'นายกฯพระราชทาน'มีจริงหรือ?

19 มิ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 6155 ครั้ง


 

นอกจากนี้การบริหารราชการแผ่นดินมีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักโทษอาญาหนีคดีที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศเป็นผู้สั่งการ โดยใช้อำนาจระบบรัฐสภาที่มีพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว.บางส่วนก่อตั้งระบอบเผด็จการเสียงข้างมาก โดยไม่นำพาเสียงคัดค้านของประชาชน อาทิ การแก้รัฐธรรมนูญ หรือพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อล้างผิด อีกทั้งใช้กำลังปราบปรามประชาชน โดยใช้มวลชนข่มขู่องค์กรตุลาการ และประชาชนที่เห็นต่าง แต่รัฐบาลยังนิ่งเฉยโดยหวังผลกดดันให้กลุ่มเหล่านี้จำยอมต่อการนิรโทษกรรมพวกพ้อง

 

แต่ต่อมานายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติรักแผ่นดิน  และน.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ได้กล่าวปฏิเสธกับสื่อมวลชนว่าไม่ได้ยื่นทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 และเนื้อหาของฎีกาก็ไม่ได้ระบุถึงเรื่องนี้ เจตนารมณ์ในการรวมชื่อกว่า 9 ล้านรายชื่อ เพื่อบอกถึงการไม่ยอมรับอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลปัจจุบัน

 

การยื่นถวายฎีกาเคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2549 กลุ่มนักวิชาการ วุฒิสมาชิก ราชนิกูล แพทย์อาวุโส ศิลปินแห่งชาติ นำโดย ม.ร.ว.หญิง ยงยุพลักษณ์ เกษมสันต์ และดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ผู้อำนวยสถาบันสหสวรรษ ได้เดินทางไปยื่นถวายฎีกาที่สำนักพระราชวัง เพื่อขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และบริหารประเทศจนกว่าการเลือกตั้งใหม่จะแล้วเสร็จ

 

ฎีกาดังกล่าว ลงนามโดยนักวิชาการ 96 คน นำโดย นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. นายปราโมทย์ นาครทรรพ นายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งราชนิกูลกว่า 10 ท่าน ซึ่งการถวายฎีกาครั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540

 

รายละเอียด ของฎีกา มีดังนี้

5 มีนาคม 2549

 

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

 

ตามที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำการยุบสภา โดยมิได้มีเหตุอันควรที่ถือธรรมเนียมปฏิบัติ ตามครรลองของระบบรัฐสภา การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นการทำลายระบบรัฐสภาแล้ว ยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ประชาชนได้มาชุมนุมมากขึ้นเป็นลำดับ กลุ่มบุคคลผู้หวังดีต่อประเทศชาติหลายกลุ่มเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่ก็ไม่เป็นผล นายกรัฐมนตรีกลับสั่งให้มีการระดมประชาชนเพื่อมาสนับสนุนตนเอง โดยไม่ใส่ใจต่อคำเรียกร้องของประชาชน

 

บัดนี้ พรรคฝ่ายค้านได้ตกลงร่วมกันไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะทำให้พรรคไทยรักไทยกลายเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวในสภา การต่อต้านของประชาชนจะมีมากขึ้นทั้งก่อนระหว่างและหลังการเลือกตั้งนำไปสู่สภาวการณ์ที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ

 

ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นทางออกใดนอกจากการขอพระราชทานพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมขอพระมหากรุณาเป็นที่พึ่งขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยนำจารีตประเพณีการปกครอง ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีรัฐบาลชั่วคราวทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญและดูแลเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นการเริ่มต้นกิจกรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยใหม่ โดยพรรคการเมืองทุกพรรคมีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมและบริสุทธิ์ยุติธรรม

 

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

 

ข้าพระพุทธเจ้า

นายแพทย์มงคล ณ สงขลา

ม.ร.ว. ยงยุพลักษณ์ เกษมสันต์ ขอเดชะ

 

 

ขออนุญาตยกบทความ ‘มาตรา 7 กับ นายกพระราชทาน’ ของคุณศิระณัฐ วิทยาธรรมธัช เผยแพร่ทาง www.pub-law.net เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งขณะนั้นคุณศิระณัฐเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความกระจ่างและแง่มุมความรู้เกี่ยวกับมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540 ว่าเหตุใดจึงสามารถมีนายกพระราชทานและยอมรับได้ในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

 

 

มาตรา 7 กับ นายกพระราชทาน

โดย คุณศิระณัฐ วิทยาธรรมธัช นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2 เมษายน 2549

 

 

หลายท่านคงทราบกันดีถึงกระแสการเมืองในประเทศของเรา ณ ขณะนี้ซึ่งมีทั้งกลุ่มสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและกลุ่มต่อต้านนายกรัฐมนตรี ข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีก็มีหลากหลายนับตั้งแต่ให้ลาออก ให้เว้นวรรคทางการเมือง แต่ข้อเสนอล่าสุดและน่าจะเป็นข้อเสนอสุดท้ายแล้วคือ การขอพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทานและคณะรัฐมนตรีพระราชทาน(จากนี้ไปจะขอเรียกโดยย่อว่านายกพระราชทาน)เป็นการชั่วคราวเพื่อแก้ไขวิกฤตทางการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มที่เรียกร้องดังกล่าวได้อ้างมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์ในการพระราชทานนายกรัฐมนตรี

 

       แต่ก่อนที่จะได้พิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวมีความเป็นไปได้หรือไม่ควรจะได้แยกการคิดเป็นประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้

      

 

       มาตรา 7 มีความหมายว่าอย่างไร

 

 

       มาตรา 7 ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

       บทบัญญัติในลักษณะนี้มิได้เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่เคยมีความลักษณะดังกล่าวปรากฏเป็นครั้งแรกในธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นฉบับเผด็จการ เพียงแต่ยังไม่มีคำว่า “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ต่อท้าย สาเหตุที่ต้องมีบทบัญญัติดังกล่าวน่าจะเป็นเพราะว่าธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีเพียงไม่กี่มาตราจึงจำเป็นต้องมีบทที่ให้อำนาจในการวินิจฉัยหากไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญบังคับถึงกรณีนั้นๆ ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ บทบัญญัติในนี้ยังไปปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆซึ่งเขียนโดยคณะปฏิวัติรัฐประหารเรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ซึ่งยังมีบทบัญญัตินี้อยู่โดยเพิมวลี “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ต่อท้ายไปด้วย ขณะที่รัฐธรรมนูญที่บัญญัติขึ้นจากการมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคมคือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 กลับไม่มีบทบัญญัตินี้

 

       ฉะนั้นแล้วเหตุใดจึงมีบทบัญญัติดังกล่าวในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ได้ชื่อว่าเป็นฉบับประชาชน

 

       ที่มาน่าจะเกิดมาจากการนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 มาใช้เป็นต้นแบบแก่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ตามการที่จะบอกว่าบทมาตรา 7 ในปัจจุบันมีความเหมาะสมเป็นประชาธิปไตยหรือไม่คงมิได้พิจารณาเพียงตามถ้อยคำเท่านั้นแต่ยังต้องดูถึงแนวทางในการใช้บังคับอีกด้วย มาตรา 7 ในบริบทของปัจจุบันจึงไม่ควรถูกตีค่าว่าเป็นมาตราจากรัฐธรรมนูญเผด็จการและการใช้บทบัญญัติมาตรา 7 ก็ต้องระวังไม่ให้เป็นการใช้อำนาจอันไม่เหมาะสมโดยอ้างมาตรานี้เสมือนจะบอกว่าการกระทำอันไม่เหมาะสมดังกล่าวเป็นลักษณะของประชาธิปไตยแบบไทยๆซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

 

 

       จากส่วนประกอบของมาตรา 7 มีคำถามที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

 

 

       1.เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด คำว่ากรณีใดในที่นี้แปลว่าอะไร

       2.องค์กรใดที่จะเป็นผู้วินิจฉัยกรณีตามมาตรา 7

       3.ประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคืออะไร

 

       ในการดำเนินกิจการของรัฐนอกจากจะต้องอาศัยรัฐธรรมนูญและกฎหมายระดับสูงอื่นๆอันเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์อย่างอื่นซึ่งไม่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากฎหมายที่ได้กล่าวเลยซึ่งจะต้องนำมาใช้บังคับนั่นคือจารีตประเพณีในการปกครองประเทศซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Convention จารีตประเพณีในการปกครองประเทศมีอยู่หลายอย่างแตกต่างหลากหลายกันไปตามแต่ละประเทศ ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือในเมื่อรัฐทราบถึงความมีอยู่ของจารีตประเพณีเหล่านี้แล้วเหตุใดจึงไม่บัญญัติจารีตดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญเสียเลย คำตอบก็เป็นเพราะรัฐต้องการให้จารีตประเพณีมีการยืดหยุ่นในการใช้บังคับเพราะในบางกรณีการกระทำตามจารีตประเพณีอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้ รัฐธรรมนูญในประเทศต่างๆจึงมักไม่มีการบัญญัติจารีตประเพณีนั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ความยืดหยุ่นที่เกิดขึ้นจะเปิดโอกาสให้สังคมได้ถกเถียงและยุติเป็นจารีตซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปนั่นเองโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น ในประเทศไทยมีจารีตอยู่ประการหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงใช้อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายแม้อาจกระทำได้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติคือการไม่พระราชทานร่างกฎหมายคืนภายใน 90 วัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อไม่กี่ปีก่อนได้มีการพระราชทานร่างพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งคืนโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยเนื่องมาจากความบกพร่องในเนื้อหาซึ่งขัดแย้งกันเองทำให้ไม่อาจลงพระปรมาภิไธย เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้รัฐสภาจึงตัดสินใจเพิกถอนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น จึงถือได้ว่าเกิดจารีตประเพณีใหม่ซ้อนไปกับจารีตประเพณีเดิมคือพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงใช้อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายแต่เมื่อใดที่พระองค์ใช้อำนาจนี้รัฐสภาก็ต้องเพิกถอนร่างกฎหมายดังกล่าวให้ตกไป

 

       การละเมิดจารีตประเพณีในการปกครองประเทศนั้นจะเห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญได้ให้ความยืดหยุ่นในการใช้จารีตประเพณีแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องหากจะละเมิดจารีตประเพณีก็ต้องมีคำอธิบายต่อสังคมได้ถึงเหตุในการละเมิดจารีตนั้นหากเหตุผลที่ยกมาไม่อาจฟังได้เพียงพอผู้ละเมิดย่อมได้รับการลงโทษทางสังคม (social sanction)

 

       แม้ไม่ชัดเจนเท่าผลบังคับทางกฎหมาย (legal sanction) แต่อาจมีความรุนแรงกว่าก็เป็นได้

 

       จุดประสงค์ของมาตรา 7 ประการหนึ่งจึงเป็นเพื่อสร้างฐานกฎหมายมารองรับจารีตประเพณีการปกครองที่มีอยู่แล้วรวมถึงที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต จุดประสงค์นี้ความจริงแล้วไม่มีบทบัญญัติมาตรา 7 ก็สามารถนำจารีตมาใช้บังคับได้อยู่แล้วเพราะจารีตย่อมเกิดขึ้นจากการยอมรับของทุกส่วนในสังคมว่ามีผลบังคับเสมือนกฎหมาย มาตรา 7 จึงเป็นเพียงการรับรองซ้ำเท่านั้น

 

       จุดประสงค์อีกประการหนึ่งของมาตรา 7 คือ การอุดช่องว่างของกฎหมายซึ่งเป็นจุดประสงค์ดั้งเดิมที่เป็นเหตุในการบัญญัติไว้เพราะแม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมีมากถึง 336 มาตรา แต่การที่มีถึง 336 มาตราก็ทำให้เกิดความซับซ้อนอันอาจก่อให้เกิดปัญหาที่ไม่มีการกล่าวถึงได้ อีกสาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะรัฐธรรมนูญย่อมมุ่งหมายที่จะใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐไปตราบชั่วนิรันดร์ เมื่อเวลาผ่านไปความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆที่รัฐธรรมนูญไม่อาจคิดไปได้ถึงแต่ในเมื่อมีกรณีเกิดขึ้นแล้วก็จำเป็นต้องมีการจัดการ เมื่อยังไม่มีกฎหมายบัญญัติถึง มาตรา 7 จึงให้อำนาจผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะสั่งไปตามเห็นสมควรโดยสอดคล้องกับประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 

       คำว่ากรณีตามมาตรา 7 จึงน่าจะหมายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้รัฐธรรมนูญ เช่น การเลือกตั้ง การประชุมสภา การออกกฎหมาย เป็นต้น หากเกิดปัญหากับกลไกตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้และไม่มีบทบัญญัติกล่าวถึงทางแก้ปัญหาหรือวิธีการแก้ปัญหาไว้ย่อมนับเป็นกรณีที่จะนำมาตรา 7 มาใช้บังคับ

 

       ดังได้กล่าวไปแล้วว่ากรณีหมายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้รัฐธรรมนูญเพราะฉะนั้นผู้ที่จะมีอำนาจวินิจฉัยสั่งการไปตามประเพณีการปกครองจึงต้องเป็นผู้มีอำนาจตามกลไกที่เป็นปัญหา เช่นในกรณีที่ได้เกิดขึ้นแล้วคือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอยู่เขตการเลือกตั้งหนึ่งมีผู้สมัครเพียงคนเดียวแต่เมื่อภายหลังเวลารับสมัครผู้สมัครรายนั้นถูกศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิในการสมัครเลือกตั้งเพราะไม่ได้ไปเลือกตั้งในครั้งก่อน จึงเกิดปัญหาว่าเขตเลือกตั้งดังกล่าวไม่มีผู้สมัครเลยแม้แต่คนเดียวซึ่งจะทำให้ไม่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบตามกำหนด คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซึ่งศาลได้วินิจฉัยออกมาว่าให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาสั่งตามสมควร

 

       ในส่วนประกอบที่สามมีคำถามสำคัญว่า อะไรคือประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คำตอบก็คือการวินิจฉัยกรณีปัญหาโดยยึดหลักประชาธิปไตยและหลักเกณฑ์อื่นๆอันได้แก่ จารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติมาและหลักกฎหมายมหาชน

 

       จะเห็นว่าการใช้มาตรา 7 นั้นอยู่บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ซึ่งมิใช่กฎหมายลายลักษณ์อักษรการวินิจฉัยโดยอ้างมาตรา 7 จึงต้องประกอบด้วยเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอเพื่อให้เกิดความชอบธรรมทำให้ปัญหายุติลงได้อย่างแท้จริง ดังเช่นกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้กล่าวถึงไปแล้วได้มีคำสั่งให้เปิดรับสมัครเลือกตั้งใหม่แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงกรณีนี้ไว้ แต่คณะกรรมการออกคำสั่งนี้โดยถือหลักว่าประชาธิปไตยต้องมีตัวแทนของปวงชนผ่านกระบวนการเลือกตั้งเมื่อเกิดข้อบกพร่องทำให้เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัครให้ประชาชนเลือกย่อมชอบที่จะเปิดโอกาสให้มีการสมัครอีกครั้งเพื่อให้การเลือกตั้งได้เกิดขึ้น เหตุผลเหล่านี้ทำให้คำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามในที่สุด

      

 

       นายกพระราชทานคืออะไร

 

 

       นายกพระราชทานไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายฉบับใดๆแต่เป็นคำใช้เรียกนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากพระมหากษัตริย์ซึ่งมีอยู่คนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ มูลเหตุของนายกพระราชทานเกิดมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อนักศึกษา ประชาชนจำนวนมหาศาลเดินขบวนขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เกิดการปะทะกันระหว่างทหารกับประชาชนเป็นวงกว้างกลางกรุงเทพมหานคร ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นกดดันให้จอมพลถนอมต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อไม่มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผู้ใดจะเป็นผู้ใช้บังคับกฎหมาย ภาวะไร้รัฐนั้นจะปล่อยให้มีอยู่ไม่ได้เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและขณะนั้นกลไกของรัฐที่จะให้มีนายกรัฐมนตรีก็ใช้การไม่ได้เพราะประเทศไม่มีสภาหากจะจัดให้มีการเลือกตั้งก็จะใช้เวลานานเกินกว่าจะป้องปัดความเสียหายจากวิกฤตนี้ได้ ด้วยพฤติการณ์และเงื่อนไขเช่นนั้นทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตัดสินพระทัยแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีกลางโทรทัศน์โดยที่ตัวนายสัญญาเองก็มิเคยรับทราบมาก่อน ซึ่งรัฐบาลนายสัญญานั้นมีหน้าที่จัดการให้เกิดความสงบเรียบร้อยในประเทศหลังวิกฤตกาล จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้ง เมื่อการเลือกตั้งได้สำเร็จลุล่วงไปแล้วนายสัญญาก็ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกเลย

 

       ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับนายกพระราชทานคือแม้จะเกิดวิกฤตความรุนแรงทางการเมืองขึ้นอีกสองครั้งในปี 2519 และ 2535 ก็ไม่มีการออกคำสั่งแต่งตั้งเช่นนั้นอีกเหตุน่าจะเป็นเพราะในปี 2519 นั้นได้มีการทูลเกล้าถวายชื่อนายกรัฐมนตรีไปแล้วโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ส่วนในปี 2535 นั้นยังมีกลไกรัฐสภาเพื่อคัดเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่จึงทรงรอไว้ให้รัฐสภาเป็นผู้คัดบุคคลขึ้นทูลเกล้าเอง

      

 

       นายกรัฐมนตรีพระราชทานในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 7 หรือไม่

 

 

       จะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 7 หรือไม่ต้องพิจารณาเสียก่อนว่านายกรัฐมนตรีพระราชทานถือเป็นจารีตประเพณีในการปกครองประเทศ (convention) หรือไม่ การจะเป็นจารีตได้นั้นต้องมีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอรวมถึงการมองว่าการกระทำดังกล่าวมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายอีกด้วย แต่จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีพระราชทานเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นไม่น่าจะเพียงพอในการตีค่าเป็นจารีตประเพณีได้รวมถึงการแต่งตั้งนายกพระราชทานนั้นเป็นคำสั่งที่ออกมาตามความเหมาะสมแห่งกรณีเท่านั้นมิได้เกิดจากการมองว่ามีเงื่อนไขบังคับให้ต้องออกคำสั่ง จึงไม่อาจตีความได้ว่านายกพระราชทานเป็นจารีตประเพณีในการปกครองประเทศ

 

       อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือนายกพระราชทานจะถือเป็นการอุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญหรือไม่ซึ่งหลักการพิจารณาก็ได้ให้ไว้เป็นสามประการข้างต้นคือ

 

       1.ถือเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบังคับไว้หรือไม่

 

       นายกพระราชทานความจริงแล้วก็คือที่มาและการสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเองซึ่งจะเห็นว่าย่อมเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว การเชื่อมโยงนายกพระราชทานกับมาตรา 7 จึงไม่น่าถูกต้องเพราะในเมื่อมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วจะนำสิ่งซึ่งไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมาบังคับได้อย่างไร

 

       หลายฝ่ายพยายามยกเหตุผลว่ากลไกในการถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งไม่อาจนำมาใช้ได้จึงถือเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติกำหนดก็เห็นจะเป็นการแสดงเหตุผลที่แปลกประหลาดและฟังดูไม่เคารพกฎหมายเพราะหากใช้กลไกถอดถอนแล้วไม่สำเร็จย่อมแสดงในเบื้องต้นว่านายกไม่มีความผิดแม้ความจริงอาจมิใช่เช่นนั้นก็ตาม การตั้งประเด็นเรื่องนายกพระราชทานจึงเป็นการด่วนสรุปในเบื้องต้นทั้งที่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆชัดเจน กลไกในการถอดถอนนายกรัฐมนตรีมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญแล้วและแม้จะไม่อาจถอดถอนได้สำเร็จก็ยังมีหนทางอื่นๆในการกดดันให้นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง เช่น การชุมนุมประท้วงภายใต้กรอบของกฎหมายซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญยอมรับ

 

       2.องค์กรใดเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยกรณีดังกล่าว

 

       เมื่อไม่เข้าตามเงื่อนไขข้อแรกแล้วก็ไม่จำเป็นต้องคิดในข้อนี้อีก แต่หากจะให้พิจารณาเทียบเคียงแล้วองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาสั่งก็คือ พระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้มีลักษณะพิเศษกว่าองค์กรอื่นคือ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง การเรียกร้องของหลายฝ่ายให้มีนายกพระราชทานจึงเป็นผลเสียยิ่งกว่าผลดีเพราะหากพระองค์มีคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเป็นกลางทางการเมือง หากต้องการให้มีนายกพระราชทานจริงๆแล้วก็ควรที่จะให้พระองค์เป็นฝ่ายพิจารณาวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง การกระทำของฝ่ายเรียกร้องจริงๆแล้วจึงหาใช่นายกพระราชทานไม่ แต่เป็นนายกขอพระราชทาน

 

       3.นายกพระราชทานถือเป็นประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

 

       ข้อนี้พิจารณาอย่างไรก็ไม่อาจจะถือว่าเป็นประเพณีประเพณีการปกครองได้เพราะขัดต่อหลักการสำคัญหลายอย่างตั้งแต่หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และหลักสถานะของพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองซึ่งเป็นกลาง อยู่เหนือและไม่ต้องรับผิดทางการเมืองเพราะการแต่งตั้งนายกพระราชทานย่อมแสดงว่าพระองค์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง การเลือกบุคคลก็ย่อมแสดงความไม่เป็นกลางและเมื่อพระองค์ทรงเลือกด้วยพระองค์เองการใดที่นายกรัฐมนตรีพระราชทานกระทำไปย่อมกระทบถึงพระองค์ด้วยไม่ว่าทางดีหรือทางร้าย

 

       ฝ่ายที่เรียกร้องพยายามชี้ให้เห็นว่านายกพระราชทานเป็นการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีมาแต่โบราณ ผู้เขียนคงไม่ขอโต้แย้งว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจดังกล่าวแต่ต้องการจะชี้ประเด็นว่าพระราชอำนาจที่มีอยู่จริงนั้นคงมีอยู่แต่เพียงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายเสนาบดี คงจะถือเอาพระราชอำนาจในระบบดังกล่าวมาเป็นพระราชอำนาจที่อาจใช้ได้ในปัจจุบันหาได้ไม่

 

       จากการพิจารณามาทั้งหมดที่ได้กล่าวแล้วย่อมแสดงให้เห็นว่านายกพระราชทานมิใช่แนวคิดที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยในปัจจุบันไม่ว่าจะมีมาตรา 7 หรือไม่ก็ตาม

 

 

       เช่นนั้นแล้วทำไมจึงเกิดนายกรัฐมนตรีพระราชทานในปี 2516

 

 

       คำสั่งแต่งตั้งนายกพระราชทานในครั้งนั้นไม่มีฐานทางกฎหมายใดรองรับแต่เหตุที่คำสั่งนั้นได้รับการยอมรับสามารถมองได้สองแง่ คือ ในแง่วัฒนธรรม อำนาจในทางวัฒนธรรมของพระมหากษัตริย์มีมหาศาลไม่ว่าจะได้รับการยอมรับตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ คำสั่งของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นประมุขแห่งรัฐและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติจึงย่อมได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามโดยไม่มีการโต้แย้ง ส่วนที่น่าสนใจคือในอีกแง่หนึ่งคือ แง่ความชอบธรรม เช่นเดียวกับการออกกฎหมายหรือการออกคำสั่งของรัฐการที่จะทำให้คำสั่งดังกล่าวได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามนอกจากจะต้องมีความชอบด้วยกฎหมายแล้วยังต้องมีความชอบธรรมคือเหตุผลในคำสั่งที่หนักแน่นเพียงพอด้วย ในบางครั้งการกระทำบางอย่างของรัฐก็ไม่อาจอ้างเหตุทางกฎหมายได้แต่หากอธิบายเหตุผลเพียงพอความชอบธรรมที่เกิดขึ้นจะทำให้การกระทำได้รับการยอมรับ ในคราวปี 2516 นั้นคำสั่งมีความชอบธรรมเพราะรัฐบาลจอมพลถนอมขาดความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจมาแต่ต้นผู้คนในสังคมเกือบทั้งหมดไม่ต้องการให้จอมพลถนอมบริหารประเทศอีกต่อไป การตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ก็ชอบด้วยเหตุผลดีแล้วเพราะจำเป็นต้องมีรัฐบาลเพื่อบังคับใช้กฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศซึ่งการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหากรอตามกลไกธรรมดาย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศจึงจำเป็นต้องมีพระบรมราชโองการดังกล่าว

 

       แต่หากจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพระราชทานในปี 2549 แม้ว่าอำนาจในทางวัฒนธรรมของพระมหากษัตริย์จะทวีเพิ่มกว่าเดิม แต่การแต่งตั้งในครั้งนี้ย่อมมีปัญหาในแง่ความชอบธรรมอย่างไม่ต้องสงสัยประการหนึ่งเพราะประเทศกำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันจะทำให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามหนทางของรัฐธรรมนูญแม้ว่าคนส่วนหนึ่งจะเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้แก่รักษาการณ์นายกรัฐมนตรีก็ตาม หากมีคำสั่งแต่งตั้งจะไม่เหมาะสมเพราะกำลังจะมีกระบวนการให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว และหากมีคำสั่งแต่งตั้งภายหลังการเลือกตั้งยิ่งไม่เป็นการเหมาะสมเพราะจะถือว่าเป็นการหักล้างเจตจำนงของประชาชนซึ่งได้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อหนึ่ง ปัญหาความชอบธรรมในประการที่สองคือขณะนี้ความคิดเห็นของผู้คนในสังคมได้แตกแยกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนและความแตกแยกดังกล่าวนับวันมีแต่จะขยายไปสู่ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ การแต่งตั้งนายกพระราชทานแม้จะทำให้ปัญหาดูเหมือนสงบลงแต่ย่อมสร้างความไม่พอใจอยู่ลึกๆแก่กลุ่มคนที่ยังสนับสนุนรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีซึ่งจะเป็นผลเสียแก่ทุกฝ่ายไม่เว้นแม้แต่พระมหากษัตริย์เองที่จะถูกมองว่าไม่ทรงเป็นกลางทางการเมือง

 

       ข้อเสียประการสุดท้ายหากจะให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทานคือการยอมให้มีดังกล่าวย่อมกลายเป็นแบบอย่างแก่ผู้คนในสังคมให้ใช้วิธีการนี้ในการทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองซึ่งย่อมไม่เป็นธรรมต่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่อาจถูกปลดออกจากตำแหน่งทั้งที่ยังไม่อาจพิสูจน์ความผิดในการบริหารราชการแผ่นดินของตน

 

       จากคำอธิบายทั้งหมดที่กล่าวมาย่อมเห็นได้ว่าแนวคิดนายกพระราชทานนั้นไม่ได้รับการยอมรับทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ กลุ่มผู้เรียกร้องให้มีนายกพระราชทานจึงควรเปลี่ยนแนวทางและรูปแบบในการเรียกร้องให้เป็นไปในทางอื่นเพราะนอกจากการเรียกร้องให้มีนายกพระราชทานจะไม่ประสบผลสำเร็จแล้ว การที่พระองค์ไม่ทรงตอบรับตามข้อเรียกร้องอาจทำให้กลุ่มผู้เรียกร้องบางคนซึ่งมิทราบถึงสถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์ตามระบอบประชาธิปไตยเกิดความเข้าใจผิดนำมาซึ่งความรู้สึกด้านลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง

 

*******************************

ที่มา

กรุงเทพธุรกิจ

ผู้จัดการออนไลน์

ประชาไท

โพสต์ทูเดย์

ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด

www.pub-law.net

www.prachatalk.com

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: