สำรวจคนไทยเคยจ่ายสินบนมาแล้ว37% อันดับคอร์รัปชั่นไทยร่วงจาก88ไปที่102

พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 6 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1423 ครั้ง

ข่าวที่ถูกเผยแพร่ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองกำลังร้อนแรง ทำให้ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ทั้งที่หากเป็นภาวะปกติข่าวนี้จะได้รับความสนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลต่าง ๆ มากมาย นั่นคือผลการจัดอันดับการคอร์รัปชั่นของประเทศต่าง ๆ ในโลก ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ซึ่งจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index : CPI) ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นประจำทุกปี โดยเป็นการสำรวจความรู้สึก การรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างต่อปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศนั้น ๆ และใช้ข้อมูลจากการสำรวจของแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น สำนักโพลล์ต่าง ๆ หน่วยงานวิจัยที่มีชื่อสียง และสถาบันหรือองค์กรระหว่างประเทศอิสระซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ซึ่งค่าคะแนน CPI จะเริ่มตั้งแต่ 0 คะแนนถึง 10 คะแนน โดย 0 คะแนน เป็นคะแนนต่ำสุด หมายถึงมีการคอร์รัปชั่นสูงที่สุด ส่วน 10 คะแนน เป็นคะแนนสูง หมายถึงมีการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุด และมีการปรับเป็นคะแนนเต็ม 100 คะแนน เมื่อปี 2012

ไทยคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้นจากเดิมลำดับ 88 มาอยู่อันดับที่ 102

ผลการจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นโลกล่าสุด ประจำปี 2013 นี้ ประเทศไทยได้ 35 คะแนน จาก 100 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 102 จาก 177 ประเทศ (ร่วมกับประเทศเอกวาดอร์และประเทศมอลโดวา) ซึ่งในปี 2012 ประเทศไทยได้ 37 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 88 จาก 176 ประเทศ (ร่วมกับประเทศมาลาวี ประเทศโมรอคโค ประเทศซูรินามิ ประเทศสวาซิแลนด์ และประเทศแซมเบีย) หรือลดลงจากเดิมถึง 14 ลำดับ และลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในประเทศไทยมองว่า มีการทุจริตเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยการสำรวจเมื่อปีก่อน จากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คนในประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 66 มองว่ามีการทุจริตเพิ่มขึ้น ขณะที่ร้อยละ 25 มองว่าการทุจริตยังเท่าเดิม และมีเพียงร้อยละ 9 ที่มองว่า มีการทุจริตน้อยลง จากกลุ่มสำรวจมองว่า พรรคการเมืองและกลุ่มตำรวจเป็นกลุ่มที่มีการทุจริตมากที่สุด

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่ผู้สำรวจมองว่ามีการทุจริต เช่น หน่วยงานทหาร กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา องค์กรสื่อมวลชน วงการศาสนา วงการแพทย์ และกระบวนการศาล ซึ่งในการสำรวจยังพบด้วยว่า คนไทยเคยจ่ายค่าสินบนมาก่อน โดยร้อยละ 37 จ่ายค่าสินบนให้กับตำรวจ ร้อยละ 19 เป็นสินบนด้านการบริการอสังหาริมทรัพย์ และร้อยละ 14 เป็นสินบนในกระบวนการศาล

สิงคโปร์คอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในอาเซียน ในเอเชียและยังติด 5 อันดับแรกของโลก

สิงคโปร์อยู่ในลำดับคือ 5 ได้ 86 คะแนน ตามด้วยบรูไนในลำดับที่ 38 ได้ 60 คะแนน มาเลเซียลำดับที่ 53 ได้ 50 คะแนน ฟิลิปปินส์ลำดับที่ 94 ได้ 36 คะแนน ไทยลำดับที่ 102 ได้ 35 คะแนน อินโดนีเซียลำดับที่ 114 ได้ 32 คะแนน เวียดนามลำดับที่ 116 ได้ 31 คะแนน ลาวลำดับ 140 ได้ 26 คะแนน กัมพูชาลำดับ 160 ได้ 20 และพม่าปีนี้ถือว่ามีการพัฒนาที่ดีมาก อยู่ที่ลำดับ 157 ได้ 21 คะแนน ซึ่งมีคะแนนเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 6 คะแนน

ขณะที่ดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นใน 10 ประเทศอาเซียน พบว่า สิงคโปร์มีคะแนนสูงมาก ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9 คะแนน แสดงให้เห็นว่า มีการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในอาเซียน และน้อยที่สุดในเอเชีย และยังติด 1 ใน 5 ลำดับที่มีการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดของโลก นอกจากนี้สิงคโปร์เคยติดลำดับที่ 1 ในปี 2010 ด้วยคะแนน 9.2 คะแนน ด้านบรูไน แม้จะพึ่งมีการวัดค่า CPI ในปี 2009 แต่บรูไนก็มีค่าเฉลี่ยคะแนนอยู่ที่ 5.5 คะแนน อยู่ใน 50 ลำดับแรกมาโดยตลอด ด้านมาเลเซียก็อยู่ใน 50 ลำดับแรกมาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2009 เป็นต้นมาก็ไม่ได้อยู่ใน 50 ลำดับอีกเลยจนถึงปัจจุบัน และประเทศอื่น ๆ อาเซียนที่เหลือไม่ว่าจะเป็น ไทย  อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชาและพม่า มีคะแนนต่ำกว่าครึ่งมาโดยตลอด

เดนมาร์กและนิวซีแลนด์ ครองลำดับที่ 1 อัฟกานิสถาน เกาหลีเหนือและโซมาเลีย รั้งท้ายที่ 175

ในปี 2013 นี้ ผลการจัดอันดับ 177 ประเทศ ปรากฎว่ามีเพียง 53 ประเทศเท่านั้นที่สอบผ่านได้คะแนนเกิน 50 คะแนน โดยประเทศเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ ครองแชมป์ร่วมกันในลำดับที่ 1 ด้วยคะแนน 91 คะแนน ขณะที่อีก 124 ประเทศสอบตก โดยอันดับสุดท้ายในปีนี้ที่ได้คะแนนต่ำสุดเพียง 8 คะแนน ได้แก่ อัฟกานิสถาน เกาหลีเหนือ และโซมาเลีย

 

ที่มาและเรียบเรียงจาก: http://www.transparency.org

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: