนุญาต สำหรับการฉายรังสีตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ไว้ดังนี้

 

ลำดับที่

วัตถุประสงค์ของการฉายแสง

ปริมาณรังสีดูดกลืน (กิโลเกรย์)

1

ยับยั้งการงอกระหว่างการเก็บรักษา

1

2

ชะลอการสุก

2

3

ควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลง

2

4

ลดปริมาณปรสิต

4

5

ยืดอายุการเก็บรักษา

7

6

ลดปริมาณจุลินทรีย์ และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค

10

 

ซึ่งในอดีต กระทรวงสาธารณสุขเคยกำหนดชนิดอาหารที่อนุญาตให้ฉายรังสี ได้แก่ ไก่ เมล็ดโกโก้ พุทราแห้ง มะม่วง หอมหัวใหญ่ มะละกอ มันฝรั่ง ถั่ว ข้าว เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส หอมแห้งและผง สตรอบอรี่ ปลาและผลิตภัณฑ์ ข้าวสาลีและผลิภัณฑ์ กุ้งแช่แข็ง แหนม กระเทียม หมูยอ และไส้กรอก โดยระบุชนิดและปริมาณรังสีสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้แตกต่างตามชนิดอาหารและวัตถุประสงค์ แต่ได้ยกเลิกแล้วใช้ประกาศฉบับดังกล่าวแทน

 

แต่ในกรณีที่การฉายรังสีไม่เป็นไปตามที่กำหนดตามตารางนี้ ต้องมีหลักฐานและเหตุผลทางวิชาการหรือความจำเป็นทางเทคนิค และต้องได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ดังนั้นการควบคุมอาหารผ่านรังสีอาจยังมีช่องทางให้อาหารที่รังสีเกิน ซึ่งมีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคหรือคุณค่าอาหารและทำลายโครงสร้างคุณสมบัติเชิงหน้าที่ ออกสู่ตลาดได้หรือไม่

 

นอกจากนี้ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณะสุข เรื่อง อาหารฉายรังสี ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 ยังกำหนดว่า อาหารที่ผ่านการฉายรังสีมาแล้วจะนำมาฉายซ้ำอีกไม่ได้ ยกเว้นอาหารที่มีความชื้นต่ำ โดยอาหารดังต่อไปนี้ไม่ถือว่าฉายซ้ำ 

 

1.อาหารที่เตรียมจากวัถุดิบซึ่งได้รับการฉายรังสีในระดับต่ำมาแล้ว ซึ่งเป็นการฉายรังสีด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยของอาหาร เช่น การควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลง การป้องกันการงอกของรากและหัวพืช แล้วนำมาฉายรังสีเพื่อวัตถุประสงค์อื่น

2.อาหารที่มีส่วนประกอบที่ผ่านรังสีแล้ว น้อยกว่าร้อยละ ถูกนำมาฉายรังสีอีกครั้ง

3.อาหารที่ไม่สามารถรับปริมาณรังสีตามกำหนดได้ในครั้งเดียว เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอาหารที่ฉายที่ฉายซ้ำหรือไม่ฉายซ้ำ ต้องมีปริมาณรังสีดูดกลืนไม่เกิน10กิโลเกรย์ อย่างไรก็ตาม หากเกิน ต้องมีหลักฐานและเหตุผลทางวิชาการหรือความจำเป็นทางเทคนิค และปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือทำลายคุณภาพอาหาร และต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหารก่อน 

 

ประเทศไทยมีศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตร ซึ่งขึ้นอยู่กับสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยเปิดเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ.2532 สามารถให้บริการฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตรที่สำคัญ คือ เครื่องเทศ สมุนไพร ผลไม้ กุ้งแช่แข็ง  หอมหัวใหญ่ กระเทียม แหนม ถั่วเขียว  และมะขามหวาน

 

***********************************************************

 

ที่มา 

food network solution 

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณะสุข เรื่อง อาหารฉายรังสี ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553

ประกาศกระทรวงสาธารณะสุข เรื่อง อาหารฉายรังสี ลงวันที่ 14 กันยายน 2553

 

ขอบคุณภาพ

www.sanook.com

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: