สลดสาว15ติดยาเพราะอยาก'สวย-รวย' ราชทัณฑ์ฝึกอาชีพอิสระให้หวั่นทำผิดซ้ำ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 5 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3735 ครั้ง

ข่าวการทดลองใช้ยาเสพติดด้วยความเชื่อผิด ๆ ของวัยรุ่นยังคงเป็นประเด็นพูดคุยอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นที่เชื่อว่า การทดลองด้วยจุดประสงค์ธรรมดา ๆ อาจจะส่งผลไปสู่การใช้ยาในจุดประสงค์อื่น ๆ ตามมารวมทั้งการผันตัวเองจากผู้ใช้ยากลายเป็นผู้ค้ายา โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นกับเยาวชน และผู้หญิงที่ปัจจุบันพบว่า มีสถิติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนยากที่จะปฏิเสธ

ผู้หญิงใช้ยาเสพติดเข้าสู่เรือนจำเพิ่ม

จากข้อมูลผู้เข้ารับการรักษา ที่สถาบันธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ในภูมิภาคอีก 6 แห่งทั่วประเทศ สังกัดกรมการแพทย์ พบว่า จากการรวบรวมสถิติผู้ป่วยยาเสพติดทั้งหมด พบว่า ในปี 2555 มีจำนวน 330,544 ราย เฉพาะที่สถาบันธัญญารักษ์ ปี 2555 ผู้เข้าบำบัดจำนวน  9,715 ราย ส่วนปี 2556 จากเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 5,106 ราย เมื่อแยกตามช่วงอายุของผู้เข้ารับการบำบัด พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มของวัยรุ่นและวัยรุ่นตอนปลาย สอดคล้องกับการจำแนกสถิติที่แยกตามกลุ่มการศึกษาที่พบว่า ตั้งแต่ปี 2552 - 2556 กลุ่มผู้ป่วยยาเสพติดส่วนใหญ่ คือ กลุ่มมัธยมศึกษา โดยปี 2555 มีมากถึงร้อยละ 81.67 และในปี 2556 มีถึงร้อยละ 85.2 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นโดยระบุว่า สาเหตสำคัญของการเข้าสู่การใช้ยาของผู้หญิงเหล่านี้ เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่า ยาไอซ์จะสามารถทำให้ขาว และผอมได้นั่นเอง

นอกจากประเด็นการเพิ่มจำนวนการใช้ยาเสพติดของผู้หญิง ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง จากเหตุผลด้านความงามแล้ว การใช้ยาเสพติดตามเพื่อน ขาดความยั้งคิด ก็เป็นสาหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงเข้าไปสู่กระบวนการใช้ยาเสพติดเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

จากการเปิดเผยของ นางฑิฆัมพร วิเชียรเชื้อ ผู้อำนวยการทัณฑสถานบําบัดพิเศษหญิง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นเรือนจำดูแลผู้ต้องขังหญิงที่ต้องลหุโทษ คดีเกี่ยวกับยาเสพติดจากทั่วประเทศ ระบุว่า ในการสำรวจข้อมูลของการกระทำความผิดจนต้องเข้ามารับโทษในเรือนจำของผู้หญิง ในคดียาเสพติดส่วนใหญ่ พบว่า ผู้ต้องขังหญิงที่ใช้ยาเสพติด ส่วนใหญ่สารภาพว่าใช้ยาเสพติดประเภทยาบ้า และยาไอซ์ จากการแนะนำของกลุ่มเพื่อน และต้องการทดลอง ต้องการการยอมรับจากเพื่อนในกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ที่มีกลุ่มเพื่อนฝูง หรือกลุ่มสภาพแวดล้อมเดียวกัน จนทำให้มีการขยายตัวการใช้ยาเพิ่มต่อ ๆ กันไป ซึ่งการเริ่มทดลองใช้ยานี่เอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การกระทำผิด คือ การจำหน่าย เพราะเมื่อเข้าไปอยู่ในแวดวงแล้ว ราคาของยาเสพติดที่มีราคาสูง มักจะเป็นสิ่งจูงใจทำให้กลายเป็นผู้จำหน่ายในที่สุด

              “ผู้ต้องขังที่นี่จำนวนมากที่ขยับตัวเองจากผู้เสพไปเป็นผู้จำหน่าย เพราะเป็นงานที่มีรายได้ดี ไม่ต้องใช้ความรู้อะไร เมื่อเข้าไปอยู่ในแวดวงนี้แล้ว เขาก็จะรู้ว่าเขาจะได้ยาเสพติดมาจากไหน และขายให้กับใคร โดยกลุ่มที่ใช้ยามากที่สุด จากข้อมูลของเราพบว่า เป็นกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มทำงาน ซึ่งยังไม่มีการยับยังชั่งใจมากนัก และเมื่อเป็นผู้จำหน่ายแล้ว ก็มักที่จะไม่เลิกง่าย ๆ เพราะเขาเห็นว่าเป็นงานง่ายและรายได้ดี” นางทิฆัมพรกล่าว พร้อมกับระบุว่า ปัจจุบันที่ทัณฑสถานบําบัดพิเศษหญิง จ.ปทุมธานี มีผู้ต้องขังหญิงทั้งสิ้น  1,931 คน ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งยังต้องอยู่ในระหว่างการบำบัดจากการใช้ยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มผู้หญิงทำงานกลางคืน มีการศึกษาในระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษามากที่สุด ขณะที่จำนวนผู้ต้องขังรวมทั่วประเทศ ราว 270,000 คน และมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นในทุกปี ส่วนใหญ่มาจากการต้องโทษซ้ำในคดียาเสพติด

สาวเปิดใจอนาคตดับเพราะเสพยาไปจนถึงขายเอง

จากปากคำของผู้ต้องขังรายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า เริ่มใช้ยาเสพติดประเภทยาไอซ์ ตั้งแต่อายุ 17 ปี เริ่มต้นจากการทดลองใช้จากเพื่อนร่วมงาน ที่ทำงานเป็นหญิงสาวเชียร์เบียร์ด้วยกัน เพราะเพื่อนบอกว่า ใช้แล้วจะทำให้ไม่เหนื่อย และทำงานสนุก รวมทั้งยังช่วยเรื่องของผิวพรรณ และรูปร่างด้วย โดยครั้งนั้นไม่รู้สึกว่ายาเสพติดจะส่งผลร้ายแรงทั้งต่อตัวเองและครอบครัว ไปตลอดจนประเทศชาติอย่างไร เพราะทุกครั้งที่ใช้ยาก็ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร และทางบ้านก็ไม่รู้ ขณะเดียวกันตัวเองก็ไม่ได้เป็นคนดังที่จะต้องมีใครมาจับตาดูจึงใช้ยาตลอดมา

               “ด้วยความที่ตอนนั้น หนูเป็นวัยรุ่นเพิ่งอายุ 17 ปี และเป็นลูกคนเล็กที่พ่อแม่รักมาก เป็นคนหัวดี พ่อแม่ส่งเรียนหนังสือ แต่หนูไม่เรียน ต่างกับพี่ชายที่หัวไม่ค่อยดี ทำให้เขาตั้งใจเรียน พอได้เจอเพื่อนชวนมาทำงานเชียร์เบียร์หนูก็มา เพราะมีรายได้ดี คืนหนึ่งหนูได้เงินหลายพันบาทก็เลยเลิกเรียน แล้วบอกพ่อแม่ว่าหนูเลี้ยงตัวเองได้ไม่ต้องเป็นห่วง พ่อแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่หนูก็รู้ว่าเขาเสียใจ แต่หนูเอาแต่ใจ ไม่สนใจ ออกมาทำงานก็สนุกๆ ไป และเริ่มทดลองใช้ยาไอซ์เพราะเพื่อนเอามาให้ มันก็รู้สึกว่าไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ก็ไม่ได้บอกครอบครัวเขาไม่รู้เรื่อง จนกระทั่งมาถูกตำรวจจับครั้งแรก เขาจึงได้รู้ว่าหนูเริ่มเข้าไปพัวพันกับแวดวงนี้แล้ว”

ผู้ต้องขังรายเดิมเล่าว่า การถูกตำรวจจับในครั้งแรก เธอได้รับการปล่อยตัว เพราะไม่มีของกลาง ว่าเธอเป็นผู้เสพหรือผู้จำหน่าย เป็นแต่เพียงคนที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้ต้องหาเท่านั้น ทำให้ไม่ได้รับโทษ และการไม่ได้รับโทษครั้งนั้นเอง ทำให้การกระทำผิดครั้งต่อมาจึงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

                “ตอนนั้นหนูรู้สึกว่า อ๋อ ก็แค่นี้เองก็ถูกจับไม่ได้ต้องโทษอะไร ตอนนั้นยังคิดไม่ได้ก็เลยกลับมาใช้ยาอีก แล้วก็เริ่มขายยาให้กับเพื่อน ๆ คือตอนนั้นคิดแค่ว่าเราขายให้เพื่อน ไม่ได้ขายให้กับคนอื่นมันจะผิดอะไรมากมาย ไม่ได้ไปขายรายใหญ่ ๆ แบบนั้น ซึ่งหนูก็คิดว่าคนที่เขาขายทั่วไปก็คิดกันแบบนี้ เรื่องนี้พ่อแม่เริ่มรู้ว่าเราใช้ยา แต่เขาไม่คิดว่าหนูจะขาย เขาก็เตือนตลอด แต่หนูไม่ได้สนใจ จนกระทั่งสุดท้ายถูกตำรวจจับได้พร้อมของกลางและต้องรับโทษ ดีที่ตอนนั้นหนูคิดในใจว่า ครั้งนี้จะเหมือนครั้งที่แล้วไหม จะรอดหรือเปล่า แต่ต่อมาก็มีการพิพากษาคดีให้จำคุก 6 ปี 6 เดือน ซึ่งตอนแรกแม่มาหาบอกว่า จะพยายามต่อสู้คดีให้ แม่ไปมาหลายครั้ง จนหนูสงสารแม่ ก็ตัดสินใจบอกแม่ว่า แม่อย่าสู้เลยเพราะไม่มีประโยชน์แล้ว หนูขอรับโทษนี้ไป เพราะคดีจะได้จบ พ่อแม่ไม่ต้องลำบากเพื่อหนูอีก”

รู้พิษภัยพร้อมกลับใจก่อนจะถึงวันพ้นโทษ

เมื่อถามว่าเมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำแล้ว รู้สึกถึงพิษภัยของยาเสพติดหรือเปล่า ผู้ต้องขังหญิงคนเดิมกล่าวว่า ในตอนแรกก็ยังไม่ค่อยได้เห็นมากนัก จนกระทั่งได้เข้ามาอยู่ร่วมกับเพื่อนผู้ต้องขังอื่น ๆ ได้เห็นประสบการณ์ของคนอื่น ได้พูดคุยกันบางคน บอกว่ามีญาติติดยาเสพติดจนครอบครัวแตกแยก ไม่มีบ้านอยู่ พ่อแม่ไปคนละทิศละทาง ขณะที่ทางเรือนจำให้ความรู้ให้เห็นถึงผลเสีย ที่ส่งไปถึงสังคมอื่น ๆ แล้วก็เริ่มคิดได้ และส่วนสำคัญที่เธอคิดได้คือ รู้สึกเสียเวลา และเสียอนาคตอย่างมาก เพราะแทนที่จะใช้เวลาในช่วงของวัยทำงานไปช่วยครอบครัวดูแล มีอนาคตมีหน้าที่การงานดี ๆ อยู่ข้างนอก เธอกลับต้องมาใช้เวลาอยู่ในเรือนจำแทน

                 “ทุกครั้งที่แม่มาเยี่ยม แม่จะบอกหนูว่า ไม่ต้องคิดอะไรมาก ให้ทำตัวให้ดี เลิกยาเสพติดและให้กำลังใจหนู หนูจึงคิดว่าแม่รักหนูมาก แต่ทำไมหนูถึงทำกับแม่แบบนี้ แม่ต้องลำบาก หนูไม่ได้ดูแลเขา ก็เลยพยายามทำตัวให้ดี และตั้งใจว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก หนูเริ่มเรียนต่อในนี้ ตอนนี้จบปวช.แล้ว และพอมีโปรแกรมเรื่องของการอบรมเรื่องของการประกอบธุรกิจส่วนตัว หนูก็ขอเข้าเรียนด้วย และตั้งใจประพฤติตัวให้ดี ตลอดจนได้เป็นนักโทษประพฤติดี ตั้งใจว่าถ้าออกไปก็จะไปประกอบอาชีพขายเสื้อผ้าจะไม่เข้าไปสู่สิ่งแวดล้อมแบบเดิมๆ อีก”

เรียนน้อย-ยากจน เหตุผลสู่การค้ายา

อำนวยการทัณฑสถานบําบัดพิเศษหญิง จ.ปทุมธานี กล่าวอีกว่า ตัวอย่างของผู้ต้องขังหญิงรายนี้ นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่น วัยทำงานที่ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ของผู้ต้องขังคดียาเสพติด ที่เป็นกลุ่มเสพยาและค้ายาด้วย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มสำคัญที่เชื่อว่าในสังคมยังมีอยู่อีกมาก ซึ่งจากเหตุผลการใช้และข้อมูลที่เก็บได้จากกลุ่มนี้ทำให้เห็นได้ว่า ยังมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการใช้ยา ขณะเดียวกันเรื่องของการศึกษา และความยากจน ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเข้าสู่การกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมากขึ้น

                “นอกจากกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้แล้ว ที่นี่ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องโทษในคดียาเสพติดอยู่จำนวนหนึ่ง โดยเหตุผลของการกระทำความผิด แตกต่างจากกลุ่มวัยรุ่นอยู่แล้ว แต่เหตุผลที่เหมือนกันคือ เรื่องของรายได้ ความยากจน และเรื่องการศึกษา โดยกลุ่มสูงอายุส่วนใหญ่เราพบว่า เป็นกลุ่มที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดจากการกระทำผิดของลูกหลาน ประเภทมีของกลางอยู่ในบ้าน ค้ายาเพราะต้องการเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว เพราะเป็นที่ทราบกันว่า ในสังคมไทยผู้หญิงมักจะเป็นกลุ่มที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัว จนต้องกระทำผิด เมื่อเข้ามาอยู่ในนี้เราพบว่า มีบางรายครอบครัวต้องมาขอเบิกเงินที่ได้จากเงินปันผลของนักโทษที่เก็บไว้เพื่อไปเลี้ยงดูครอบครัวก็มี” นางทิฆัมพรกล่าว

กรมราชทัณฑ์รณรงค์ให้สังคมเปิดโอกาสแต่ไม่สำเร็จ

ประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับยาเสพติดที่ส่งผลให้ผู้หญิงเหล่านี้ต้องกลายเป็นนักโทษ จึงยังเป็นประเด็นท้าทายที่จะต้องมีการพัฒนาในอนาคต เพราะการกลายเป็นผู้ต้องขัง หรือนักโทษ โดยเฉพาะคดียาเสพติดย่อมมีผลกระทบสำคัญต่อตัวผู้ต้องขังเอง โดยเฉพาะหลังการพ้นโทษ ที่ต้องกลับคืนสู่สังคม นางทิฆัมพรกล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์จะพยายามรณรงค์ ในการให้สังคมยอมรับกลุ่มผู้พ้นโทษ กลับคืนเข้าสู่สังคม เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้กลับไปใช้ชีวิตเหมือนปกติ และได้ดำเนินการตลอดมาแต่จนถึงปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะยังพบว่า สังคมไทยไม่เคยยอมรับผู้ต้องขังพ้นโทษกลับเข้าสู่สังคมเหมือนเดิม โดยเฉพาะการเข้าสู่การจ้างงานในสถานประกอบการต่าง ๆ  ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว นำไปสู่ปัญหาการว่างงานและบางส่วนยังทำให้ผู้พ้นโทษกลับเข้าสู่สังคมเดิม ๆ วงจรเดิม คือการกระทำผิดด้วยการจำหน่ายยาเสพติด เพราะไม่สามารถที่จะหางานสุจริตทำได้อีก เนื่องจากสังคมไม่ยอมรับ จึงถือว่าเป็นปัญหาที่สังคมจะต้องร่วมกันแก้ไข และรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง

                 “เรื่องนี้เป็นปัญหาหลักสำคัญ ที่ยังแก้ไม่ตก แม้ว่าตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์จะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่พบว่าประสบความสำเร็จเลย สังคมภายนอกยังไม่ยอมรับ แม้ว่าเราจะมีโครงการร่วมกับสถานประกอบการ มีการรับรองชัดเจน แต่สุดท้ายแล้วในความเป็นจริง พวกเขาก็ยังไม่ยอมรับผู้ที่ได้ชื่อว่าอดีตนักโทษ มีอยู่ครั้งหนึ่งเราส่งผู้พ้นโทษออกไปทำงานในสถานประกอบการแห่งหนึ่ง ซึ่งทำโครงการร่วมกัน แต่ต่อมาเมื่อเกิดเหตุของหายในโรงงาน เขาก็ไล่กลุ่มนี้ออกทั้งชุด ในที่สุดผู้พ้นโทษก็ต้องว่างงานอีก และอาจจะมีโอกาสกลับเข้าไปสู่การจำหน่ายยาเสพติดอีก เพราะสังคมไม่เปิดโอกาสให้ นอกจากกลุ่มเดิม ๆ ที่เคยทำงานร่วมกันมา”

เปิดโครงการสอนทำธุรกิจหวังนำไปใช้ประกอบอาชีพอิสระ

ผอ.ทัณฑสถานบำบัดหญิงพิเศษ จ.ปทุมธานี กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาการกลับสู่วงจรชีวิตเดิมนั้น นอกจากจะวิงวอนให้สังคมเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้พ้นโทษ มีโอกาสใช้ชีวิตปกติแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทัณฑสถานฯ ทำได้ก็คือ การพยายามสร้างอาชีพส่วนตัว ให้กับกลุ่มผู้ต้องขัง ซึ่งในหลายทัณฑสถาน จะจัดให้ฝึกอาชีพเพื่อนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเมื่อพ้นโทษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพอิสระ เพื่อแก้ปัญหาการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เช่น นวดแผนไทย ซักรีด ประกอบอาหาร แต่ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ การที่กลุ่มผู้ต้องขังจากคดีค้ายาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงสาว อายุระหว่าง 15 - 25 ปี เป็นกลุ่มที่เคยสบาย หาเงินง่าย ทำให้ปรับตัวลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการ เรื่องการเงินของตัวเอง ที่ได้จากเงินที่ญาติของผู้ต้องขังนำมาให้ และจากการประกอบอาชีพภายในทัณฑสถานฯ อาทิ การรับจ้างซักรีดเสื้อผ้า ร้านขายของชำ รับจ้างทำงานฝีมือต่าง ๆ เป็นต้น

ซึ่งเงินที่ได้นี้สามารถนำไปซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่ต้องการได้ รวมถึงนำเงินที่ได้รวบรวมฝากธนาคารโดยผ่านผู้คุมเป็นผู้ดูแลจัดการให้ได้ เมื่อไม่มีการบริหารจัดการ หรือตั้งเป้าหมายการดำเนินชีวิตหลังพ้นโทษ ทำให้เมื่อพ้นโทษแล้ว ผู้ต้องขังไม่สามารถลงทุนประกอบอาชีพที่ตนเองถนัดได้ นำมาสู่ปัญหาการกระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติด การจัดหาโครงการในการบริหารจัดการด้านการเงิน หรือการนำความรู้ไปต่อยอดทางธุรกิจ ประกอบอาชีพส่วนตัวจึงจำเป็นต้องให้ความรู้เหล่านี้เพิ่มเติมด้วย

                  “ที่ผ่านมามีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาอบรมเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการเงินให้กับผู้ต้องขัง เช่น ล่าสุด สถาบันคีนัน และมูลนิธิซิตี้ มาอบรมให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการด้านการเงิน รวมทั้งการประกอบธุรกิจ เงินออมต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการที่จะให้กลุ่มนี้ได้ใช้ความรู้ที่ได้ไปใช้ในการจัดการด้านการเงินของตัวเองและครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมาในการติดตามผลภายในเอง ก็พบว่าผู้ต้องขังมีการออมเงินมากขึ้น เพราะนึกถึงอนาคต  เราก็หวังว่าเมื่อพ้นโทษไปแล้ว พวกเขาจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการประกอบอาชีพส่วนตัวของตน และมีรายได้ในการเลี้ยงครอบครัว โดยไม่ต้องหันกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจนต้องกลับเข้าสู่เรือนจำอีก” นางทิฆัมพรกล่าว

งานวิจัยชี้ผู้หญิงเป็นแพะคดียาเสพติดมาก

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “คำให้การของผู้หญิงซึ่งถูกพิพากษาว่ากระทำผิดในคดียาเสพติด” โดยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคดียาเสพติด โดยระบุว่า จากการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่ถูกพิพากษาว่ากระทำผิดในคดียาเสพติดเข้าไปอยู่ในเรือนจำมากขึ้นเรื่อย ๆ  และพบว่าเป็นคดียาเสพติดถึง 80 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ในงานวิจัยดังกล่าว นอกจากการกระทำผิดที่เกิดขึ้นจากผู้หญิงโดยตรงแล้วยังพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มในกระบวนการยุติธรรมคือ

1.ผู้หญิงอาจเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกทำให้กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือสม รู้ร่วมคิดกับการขายยาเสพติดทั้งโดยตรงและโดยอ้อมได้หรือไม่ เช่น ตนเองตกอยู่ในฐานะภรรยา คู่รัก หรือแม่ ที่ต้องอยู่ร่วมในครอบครัวกับผู้ชายซึ่งเป็นผู้ขายยาเสพติด นิยามของคำว่า “สมรู้ร่วมคิด” หรือการมีส่วนร่วม การสนับสนุน การได้รับประโยชน์ มีความชัดเจนเพียงใด โดยเฉพาะในบริบทของครอบครัว ซึ่งต่างจากการเป็นกลุ่มเพื่อน หรือผู้ร่วมธุรกิจค้ายาทั่วไป

2.ผู้หญิงอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ด้วยอำนาจเหนือการควบคุมในระบบยุติธรรมทางอาญา อาจทำให้ผู้หญิงคนนั้นกลายเป็นผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ เช่น มีเพียงจำเลยปากเดียวที่เบิกความยืนยันความบริสุทธิ์ของตน จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่น่าเชื่อถือ

3.ผู้หญิงอาจตกเป็นเหยื่อหรือแพะรับบาปของการจับกุมและการสอบสวน เพราะขาดความรู้หรืออยู่ในสถานะที่ไม่มีทางต่อสู้กับผู้มีอำนาจ ไม่มีทรัพยากรหรือเครือข่ายที่จะป้องกันตนเองได้ ตัวอย่างเช่น การสารภาพของผู้ต้องหาในคดียาเสพติดในชั้นจับกุมและสอบสวน อาจเกิดได้หลาย ๆ กรณี เช่น ผู้ต้องหากระทำผิดจริงจึงสารภาพ หรือผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิดจริงแต่ตำรวจแนะนำให้สารภาพ โดยบอกว่าการสารภาพจะเป็นผลดี เพราะจะได้รับการลดโทษลงครึ่งหนึ่ง หรืออาจเกิดจากการข่มขู่คุกคามหรือทรมานให้รับสารภาพก็ได้ คำสารภาพจึงไม่ได้หมายความว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำผิดจริงเสมอไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: