หมอชนบทดึงสรส.หนุน-บี้ประดิษฐ ยืนยันไม่เอา'พีฟอร์พี'-ป้องสปสช. ขวางสธ.จ้องฮุบงบฯระบบสุขภาพ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 5 มิ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2009 ครั้ง

ความขัดแย้งระหว่างชมรมแพทย์ชนบทกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ กรณีการปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนจากแบบเหมาจ่าย เป็นการจ่ายค่าตอบแทน ตามผลการปฏิบัติงานหรือพีฟอร์พี (Pay for Performance: P4P) ลุกลามกลายเป็นมหากาพย์และทวีความซับซ้อนขึ้นทุกขณะ เมื่อ น.พ.ประดิษฐ เป็นรัฐมนตรีสายตรงของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกว่าเป็นสายแข็งที่ใช่ว่ากลุ่มแพทย์ชนบทจะเลื่อยขาเก้าอี้ได้ง่าย ๆ ขณะที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่ากลุ่มแพทย์ชนบทจะอ่อนกำลังลง

 

แต่การประกาศชุมนุมประท้วงของกลุ่มแพทย์ชนบทที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ กลับสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ส่งนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมตรี ลงมาเป็นตัวกลางเจรจากับกลุ่มแพทย์ชนบท จนกลุ่มแพทย์ชนบทประกาศเลื่อนการชุมนุมออกไปก่อน

 

 

แพทย์ชนบทประกาศกร้าวไม่เอาพีฟอร์พี-ไล่หมอประดิษฐ์

 

 

ล่าสุด ชมรมแพทย์ชนบทและโรงพยาบาลชุมชน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง  ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนการเจรจา ซึ่งแม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง แต่มี 2 ข้อที่ยืนยันชัดเจนเหมือนกันคือต้องยกเลิกระบบพีฟอร์พีและ น.พ.ประดิษฐ ต้องหลุดจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

 

“P4P คือยาพิษ จะไม่มีการเจรจาลงรายละเอียดเรื่อง P4P แต่อย่างใด ไม่รับทั้งหมด ไม่มีการโอนอ่อน” เป็นคำกล่าวชนิดยอมหักไม่ยอมงอของ น.พ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ จ.นราธิวาส

 

หากผลการเจรจาไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง กลุ่มแพทย์ชนบทก็ประกาศแล้วว่า การชุมนุมหน้าบ้านนายกฯ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในวันที่ 20 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อให้แก้ปัญหาและย้าย นพ.ประดิษฐ  สินธวณรงค์ ออกจากตำแหน่ง

 

 

ปลดหมอวิทิตถูกขยายผลเรื่องแปรรูป ดึงสรส.เป็นทัพหนุน

 

 

ก่อนหน้านี้ แม้จะมีกระแสกดดันอย่างหนักจากเครือข่ายเอ็นจีโอและกลุ่มแพทย์ชนบท แต่ นพ.ประดิษฐ กลับไม่แยแสและยังเดินหน้าปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพตามความเห็นของตนและคนใกล้ชิดต่อไป แต่เหตุการณ์ที่เรียกแขกอย่างแรงก็เกิดขึ้นเมื่อเกิดการปลด น.พ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ออกจากตำแหน่ง

(อ่านข่าวเพิ่มเติม-แฉปมปลดฟ้าผ่าผอ.องค์การเภสัช สธ.ไล่บี้สปสช.หวังขอเงิน75ล้าน สตง.ให้ทำโครงการขอใช้ฟรีไม่ได้ www.tcijthai.com/tcijthai/view.php?ids=2618)

 

 

ข้อเท็จจริงเรื่องยาพาราเซตามอลและโรงงานวัคซีนที่ น.พ.วิทิตถูกกล่าวหายังอยู่ในกระบวนการที่ต้องสืบหาความจริงต่อไป อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นก่อนหน้าเรื่องการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองที่ต้องการยึดอำนาจและเม็ดเงินคืนจากองค์กรตระกูล ส. ที่สยายปีกคลุมแวดวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเกิดขึ้นของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งฝ่ายคัดค้านเห็นว่า การกระทำของฝ่ายการเมืองเป็นอันตรายต่อระบบหลักประกันสุขภาพและเอื้อประโยชน์แก่โรงพยาบาลเอกชน

 

ไม่เพียงเท่านั้น การปลดน.พ.วิทิต ยังถูกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ขยายความต่อไปว่า เป็นการสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้แก่องค์การเภสัชกรรม เพื่อปูทางไปสู่การแปรรูปในที่สุด แน่นอนว่า เมื่อเอ่ยถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ย่อมเท่ากับดึงเอาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่มีฝ่ายสหภาพแข็งแกร่ง เช่น การไฟฟ้าฯ การประปาฯ การรถไฟฯ เป็นต้น เข้ามาหนุนหลัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแข็งขัน มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนเกิดเป็นแถลงการณ์ ‘การสนับสนุนการต่อสู้เพื่อพิทักษ์รักษาองค์การเภสัชกรรม’ ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สรส. และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอีก 24 แห่งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

วันที่ 30 มิถุนายน นายสุรนันทน์ออกแถลงมาข่าวว่า จะจัดให้มีการประชุมหารือเพื่อหาทางออกกรณีพีฟอร์พีระหว่างทีมตัวแทนนายกรัฐมนตรี ทีมคณะแพทย์ ชมรมแพทย์ชนบท ทีมทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชน ทีมเภสัชกรจากสหภาพรัฐวิสาหกิจ องค์การเภสัชกรรม ทีมตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข และตัวแทนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

หากสังเกตแถลงการณ์ของชมรมแพทย์ชนบท ฉบับวันที่ 3 มิถุนายน พบว่า ในเนื้อหาจุดยืนการเคลื่อนไหว ข้อ 3 ระบุว่า

 

 

‘หากการเจรจาในวันที่ 4 มิถุนายน และวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ไม่มีความคืบหน้า จะร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพ ร.พ.ชุมชนทั่วประเทศ เครือข่ายผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เอดส์ หัวใจ มะเร็ง โรคเลือด เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม การไฟฟ้าฯ การประปาฯ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชุมนุมใหญ่และจัดตั้ง ร.พ.คนจนภาคสนามขึ้นหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 20 มิถุนายน 2556 นี้เป็นต้นไป จนกว่าจะได้เข้าพบท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อให้แก้ปัญหา และย้าย น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ออกไป’

 

จากเดิมที่มีเพียงกลุ่มแพทย์ชนบท เอ็นจีโอ และเครือข่ายผู้ป่วย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกลายเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่เพิ่มเข้ามา จนทำให้อำนาจต่อรองของฝ่ายต่อต้าน น.พ.ประดิษฐ สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และนี่ทำให้จุดยืนของชมรมแพทย์ชนบทค่อนข้างแข็งกร้าว ไม่ประนีประนอม ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการตั้งเงื่อนไขที่สูงเพื่อประโยชน์สำหรับการต่อรองบนโต๊ะเจรจา

 

 

ลือปลดรองเลขาฯสปสช.-เชื่อเจรจาเพื่อหวังลดกระแส

 

 

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวล่าสุดปล่อยออกมาอีกว่า น.พ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. ศิษย์เอก น.พ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ก่อเกิดแนวคิดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำลังจะเป็นคนต่อไปที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

 

 

ถอยกลับไปเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา น.พ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ และ น.พ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธิ์ ได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการ สปสช. ซึ่งมีกระแสข่าวว่า ทั้งสองคนเป็นคนที่ฝ่ายการเมืองส่งเข้ามา โดยสองตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นนี้ก็มาจากความประสงค์ของ น.พ.ประดิษฐ ที่ต้องการเพิ่มมีตำแหน่งรองเลขาธิการ สปสช. จาก 3 คนเป็น 5 คน

 

หากข่าวดังกล่าวเป็นจริง และ น.พ.ประดิษฐสามารถส่งคนของตนเข้าไปนั่งเป็นรองเลขาธิการ สปสช. ได้อีก เท่ากับเป็นการเพิ่มเสียงและความแข็งแกร่งของฝ่ายการเมืองใน สปสช. ซึ่งเป็นแหล่งเม็ดเงินสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขต้องการดึงกลับไป

 

วัดจากสถานการณ์ตอนนี้ กล่าวได้ว่า น.พ.ประดิษฐ กำลังเดินหน้าไปได้ไกลกว่าฝ่ายคัดค้าน อำนาจจากฝ่ายการเมืองกำลังเขย่า 3 เสาหลักของระบบสาธารณสุขไทย คือ กลุ่มแพทย์ที่อยู่ในชนบท องค์กรที่มีหน้าที่ผลิตยา และองค์กรที่ดูแลระบบสวัสดิการสุขภาพ ชนิดตั้งตัวไม่ทัน การระดมสรรพกำลังเพื่อปลด น.พ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงกลายเป็นภารกิจเร่งด่วน

 

 

แต่ดังที่กล่าวไปตอนต้น น.พ.ประดิษฐ ถือเป็นสายแข็งที่ไม่มีข่าวเล็ดรอดสักนิดเดียว ว่าจะถูกปรับออก การลงมาเป็นตัวกลางเจรจาของนายสุรนันทน์ อาจเป็นไปเพื่อทอดระยะเวลา ลดกระแส และหาหนทางประนีประนอม กับฝ่ายแพทย์ชนบทที่มีทัพหลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลอื่น ๆ จะขยายตัวมากจนเกินไป เพราะแม้รัฐบาลจะมั่นใจจำนวนมือในสภาและฐานมวลชนคนเสื้อแดง แต่กลุ่มต้านต่าง ๆ ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการไปให้ ‘สุดซอย’ ในอนาคต

 

ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ โพสต์ทูเดย์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: