พท.ยอมรับมติวุฒิฯ-เปล่าโยนเผือกร้อน 4ชาติเตือนนักท่องเที่ยวเลี่ยงพื้นที่ชุมนุม

6 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1457 ครั้ง

‘เพื่อไทย’ยอมรับคำตัดสินของวุฒิฯ ยืนยันหวังทำเพื่อความปรองดอง

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่พรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรค ถึงกรณีการคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ....ว่า พรรคไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ พยายามติดตามรับฟัง วันนี้สิ่งที่พรรคเพื่อไทยดำเนินการเป็นแนวนโยบายฟังให้มากคิดให้มาก การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้ เราอยากเห็นความขัดแย้งให้ยุติลง อยากให้ประเทศเดินหน้าไปได้ สังคมไทยมุ่งหวังจากผู้คนต่าง ๆ อยากเห็นประเทศเดินหน้าเป็นเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค หลังผ่านวาระที่ 3 จากสภาผู้แทนราษฎร ความต้องการอยากเห็นประเทศเดินหน้า แต่ข่าวสารที่ได้มีการพูดจาทำความเข้าใจประชาชนก็คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เช่น เนื้อหาสาระไม่ได้ตรงความเป็นจริงสับสน ทำให้ข้อขัดแย้งไม่ยุติลง

นายภูมิธรรมกล่าวว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อเช้านี้ รัฐบาลอยากเห็นปรองดองเกิดขึ้น โดยพรรคได้ปรึกษาพรรคร่วมรัฐบาล มีความเห็นว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาวุฒิสภา เราเคารพการตัดสินใจวุฒิสภา และยุติความขัดแย้งต่าง ๆ เรายอมรับผลการตัดสินทั้งหมดที่วุฒิสภาจะพิจารณา กลับไปสู่ภาวะปกติ ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนอยากเห็น ใครสร้างความเสียหาย เรายอมรับการตัดสินวุฒิสภาที่จะเกิดขึ้นจากนี้ต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นความงดงามในประชาธิปไตย ทั้งนี้เชิญชวนประชาชนสร้างความสงบสุข สร้างความถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากที่ประชุมวุฒิสภาตีกลับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม กลับมายังสภาผู้แทนราษฎร จะยืนยันร่างแรกอยู่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เราอยากเห็นบ้านเมืองเข้าสู่การปรองดอง ส่วนจะไม่ยื่นเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไปอีกหรือไม่ขอให้เป็นไปตามกระบวนการ ไม่ต้องการให้สังคมเกิดความวุ่นวาย โดยพรรคพร้อมถอยให้คุยกันได้ อย่างไรก็ตาม เป็นสิทธิของวุฒิสภาหากจะไม่ผ่านร่างดังกล่าว

‘สุรนันทน์’ยันนายกฯไม่ได้ท้าทายผู้ชุมนุม

ด้าน นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์จนถูกนำไปตีความว่า การแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีเป็นการท้าทายกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านว่า ถือเป็นการตีความที่ผิดมาก เพราะการที่นายกฯแถลงนั้นชัดเจนว่า ยึดระบอบรัฐสภา เมื่อสภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมายไปเข้าวุฒิสภา ซึ่งชัดเจนในเรื่องนิรโทษกรรม หากทุกฝ่ายให้อภัยกันได้ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อยังมีความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ นายกฯก็พูดให้เกิดความชัดเจน เพราะมีคนถามมากว่านายกฯคิดอย่างไร

            “นายกฯพูดให้เกิดความชัดเจนว่า ในระดับวุฒิสภานั้น รัฐบาลไม่เคยแทรกแซงในระบอบนิติบัญญัติ จึงขอให้วุฒิสมาชิกทุกคนที่มาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง พิจารณาอย่างเป็นธรรมที่สุด และไม่ว่าวุฒิสภาจะตัดสินอย่างไร เช่น จะยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ หรือแก้ไขตามร่างใดที่เสนอไป สภาผู้แทนฯก็จะยอมรับในสิ่งที่วุฒิสภาตัดสินวินิจฉัยออกมา ตรงนี้ชัดเจนว่านายกฯเคารพในระบอบรัฐสภา การที่ออกมาครั้งนี้ นายกฯยืนยันว่า ไม่ได้ท้าทายผู้ชุมนุม และยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะรัฐบาลเป็นของคนไทยทุกคน ทั้งผู้ที่สนับสนุนและคัดค้าน รัฐบาลยืนยันไปตามครรลองระบบรัฐสภา และขอให้ผู้ชุมนุมรอดูกระบวนการระบบรัฐสภา รัฐบาลเคารพเสียงของผู้ที่มาชุมนุม ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมก็ต้องระมัดระวัง เนื่องจากมากันเป็นจำนวนมาก ขณะที่ตำรวจเองก็จะดูแลความสงบเรียบร้อยให้ดีที่สุด และหวังว่าแกนนำที่เป็นส.ส.ฝ่ายค้าน จะดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย การขู่ยกระดับนั้น คิดว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็น ให้ระบบรัฐสภาเป็นผู้ตัดสิน” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าว

แจงที่นายกฯพูดเรื่องคดีคตส.ก็ต้องให้ตีความต่อ

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าความเป็นไปได้ที่จะใช้ร่างของนายวรชัย เหมะ ก็ทำได้ใช่หรือไม่ นายสุรนันทน์ กล่าวว่า วุฒิสมาชิกทำได้ทั้งหมด ถือเป็นอิสระของวุฒิสภา เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรต่อท่าทีของคนหลายฝ่ายที่คัดค้าน เลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพราะอย่าลืมว่าส.ส.ที่ผ่านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาแล้ว เพราะเขาคิดว่า ถึงเวลาที่ต้องให้อภัย ต้องนิรโทษ โดยเฉพาะกลุ่มญาติผู้เสียหายที่ติดคุก มีคดีติดตัว ส่วนอื่นถ้ายังมีการตีความด้วยการถูกบิดเบือนนั้น ก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่วุฒิสภาที่จะแก้ไขให้ชัดเจน เพื่อความกระจ่างชัดโดยเร็ว รัฐบาลไม่ได้ไปเร่ง แต่ถ้าเร็วได้ประเทศชาติก็จะเดินหน้าได้ ไม่ติดอยู่ในวังวนของความขัดแย้งขณะนี้

นายสุรนันทน์กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องทุจริตคอร์รัปชันนั้น รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนป.ป.ช. และปปท. เพราะรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหาปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน สำหรับกรณีที่ป.ป.ช.แสดงท่าทีต่อพ.ร.บ.นิรโทษนั้น ก็ต้องพิจารณากัน เพราะป.ป.ช.ได้พูดถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศด้วย ซึ่งในกรรมาธิการ ในสภาชี้แจงไว้ว่าไม่ขัด เมื่อถามว่า ป.ป.ช.ยืนยันเดินหน้าตรวจสอบคดีคตส. และที่คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ เพราะไม่ต้องการให้คดีหลุดไป นายสุรนันทน์กล่าวว่า ถ้าเป็นห่วงเรื่องนั้น หรือหากจะมีการแก้ไขคิดว่าวุฒิสภาคงมีการพิจารณา แต่ในเจตนาคำแถลงของนายกรัฐมนตรีที่แถลงไปนั้น คิดว่าไม่มีข้อเกี่ยวข้องกัน คงต้องไปตีความกันต่อไป

ระบุไม่ได้โยนเผือกร้อนให้วุฒิสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือว่าเป็นการโยนเผือกร้อนให้วุฒิสภาหรือไม่ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว รัฐบาลไม่สามารถโยนเผือกร้อนให้ใคร รัฐบาลไม่สามารถบอกให้วุฒิสมาชิก หรือส.ส.คิดอย่างไรได้ เมื่อถามว่า ถ้าพูดให้ชัดๆง่ายๆ นายกฯต้องการสื่อถึงประชาชนว่ารัฐบาลถอย หรือเดินหน้า นายสุรนันทน์กล่าวว่า นายกฯใช้คำว่าหยุดคิด และช่วยหยุดการกระทำที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกต่อไป เพราะประเทศชาติต้องเดินหน้าด้วยความปรองดอง การที่จะถอยหรือเดินหน้านั้นถึงอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการนิติบัญญัติ ขออย่าไปตีความให้ผิดไป และขอให้ถามวุฒิสภา

จุฬาฯนับหมื่นรวมพลังคัดค้านเดินรณรงค์ไปหอศิลป์

วันเดียวกัน เวลา 17.30 น. อธิการบดี กลุ่มคณบดี ผู้บริหาร อาจารย์ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของจุฬาฯ กว่าหมื่นคน นำโดย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี รวมตัวกันบริเวณสนามหน้าพระบรมรูป 2 รัชกาล เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ.…พร้อมถือธงชาติ ป้ายคัดค้าน พร้อมติดสติกเกอร์ข้อความ “ชาวจุฬาฯ คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ไว้ที่เสื้อ จากนั้นทั้งหมดพร้อมใจกันร้องเพลงมหาจุฬาลงกรณ์และรวมพลังกันเป่านกหวีดเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการคัดค้านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

น.พ.ภิรมย์กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านวาระที่ 1-3 อย่างเร่งรีบ ซึ่งถือเป็นความผิดปกติ และเอื้อประโยชน์ในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะการทุจริต ซึ่งในฐานะที่จุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษาที่สอนคนให้ออกไปเป็นคนดี คนเก่งของสังคม มองว่าเรื่องนี้ เป็นประเด็นที่เสี่ยงต่อจริยธรรม คุณธรรมในการที่สอนคนที่จะเป็นบัณฑิต ทางศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน อาจารย์ นิสิต ก็เห็นพ้องต้องกันว่า อยากจะแสดงออก ชาวจุฬาฯไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นี้ และเสนอทางออกไว้ในแถลงการณ์ของคณะผู้บริหารว่า สมาชิกวุฒิสภาก็น่าจะคว่ำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อจะได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวต่อว่า เราได้ตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยนักวิชาการในสาขาต่างๆ เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น รวมพลังกันสมมุติตรรกะที่จะเกิดขึ้นในแต่ละสถานการณ์ การเคลื่อนไหวต่อจากนี้ เรามีแผนระยะยาวไว้แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการให้ความรู้แก่คนทียังไม่ทราบ ซึ่งอาจจะจัดประชุมทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ให้กับคนกลุ่มต่าง ๆ ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็จะมีคณะทำงานติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หากร่างพ.ร.บ.นี้ผ่านไป จะก่อให้เกิดที่มีการขยายระยะเวลา และอาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้น ก็ได้รับผลประโยชน์จากพ.ร.บ.นี้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 17.30 น. ขบวนอาจารย์และนิสิตเริ่มเดินขบวนออกจากจุฬาฯ ผ่านด้านประตูใหญ่ฝั่งถนนพญาไทไปสิ้นสุดขบวนที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก่อนจะประกาศจุดยืน 5 ข้อคือ 1.ขอคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่งสุดซอย อย่างถึงที่สุด โดยจะร่วมมือสนับสนุนการเคลื่อนไหวการต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมโดยสันติวิธี 2.ขอเรียกร้องให้วุฒิสภา ได้พิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ด้วยความรอบคอบ และเป็นอิสระอย่างถึงที่สุด ไม่ให้ร่างกฎหมาย ซึ่งมีที่มาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ และขัดแย้งต่อหลักการปกครอง แบบประชาธิปไตยผ่านมือไปได้ 3.ขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ทันที

4.ขอเรียกร้องและสนับสนุนให้ประชาชนคนไทยทุกคน และทุกกลุ่มองค์กรวิชาชีพต่าง ๆ แสดงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของตนเองเกี่ยวกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ให้บรรดา ส.ส. ส.ว. และพรรคการเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนทางการเมืองของท่านได้อย่างเปิดเผย อีกทั้งตรวจสอบการลงมติของ ส.ส. ของท่านอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่า ส.ส. ส.ว. ลงมติผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ตรงตามเจตนารมณ์ของระชาชนอย่างแท้จริง 5.ขอคัดค้านการใช้กฎหมายความมั่งคง ใช้อำนาจรัฐและอิทธิพลทางการเมืองจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของประชาชนและขอต่อต้านการใช้ความรุนแรง ในการเข้าควบคุม สลายมวลชนที่ชุมนุมคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โดยสันติวิธี

จากนั้นทั้งหมดร่วมกันร้องเพลงชาติ เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ ก่อนจะแยกย้ายกันเดินทางกลับเวลาประมาณ 18.30 น.

เผย 4 ชาติเตือนนักท่องเที่ยวเลี่ยงเข้าพื้นที่ชุมนุม

ขณะที่ นางวิไลวรรณ ทวิชศรี รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานทูต 4 ประเทศคือ สวีเดน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวของตัวเอง ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองของประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นการประกาศเตือนในระดับปกติ โดยททท.เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้ททท.ได้มอบหมายให้ 27 สำนักงานต่างประเทศทั่วโลก จับตาเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์ร่วมกัน เบื้องต้นในระยะสั้น คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่ยกเลิกการเดินทาง แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อ หรือมีความรุนแรงเกิดขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจชะลอการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยในช่วงไตรมาสปีหน้า

            “ททท.ยืนยันว่าภาพรวมการท่องเที่ยวในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยตลาดต่างประเทศจะมีนักท่องเที่ยวมา 26.1 ล้านคน รายได้ 1.174 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากกว่า 19.7 ล้านคน และตลาดในประเทศคนไทยจะเดินทางตามปกติ เพราะเป็นช่วงที่มีงานเทศกาลส่งท้ายปลายปี 2 งานใหญ่ ส่วนต้นปีหน้าจะเป็นอย่างไรจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งจากม็อบทางการเมือง" นางวิไลวรรณกล่าว
 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: