ละครสุภาพบุรุษจุฑาเทพ สะท้อนคนไทยยังรักเจ้า

พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 12 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2688 ครั้ง

 

 

เป็นกระแสที่คงจะปฏิเสธไม่ได้สำหรับละครชุด “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” ที่โด่งดังจนกลายเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมกับเนื้อหาที่แม้จะดูไม่แตกต่างจากแนวทางของนิยายไทยทั่วไป แต่กลับสร้างความฮือฮาในสังคมปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่องหลังการออกอากาศได้ไม่กี่ตอน

 

สิ่งที่เกิดขึ้นจนถูกเรียกว่าปรากฎการณ์นี้เป็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของการขาดความเชื่อถือในระบบการควบคุมดูแลกันเองของสื่อถูกลดทอนลงไป เมื่อละครหลังข่าวช่องเดียวกันอย่าง “เหนือเมฆ” ถูกระงับการออกอากาศโดยไม่มีการอธิบายเหตุผล การกลับมาของละครบันเทิงหลังจากนั้นยังจะสามารถผูกใจคนดู หรือผู้รับสื่อได้เหมือนเดิมหรือไม่เมื่อ คนดูส่วนหนึ่งหันไปเลือกชมสื่ออื่นมากกว่าการยึดฟรีทีวีเป็นแหล่งบันเทิงหลัก ความพยายามในการเรียกความสนใจจากผู้ชมกลุ่มเดิมกลับมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ และ”ปรากฎการณ์” นี้ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธิ์ที่ถูกนำมาใช้มากขึ้นในระยะหลัง

 

 

วางแผนการตลาดอย่างมีระบบ

 

 

ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในระหว่างการเสวนาเรื่อง “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ: ความสำเร็จของละครโทรทัศน์ยุคสื่อไร้พรมแดน” ว่า หากพิจารณาจากความสำเร็จของละครชุดนี้ น่าจะอยู่ที่การเตรียมพร้อมในทุกขั้นตอนการผลิต โดยเฉพาะการวางแผนการตลาดที่มีรูปแบบให้เห็นเป็นรูปธรรมเด่นชัด ตั้งแต่การคัดเลือกผู้แสดงใหม่ ระหว่างการถ่ายทำ ระหว่างออกอากาศหรือแม้แต่หลังละครออกอากาศไปแล้ว ซึ่งถือเป็นแนวทางการทำงานอีกแนวหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิง

 

ดร.ธเนศกล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญคือการที่ละครประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นกระแส สะท้อนให้เห็นถึง การหลีกหนีจากชีวิตจริงของคนในยุคนี้ มีการโหยหาอดีต วัฒนธรรมการเสพศิลปะแบบดั้งเดิมที่หวนกลับไปหาของเดิมคล้ายกับการดูลิเกในสมัยก่อน เหมือนแม่ยกติดพระเอกลิเก  อีกทั้งการใส่ใจในรายละเอียดสิ่งของเครื่องใช้ที่ผู้กำกับทำให้นึกถึงภาพในอดีต ที่น่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งจะถูกนำมาใช้มากขึ้นในระยะหลัง

 

 

          “ผู้ชมยินดี ที่จะดูเรื่องซ้ำ ๆ ทั้งที่รู้อยู่แล้ว แต่เราไปติดตามดูลายละเอียดอื่น ๆ ดูข้าวของเครื่องใช้ ดูพระเอกหน้าตาดี ๆ เหมือนแม่ยกลิเกที่ติดพระเอกลิเก การโหยหาอดีตที่มันผ่านมา เพราะเราไม่เคยพอใจปัจจุบัน ละครมาทำหน้าที่พาเราหลีกหนีออกจากโลกปัจจุบัน” ดร.ธเนศกล่าว

 

 

ความนิยมสะท้อนคนไทยยังรักเจ้า

 

 

ขณะที่ ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ เจ้าของนามปากกา‘ปราณประมูล’ ผู้เขียน สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ตอนคุณชายพุฒิภัทร เชื่อว่าความสำเร็จของละครชุดสุภาพบุรุษจุทาเทพ สะท้อนภาพของสังคมอุดมคติ เนื่องจากสังคมปัจจุบันมีความขัดแย้งมากมาย ทั้งเรื่องของการเมือง และเรื่องของการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งละครเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า คนในสังคมยังเชื่อมั่นในสถาบันพระกษัตริย์ ละครที่นำเสนอออกมาในลักษณะนี้แม้จะไม่เด่นชัดนัก แต่ภาพความสำเร็จก็เพียงพอที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของคนในสังคมได้

 

 

            “ยุคนี้เป็นยุคที่มีการพูดเรื่องการล้มเจ้า การเสื่อมโทรมของชนชั้น แต่ปรากฏการณ์ที่เห็นได้จากเรื่องนี้คือ คนไทยรักเจ้า แต่ต้องเป็นเจ้าที่ดี และเรื่องนี้ก็มีทั้งตัวอย่างของเจ้าที่ดีและเจ้าที่ไม่ดีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในเรื่องเจ้าที่ดี ก็ไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้าง เจ้าพวกนี้ทำงานมืออาชีพ ไม่ได้เป็นมรดกอย่างเดียว คุณชายในเรื่องทุกคนทำงานมีอาชีพมีเงินเดือน และทำประโยชน์ให้กับสังคม ส่วนนางเอกก็ไม่ใช่ผู้หญิงสวยเพียงอย่างเดียว แล้วมีสามีเป็นเจ้า เพื่อเลื่อนฐานะ ทุกคนทำงาน มีเกียตริ มีศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นตัวอย่างของพระเอกนางเอกในอุดมคติ ที่เราหาไม่เจอในโลกรอบๆตัว” ปราณประมูลระบุ

 

 

ฉากไม่แรงก็ดังได้ เพราะดูได้ทุกกลุ่ม

 

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งจากความบันเทิงในเรื่องนี้ คือการทำลายความเชื่อเก่า ๆ ที่เคยถูกสร้างมาในอดีตเกี่ยวกับความรุนแรงของเนื้อหาละคร ที่เคยถูกเชื่อว่าละครจะได้รับความนิยมตามความแรงของเนื้อหา ยิ่งถูกพูดถึง วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบมากเท่าไหร่ ก็มักจะเป็นตัวกระชากเรตติ้งได้มากเท่านั้น ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับละครชุดนี้เห็นว่า กระแสที่เกิดขึ้นของ ซีรีส์เทพบุตรจุฑาเทพ ทำให้เห็นแล้วว่าไม่จำเป็น

 

 

          “ละครไทยในปัจจุบันที่ประสบความสำเร็จ ได้รับความนิยมสูง ไม่จำเป็นต้องเป็นละครที่มีเนื้อหารุนแรง ในเชิงของชู้สาว อย่างดอกส้มสีทอง หรือมีฉากตบตีระหว่างนางเอกกับตัวอิจฉา อีกต่อไป แต่เป็นละครที่สามารถดูได้ทั้งครอบครัว และเป็นละครที่พ่อและแม่วางใจให้ลูกดู เพราะนั่นหมายถึงการสร้างกลุ่มคนดูที่มากขึ้นนั่นเอง” สมจริง ศรีสุภาพ ผู้กำกับ สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ตอนคุณชายปวรรุจ แสดงความคิดเห็น

 

ขณะเดียวกัน การสร้างตัวละครที่เหมือนอ้างอิงประวัติศาสตร์ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้คนดูรู้สึกและสัมผัสได้  และก็เป็นหนึ่งในกลยุทธิ์ที่ถูกนำมาใช้ในการทำละครเรื่องนี้ด้วย

 

 

          “ก่อนเขียนนิยายจะมีการกำหนดเรื่อง โดยเน้นประเด็นทางสังคมเป็นสำคัญ ใช้เหตุการณ์ทางสังคมในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง การกำหนดตัวละครและอาชีพของตัวละคร โดยดูจากค่านิยมในยุคสมัยนั้น ซึ่งการกำหนดตัวละครแต่ละตัวก็เป็นบุคคลที่มีตัวตนเองจริงไม่เว้นแม้กระทั่ง ท่านพินิจในคุณชายพุฒิภัทร ที่หากไปค้นประวัตศาสตร์คนดูก็จะรู้ว่าเป็นใคร”  ประดับเกียรติ ตุมประธาน บรรณาธิการสำนักพิมพ์ พิมพ์คำ และ ทิพยวไลย์ สุพันธ์วณิช เจ้าของนามปากกา ‘แพรณัฐ’ ผู้เขียนนวนิยาย ตอนคุณชายรณพีร์ กล่าว

 

 

วิเคราะห์วรรณกรรม‘สุภาพบุรุษจุฑาเทพ’

 

 

สำหรับในมุมของวรรณกรรมนั้น ผศ.ดร.ธเนศ เห็นว่า ความสำเร็จของละครสุภาพบุรุษจุฑาเทพ นอกจากการวัดเรทติ้งของสถานีโทรทัศน์แล้ว สามารถพบเห็นได้จาก ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทั้ง การนำชื่อตัวนำของละครมาตั้งชื่อลูก การเกิดกระแสภาพล้อเลียนต่าง ๆ ทั้งภาพการยืนโพสต์ท่าของห้าคุณชาย การล้อเลียนโดยการนำภาพใบหน้าของตนเองใส่แทนตัวละครที่อยากจะเป็น หรือแม้กระทั่งในธุรกิจ เกิดธุรกิจใหม่รับทำหน้าต่างเลียนแบบวังจุฑาเทพก็มีให้ได้พบเห็น

 

ดร.ธเนศกล่าวต่อว่า หากหาคำที่เหมาะสมในการเรียกละครสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ‘ละครเถา’ เป็นคำที่เหมาะสม เพราะละครเหมือนกับปิ่นโตเถามีแกนของเรื่องและการนำเรื่องมาร้อยเรียงกัน ผู้ชมสามารถเลือกสิ่งที่ชอบได้ หากไม่ชอบก็สามารถคัดออกไปเหมือนกับการถอดชั้นของปิ่นโต

 

เรื่องของอารมณ์และเนื้อหา สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ไม่มีฉากที่สื่อถึงอารมณ์และความรุนแรง ฉากตบตี ด่าทอกันด้วยถ้อยคำรุนแรง แต่สามารถได้รับความนิยมจากประชาชน การพูดถึงในวงกว้างและเกิดเป็นกระแสอย่างยาวนาน โดยละครดังกล่าวมีแนวคิดของเรื่องคือ รักแท้เหนือกาลเวลา มีแก่นของเรื่องที่หลากหลาย ซึ่งชื่อของตัวละครบอกความเป็นตัวตนและแก่นของเรื่องได้

 

ชื่อตัวละคร

ความหมาย

แก่นเรื่อง

ธราธร

ผู้ทรงไว้ซึ่งแผ่นดิน

การทำนุบำรุงสมบัติของชาติ

ปวรรุจ

ผู้มีความรุ่งเรืองและประเสริฐ

การพิสูจน์ความเป็นสภาพบุรุษ

พุฒิภัทร

ผู้มีความมั่นคงด้วยวุฒิ

รักต่างชนชั้น

รัชชานนท์

ผู้มีความยินดีในความเป็นพระราชา

การกู้ชาติ

รณพีร์

ผู้กล้าในสนามรบ

การเผชิญความกลัว

 

 

แนวเรื่องใช้สูตรที่มีอยู่ในวรรณกรรมทั้ง Exotic ปลอมตัว ผจญภัย ซินเดอเรลลา แม่ผัวลูกสะใภ้ นางงามตกยาก เจ้าหญิงพลัดถิ่น เป็นต้น ด้านปมขัดแย้งหลักของเรื่อง คือ สัญญาใจของสองตระกูล แต่ความเป็นจริงแล้วมีปมขัดแย้งที่เป็นคู่ตรงข้ามมากมาย เช่น สาวบ้านป่ากลายเป็นเจ้าหญิง ความดีความเลว การใช้ภาษาถิ่นและภาษาเมือง สถานภาพต่ำและสูง มีการอิงกับบทบาทตัวละครดั้งเดิม เช่น กรองแก้วถูกลักพาตัวไปทำให้ถูกเข้าใจผิด คล้ายกับนางสีดาถูกทศกัณฑ์ลักพาตัวไป และท้ายที่ละครสุภาพบุรุษจุฑาเทพได้สร้างวาทกรรม ในเรื่องของคุณธรรม ความดี ลูกผู้ชาย ความรักชาติบ้านเมือง รักเกียรติยศ

 

แม้ละครจะจบไปแล้ว แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นที่สะท้อนให้เห็นความรู้สึกของคนในสังคมปัจจุบัน รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง จะยังคงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อเนื่องไปทั้งในแวดวงอุตสาหกรรมบันเทิงที่กำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในไม่ช้า และในเชิงของประวัติศาสตร์ที่ทำให้เห็นว่า ในยุคที่คนไทยอยู่ในภาวะตึงเครียด และสังคมที่แตกแยก ความบันเทิงในรูปแบบของละคร ยังคงสามารถช่วยบรรเทาความรู้สึกหนักๆ ให้ผ่อนคลายไปได้ไม่มากก็น้อย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: