เปิดเอกสารคำสั่งมศว-ลงโทษ ‘น.พ.สมเกียรติ’ว่าที่ผอ.สวรส. กรณีบทความเหมือนต่างประเทศ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 5 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2596 ครั้ง

 

 

จากกรณีที่ น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หมดวาระลง จึงมีการสรรหาผู้อำนวยการ สวรส. คนใหม่ ซึ่งผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อคือ ศ.น.พ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล กรรมการและเลขานุการ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขา วิทยาศาสตร์การแพทย์ และอดีตอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)

 

อย่างไรก็ตาม ชมรมแพทย์ชนบทได้ออกจดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2556 ทักท้วงการแต่งตั้ง น.พ.สมเกียรติ ถึงคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ระบุว่า

 

           ‘ศ.นพ.สมเกียรติ มีคุณสมบัติบางประการไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากเคยถูกตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องการกระทำผิดจริยธรรมในการวิจัยและถูกลงโทษถึงขั้นตัดเงินเดือน 5 เปอร์เซนต์ อันอาจจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ และภาพพจน์ขององค์กรโดยรวม’

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อีกทั้ง น.พ.พงษ์เทพ วงศ์วัชระไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท ยังกล่าวในทำนองว่า ศ.น.พ.สมเกียรติ เป็นเพื่อนสนิทของ น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกส่งเข้ามานั่งใน สวรส.

 

ด้าน น.พ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตผู้อำนวยการ สวรส. และอดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ท้วงติงว่า บอร์ด สวรส. ต้องรอบคอบและเป็นอิสระ เพราะสวรส.มีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกับนักวิชาการสาธารณสุขระดับสูง ทั้งในและต่างประเทศ และมีงานวิจัยที่สามารถผลักดันนโยบายด้านสาธารณสุข ที่มีผลต่อประชาชนทั้งประเทศ อีกทั้งที่ผ่านมา สวรส. มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างสูงและมีบทบาทสำคัญในเวทีวิชาการระดับโลก การมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการจึงถือเป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญมากที่สุดของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สวรส.

 

เมื่อกระแสการทักท้วงดังขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุให้การแต่งตั้ง น.พ.สมเกียรติ เป็นผู้อำนวยการ สวรส. ต้องเลื่อนออกไป โดย น.พ.ชลน่าน มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ สวรส. ขอข้อมูลไปยังสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร เพื่อนำกลับมาให้คณะกรรมการสวรส. พิจารณาอีกครั้ง หากเข้าข่ายต้องห้ามหรือมติคณะกรรมการเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็จะทำการสรรหาผู้อำนวยการ สวรส. คนใหม่ แต่หากคณะกรรมการไม่ติดขัดในคุณสมบัติ ก็จะให้ น.พ.สมเกียรติ เป็นผู้อำนวยการ สวรส. ตามมติเดิม โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์

 

 

 

ขณะที่ น.พ.สมเกียรติ กล่าวผ่านสื่อว่า ประเด็นที่ชมรมแพทย์ชนบทกล่าวหานั้น ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนทางกฎหมาย จึงต้องการให้ทุกคนเคารพกระบวนการทางราชการ ซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณชนไม่ได้ ผู้ที่ละเมิดต้องได้รับผิดทางแพ่งและอาญา ส่วนตัว น.พ.สมเกียรติ ในฐานะผู้ถูกกระทำให้เสื่อมเสียในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ก็จะดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ส่วนข่าวที่ปรากฏว่า ถูกลงโทษทางวินัยตัดเงินเดือน 5 เปอร์เซ็นต์ ทาง น.พ.สมเกียรติ กล่าวว่า ตนยังมีสิทธิจะอุทธรณ์ไปยังสภามหาวิทยาลัย

 

 

 

อย่างไรก็ตามศูนย์ข่าว TCIJ ได้รับเอกสาร ‘คำสั่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ’ ที่ ๑๙๕๐/๒๕๕๖ เรื่อง ลงโทษตัดเงินเดือนข้าราชการ โดยเนื้อความในเอกสารระบุดังนี้

 

 

           ‘ด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ระดับ ๕๙,๕๘๐ บาท เลขประจำตำแหน่ง ๓๗๗ สังกัดภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ได้กระทำความผิดวินัยกรณีร่วมเป็นผู้นิพนธ์บทความเรื่อง Nontraumatic perforations of the small intestine ซึ่งบทความดังกล่าวนั้นมีความเหมือนกับบทความเรื่อง Nontraumatic perforations of the small intestine ของ Putzki, H; Ledwoch, J; Dueben, W; Mlasowsky, B และ Heymann, ของผู้นิพนธ์ชาวเยอรมันถึงร้อยละ ๖๐ ในส่วนของสำนวนภาษาที่ใช้ในการเขียนความนำ เครื่องมือและวิธีการวิจัย บทสรุปและบทคัดย่อ โดยบทความที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริกุลชัย ร่วมนิพนธ์นั้น ไม่มีการอ้างอิงบทความของชาวต่างชาตินี้ไว้แต่อย่างใด ซึ่งบทความนี้ได้นำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ (จ.พ.ส.ท.) และนำไปเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการให้กับศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล พฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ไม่รักษาชื่อเสียงของตนเองและเกียรติศักดิ์ ในตำแหน่งหน้าที่ราชการมิให้เสื่อมเสีย อันเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรงฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วตาม มาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ สมควรได้รับโทษตัดเงินเดือนร้อยละห้า เป็นเวลา 3 เดือน’

 

ในเอกสารระบุว่า การตัดเงินเดือนจะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2556 นี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกลงโทษหรือ น.พ.สมเกียรติ สามารถอุทธรณ์เป็นหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งลงโทษ และถ้าอุทธรณ์แล้วยังต้องการโต้แย้งคำวินิจฉันอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัย ก็ยังสามารถทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เอกสารฉบับนี้ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2556 และมีลายเซ็นต์ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทยเฉลิมชัย บุญยะสีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

อย่างไรก็ตาม คำสั่งของทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด เนื่องจากทาง น.พ.สมเกียรติ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสภามหาวิทยาลัย โดยทางสภามหาวิทยาลัยจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาการอุทธรณ์ของ นพ.สมเกียรติ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งทางศูนย์ข่าว TCIJ จะได้นำมาเสนอต่อไป

 

 

ขอบคุณภาพถ่าย ศ.น.พ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล จากไทยรัฐ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: