ครม.ไฟเขียว4มาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ-เอกชน

7 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1931 ครั้ง

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ หลังจากต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และอาจกระทบต่อการส่งออกของไทย ดังนั้นเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ให้ร้อยละ 4.5 จึงควรมีมาตรการ 4 ด้าน ได้แก่ มาตรการด้านการบริโภคภาคเอกชน มาตรการด้านการลงทุนเอกชน มาตรการด้านการใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการด้านการส่งออก

1.มาตรการด้านการบริโภคภาคเอกชน ด้วยการสนับสนุนทางภาษี จากการจัดสัมมนาในประเทศให้กับลูกจ้าง โดยให้นิติบุคคล ด้วยการนำค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าจัดการ ค่าขนส่ง ค่าอาหาร ค่าวิทยากร และค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า ในปีภาษี 2556 และ 2557 สำหรับการจัดสัมมนาภายในประเทศให้แก่ลูกจ้าง และการสนับสนุนให้ผู้บริโภคใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน สำหรับภาคครัวเรือน

2.มาตรการด้านการลงทุนภาคเอกชน มาตรการภาษีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนซื้อหรือซ่อมแซมทรัพย์สินอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะ สามารถหักค่าเสื่อมในอัตราเร่งที่ร้อยละ 50 ของมูลค่าทรัพย์สินในปีแรก และส่วนที่เหลือทยอยหักในระยะเวลา 5 ปี ในการลงทุนในปีภาษี 2556 และ 2557

และการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) ระยะที่ 2 ผ่านสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเปิดรับสมัครผู้ผลิตที่มีความสนใจ และมีความพร้อมในการลงทุนรายใหม่ นอกเหนือจากรายเดิม โดยเงื่อนไขเพิ่มขึ้นกว่าระยะแรก แต่ผ่อนคลายเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรายเดิมด้วยเช่นกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และมาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่เป็นทั้งอาหารและพลังงาน ด้วยการอำนวยความสะดวกผ่อนปรนกฎระเบียบในการจัดตั้งโรงงานผลิตอาหาร โรงงานน้ำตาล และโรงงานเอทานอล เพื่อให้สอดคล้องกับเกษตรโซนนิ่ง

การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รายเล็ก และรายย่อย ผ่านการให้สินเชื่อและค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเร่งรัดการดำเนินการตามโครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในวงเงินเดิม 240,000 ล้านบาท และโครงการ Productivity Improvement Loan ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ในวงเงินที่มีอยู่จำนวณ 20,000 ล้านบาท โดยขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ร่วมสนับสนุนสินค้า OTOP และวิสาหกิจชุมชน และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและอยู่ในระดับที่ไม่เป็นภาระมากจนเกินไป หวังลดการเพิ่งพากู้ยืมเงินนอกระบบ

3.มาตรการด้านการใช้จ่ายภาครัฐจะดำเนินการโดยผ่านการเร่งรัดการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2556 โดยเฉพาะงบพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดของปีงบประมาณ 2556 มีวงเงิน 18,090 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2556 สามารถเบิกจ่ายได้เพียง 7,817 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.2 ของงบประมาณที่ได้จัดสรร จึงเห็นควรเร่งรัดการเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือให้โดยเร็วที่สุด การเร่งรัดการเบิกจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งทั้งในส่วนที่จัดเก็บเอง และรัฐบาลจัดเก็บให้และแบ่งให้ และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

รวมถึงการให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุน SML กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง กองทุนพัฒนาสตรี กองทุนตั้งตัวได้ และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เร่งอัดฉีดเงินออกสู่ระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้น การให้ส่วนราชการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบอบรมสัมมนาในประเทศให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร โดยขอความร่วมมือให้จัดสัมมนากระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต ภายในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2557

4.มาตรการด้านการส่งออก ด้วยการเร่งส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ในกลุ่มประเทศ CLMV และมลฑลย่อยของประเทศจีน เพราะเป็นตลาดมีศักยภาพ และสนับสนุนการใช้เงินบาทในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยผ่อนคลายกฎระเบียบการถือเงินบาทเข้าออกประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าชายแดน และยังให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)เพิ่มบทบาทเชิงรุกช่วยลดความเสี่ยงและสนับสนุนสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการที่จะไปดำเนินธุรกิจด้านการค้า การให้บริการ และการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนการสนับสนุนการท่องเที่ยวอีกทาง คือ การจัดทำวีซ่าประเภทเข้าออกหลายครั้ง (Multiple-Entry Visa) ที่มีระยะเวลาหลายปี โดยให้สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2556 ก่อนฤดูกาลท่องเที่ยวสำคัญปลายปีนี้จะมาถึง การสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอย (Shopping Paradise) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ด้วยยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวและไม่มีผลกระทบหรือมีผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: