ภัยเงียบ-ขวดนมปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง พบในไทยยังขายเกลื่อนตลาดระดับล่าง

ปาลิดา พุทธประเสริฐ ศูนย์ข่าว TCIJ 16 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 5689 ครั้ง

 

‘ขวดนม’ เป็นภาชนะจำเป็นสำหรับเด็กทารก ในการบรรจุนมหรือของเหลวอื่น ๆ เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่รู้หรือไม่ว่าในขวดนมพลาสติกทั่วไปที่นำมาใช้เป็นวัสดุผลิตขวดนม มีสารที่เรียกว่า สารบิสฟีนอล เอ (Bisphenol-A) หรือ สารบีพีเอ (BPA) ปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้ที่ได้รับสารชนิดนี้จะเป็นอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กทารกที่ร่างกายยังต้องการการพัฒนา

 

 

พบขวดนมปนเปื้อนสารก่อมะเร็งในท้องตลาดถึง 80 เปอร์เซนต์

จากการสำรวจขวดนมที่วางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพฯ โดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ไม่มีการจำหน่ายขวดนมที่มีสารบีพีเอ โดยใช้พลาสติกโพลีคาร์บอเนต (PC) แต่จำหน่ายขวดนมที่ใช้พลาสติกชนิดอื่นแทน ได้แก่ โพลีเฟนิลซัลโฟน (PPSU) โพลีอีเธอร์ซัลโฟน (PES) Tritan และติดฉลากปลอดสารบีพีเอหรือ BPA Free ขณะที่มีขวดนมที่เจือปนสารดังกล่าวอยู่ในตลาดระดับล่างไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80

ขณะที่จ.นครพนม มีการสำรวจขวดนมที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า และร้านค้ารายใหญ่ 2 แห่ง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม พบว่า ขวดนมที่จำหน่ายทั้งหมดจำนวน 16 รายการ มีขวดนมที่ปลอดสารบีพีเอ 8 รายการ คิดเป็นร้อยละ 50 เป็นขวดนมที่ทำจากพลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) ปลอดสารบีพีเอ เมื่อเปรียบเทียบราคาของขวดนมที่ปลอดสารบีพีเอ มีราคาระหว่าง 26 – 79 บาท ส่วนขวดนมที่ทำจากพลาสติกโพลีคาร์บอเนต (PC) ซึ่งมีสารบีพีเอ ราคาระหว่าง 19 – 89 บาท

นอกจากนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง สำรวจขวดนมที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและท้องตลาด รวม 3 แห่ง พบว่า ขวดนมที่จำหน่ายทั้งหมดมีจำนวน 18 รายงาน เป็นขวดนมที่ปลอดสารบีพีเอ 14 รายการ คิดเป็นร้อยละ 77.8 โดยพลาสติกทั้งหมดผลิตจาก พลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) ซึ่งปลอดสารบีพีเอ

 

 

งานวิจัยระบุสารบีพีเออันตรายถึงชีวิต

สารบิสฟีนอล เอ หรือสารบีพีเอ เป็นสารเคมีอินทรีย์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกแข็งใส เช่น ขวดนม อาหารและเครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง และบรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถนำเข้าเครื่องไมโครเวฟได้ นิยมใช้กันทั่วไป เพื่อทำให้ขวดพลาสติกมีความใส แข็งแรง ไม่แตกง่าย ทนความร้อนจากการต้มหรือนึ่ง ซึ่งสารชนิดนี้สามารถแพร่กระจายออกจากเนื้อพลาสติกมาปนเปื้อนในอาหารได้ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับอาหารร้อน ทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้

ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับสารบีพีเอโดยตรง คือ กลุ่มทารกและเด็กเล็ก (อายุแรกเกิดถึง 18 เดือน) รวมทั้งหญิงมีครรภ์ เนื่องจากเด็กที่ร่างกายกำลังมีการพัฒนามีความเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด กลุ่มเสี่ยงนี้มีความสามารถกำจัดสารบีพีเอในร่างกายได้น้อยกว่าคนปกติ ดังนั้นขวดนมพลาสติกที่มีสารบีพีเอ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของทารกและเด็กเล็กได้ง่าย และรุนแรงกว่าวัยอื่น

จากการศึกษาและวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความเห็นตรงกันว่า สารบีพีเอในขวดนมเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นสารที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพมากมาย เช่น โรคต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านม อ้วนผิดปกติ ภาวะไม่อยู่นิ่ง เบาหวาน ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง จำนวนอสุจิลดลง และเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าปกติ มีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาท อวัยวะสืบพันธุ์และพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ก้าวร้าว สมาธิสั้น ปัญหาทางอารมณ์ ความเบี่ยงเบนทางเพศ และส่งผลกระทบต่อการขัดขวางพัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ จดจำ โดยตัวอ่อนในครรภ์มารดา ทารกและเด็กเล็กสามารถได้รับสารบีพีเอผ่านทางรกของมารดา นม และสิ่งแวดล้อม

 

 

ทั่วโลกงดใช้สารบีพีเอในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก

ในต่างประเทศมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา เช่น ในสภาพยุโรป มีการประกาศห้ามใช้สารบีพีเอในผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเด็ก ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 รวมทั้งในประเทศอื่น ๆ มีการดำเนินมาตรการเช่นเดียวกัน ได้แก่ ประเทศแคนาดา ตุรกี สวีเดน จีน มาเลเซีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา จำนวน 9 รัฐ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐวิสคอนซิน รัฐมินนิโซตา เป็นต้น ปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขของจีน และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีก 5 กระทรวง ห้ามนำสารบีพีเอ มาใช้เป็นส่วนประกอบผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับเด็ก เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็กทารก โดยประกาศห้ามผลิตมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังประกาศห้ามนำเข้าและขายขวดนมที่มีสารบีพีเอและมีผลบังคับใช้แล้ว

สำหรับประเทศไทย เริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้น เมื่อพบขวดนมที่เจือปนสารดังกล่าว อยู่ในตลาดระดับล่างไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 วันที่ 9 ตุลาคม 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความเห็นและข้อเสนอ ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง “การจัดการสารบีพีเอในขวดนมและภาชนะบรรจุอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก” โดยเห็นควรให้รัฐดำเนินการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประกาศให้มีการแสดงฉลากคำเตือนบนภาชนะบรรจุอาหารทุกชนิดที่มีสารบีพีเอเป็นส่วนประกอบ โดยให้ระบุว่า “ภาชนะนี้มีสารบีพีเอเป็นส่วนประกอบอาจมีผลเสียต่อสุขภาพ” หรือประกาศให้ภาชนะบรรจุอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่มีสารบีพีเอเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ภายในปี พ.ศ.2555 และคาดว่าจะมีการดำเนินการบังคับใช้ภายในต้นปี พ.ศ.2556

ทั้งนี้ทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีมาตรการในการยกเลิกผลิตและจำหน่ายขวดนมและภาชนะบรรจุอาหารสำหรับเด็กที่มีสารบีพีเอ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันรณรงค์เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับอันตรายของสารบีพีเอ เฝ้าระวังความเสี่ยงและการป้องกันความเสี่ยงในทารก เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร

 

 

ดูตัวเลขบนขวดนมหลีกเลี่ยงสารบีพีเอ

ส่วนวิธีการหลีกเลี่ยงจากสารบีพีเอ ให้สังเกตภาชนะพลาสติก ประเภทรีไซเคิล ที่มีตัวเลข 7 และกำกับด้วยข้อความ OTHER เนื่องจากตัวเลขบนขวดนมเป็นการบอกชนิดของพลาสติก ที่นำมาเป็นส่วนประกอบในการผลิต ซึ่งขวดนมที่มีเลข 7 กำกับอยู่นั้น เป็นพลาสติกชนิดอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงโพลีคาร์บอนเนต หรือมีสารบีพีเอ ทั้งนี้ในขวดนมบางยี่ห้ออาจมีตัวเลข 7 กำกับอยู่ แต่มีข้อความระบุว่า “BPA Free” อาจหมายความว่า ใช้สารชนิดอื่นที่จัดอยู่ในตัวเลข 7 แต่ไม่มีสารบีพีเอเป็นส่วนประกอบนอกจากนั้นภาชนะพลาสติกประเภทรีไซเคิลที่มีเลข 3 หรือประเภท PVC เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ทำให้สารบิสฟีนอล เอ สามารถปนเปื้อนออกมาจากภาชนะได้ เมื่อภาชนะนั้นสัมผัสกับความร้อน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: