เบื้องหลังเลือก‘ขุนศึก’2พรรคใหญ่ ใครคือเจ๊ดัน'พงศพัศ'ชิงผู้ว่ากทม. ทำไม'สุขุมพันธุ์'ไม่เปิดทางคนอื่น

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 7 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2854 ครั้ง

 

กระดานการเมือง ในปี 2556 จะถูกชักเขย่อ ด้วยเหตุของการแข่งขัน ของ 2 พรรคใหญ่เป็นหลัก

เริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรก ที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

 

ศึกเสาชิงช้าอย่างเป็นทางการจะเริ่มต้นขึ้นทันทีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เจ้าของแชมป์  พ้นจากวาระการดำรงตำแหน่ง และพรรคประชาธิปัตย์ประกาศให้ลงสนาม ทวงแชมป์คืนหวังสร้างตำนาน การครองเก้าอี้พ่อเมือง 8 ปี ติดต่อ 2 สมัย

 

หากเป็นไปตามคำประกาศของ นางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง คนกรุงเทพฯ จะได้ระบายความรู้สึก และแสดงเหตุผลทางการเมือง ในคูหาเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ตามปฏิทินของคณะกรรมการเลือกตั้ง ระบุไว้คร่าว ๆ ว่า วันที่ 11 มกราคม 2556 จะมีการเสนอร่างประกาศให้มีการเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา

 

จากนั้นวันที่ 12 มกราคม 2556 กกต. กรุงเทพมหานคร จะเห็นชอบประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

 

ผู้สมัครทุกคนจะเดินทางไปรับสมัคร และจับหมายเลข ในวันที่ 14-18 มกราคม 2556 พร้อมกระบวนการ ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครภายในวันที่ 25 มกราคม 2556

 

จากนั้น กกต.ใครมีคุณสมบัติลงรับสมัครเลือกตั้ง และประกาศบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 27 มกราคม 2556

 

ณ เวลานี้ บนแผงทางเลือกที่ขึ้นป้าย เปิดหน้า โชว์ตัวแล้ว คนเมืองกรุงฯ จะมีตัวเลือก ไม่น้อยกว่า 4 ชื่อ

 

ชื่อแรกพรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย เปิดชื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชื่อที่สองเปิดตัวนาทีสุดท้ายก่อนขึ้นศักราชใหม่ ยอมส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าผู้สืบเชื้อสายจากราชตระกูล ในรัชสมัย รัชกาลที่ 4 ลงสู้อีกสมัย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชื่อที่สาม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ประกาศลงสมัคร ในนามอิสระ เริ่มเดินสายหาเสียงตามชุมชนทั่วหัวเมืองแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชื่อที่สี่ นายสุหฤท สยามวาลา เปิดตัวในสังคมออนไลน์ ในโลกทวิตเตอร์ ใช้นาม @ Suharit เป็นผู้สมัครอิสระ ใช้โปรไฟล์ “ศิลปินนักธุรกิจ” อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชเอ สยามวาลา จำกัด และนักร้อง ดีเจ. นักแต่งเพลง ขวัญใจเด็กแนว เจ้าของฉายา "พ่อมดอิเล็กทรอนิกส์" ผู้แนวคิด การแต่งกาย และสไตล์การแต่งตัวที่แตกต่างไปจากชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทว่าชื่อที่โลกการเมืองจับตา ในนามสงครามตัวแทนเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ในนามฝ่ายเหลือง+ฟ้ากับฝ่ายแดง  มีเพียง 2 ชื่อ ใน 2 ขั้วการเมืองเท่านั้น

 

ชื่อที่คนกรุงเทพฯ ต้องตัดสินใจเด็ดขาด มีเพียงแชมป์เก่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ เท่านั้น

 

แต่กว่าจะเป็นชื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในฝ่ายเพื่อไทย ซึ่งมีก๊ก-เหล่าการเมืองนับสิบก๊ก และทุกก๊กต้องขึ้นตรงกับการตัดสินใจของ 2 ประมุขตระกูล คือ วงศ์สวัสดิ์และชินวัตร

 

พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องรัดกุมในการลงสนาม เพราะเท่ากับเป็นการล้มแชมป์ ครั้งที่สาม หลังจากได้ลิ้มรสความพ่ายแพ้มาแล้วถึง 3 สมัย

 

สมัยที่แรก ยุคที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจ ในนามรัฐบาลไทยรักไทย คนกรุงเทพฯ ระบายความคับแค้นด้วยการเลือก นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2547    เอาชนะ นางปวีณา หงสกุล ที่เปิดตัวเป็นผู้สมัครอิสระ แต่เป็นที่รับรู้ทางการเมืองว่าพรรคไทยรักไทยเป็นผู้สนับสนุน

 

สมัยที่สอง ยุคพรรคเพื่อไทยผลัดใบเป็นพรรคพลังประชาชน นายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นกุมบังเหียน ส่งนายประภัสร์ จงสงวน เจ้าตำรับนักขายฝันโครงการยักษ์ ลงแข่งกับแชมป์เก่าประชาธิปัตย์ ที่ยังให้นายอภิรักษ์ ยืนสู้ต่อไปสมัยที่สอง และก็เป็นไปตามคาดฝ่ายประชาธิปัตย์ชนะเข้าป้ายผู้ว่ากทม.สมัยที่สอง โดยมีปัจจัยแทรกซ้อนเมื่อม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ลงชิงคะแนนไป 200,000 แต้ม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สมัยที่สามเมื่อนายอภิรักษ์ ถูกย้อนศรด้วยคดีจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูล ความผิดคดีรถและเรือดับเพลิง จำใจต้องอำลาตำแหน่งก่อนเวลาอันควร ในวาระนี้ชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ปรากฎขึ้นในเสาชิงช้าครั้งแรก และได้รับชัยชนะเหนือ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ตัวแทนพรรคเพื่อไทย สายคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์

 

ในสนามเลือกตั้งระดับประเทศในรอบ 10 ปี ไม่มีครั้งไหนที่ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะพ่ายแพ้เลือกตั้ง 3 ครั้ง ชนะทั้ง 3 ครั้ง

 

ทั้งในยุคไทยรักไทย-พลังประชาชนและเพื่อไทย ถ่ายเลือดใหม่มา 3 ครั้ง 3 พรรค แต่ยังไม่สามารถชิงเก้าอี้เจ้าพ่อเมืองหลวง ไปจากพรรคประชาธิปัตย์ได้

 

สงครามชิงเสาชิงช้า ในพ.ศ.2556 จึงดุเดือดเข้มข้น ยิ่งกว่าครั้งใดในรอบทศวรรษ

 

กว่าพรรคเพื่อไทยจะคัดสรรชื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ จึงต้องฟ่าฟัน ในดงเจ้าแม่เมืองหลวง แห่งพรรคเพื่อไทยอยู่นานหลายเดือน

 

ชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ถูกเปิดทั้งใต้ดิน บนดิน เพื่อลงชิงเก้าอี้เจ้าแม่เมืองหลวงอย่างเต็มรูปแบบ หากไม่มีชื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ เสียบเข้ามาในนามของ 3 เจ๊ ทั้งเจ๊แดง-เจ๊ปู และเจ๊อ้อ เป็นแบ็คให้อย่างแน่นหนา

 

 

 

อาจกล่าวได้ว่า ตระกูลชินวัตร 3 สาย ทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์-นางเยาวภาและคุณหญิงอ้อ ต่างให้การสนับสนุน “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

 

ด้วยเหตุผลสั้น ๆ ไม่ต้องการให้ผู้หญิงอีกคนมาแย่งซีนนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ของพรรคเพื่อไทย เพราะเหตุเคยเกิดให้เห็นมาแล้ว เมื่อครั้งเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศ เมื่อปลายปี 2554 มีนารีอีกนางเข้าไปแย่งซีนปฏิบัติการลงพื้นที่ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ชี้นิ้วสั่งการแก้ปัญหา ข้ามหน้านายกรัฐมนตรี

 

ขณะที่กลุ่ม ส.ส.-ส.ก.และ ส.ข.กทม.ของพรรคเห็น ต่างส่งเสียงสนับสนุนให้ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ ภายใต้การสนับสนุนของ ส.ส.กทม.10 เสียง

 

เมื่อผู้มีบารมีในเมืองไทย ปิดล็อก ทำให้มีข่าวว่าคุณหญิงสุดารัตน์ ต้องเดินทางไกลไปเจรจากับผู้มีบารมีนอกพรรคถึงฮ่องกง แต่ก็ไร้สัญญาณตอบรับ

 

กุญแจประตูเมือง ถูกส่งให้ พล.ต.อ.พงศพัศ รับไปไขรหัสที่เสาชิงช้า

 

ทำให้ “คุณหญิงสุดารัตน์” ประกาศถอนตัว โดยอ้างว่ายังมีภารกิจงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ ต้องสานต่อ

 

เมื่อนารีตึกไทยคู่ฟ้าประสานมือเจ้าแม่วังบัวบาน และประมุขแห่งบ้านจันทร์ส่องหล้า ใครก็ไม่กล้าเข้าขวาง

 

ไม่นับรวมก๊วน เจ้าพ่อเมืองกรุงโซนฝั่งธนบุรี ที่มีชื่อ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกฯ ที่ร่วมวงขวางคลองบางกอกน้อย กั้นไม่ให้ “คุณหญิงสุดารัตน์” ได้เปล่งบารมี

 

 

 

แผน 30 วันอันตราย นับถอยหลัง สู่เลือกตั้งผู้ว่ากทม.ของพรรคเพื่อไทย จึงพิถีพิถัน คัดสรร ทั้งแคมเปญ เปิดตัวอย่างแยบคาย

 

ทั้งให้ พล.ต.อ.พงศพัศ เดินสายเปิดงาน จัดอีเวนต์ในชุมชนร่วมกันเปิดหน้าสร้างงานปราบปรามยาเสพติด สร้างความปลอดภัยให้คนเมืองหลวงร่วม กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

 

ขณะที่ในสายของพรรค ให้มีการเปิดแผลฝ่ายตรงข้าม ทั้งเรื่องทุจริต ผิดพลาด บกพร่อง ขยายแผล หวังผลการเมือง บี้ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งการแก้ปัญหาน้ำท่วม+ความผิดพลาดเรื่องสนามฟุตซอลอารีน่าที่สร้างเสร็จ ล่าช้ากว่ากำหนด จนฟีฟ่าไม่ประกาศรับรองให้ใช้ในการแข่งขันฟุตซอลโลก  

นอกจากนี้ ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้จัดทำนโยบายด้านชีวิต-ทรัพย์สิน ตั้งแต่ตื่น-จนถึงเข้านอน สร้างเศรษฐกิจ กทม.ให้แข็งแกร่ง ใต้คอนเซ็ปต์ “กรุงเทพฯ เมืองสร้างรายได้” ในการรณรงค์หาเสียงอย่างคึกคัก

 

แม้โพลหลายสำนักจะระบุว่า หาก “พล.ต.อ.พงศพัศ” ยังมีแต้มห่างจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จากพรรคประชาธิปัตย์  แต่ตำแหน่งรองผบ.ตร.จะยังถูกเก็บสำรองไว้สำหรับผู้ปราชัย

 

ไม่ต่างจากศึกในพรรคประชาธิปัตย์ ในระหว่างการคัดสรรผู้รักษาเก้าอี้แชมป์อีกสมัยในโค้งสุดท้าย หลังพิธีกรรมคัดสรรผู้เสนอตัว 4 คน กับอีก 1 ตัวสอดแทรก ประกอบด้วย  ดร.ประกอบ จิรกิติ, นายอภิชัย เตชะอุบล, นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  บริพัตร กับอีก 1 ชื่อคือ นายกรณ์ จาติกวณิช

 

แต่ท้ายที่สุดก็เลือก คนเก่า อย่าง คุณชายสุขุมพันธ์ ลงแข่ง โดยให้อดีตผู้ว่าฯ 2 สมัย “อภิรักษ์ โกษะโยธิน”รองหัวหน้าพรรค เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง ภายใต้การการกำกับนโยบายของ “กรณ์ จาติกวณิช” ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ภาคกทม.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นโยบายที่จะออกเป็นแคมเปญของฝ่ายประชาธิปัตย์ อาทิ นั่งรถไฟฟ้าฟรี ฝนตกรถไม่ติด รวมถึงปั้น กทม.เป็นเมืองน่าอยู่

 

ส่วนแนวคิดการเมืองจะใช้คีเวิร์ด “เลือกเพื่อไทยเป็นรัฐบาลบ้านเมืองยังวุ่น ถ้าเลือกเป็นผู้ว่าฯประเทศชาติคงถึงหายนะ” เป็นแคมเปญใต้ดิน

 

แคมเปญบนดิน ใช้คีเวิร์ด “เลือกหนึ่งเหมือนได้สอง” เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ทีมงานเป็น “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” ร่วมบริหารด้วย

 

ศึกชิงเสาชิงช้าในศักราชนี้ ไม่ใช่แค่เดิมพันของ 2 พรรคเท่านั้น แต่เป็นเดิมพันของคนเมืองหลวง ปะทะกับตัวแทนคนเมืองเหนือ+อีสาน ด้วย

 

หมายเหตุ อ่านประวัติว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ได้ที่คอลัมน์จับตา http://www.tcijthai.com/tcijthai/view.php?ids=1802

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: