FATF เป็นองค์การระหว่างรัฐ (inter governmental organization ) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) โดยความเห็นชอบของที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G 7 จัดตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันการฟอกเงินและการสนับสนุนการเงินแก่ขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ มีสมาชิกจำนวน 34 ประเทศ และ 2 องค์กร (The Gulf Cooperation Council และ The European Commission)
สมาชิกแบ่งเป็นสองประเภท คือ 1. สมาชิกโดยตรง และ 2. สมาชิกสมทบ สำหรับประเทศไทยมีฐานะเป็นสมาชิกสมทบ (Associate Member) เนื่องจาก ประเทศไทยเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง Asia Pacific Group on Money Laundering หรือ APG ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นที่ประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2540 ซึ่งตามข้อบังคับ (Terms of References ) ของ APG กำหนดให้สมาชิกของกลุ่มต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำของ FATF และต้องปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
FATF ทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti – Money Laundering/Counter Financing of Terrorism) เพื่อให้ประเทศต่างๆ จะต้องมีการปฏิบัติ ทั้งด้านกฎหมายและกระบวนการตรวจสอบในการป้องกันการฟอกเงินเพื่อก่อการร้ายในระดับนานาชาติ รวมถึงส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ มีมาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
การจัดลำดับกลุ่มประเภทของ FATF แบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
1) กลุ่ม Super Black List เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด โดยเข้าสู่กระบวนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Sanction Major) ห้ามไม่ให้มีการทำธุรกรรมโดยทั้งสิ้น ปัจจุบันมี 2 ประเทศ คือ อิหร่าน และเกาหลีเหนือ
2) กลุ่ม Dark Grey List เป็นแบล็กลิสต์ประเภทที่ได้รับการเตือนแล้ว แต่ขาดความคืบหน้าในการปรับปรุงตามมาตรการ ของ FATF ประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้ อาจถูกมาตรการอ่อนสุด เช่น การกล่าวเตือนให้มีการปรับปรุงกฎหมายและออกมาตรการที่จำเป็นจนไปถึงระดับที่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบการทำธุรกรรมต่างประเทศ (Enhanced Due Diligence: EDD) รวมถึง Hold เงินในบัญชีของธนาคารของประเทศผู้รับเงินหรือถูกโอนเงินกลับ ปัจจุบันมีประเทศอยู่ในกลุ่มดังกล่าว จำนวน 14 ประเทศประกอบด้วย ปากีสถาน อินโดนีเซีย ไทย กานา แทนซาเนีย โบลิเวีย คิวบา เอธิโอเบีย เคนยา พม่า ไนจีเรีย เซาตูเมและปรินซิปี ศรีลังกา ซีเรีย และตุรกี
3) กลุ่ม Grey List เป็นแบล็กลิสต์ประเภทที่มีการถูกเตือนเบื้องต้น หารือต้องถูกเฝ้าระวัง เป็นลักษณะกลุ่มประเทศที่มีความคืบหน้าและมีความพยายามที่เป็นรูปธรรมในเรื่องมาตรการการป้องกันตามมาตรฐานของ FATF เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ที่เดิมอยู่ในกลุ่ม Dark Grey List
จากรายงานการศึกษา เรื่อง ปัญหาและผลกระทบของประเทศไทยจากกรณี FATF ขึ้นบัญชีดำ โดย สายงานเศรษฐกิจ โลจิสติกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบต่อไทยว่า
“ผลกระทบระยะสั้นเริ่มเห็นผลกระทบต่อการทำธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศ เริ่มมีความยุ่งยากจากขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นในการพิสูจน์ทราบลูกค้า (Customer Due Diligence : CDD) มากขึ้น ในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินผ่านระบบธนาคารข้ามประเทศประเภทต่างๆ เช่น Trade Financing, Payments, Correspondent banking, Foreign exchange transaction รวมถึงการใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศ บางครั้งถูกระงับการใช้ ซึ่งการโอนเงินชำระค่าสินค้าทั้งด้านการนำเข้าและส่งออก จะต้องทำ Enhanced Due Diligence: EDD ซึ่งมีขั้นตอนและเอกสารเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ทางธนาคารผู้รับโอนเงินทราบถึงแหล่งที่มาของเงิน ทำให้ต้องใช้เวลาในการทำธุรกรรมมากขึ้น จึงอาจเกิดความล่าช้าในการชำระเงินให้กับคู่ค้า และทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นอีกด้วย รวมถึงอาจถูกจำกัดในการทำธุรกรรมประเภทต่างๆ ด้วย ผลกระทบจะทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศมีความยุ่งยากและเพิ่มระยะเวลา ขาดความคล่องตัวและจะทำให้มีต้นทุนค่าธรรมเนียมต่างๆเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อความหน้าเชื่อถือของประเทศ"
“สำหรับผลกระทบในปี 2556 และต่อเนื่องในระยะยาวหากประเทศไทยถูกจัดชั้นจาก FATF ไปสู่ระดับที่เป็นบัญชีดำ Black List จะมีผลต่อการไม่สามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคส่งออกร้อยละ 70 ของ GDP ภาคนำเข้าร้อยละ 69 ของ GDP และภาคท่องเที่ยวและการลงทุนระหว่างประเทศรวมกันประมาณร้อยละ 18-19 ของ GDP จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง”
นอกจากกฎหมายฟอกเงินอย่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตั้งขึ้นตามพรบ.นี้ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว กอปรกับคำแนะนำจากการประเมินประเทศไทยของ FATF เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2550 จึงเกิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2556 เพื่อขยายฐานความผิดการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายให้ครอบคลุมการกระทำผิดที่ระบุในภาคผนวกของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และให้ครอบคลุมไปถึงตัวผู้ก่อการร้าย และองค์การก่อการร้าย
ล่าสุด วันที่ 7 พฤษภาคม 2556 พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า มีการประกาศรายชื่อผู้ก่อการร้ายในประเทศไทยหรือไทยลิสต์ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญของ FATF เห็นว่าไทยให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมาย จากนั้นจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายชื่อบุคคลและนิติบุคคลเพื่อเสนอให้คณะกรรมการกำหนดรายชื่อพิจารณา ล่าสุดคณะกรรมการธุรกรรมการเงินได้ส่งรายชื่อผู้ก่อการร้ายในประเทศไทย 67 รายชื่อให้อัยการเสนอให้ศาลประกาศรายชื่อเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางการเงิน ในช่วงปี พ.ศ. 2552-54 หากคำนวณเป็นจำนวนเงินสูงนับหมื่นล้านบาท ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มาจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ แต่มาจากการทำรายงานประเมินความเสี่ยงของประเทศจากเหตุก่อการร้ายโดย ปปง.ที่เรียกว่า NRA
ต่อมามีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรื่อง รายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 จำนวน 2 ฉบับ ณ วันที่ 9 พ.ค. 2556 และ วันที่ 10 พ.ค. 2556 ตามลำดับ มีรายชื่อรวม 7 คน ดังนี้
ฉบับแรก 1.นายอำรัน มิง
2.นายอาหามะ กาเจ
3.นายอับดุลเล๊าะฮ์ มะมิง
ฉบับสอง 4.นายแอ มะแซ
5.นายรอวี หะยีติง
6.นายมะดารี วาหลง
7.นายอับดุลตอเละ บาเย๊าะกาเซ๊ะ
‘พ.ร.บ.ป้องกันหนุนเงินก่อการร้าย’ กับ ‘บุคคลที่ถูกกำหนด’
“ทรัพย์สิน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์ หรือวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้รวมทั้งดอกผลของเงิน ทรัพย์ หรือวัตถุดังกล่าว เอกสารทางกฎหมาย หรือตราสารในรูปแบบใด ๆ ทั้งที่ปรากฏในสื่ออื่นใด กระดาษ หรือรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครองสิทธิเรียกร้อง หรือประโยชน์อื่นใดในทรัพย์สินนั้น
“การก่อการร้าย” หมายความว่า การกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งอยู่ภายใต้ขอบเขตของอนุสัญญาและพิธีสารระหว่างประเทศเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือรับรอง ทั้งนี้ ไม่ว่าการกระทำที่เป็นความผิดนั้นได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักร
“บุคคลที่ถูกกำหนด” คือ ผู้ก่อการร้ายไม่ว่าจะเป็น บุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กร ซึ่งเป็นไปตามมติหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้กำหนดไว้ หรือ เป็นไปตามรายชื่อที่ศาลได้พิจารณาและมีคำสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามพ.ร.บ.นี้
“ผู้มีหน้าที่รายงาน” หมายความว่า ผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
“ระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน” หมายความว่า การห้ามโอน ขาย ยักย้าย หรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินหรือเปลี่ยนสภาพใช้ประโยชน์หรือกระทำการใด ๆ ต่อทรัพย์สินอันจะส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อจำนวน มูลค่า ปริมาณ ทำเลที่ตั้ง หรือลักษณะของทรัพย์สินนั้น
(อ้างอิง ม.3)
การได้มาซึ่งรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
1.จากมติหรือประกาศภายใต้คณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กำหนดรายชื่อบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใดเป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย เสนอรายชื่อดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเพื่อมีคำสั่ง
2.จากความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ส่งรายชื่อไปเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่ง
(อ้างอิง ม.4, ม.5)
รายชื่อที่ส่งให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาล ครอบคลุมถึงผู้ก่อการร้าย ผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และผู้ที่ดำเนินการแทน/ทำตามคำสั่ง/ภายใต้การควบคุมด้วย ทั้งนี้พฤติการณ์ดังกล่าว ต้องมีอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลที่ถูกกำหนด หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง สามารถยื่นคำร้องถอนรายชื่อได้
(อ้างอิง ม.5)
บุคคลที่ถูกกำหนด ผู้มีหน้าที่รายงาน หรือบุคคลที่ครอบครองทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนด ต้องดำเนินการต่อไปนี้โดยไม่ชักช้า
1.ระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนด หรือของผู้กระทำการแทน หรือตามคำสั่งของผู้นั้น หรือของกิจการภายใต้การควบคุมของผู้นั้น
2.แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการให้สำนักงานทราบ
3.แจ้งให้สำนักงานทราบเกี่ยวกับผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นลูกค้าซึ่งอยู่ในรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด หรือผู้ที่มีหรือเคยมีการกระทำธุรกรรมนั้น
หลักเกณฑ์และวิธีการประกาศและแจ้งรายชื่อไปยังบุคคลตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งการดำเนินการตาม (1) (2) และ (3) ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานกำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงหรือแนวทางปฏิบัติใด ๆ เพื่อป้องกันมิให้มีการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือกำหนดมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(อ้างอิงม.6)
ส่วนการเก็บรักษาและการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการ อนุโลมให้ใช้ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ว่าด้วยการเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด พ.ศ.2543 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556
(อ้างอิง ม.7 ,ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ว่าด้วยการเก็บรักษาและการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ถกระงับการดําเนินการกับทรัพย์สิน พ.ศ. 2556, ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ว่าด้วยการเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด พ.ศ.2543 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556)
ผู้ที่ดำเนินการตาม ม.6 โดยสุจริตไม่ต้องรับผิดแม้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคลใด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
(อ้างอิง ม.8)
ทั้งนี้บุคคลที่ถูกกำหนด อาจยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งดังต่อไปนี้
1.ขอให้ถอนชื่อออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
2.ขอให้เพิกถอนการระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน
3.ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการใดๆ กับทรัพย์สินที่ถูกระงับ
(อ้างอิง ม.9)
และในกรณี
(1) เป็นการชำระหนี้ที่ถึงกำหนดชำระแก่ผู้ที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินตาม ม. 6 ซึ่งสัญญาหรือข้อผูกพันนั้นได้ทำขึ้นหรือเกิดขึ้นก่อนวันที่บัญชีนั้นถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน
(2) เป็นการชำระดอกเบี้ยหรือดอกผลและเป็นกรณีจำเป็นที่ต้องชำระเงินเข้าบัญชีของผู้ที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินตาม ม.6
(3) เป็นการชำระหนี้ซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้ที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตาม ม.5 เป็นผู้ที่ต้องชำระหนี้
(4) ให้ดำเนินการใด ๆ กับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินอันเนื่องมาจากเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตาม ม.5
กรณีมีคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ถ้าต้องมีการชำระหนี้หรือโอนเงินเข้าหรือออกจากบัญชีของผู้ที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินตามมาตรา ๖ ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรเพื่อป้องกันมิให้นำทรัพย์สินไปใช้ในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายก็ได้
(อ้างอิง ม.10)
พ.ร.บ.นี้ ยังเพิ่มอำนาจแก่ปปง. เช่น ในด้านของการสืบสวนสอบสวนเชิงคดีอาญา การเรียกข้อมูล ตาม ม.12 และ ม.13
ม.12 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดหลักเกณฑ์ ระเบียบ และประกาศตามพระราชบัญญัตินี้
(2) กำหนดแนวทางในการกำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(3) กำหนดแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นเพื่อให้ผู้มีหน้าที่ทำรายงานหรือบุคคลอื่นใดดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(4) ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
ม.13 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ให้คำแนะนำหรือชี้แจงแนวทางการปฏิบัติแก่ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(2) ติดตาม ประเมินผล ตรวจสอบ และกำกับดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
(3) รับหรือส่งรายงานหรือข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
(4) เก็บรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการยึด อายัด หรือริบทรัพย์สิน
ตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
คณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN) ได้ส่งรายชื่อบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กร ซึ่งเป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย ตามมติของหรือประกาศภายใต้ UN มายังสำนักงาน ปปง. รวมทั้งสิ้น 291 ราย แบ่งเป็นบุคคลธรรมดา 227 ราย และเป็นกลุ่มองค์กรหรือนิติบุคคล 64 ราย
สามารถดูเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้ได้ที่นี่
***************************************
ที่มา
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
พ.ร.บ.ป้องกันและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556
รายงานผลการประเมินไทยปราบปรามการฟอกเงินและต้านสนับสนุนเงินก่อการร้าย โดยฝ่ายกฎหมาย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ว่าด้วยการเก็บรักษาและการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ถูกระงับการดําเนินการกับทรัพย์สิน พ.ศ. 2556
ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ว่าด้วยการเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด พ.ศ.2543
ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ว่าด้วยการเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556
รายงานการศึกษา เรื่อง ปัญหาและผลกระทบของประเทศไทยจากกรณี FATF ขึ้นบัญชีดำ โดยสายงานเศรษฐกิจ โลจิสติกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
รายชื่อบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กร ซึ่งเป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย ตามมติของหรือประกาศภายใต้ UN
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา
มติชนออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ