ชำแหละเวทีพิจารณ์น้ำกบอ.ทำแค่ให้จบ เชื่อล้มเหลวทุกเวที-ชี้ผิดขั้นตอน-วิธีการ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 5 ธ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1513 ครั้ง

ผ่านไปหลายเวที สำหรับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ ของ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ที่มีคำสั่งให้ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงเสียก่อน การดำเนินการตามแผนงานต่าง ๆ แต่ก็ดูเหมือนว่า การรับฟังความคิดเห็นในแต่ละเวที กลับทวีความร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อมีการเผชิญหน้ากันมากขึ้นระหว่างฝ่ายสนับสนุนโครงการ และฝ่ายคัดค้าน โครงการ จนเกือบกลายเป็นเหตุปะทะกันหลายครั้ง

ล่าสุดสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และสถาบันนโยบายศึกษา จัดเสวนาหัวข้อ “จับตาย ...ปาหี่ รับฟังโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน” ขึ้น ในช่วงเว้นว่างของการจัดเวทีในภาคกลางที่กำลังจะดำเนินการต่อไป เพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ที่เคยเข้าร่วมเวทีมาแล้ว มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเวทีที่เกิดขึ้นหลายครั้ง  ประเด็นสำคัญคือ การตั้งข้อสังเกตในประเด็นต่าง ๆ ที่ถูกตั้งคำถามในการจัดเวทีในแต่จังหวัดที่ผ่านมา

ศรีสุวรรณชี้กบอ.จัดเวทีรับฟังผิดหลักการ

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ในฐานะเจ้าภาพจัดเวทีเสวนา ระบุเหตุผลของการจัดเวทีดังกล่าวว่า สิ่งสำคัญในการพิจารณาจาก เกือบ 30 เวทีในแต่ละจังหวัดที่คณะทำงานของ กบอ. ไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คือการดำเนินการที่ผิดไปจากรูปแบบ ขั้นตอน และหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เพราะศาลสั่งรัฐบาลให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง โดยต้องนำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำŽ ไปรับฟังความคิดเห็น และการต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเสียก่อนด้วย แต่กบอ.กลับนำโครงการหรือแผนงาน (Module) ต่าง ๆ ที่มีธงในการตัดสินใจแล้วŽ และเปิดประมูลโครงการกระทั่งได้ผู้รับเหมาดำเนินโครงการไปแล้ว ไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เหมือนจะใช้เป็นข้ออ้างว่า ได้เปิดเวทีรับฟังตามที่ศาลสั่งแล้วเท่านั้น

นายศรีสุวรรณอธิบายต่อว่า การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายนั้น รัฐบาลจะต้องนำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำŽ ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงในเบื้องต้นเสียก่อน เมื่อรับฟังครบถ้วนแล้ว จึงนำผลสรุปของการรับฟังมาปรับปรุงแก้ไข ให้สอดคล้องกับความต้องการหรือความคิดเห็นของประชาชน แล้วจึงค่อยนำไปกำหนดเป็นโครงการหรือแผนงาน (Module) ต่าง ๆ ออกมา หลังจากนั้นจึงนำโครงการหรือแผนงาน (Module) ต่าง ๆ เหล่านั้น ไปศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Studies) ก่อนว่า มีความเหมาะสม มีความคุ้มค่าหรือคุ้มทุนที่จะดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ หากไม่คุ้มค่า ไม่คุ้มทุน ก็ต้องยกเลิกโครงการเหล่านั้นไปเสีย หากโครงการใดมีความเหมาะสม คุ้มค่า ก็นำไปศึกษาในรายละเอียด นั่นคือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพŽ (EHIA) (ซึ่งต้องมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างน้อย 3 ครั้งในแต่ละพื้นที่) หลังจากนั้นจึงดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง คือ ให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ให้ความเห็น (กอสส.อาจไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในแต่ละพื้นที่)

เมื่อกอสส. ให้ความเห็นแล้ว ก็สามารถส่งโครงการหรือแผนงานดังกล่าวไปให้หน่วยงานเจ้าของโครงการพิจารณา โดยจะต้องไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนที่จะพิจารณาตัดสินใจว่า โครงการหรือแผนงาน (Module) นั้น ๆ สมควรที่จะอนุมัติ/อนุญาตให้ดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ ขั้นตอนทั้งหมดข้างต้นอย่างน้อยต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปีขึ้นไป จึงจะดำเนินการเป็นไปตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง และตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง อย่างครบถ้วน

            “เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กว่า 30 จังหวัดที่ กบอ. ดำเนินการมาแล้วนั้น เป็นการลัดขั้นตอนของกฎหมาย และเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้ง ที่จะรวบรัดตัดตอน ไม่ให้เป็นไปตามครรลองที่กฎหมายกำหนดเลย เช่น ในการจัดเวทีแต่ละพื้นที่ส่วนใหญ่กลับใช้จังหวัด (อำเภอเมือง) เป็นศูนย์กลางในการจัดเวที ทำให้กลุ่มประชาชนที่อยู่ต่างอำเภอ ต่างตำบล หมู่บ้านไกล ๆ ไม่สามารถเดินทางมาร่วมเวทีได้สะดวก บางพื้นที่ชาวบ้านต้องเดินทางเป็นร้อย ๆ กิโลเมตรเพื่อมาร่วมเวที ทั้งที่หลักการที่ถูกต้องควรจะกระจายการจัดเวทีไปยังอำเภอ ตำบลต่าง ๆ อย่างทั่วถึงอย่างน้อย 10 -20 เวที จึงจะชอบ” นายศรีสุวรรณระบุ

แกนนำกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์กล่าวถึงการจัดเวทีที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้านต่อหน้าผู้ว่าราชการจังหวัด

ชี้จัดเวทีปาหี่ไม่ทำตามกฎหมายกำหนด

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รายละเอียดของแผนแม่บทฯ หรือโครงการหรือกิจกรรมอย่างทั่วถึงตามที่กฎหมายกำหนด แทบจะไม่มีเลย การประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมเวที ก็ไม่กระจายให้ทั่วถึง หากแต่พยายามที่จะกำหนดเฉพาะกลุ่มจัดตั้งŽ โดยสั่งการผ่านระบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักการเมืองท้องถิ่น ให้เลือกนำชาวบ้านที่สนับสนุนเท่านั้น มาร่วมเวที โดยมีอามิสสินจ้างรางวัล นั่นคือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางคนละ 400 บาท เป็นแรงจูงใจและชี้นำ

ที่สำคัญกฎหมายกำหนดให้ต้องแจ้งรายละเอียดของโครงการหรือกิจกรรม ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน และต้องประกาศหรือมีหนังสือ แจ้งให้ประชาชนเข้าร่วมเวทีต้องไม่ต่ำกว่า 15 วัน กบอ.ก็ไม่ได้ดำเนินการ บางคนไม่ได้รับจดหมาย บางคนได้รับจดหมายเพียงไม่ถึงสัปดาห์ก่อนจัดเวที และบางคนลงทะเบียนเข้าร่วมเวทีผ่านอินเตอร์เน็ตก็ไม่สามารถทำได้ ด้วยปัญหาเครื่องปฏิเสธ ระบบล่ม ฯลฯ เมื่อประชาชนมาแสดงเจตจำนงลงทะเบียนเข้าร่วมเวทีฯ กลับถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วม เพราะที่นั่งถูกกันไว้ให้กับ กลุ่มจัดตั้งŽที่สนับสนุนโครงการ ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นต้น

ป้ายรณรงค์ให้ความรู้ที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม

การใช้สิทธิในการอภิปรายซักถามในเวทีถูกจำกัดให้ใช้เวลาเพียงคนละ 3-5 นาทีเท่านั้น แต่ถ้าฝ่ายใดอภิปรายสนับสนุนจะให้เวลาได้เต็มที่ หรือไม่จำกัดเวลา ในขณะที่มีผู้สนใจจะขออภิปรายหลายร้อยราย แต่สามารถจัดให้อภิปรายซักถามได้เวทีละไม่ถึง 10 คน ซึ่งผลกระทบของโครงการจะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตประชาชนตลอดทั้งชีวิต แต่กลับถูกจำกัดสิทธิในการนำเสนอความคิดเห็นเพียงแค่นั้น จะถูกต้องเหมาะสมได้อย่างไร

            “เวทีแรก ๆ อาจจะมีวิทยากรมาบรรยายโฆษณาชวนเชื่อ เฉพาะด้านดีของโครงการ โดยไม่มีการให้ข้อมูลด้านเสียหรือผลกระทบเชิงลบเลย แต่ต่อมาเวทีหลัง ๆ เมื่อถูกประชาชนคัดค้านมาก ก็มีการปรับเปลี่ยนเป็นการฉายวีดีทัศน์ให้ชาวบ้านชมเพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นให้แยกห้อง แยกเวทีออกไปเป็นห้องย่อย ๆ เพียงเพื่อให้ไปกรอกแบบสอบถาม ที่มีลักษณะเป็นคำถามชี้นำทั้งสิ้น แม้แต่นักศึกษาปริญญาโท ก็ตอบแบบสอบถามดังกล่าวไม่ได้ ประสาอะไรกับชาวบ้านธรรมดาจะตอบคำถามได้ ที่สำคัญไม่ให้ข้อมูลรายละเอียดที่เหมาะสมต่อชาวบ้าน จะให้ชาวบ้านตอบแบบสอบถามได้อย่างไร กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของ กบอ.ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงกระพี้ปลีกย่อยเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ มีความผิดพลาด ล้มเหลว และไม่เป็นไปตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่กฎหมายกำหนดอีกมากมาย ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปโดยไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายต่าง ๆ กำหนด อีกทั้งเราต้องสูญเสียเงินในการจัดเวทีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ไปกว่า 280 ล้านบาท เพียงเพื่อสามารถให้สามารถจัดปาหี่Ž เพื่อความลำพองใจของใครบางคนเท่านั้น”

ชาวบ้านแม่กลองรวมตัวคัดค้านที่เวทีสมุทรสงคราม

ระบุชัดไม่ได้เป็นไปตามคำสั่งศาล

ขณะที่ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนฯ ตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกับนายศรีสุวรรณโดยระบุว่า หากพิจารณาขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ของผู้จัดงานแล้ว สรุปได้อย่างชัดเจนว่า การดำเนินการต่าง ๆ ไม่ได้เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองกลางแต่อย่างใด เพราะมีหลากหลายประเด็นที่เชื่อได้ว่าเป็นเพียงความพยายาม ที่จะทำเพียงเพื่อให้ผ่าน ๆ ไป และเป็นการตบตาหลอกลวงอย่างชัดเจน ทั้งนี้หากพิจารณาตั้งแต่การเริ่มกระบวนการ ก็มีช่องให้น่าสังเกตหลายอย่าง ตั้งแต่การเชิญคนเข้าร่วมประชุมในแต่ละจังหวัด พบว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของจังหวัดโดยตรง โดยมีการเชิญผ่านกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นสำคัญ ซึ่งสังเกตได้ว่าเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งการให้ข้อมูลในแต่ละครั้งก็ไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลที่ครอบคลุมชัดเจน และครบถ้วนตามคำสั่งของศาล นอกจากนี้เห็นว่าในทุกครั้งเมื่อ ผู้จัดงานทราบข้อมูลว่าจะมีผู้คัดค้านเดินทางไปร่วมเวทีจำนวนมาก ก็มักจะมีการเพิ่มเติมจำนวนผู้เข้าร่วมในส่วนของผู้สนับสนุนมากขึ้นไปด้วย ได้มีการตั้งเป็นคำสั่งพิเศษ เพื่อให้มีจำนวนคนมากกว่าจำนวนผู้ที่ไม่เห็นด้วยที่จะเดินทางมาร่วมเวที

ชาวบ้านที่คัดค้านโครงการขอเข้าร่วมเวทีแต่ถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวาง

            “ผมคิดว่าในส่วนของผู้จัดงานให้ความสำคัญกับตัวเลขสถิติของผู้เข้าร่วมเวที มากกว่าการให้ความสำคัญกับเนื้อหา ที่จะต้องให้ข้อมูลกับประชาชน โดยเฉพาะตัวเลขที่ถูกกำหนดไว้ว่า จำนวนเปอร์เซนต์ระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านจะต้องอยู่ที่ 20 เปอร์เซนต์ ของผู้คัดค้าน และผู้สนับสนุนจะต้องเป็น 80 เปอร์เซนต์ ดังนั้นจึงพยายามที่จะทำให้มีตัวเลขเป็นไปตามนี้ในทุกเวที ขณะที่การอำนวยความสะดวกของผู้จัดงาน ที่เห็นว่ามีความแตกต่างกันมาก ระหว่างกลุ่มสนับสนุนที่ได้มีการลงทะเบียนล่วงหน้าซึ่งจะได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษ มีการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ในระดับผู้อำนวยการด้านประชาสัมพันธ์มาคอยต้อนรับและเปิดประตูให้เข้าไป ในขณะที่ชาวบ้านซึ่งตั้งใจต้องการมาแสดงความคิดเห็นในอีกมุมที่ต่างออกไป เนื่องจากได้รับผลกระทบเชิงลบจากโครงการ กลับถูกกีดกัน ไม่มีการต้อนรับ หรือแม้กระทั่งการเปิดประตูให้เข้าสู่พื้นที่จัดงานได้เลย” นายหาญณรงค์กล่าว

หลากประเด็นจับผิดกบอ.จัดฉาก

นายหาญณรงค์กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเรื่องของเนื้อหาที่จะต้องชี้แจงให้ข้อมูลกับประชาชนนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่พบว่า ในการจัดเวทีแต่ละครั้ง ผู้จัดงานกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหา หรือข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ เกี่ยวข้องผลดี ผลเสีย ข้อมูลการก่อสร้างโครงการ เรื่องของพื้นที่ต่าง ๆ มากนัก มีเพียงการให้ข้อมูลจากนักวิชาการที่ถูกสั่งมาแล้วว่า จะต้องให้ข้อมูลอะไรบ้างและจับเพียงบางโครงการมาให้ข้อมูลกับประชาชนเท่านั้น โดยไม่ได้ชี้ให้เห็นรายละเอียดการเชื่อมโยงของโครงการทั้งหมด และเมื่อผู้รับฟังมีข้อสงสัย สอบถาม ก็มักจะไม่ได้รับคำตอบจากนักวิชาการที่มาให้ข้อมูลแต่อย่างใด ก่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ๆ จะกล่าวสรุปในตอนท้าย แต่ก็ดูเหมือนจะสรุปเหมือนกันหมดทุกจังหวัด คือจะนำข้อมูลที่ได้เสนอไปตามขั้นตอนต่อไป แต่การสรุปของ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็พบว่า ในหลายเวทีไม่ได้สรุปตรงกับการประชุมที่ได้แสดงความคิดเห็นในห้องย่อย

            “จากที่ผมเดินทางไปทุกเวที แม้จะไม่ได้เข้าไป เพราะทุกครั้งเจ้าหน้าที่จะมาถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ บอกนี่แหละหัวหน้าม็อบ ก็เลยต้องอยู่ข้างนอกแล้วให้เพื่อนที่ได้เข้าไปรายงานให้ทราบ ขอสรุปว่า การจัดเวทีของกบอ.เท่าที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองกลางเลย เพราะ 1.การเชิญไม่ได้เชิญเป้าหมายที่แท้จริง ไปเชิญใครก็ไม่รู้ ไม่ได้รับผลกระทบมารับฟัง 2.การให้ข้อมูล มีการให้ไปทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่มีก็ต้องไปดูที่นิทรรศการที่ติดเอาไว้ และที่สำคัญต้องตอบแบบสอบถามก่อน จึงจะเข้าไปดูได้ เป็นเรื่องตลกมาก ไม่รู้ข้อมูลอะไรแต่ต้องตอบแบบสอบถาม ซึ่งก็มีแต่เรื่องของสถานที่จัดงานดีหรือไม่ อาหารเหมาะสม ไม่ได้เกี่ยวกับข้อมูลเนื้อหาโครงการ 3.ระยะเวลาการจัดประชุมที่ใช้เพียงวันเดียวไม่มีทางพอ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเวทีหลาย ๆ จังหวัดจึงล้มไม่เป็นท่า” นายหาญณรงค์สรุป

สว.สมุทรสงครามเชื่อล้มทุกเวที เพราะทุกคนรักบ้านตัวเอง

ด้านนายสุรจิต ชิรเวทย์ สว.จ.สมุทรสงคราม และ เครือข่ายลุ่มน้ำแม่กลอง กล่าวว่า สิ่งที่กบอ.ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่มีความรู้อะไรหรือไม่ เช่นการออกมาบอกว่า การให้ข้อมูลเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่ เพราะความจริงแล้วจะต้องทำตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นกรณีใหญ่และรุนแรง ดังนั้นจึงชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีความรู้อะไรที่ถูกต้อง ทุกอย่างสับสนไปหมด

ในส่วนของ จ.สมุทรสงคราม ที่ภาพออกมาว่ามีการต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรงนั้น ไม่ได้เป็นเพราะมีการปลุกระดม แต่เป็นสิ่งที่ชาวบ้านหรือชาวแม่กลองทุกคน มีความรู้ และแสดงความรู้สึกออกมาอย่างจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดา พ่อค้าแม่ข้า ข้าราชการ หรือแม้แต่เยาวชนนักเรียน เพราะชาวแม่กลองเรียนรู้กับการอยู่กับน้ำ การที่จะมาขุด มาสร้างฟลัดเวย์ ย่อมส่งผลกระทบกับคนที่อยู่กับน้ำ ที่สำคัญที่ผ่านมาชาวแม่กลองร่วมกันจัดทำเวทีแลกเปลี่ยนให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการที่จะเกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านทุกคนรู้รายละเอียดของโครงการ คำถามจึงเกิดขึ้นมากมาย และที่สำคัญในการจัดงานในวันนั้น จะพบว่าไม่ได้ทำตามขั้นตอนระเบียบกฎหมาย ตั้งแต่เรื่องเวลาตั้งแต่เริ่มประชุม มีการฉายวีดิทัศน์ ไม่มีการชี้แจงอะไรแล้วก็แบ่งกลุ่มเลย ถือว่าผิดระเบียบขั้นตอน เวทีจึงไม่เกิดขึ้น แม้ภาพจะออกไปดูเหมือนรุนแรง แต่ทุกคนยืนยันว่าไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการป้องกันบ้านเกิดของตัวเอง จึงเชื่อว่าหากกบอ.ไม่สามารถตอบคำถามเช่นเดียวกันนี้กับชาวบ้านในพื้นที่อื่น ๆ ที่จะไปจัดเวทีอีก ก็ย่อมจะเกิดเหตุการณ์การคัดค้านไม่ต่างกันเช่นกัน

 

ขอบคุณภาพถ่ายของภาสกร จำลองราช , กลุ่มจับตาแม่น้ำสายใหม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: