เปิดประตูแปลงพันธุ์พืช สัตว์ มนุษย์

10 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 8280 ครั้ง


 

ตัวอย่างเช่น นำยีน(gene)ทนความหนาวเย็นจากปลาขั้วโลกมาผสมกับมะเขือเทศเพื่อให้มะเขือเทศปลูกในที่ที่อากาศหนาวเย็นได้ นำยีน(gene)จากแบคทีเรียชนิดหนึ่งมาใส่ในยีน(gene)ของถั่วเหลืองเพื่อให้ถั่วเหลืองทนทานต่อยาปราบวัชพืช นำยีน(gene)จากไวรัสมาใส่ในมะละกอเพื่อให้มะละกอต้านทานโรคไวรัสใบด่างวงแหวนได้ เป็นต้น

 

โดยพืชที่ได้รับการตัดต่อยีน(gene)จากกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) อาจเรียกแบบเฉพาะได้ว่า Transgenic Plant ส่วนคำว่า จีเอ็มโอ(GMOs) เป็นคำที่เรียกสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่ได้รับการตัดต่อยีน(gene)

 

 

อาหารและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMF)

 

 

GMF เป็นคำที่ย่อมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Genetically Modified Food ซึ่งหมายถึงอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือแปรรูปจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม และ/หรือ แปรรูปจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือมีส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูป ตัวอย่างเช่น เต้าหู้ที่ผลิตจากถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรม (ถั่วเหลือง GMOs) จัดเป็น GMF หรือน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปข้าวโพด GMOs อีกต่อหนึ่งก็จัดเป็น GMF

 

จากการศึกษาพบว่า มีผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และอาหารแปรรูปไม่น้อยกว่า 3000 ชนิด ที่ใช้วัตถุดิบหรือมีส่วนประกอบในวัตถุดิบอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวข้องกับ GMOs ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมแทบทุกชนิดของอาหารรวมทั้งอาหารหลักในแต่ละมื้อ เครื่องดื่ม อาหารเด็ก ขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์อีกนานับชนิด ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะไม่สามารถกำหนดขอบเขตได้ชัดเจนว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใดบ้าง ผลิตภัณฑ์บางชนิดแปรรูปไปจากสภาพเดิมมาก เช่น ชอคโกแล็ต ลูกกวาด ขนมบางชนิดที่ปรุงรส ต่างก็ใช้วัตถุดิบที่แปรรูป ใช้วัสดุปรุงแต่งสี กลิ่น และรส ที่ทำจากพืช GMOs ได้ ในชอคโกแล็ต จะมี Lecitin ที่ทำจากถั่วเหลือง ในขนมขบเคี้ยว แม้จะทำจากข้าวสาลีธรรมชาติ แต่อาจผ่านการปรุงแต่งรสด้วยสารปรุงแต่งรสที่ได้จากพืช GMOs ได้

 

สำหรับประเทศไทยวัตถุดิบต้นทางที่สำคัญที่เป็นพืช GMOs ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ และมะละกอ ทั้งหมดจัดเป็นพืชในกลุ่มแรกๆที่จะต้องจับตามอง ผลิตภัณฑ์อาหารที่แปรรูป หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบต้นทางเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

 

 

ทำไมต้องกังวลกับผลิตภัณฑ์ GMF เหล่านี้

 

 

นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าการดัดแปลงพันธุกรรมที่เปิดโอกาสให้สามารถออกแบบและปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจนไม่พอเพียงได้ แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก โดยเฉพาะความไม่มั่นใจว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมจะใช้เป็นอาหารที่มีความปลอดภัยเหมือนกับอาหารธรรมชาติหรือไม่ แม้ในอดีตขั้นตอนการอนุญาตให้มีการผลิตพืชเหล่านี้เป็นการค้าได้มีการวิเคราะห์องค์ประกอบเปรียบเทียบ ศึกษาความเหมือนทางเคมี ศึกษาผลกระทบโดยตรงต่อยีนเป้าหมายทั้งในแง่ความปลอดภัยในการบริโภคเบื้องต้น ปริมาณที่ปรากฏถึงระดับอันตราย และการย่อยสลายในสิ่งมีชีวิต แต่งานทดลองส่วนใหญ่ยังไม่ครอบคลุมถึงความปลอดภัยในการนำผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้ในระยะยาว โดยเฉพาะความปลอดภัยในการใช้เป็นอาหารและความปลอดภัยสำหรับสภาพแวดล้อม

 

 

หลัก Substantial equivalent

 

 

หรือ ความเทียบเท่าในแง่คุณค่าทางอาหาร องค์ประกอบทางเคมีและการใช้ประโยชน์ที่ไม่ต่างจากพันธุ์ธรรมชาติ substantial equivalent เป็นบรรทัดฐานอันดับต้นๆ ในการตรวจสอบความปลอดภัยในอาหาร

 

ผลิตภัณฑ์อาหาร และยาหลายชนิดที่ผลิตจากแบคทีเรีย GMOs ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะสอบผ่านเกณฑ์เหล่านี้ เนื่องจากโปรตีนต่างๆที่ผลิตขึ้นใหม่ ถูกผลิตในระบบปิด มีการสกัดเพื่อจำหน่ายในรูปของโปรตีนบริสุทธิ์ เมื่อนำมาวิเคราะห์จึงพบว่าไม่มีความแตกต่างจากโปรตีนในธรรมชาติ อย่างไรก็ดีในกรณีของพืช GMOs และผลิตภัณฑ์นั้นต่างไป เพราะเป็นการใช้ตัวพืช GMOs เอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายกรณีทั้งในแง่ชนิดของพืช ตัวยีนที่ใช้ และลักษณะการนำผลิตภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์

 

ตัวอย่างเช่นในกรณีที่เป็นถั่วเหลือง และข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม โดยการตัดต่อยีนสร้างโปรตีนที่เป็นพิษต่อแมลง (Bt toxin) จะพบว่า ภายในเมล็ดธัญพืชเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลและผลตรวจสอบว่าการบริโภค Bt toxin ในระยะยาว จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่แต่อย่างใด ในรายงานของ FDA ระบุว่า Bt toxin ไม่มีผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และแมลงชนิดอื่นๆเช่นผึ้ง ตัวเบียน ก็ตาม แต่จากผลการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล โดยทีมนักวิทยาศาสตร์อีกชุดหนึ่ง พบว่า Bt toxin มีผลต่อตัวอ่อนของผีเสื้อโมนาร์ทที่กินละอองเกสรจะตายภายใน 4 วัน มีการทดลองในลักษณะคล้ายกันในแมลงช้าง พบว่า แมลงช้างที่กินหนอนเจาะลำต้นซึ่งกินข้าวโพดที่มีโปรตีน Bt toxin ส่วนหนึ่งจะตายภายในเวลาไม่กี่วัน นอกจากนี้การทดสอบประเมินผลฝ้ายที่มีการตัดต่อยีน Bt toxin ในประเทศจีน พบว่า นอกจากตัวโปรตีนจะมีผลต่อหนอนเจาะสมอฝ้ายซึ่งเป็นศัตรูพืชแล้ว มดที่มากินหนอนเจาะสมอฝ้ายก็ได้รับพิษจากโปรตีนเช่นเดียวกัน

 

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์เคยรายงานผลการวิจัยในโครงการตัดต่อยีนเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโปรตีนให้กับถั่วเหลือง พบว่าแม้ถั่วเหลืองจะมีคุณค่าของโปรตีนเพิ่มขึ้นจริงแต่ก็พบปริมาณสารบางชนิด ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ใกล้เคียงฮอร์โมนเพศหญิงในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพิ่มมากขึ้น และระดับก็สูงพอที่จะเป็นอันตรายต่อเด็กทารกได้โดยหลักการ

 

 

โรคภูมิแพ้

 

 

ปัจจุบันกฎเกณฑ์ในการตรวจสอบอยู่บนหลักฐานในการตรวจสอบโมเลกุลของสารที่ต้องสงสัยกับตัวอย่างของสารที่มีรายงานผลแล้ว ว่าสามารถก่อให้เกิดภูมิแพ้ 126 ชนิด การตรวจสอบดังกล่าวจัดว่าเป็นเพื่อการทดสอบเบื้องต้นทางวิทยาศาสตร์เพื่อลดความเสี่ยง แต่มิได้หมายความว่าจะปลอดความเสี่ยงจากภูมิแพ้ได้

 

โรคภูมิแพ้ยังเป็นโรคที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ผลกระทบในรูปของอาการในแต่ละคนก็มีต่างกัน ตัวอย่างของงานทดลองที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงของการใช้พืช GMOs เป็นอาหารในกรณีนี้ได้แก่ การทดลองย้ายยีนจากบราซิลนัทมาใส่ในถั่วเหลืองเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโปรตีน พบว่า ถั่วเหลืองที่ได้รับยีนสร้างสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้จากบราซิลนัทเกิดขึ้น โครงการดังกล่าวจึงได้ระงับไปก่อนที่จะมีการผลิตออกมาจำหน่ายจริง

 

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าการตัดต่อยีนใดบ้างในลักษณะใดที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้

 

 

ผลกระทบโดยตรงต่อภูมิคุ้มกัน

 

 

ความกังวลในเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภคในประเด็นนี้ถูกจัดให้มีความสำคัญในระดับต้นๆเช่นเดียวกัน การบริโภคโปรตีนที่สร้างขึ้นจากยีนเป้าหมายหรือตัวยีนเป้าหมายเองอาจส่งผลในแง่ลบต่อภูมิคุ้มกันในระยะยาวได้ ตัวอย่างเช่น

 

ในงานทดลองของ Dr. Pusztai ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการค้นคว้าวิจัยโปรตีนต่างๆในพืชอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะโปรตีนเลคติน (lectin) ซึ่งไม่เป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รายงานผลการทดลองที่ทำขึ้นขณะที่เขายังทำงานอยู่ที่สถาบัน Rowett Research Institute ที่สก๊อตแลนด์ว่า การทดลองให้หนูกินมันฝรั่งดัดแปลงพันธุกรรมที่มีการสร้างเลคติน เปรียบเทียบกันมันฝรั่งปกติที่เพิ่มสารเลคตินในปริมาณเท่ากัน พบว่า หนูชนิดที่ให้มันฝรั่งดัดแปลงพันธุกรรมมีภูมิคุ้มกันลดลง มีอาการบวมของลำไส้และน้ำหนักตัวลดลง ขณะที่ในมันฝรั่งปกติที่เพิ่มสารเลคตินไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ

 

ปกติร่างกายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเมื่อได้รับโมเลกุลแปลกปลอมจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น ตัวอย่างเช่น ในเด็ก วัคซีนโปลิโอ ช่วยให้เด็กต้านทานโรคร้าย เมื่อเด็กได้รับโปรตีนของโปลิโอไวรัสวัคซีนดังกล่าวจะซึมเข้าทางเยื่อบุข้างแก้ม เยื่อบุทางเดินอาหารในส่วนต่างๆ และกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในเด็กในท้ายที่สุด ปกติร่างกายจะตอบสนองต่อโมเลกุลแปลกปลอมตลอดเวลา ที่ผ่านมาอาหารส่วนใหญ่มาจากโมเลกุลธรรมชาติ การบริโภคพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่มีการแสดงออกของยีนใหม่ๆในอนาคตทำให้โอกาสได้รับโมเลกุลแปลกปลอมที่ต่างจากธรรมชาติเพิ่มมากยิ่งขึ้น ที่น่ากลัวคือถ้าโมเลกุลแปลกปลอมมีผลกระทบต่อร่างกายในรูปของพิษสะสมในระยะยาว หรือโมเลกุลแปลกปลอมเหล่านั้นเป็นส่วนของดีเอ็นเอที่ถูกออกแบบมาให้สามารถตัดต่อยีนเข้าสู่สิ่งมีชีวิตต่างชนิดได้โดยง่าย โอกาสที่ผู้บริโภคจะเสี่ยงก็มีสูงยิ่งขึ้น

 

ปัญหาการถ่ายทอดยีนจากการบริโภคอาหาร GMOs เข้าสู่ร่ายกายหรือการถ่ายยีนไปยังจุลชีพ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องยีนต้านทานยาปฏิชีวนะ

 

 

ในขณะที่สร้างพืชดัดแปลงพันธุกรรม นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะ เช่น ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะคานามัยซิน (Kanamycin) ปัจจุบัน GMOs ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดในปัจจุบันใช้ยีนดังกล่าวถึง 70-80 %

 

สมาคมการแพทย์แห่งประเทศอังกฤษ (British Medical Association) ได้เสนอให้รัฐบาลอังกฤษยับยั้งการปลูกและการนำเข้าพืชดัดแปลงพันธุกรรม และอาหารที่ทำจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าการใช้ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะในการคัดเลือกพืชดัดแปลงพันธุกรรม อาจทำให้มนุษย์และสัตว์ที่บริโภคอาหารที่ทำจากพืชเหล่านี้ไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคได้ต่อไป

 

ปัญหาของแบคทีเรียดื้อยาในโรงพยาบาลเป็นปัญหาในวงการสาธารณสุขอันหนึ่งที่ยังแก้ไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการสะสมตัวของเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ ในมะเขือเทศ และซอสมะเขือเทศ ที่อนุญาตจำหน่ายเป็นการค้าก็มียีนต้านทานยาปฏิชีวนะคานามัยซิน

 

รายงานของ FDA ยืนยันว่าดีเอ็นเอในอาหารดัดแปลงพันธุกรรมไม่สามารถเล็ดลอดจากกระบวนการย่อยสลายของมนุษย์และสัตว์ได้ อย่างไรก็ดีจากการทดลองโดยผสมยีนเข้ากับอาหารให้หนูกิน พบว่ายีนส่วนใหญ่จะถูกย่อยสลายไปในระบบทางเดินอาหารในเวลาไม่กี่นาที แต่ส่วนหนึ่งแม้จะเป็นส่วนน้อยยังคงอยู่ในระบบทางเดินอาหารได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง และสามารถตรวจสอบต่อไปได้แม้ถูกขับออกมาในรูปมูลสัตว์ แม้ว่ายีนดังกล่าวไม่มีผลต่อการชักนำให้แบคทีเรียในทางเดินอาหารของหนูเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม แต่กลับตรวจพบยีนดังกล่าวในเซลเม็ดเลือดขาวและในตัวอ่อนของหนูที่กำลังตั้งครรภ์ การทดลองนี้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริโภคผลิตภัณฑ์จาก GMOs

 

มีรายงานล่าสุดว่าผึ้งที่เลี้ยงโดยใช้ละอองเรณูจากเกสรเรปซีดที่ได้รับการตัดต่อยีนต้านทานยาปราบวัชพืชมีความเสี่ยงที่จะได้รับยีน โดยเมื่อนำมาศึกษาแบคทีเรียในทางเดินอาหาร จะพบว่า แบคทีเรียและยีสต์ ได้รับยีนต้านทานยาปราบวัชพืชจากอาหารในทางเดินอาหารแม้ว่าจะเกิดขึ้นในอัตราที่ต่ำก็ตาม ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงในการบริโภคในระยะยาว

 

รายงานในวารสาร Nature ฉบับเดือนพฤษภาคม 2000 ชี้ให้เห็นว่าชิ้นส่วนของยีนในธรรมชาติสามารถกระตุ้นให้แบคทีเรียได้รับยีนและส่งข้ามชนิดของแบคทีเรียได้ ปกติการถ่ายทอดยีนในปัจจุบัน ใช้พาหะออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้ใช้ถ่ายทอดยีนข้ามชนิดของสกุลไปมาระหว่างสิ่งมีชีวิตได้ บนพาหะเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมียีนต้านทานยาปฏิชีวนะ การสลับสับเปลี่ยนสารพันธุกรรมไปมา เป็นกลไกอีกอันหนึ่งที่ทำให้ความกังวลเรื่องการแพร่กระจายตัวของยีนต้านทานยาปฏิชีวนะมีสูงยิ่งขึ้น

 

แม้ว่าในปัจจุบันมีการวิจัยหายีนที่ช่วยในการคัดเลือกทดแทนยีนต้านทานยาปฏิชีวนะในรูปยีนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากน้ำตาลแมนโนส (Positech TM) แต่พืช GMOs ส่วนใหญ่ในท้องตลาดยังคงเป็นพืชรุ่นเก่าที่ใช้ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะคานามัยซิน

 

 

ผลกระทบอื่น

 

 

นอกจากผลกระทบในแง่สุขภาพพลานามัยแล้ว ผลกระทบที่สำคัญต่อการนำพืช GMOs มาประยุกต์ใช้ ยังส่งผลถึงสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศน์ และวิวัฒนาการในระยะยาวอีกด้วย

 

มีคำถามมากมายที่เกี่ยวข้องถึงผลกระทบด้านความปลอดภัย ความเสี่ยง และวิวัฒนาการ ที่อาจได้รับผลกระทบที่ยังไม่มีคำตอบ คำถามเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยสูงสุด มิใช่อยู่บนพื้นฐานของกฎเศรษฐศาสตร์ที่ชั่งน้ำหนักผลได้มากกว่าผลเสียเท่านั้น

 

แม้ว่าในปัจจุบันมีการพูดกันมากถึงประเด็น Low risk Absolutely low risk หรือ No risk ก็ตาม สำหรับมนุษย์ชาติ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ แล้วประเด็นสำคัญคือความปลอดภัยสูงสุด

 

คำถามภายใต้ความเสี่ยงที่ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปได้ว่าปลอดภัยจริง ได้แก่ ความไม่รู้ว่า

 

1) ยีนที่ตัดต่อเข้าไปนั้นมีผลต่อความหลากหลายทางชนิดและพันธุกรรม ในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร การตัดต่อยีน Bt toxin เพียงยีนเดียวเกิดผลกระทบต่อแมลงหลายชนิดที่พิสูจน์ได้ ผลดังกล่าวจะกระทบต่อการคงอยู่ของประชากรของแต่ละชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนั้นโดยตรง

 

2) จะเกิดวิวัฒนาการในระดับยีนของสิ่งมีชีวิตหรือไม่ การถ่ายทอดยีนข้ามกลุ่มของสิ่งมีชีวิต (Taxa) ยีนเหล่านี้จะวิวัฒนาการข้ามกำแพงชนิดพันธุ์ทางธรรมชาติ (Species barrier) ทำให้เกิดการคัดเลือกที่ผิดไปจากธรรมชาติ เช่น ในข้าวโพดที่มียีน Bt toxin อาจทำให้แมลงปรับตัวตาม และมีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชนิดของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลงไปได้ และในแง่ร้ายอาจทำให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจต้องสูญพันธุ์ไปได้เลยทีเดียว การมองข้ามผลของยีนและสภาพแวดล้อมร่วมกันโดยเจตนาใส่ยีนเหมือนใส่โปรแกรมเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ทำงานนั้นมีผลเสียหรือไม่อย่างไร และคำถามที่สำคัญที่สุดคือ เจตนาที่จะบังคับธรรมชาติโดยการใส่ยีนโน้นยีนนี้เสมือนการบังคับให้เกิดวิวัฒนาการไปตามความต้องการทางเศรษฐศาสตร์ มากกว่าความต้องการทางธรรมชาติในรูปความพร้อมในตัวของสิ่งมีชีวิตเอง ที่เรียกว่า biological fitness เป็นเจตนาดีจริงหรือ ?

 

แม้ว่าการตัดต่อยีนสร้างพืชดัดแปลงพันธุกรรม จะเปิดโอกาสให้มนุษย์นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างหลักประกันทางปัจจัยสี่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาหารและสุขภาพได้ โดยที่ประโยชน์ของตัวเทคโนโลยีที่มีอยู่สูงจะเป็นที่ยอมรับแล้วก็ตาม แต่เงื่อนไขทางด้านความเสี่ยงในปัจจุบันทำให้ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าจะไม่เกิดความผิดพลาดขึ้น จึงเป็นประเด็นเงื่อนไขของเวลามากกว่า

 

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลในหลายๆ ประเทศที่มีความเป็นห่วงเป็นใยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมของเขา จึงลงเอยด้วยการตัดสินใจให้ความรู้แก่ประชาชน และให้ทางเลือกแก่ประชาชนในการรับรู้เพื่อตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับผลิตภัณฑ์จาก GMOs ในขณะนี้ได้

 

 

 

อันตรายต่อเกษตรกร

 

 

บรรดาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรอีกมากมายออกมาต่อต้านเมล็ดพันธุ์ GMO เนื่องจากมีการผูกมัดว่า เกษตรกรที่ใช้ เมล็ดพันธุ์ GMO ต้องใช้ยากำจัดแมลง ที่บริษัทเป็นผู้ผลิตควบคู่กันไป เช่น กรณีของเกษตรกร ชาวอเมริกัน ที่ปลูกถั่วเหลือง GMO ของบริษัท มอนซานโต้ จำกัด ต้องเซ็นสัญญาซื้อยาฆ่าแมลง ของ มอนซานโต้ และยังต้องปฏิบัติ ตามกฎของมอนซานโต้ รวมไปถึงต้องอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของมอนซานโต้เข้าออกไร่นาของพวกเขาด้วย อีกทั้งยังห้ามเกษตรกร เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ เพื่อเพาะปลูกในฤดูต่อไป เท่ากับว่า บรรดาเกษตรกรอยู่ในกำมือของกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมเคมีข้ามชาติเหล่านั้นแล้ว

 

นอกจากนี้พืชพันธุ์ GMO ยังสามารถปนเปื้อนกับพืชพันธุ์อื่นๆ ของเกษตรกรได้ด้วย ซึ่งมีแนวโน้มว่า เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น จะขายไม่ได้ อย่างกรณีการปนเปื้อน ของพืช GMO โดยไม่ได้ตั้งใจ ในไร่ของเกษตรกร ชาวคานาดา ผลปรากฏว่า มอนซานโต้ ฟ้องร้องให้เกษตรกรผู้นั้น จ่ายค่าสิทธิบัตรในการปลูกพืช GMO นั้น ถึงแม้ว่าเกษตรกรผู้นั้น จะไม่เคยเรียกร้อง หรือต้องการปลูกพืช GMO ในที่นาของตนเลย

 

[ข้อมูลจากวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ]

 

 

สถานการณ์ GMOs ในปัจจุบัน

 

 

 

จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภค พบว่า 97% ของคนยุโรปต้องการให้มีการระบุฉลากอย่างชัดเจน 85% ไม่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ GMOs ในสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจโดยนิตยสาร Time เมื่อเดือนมกราคมพบว่า 81% ของคนอเมริกันต้องการให้มีการติดฉลาก GMOs

 

กระแสการต่อต้านสินค้า GMOs ที่มีความรุนแรงในทวีปยุโรปเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดกระแสต่อต้านในเอเชีย และสหรัฐอเมริกาตามมา ปัจจุบันผู้ซื้อต่างเสนอและเรียกร้องขอหลักฐานเพื่อแสดงความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้ต่อรองทางการค้านั้นเป็น Non-GMOs มากขึ้น และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของความต้องการระบบตรวจสอบและให้หลักประกันเพื่อยืนยันและให้ความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็น Non-GMOs นั้นจะเก็บแยกออกจาก GMOs พร้อมๆ กับมีผลรับรองทางวิทยาศาสตร์กำกับ

 

ผู้ผลิตอาหารหลักเช่น Hain Food Group Inc Gerber and Heinz Pepsi Co’s Frito-lay Unilever ต่างก็เริ่มกำหนดนโยบายไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ GMOs ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาเองเริ่มมีนโยบายหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีส่วนประกอบ GMOs ห้างเหล่านั้นได้แก่ TESCO Mark & Spencers Sainbury’s Asda Migros Co-op ประเทศในสหภาพยุโรปมีข้อกำหนดให้ติดฉลากสินค้าที่มีเปอร์เซ็นต์ GMOs เกิน 1 % และอนุญาตให้นำเข้าเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ขณะที่เกาหลีและญี่ปุ่นกำหนดมาตรฐานไว้ที่ 3 % และ 5 % ตามลำดับ

 

จากแนวโน้มดังกล่าว ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการต่างๆ รวมทั้งเกษตรกรไทยควรจะมองแนวโน้มนี้ให้ออก เพื่อการวางแผนการผลิต การส่งออก และการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบที่สำคัญได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เช่น ซอสมะเขือเทศ ที่สำคัญจากแหล่งหลัก คือ สหรัฐอเมริกา อาเจนตินา บราซิล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็น GMOs ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัตถุดิบต้นตอในห่วงโซ่อาหารแปรรูป

 

อาหารเหล่านี้เริ่มเข้ามาปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารที่บริโภคภายในประเทศมากขึ้น จากการสุ่มตัวอย่างถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่วางขายในเขตกรุงเทพมหานครปนเปื้อนด้วยถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมในสัดส่วนที่สูง ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบได้แก่ ถั่วเหลืองบรรจุถุง 1 กิโลกรัม เต้าหู้แข็งปราศจากบรรจุภัณฑ์ เต้าหู้อ่อน น้ำนมถั่วเหลือง และน้ำนมถั่วเหลืองบรรจุขวด และมีแนวโน้มว่าจะมีการแพร่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆในประเทศ นอกจากนี้ยังพบถั่วเหลืองพันธุ์พื้นเมือง มีโอกาสปนเปื้อนด้วยพันธุ์ GMOs ในสัดส่วนที่สูงด้วย

 

 

ในปี พ.ศ.2537 มูลค่าตลาดของพืช GMO ในพันธุ์ต้านยาฆ่าวัชพืชและพันธุ์ต้านแมลงทั่วโลก รวม 4.7 พันล้านเหรีญสหรัฐ แบ่งเป็น

 

1.ข้าวโพด มูลค่าครองตลาด 42.6%

2.ถั่วเหลือง มูลค่าครองตลาด 44.7%

3.คาโนลา มูลค่าครองตลาด 3.3%

4.ฝ้าย มูลค่าครองตลาด 9.4%

 

ซึ่งช่วงระหว่างพ.ศ.2546 ถึงพ.ศ.2548 มีการขยายมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 15% หรือ 30.725 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยยาฆ่าวัชพืชมีตลาดโตขึ้น 9.4% ยาฆ่าแมลง 15.7% และยาฆ่าเชื้อราและเห็ด 27.6% และสืบเนื่องมาจากราคาพืชผลของพันธุ์เหล่านี้ในตลาดโลกได้ราคาดีในปี พ.ศ.2547 ทำให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกถั่วเหลือง ฝ้าย และคาโนลา คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 9.6% 7.9% และ 10.7% ตามลำดับ ในขณะที่บีทน้ำตาลเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ข้าวเพิ่มเพียง 1.5% ข้าวโทพ 2.8% และธัญญพืชอื่นๆ 2.4% ส่วนยาฆ่าเชื้อราที่ใช้กันมากถึง 27.6% สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อราพันธุ์เอเชีย (Asian Soybean Rust) ในบราซิลในช่วงปีนั้น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบข้อมูลการการนำเข้าสินค้าพืชเกตรของกรมศุลกากร พบว่า ด่านศุลกากรอรัญประเทศ เขียนชัดเจนในการนำเข้าข้าวโพด มันสำปะหลัง และถั่วเหลือง ว่า


 

 

*ของต้องห้าม  หมายถึงของที่มีกฎหมายกำหนดห้ามนำเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเด็ดขาด และในบางกรณีห้ามการส่งผ่านด้วย

*ของต้องกำกัด หมายถึงสินค้าที่มีกฎหมายกำหนดว่าหากจะมีการนำเข้า-ส่งออกหรือผ่านราชอาณาจักรจะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น ๆ เช่น ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้าและส่งออก ต้องปฏิบัติตามประกาศอันเกี่ยวกับฉลากหรือใบรับรองการวิเคราะห์ หรือเอกสารกำกับยา เป็นต้น

 

 

 

การวิเคราะห์กฎหมาย นโยบาย และมาตรการต่างๆ ของประเทศไทย เกี่ยวข้องกับ GMOS

*************************************

 

 

ย้อนรอยจีเอ็มโอ 18 ปี: ภัยคุกคามอธิปไตยทางอาหารของประเทศไทย

ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2 เมษายน พ.ศ. 2556

จีเอ็มโอเข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลายาวนานกว่า 18 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นเมื่อกรมวิชาการเกษตร ได้อนุญาตให้ บริษัท มอนซานโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด นำเข้าเมล็ดพันธุ์ฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมเข้ามาปลูกทดสอบในแปลงเปิดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2538

 

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 กรมวิชาการเกษตรได้เดินหน้าทำการทดลองจีเอ็มโอด้วยตัวเอง โดยเป็นผู้นำเข้าต้นกล้าและเนื้อเยื่อมะละกอจีเอ็มโอ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล เข้ามาทดลองในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

 

เนื่องด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า การทดลองจีเอ็มโอในพื้นที่เปิดหรือในระดับไร่นานั้น ไม่สามารถควบคุมการหลุดรอดหรือแพร่กระจายของเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นเมื่อมีการทดลองจีเอ็มโอในพื้นที่เปิดเกิดขึ้น ย่อมหลีกไม่พ้นการปนเปื้อนของจีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

 

ในที่สุด การปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก รายงานว่า พบการปนเปื้อนของฝ้ายจีเอ็มโอ (บีที) ที่จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2542 ซึ่งถือเป็นการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อมและแปลงของเกษตรกรเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และต่อมาได้รับการยืนยันจากกระทรวงเกษตรฯ ว่ามีการปนเปื้อนของฝ้ายจีเอ็มโอจริง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542

 

การปนเปื้อนของฝ้ายจีเอ็มโอนำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านของภาคประชาชนต่อการทดลองจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด ในที่สุด คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2544 เห็นชอบกับข้อเสนอของสมัชชาคนจน ให้ยุติการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นา และให้มีการร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพขึ้น

 

แต่ถึงแม้ว่าจะมีมติ ครม. ห้ามการทดลองจีเอ็มโอในไร่นาแล้ว แต่สุดท้ายเหตุการณ์ปนเปื้อนจีเอ็มโอครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยการเปิดโปงของกรีนพีซที่พบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอในสิ่งแวดล้อมและในแปลงของเกษตรกร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งต้นเหตุของการปนเปื้อนดังกล่าวมาจากแปลงทดลองแบบเปิดของกรมวิชาการเกษตร ที่สถานีวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ส่วนย่อยพืชสวน อำเภอท่าพระ จังหวัดขอนแก่น แต่ครั้งนั้น กระทรวงเกษตรฯ ไม่ยอมรับว่าเกิดการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอจริง พร้อมกับกล่าวหาว่า กรีนพีซเป็นผู้ทำให้เกิดการปนเปื้อนเสียเอง จนนำไปสู่การดำเนินคดีอาญากับนักกิจกรรมและเจ้าหน้าที่กรีนพีซในข้อหาอาญาที่ร้ายแรง คือ บุกรุก ลักทรัพย์ และทำให้เสียทรัพย์

 

กรีนพีซต้องเผชิญกับคดีความอาญา และมีการต่อสู้และนำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาล ท้ายสุด ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องนักกิจกรรมของกรีนพีซ รวมทั้งเจ้าหน้าที่กรีนพีซที่ถูกกล่าวหา แต่ภายหลังกรมวิชาการเกษตรยังเดินหน้ายื่นอุทธรณ์ ทำให้คดีความยืดเยื้อมากว่า 5 ปี จนเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องเจ้าหน้าที่กรีนพีซ และระบุว่าการกระทำของกรีนพีซในครั้งนั้นเป็นการแสดงออกที่มีความชอบธรรมเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอในอีกรูปแบบหนึ่ง

 

ด้วยเหตุที่กระทรวงเกษตรฯ ไม่ยอมรับว่าการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอได้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยื่นมือเข้ามาเป็นคนกลางในการตรวจสอบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ และยืนยันตรงกันกับกรีนพีซว่า การปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอเกิดขึ้นจริง ภายหลังกระทรวงเกษตรฯ จึงออกมายอมรับการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโออย่างเป็นทางการ เพราะจนมุมด้วยหลักฐานจากภาคประชาชนมากมาย และสรุปว่ามีคนภายในเกี่ยวข้องกับสาเหตุการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอในครั้งนี้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการยอมรับดังกล่าว แต่กลับไม่มีการดำเนินการเพื่อสืบสวนหาสาเหตุของการปนเปื้อน และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ นอกจากนี้ การดำเนินการเพื่อจัดการกับการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอของกระทรวงเกษตรฯ ก็ล้มเหลว เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน กระทรวงเกษตรฯ รายงานว่าได้ทำการตัดทำลายมะละกอจีเอ็มโอที่ปนเปื้อนออกสู่แปลงเกษตรกรทั่วประเทศเสร็จสิ้นแล้ว และประเทศไทยไม่มีมะละกอจีเอ็มโอหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมอีก แต่รายงานดังกล่าวไม่มีหลักฐานหรือเอกสารที่ยืนยันอย่างชัดเจนว่าได้มีการกระทำการเพื่อจัดการกับการปนเปื้อนอย่างแท้จริง

 

ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือ นอกจากที่กรมวิชาการเกษตรจะไม่สามารถให้ความกระจ่างกับสังคมต่อปัญหาการปนเปื้อนจีเอ็มโอแล้ว กรมวิชาการเกษตรกลับรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุนจีเอ็มโออย่างออกนอกหน้า โดยผลักดันการทดลองจีเอ็มโอสารพัดชนิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่มีหน่วยงานที่เป็นกลางใดๆ ในการตรวจสอบว่าพืชจีเอ็มโอนั้นปลอดภัย จึงเท่ากับว่า กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานที่ ‘ทดลอง ส่งเสริม กำกับดูแล และควบคุม’ แบบเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เสมือนบิดาที่ย่อมไม่ลงโทษลูกคนใดคนหนึ่งของตนเอง ฉันใดก็ฉันนั้น

 

จากนั้นไม่นาน กรีนพีซได้รายงานต่อสาธารณชนว่า ยังพบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโออยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่าได้จัดการกับการปนเปื้อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กรีนพีซได้เรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้กระทรวงเกษตรฯ จัดการกับการปนเปื้อนที่ยังคงอยู่อย่างจริงจัง และเปิดเผยข้อมูลการทำงานสู่สาธารณชนเพื่อให้เกิดการตรวจสอบเป็นวงกว้าง แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับจากกระทรวงเกษตรฯ

 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549 กรีนพีซจึงร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ หยุดการทดลองมะละกอจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด และให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการตรวจสอบมะละกอจีเอ็มโอในแปลงเกษตรกรที่รับการจำหน่ายจ่ายแจก หรือรับเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอต่ออีกทอดหนึ่งจากผู้อื่น ซ้ำใหม่ทั้งหมด และให้มีการกำหนดมาตรการในการควบคุมการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอไปสู่แปลงเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมในทันที

 

การต่อสู้ทางคดีความในศาลปกครองกลาง ระหว่างกรีนพีซในฐานะโจทย์ และกรมวิชาการเกษตรในฐานะจำเลย ดำเนินมาจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง ระบุว่ากรมวิชาการเกษตรไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ในการจัดการการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ ต่อมากรีนพีซจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพราะไม่เชื่อมั่นในข้อมูลการตรวจสอบและตัดทำลายมะละกอจีเอ็มโอของกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากไม่มีผลการวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการที่ชัดเจน หรือหลักฐานอื่นใดที่ทำให้เชื่อว่าได้ว่ากรมวิชาการเกษตรได้ตัดทำลายมะละกอจีเอ็มโอไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ เกษตรกรที่ได้รับการจำหน่ายจ่ายแจก และรับเมล็ดพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอต่ออีกทอดหนึ่งนั้นมีอยู่ทั้งหมด 2,699 ราย แต่พบว่ามีรายงานการตรวจสอบจากกรมวิชาการเกษตรเพียงพันกว่ารายเท่านั้น ทำให้เชื่อได้ว่ายังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่กรมวิชาการเกษตรไม่ได้ตรวจสอบ

 

ล่าสุดมีความคืบหน้าของคดีดังกล่าว เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้มีกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีนี้เป็นครั้งแรกในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556 ภายหลังจากกรีนพีซต่อสู้คดีมายาวนานถึง 5 ปี จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า หลังจากนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฎิบัติต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมไทยให้หลุดพ้นจากจีเอ็มโอได้อย่างไร

 

การปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยนั้นไม่ได้หยุดอยู่เพียงฝ้ายหรือมะละกอเท่านั้น แต่ยังพบการปนเปื้อนในพืชอาหารที่สาคัญอื่นๆ ได้แก่ ในปี พ.ศ. 2550 มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย พบการปนเปื้อนของข้าวโพดจีเอ็มโอ[1] ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 มีรายงานเพิ่มเติมว่า พบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ พริกจีเอ็มโอ และฝ้ายจีเอ็มโอ[2] เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อพืชจีเอ็มโอหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว ไม่มีทางที่เราจะกำจัดมันได้หมด เช่น ฝ้ายจีเอ็มโอที่เกิดการปนเปื้อนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 [3] แต่ยังคงตรวจพบตกค้างในสิ่งแวดล้อมหลังจากนั้นอีกกว่า 10 ปี

 

เหตุการณ์สำคัญในเชิงนโยบายที่กำหนดทิศทางและอนาคตของพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยในช่วงเวลาต่อมา คือ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2550 นายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในขณะนั้นได้เตรียมการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุญาตให้มีการปลูกทดลองจีเอ็มโอในพื้นที่เปิดอีกครั้งหนึ่งหลังจากมีคำสั่งห้ามนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นเหตุให้มีการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างรุนแรงจากภาคประชาชน รวมถึงกลุ่มนักวิจัยที่ไม่เห็นด้วยกับการทดลองจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด ท้ายที่สุด ครม. มีมติเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ระบุว่าการทดลองจีเอ็มโอในพื้นที่เปิดสามารถกระทำได้โดยต้องผ่านเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ 1) ต้องกระทำการทดลองในพื้นที่ของรัฐเท่านั้น 2) มีข้อมูลของโครงการวิจัยที่ชัดเจน (พืชที่ปลูก พื้นที่ที่ปลูก รายงานความปลอดภัย) 3) ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 4) ยื่นเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาตเป็นกรณีไป ซึ่งมติ ครม. ล่าสุดนี้มีเสียงตอบรับทั้งทางบวกและลบจากกลุ่มผู้คัดค้านการทดลองจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด

 

แต่ถึงกระนั้นยังไม่มีหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดที่ยื่นขออนุญาตทดลองปลูกจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด จนเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 หลังจากมีมติ ครม. มาแล้วกว่า 6 ปี พบว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมมือกับ บริษัท มอนซานโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อดำเนินโครงการวิจัย “ทดสอบข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมสายพันธุ์ NK603 ในแปลงทดลอง เพื่อประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพด้านสิ่งแวดล้อมและชีวประสิทธิผล” โดยได้ยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตทดลองโครงการฯ ผ่านกรมวิชาการเกษตร หลังจากได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรวบรัดตัดตอน และขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเท่านั้น

 

ข้าวโพดจีเอ็มโอ NK603 เป็นข้าวโพดจีเอ็มโอต้านทานยาฆ่าหญ้าประเภท glyphosate ที่บริษัทมอนซานโต้เป็นทั้งผู้ขายยาฆ่าหญ้าและเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ ทั้งนี้กรีนพีซได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการวิจัยไปยังมหาวิทยาลัยนเรศวร และส่งสำเนาถึงบริษัท มอนซานโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556 เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน และเรียกร้องให้ยุติความพยายามในการผลักดันให้เกิดโครงการวิจัยดังกล่าวทันที รวมถึงให้เปิดเผยรายละเอียดของโครงการวิจัยทั้งหมดสู่สาธารณชน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบเป็นวงกว้างและอย่างโปร่งใส พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผันงบประมาณ ทรัพยากร และบุคลากรของรัฐที่ใช้ในโครงการวิจัยที่ไม่ยั่งยืนนี้ไปสู่การวิจัยด้านเกษตรกรรมยั่งยืนที่ปลอดจากจีเอ็มโอและเคมีเกษตรอื่นๆ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานดังกล่าวแต่อย่างใด

 

การทดลองข้าวโพดจีเอ็มโอ NK603 ในพื้นที่เปิดดังกล่าวนั้น ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีที่ยั่งยืน เพียงแต่เป็นเครื่องมือให้บริษัทมอนซานโต้แสวงหาผลประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนเอง เนื่องจากมติ ครม. ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ตีกรอบให้การทดลองจีเอ็มโอสามารถกระทำได้ภายในหน่วยงานของรัฐเท่านั้น บรรษัทเหล่านี้จึงต้องยืมมือหน่วยงานของรัฐ อย่างมหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการทดลองจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนนาไปสู่การขายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ต่อไป

 

การเริ่มเดินหน้าผลักดันการทดลองข้าวโพดจีเอ็มโอ NK603 ในพื้นที่เปิดครั้งนี้ถือเป็นความพยายามระลอกใหม่ที่สำคัญและควรจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุญาตให้ทดลองข้าวโพดจีเอ็มโอชนิดนี้จริง เท่ากับเป็นการ “ปลดล็อค” ให้พืชจีเอ็มโอชนิดอื่นๆ เข้ามาใช้พื้นที่เกษตรกรรมของไทยเป็นแปลงทดลองโดยชอบธรรม คนไทยจะกลายเป็นหนูทดลองจีเอ็มโอ เพราะแหล่งอาหารของเราจะปนเปื้อนไปด้วยพืชจีเอ็มโอที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว เกษตรกรไทยจะกลายเป็นทาสของบรรษัทข้ามชาติรายใหญ่ของโลกอย่างเช่น มอนซานโต้ ด้วยเหตุที่เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอนั้นมีเจ้าของและถูกจดสิทธิบัตรไว้แล้วทั้งสิ้น เมื่อจีเอ็มโอแพร่กระจายปนเปื้อนอยู่ในแปลงของเกษตรกร เกษตรกรจะต้องเผชิญกับปัญหาการฟ้องร้องฐานละเมิดสิทธิบัตรจีเอ็มโอ ซึ่งทั่วโลกมีเกษตรกรที่ถูกฟ้องร้องและแพ้คดีความ ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิบัตรให้กับบรรษัทเหล่านี้นับพันคดี และสุดท้าย ประเทศไทยจะสูญเสียอธิปไตยทางอาหาร เพราะการผลิตอาหารของเราได้ถูกครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างสิ้นเชิง

 

จากเหตุการณ์และประจักษ์พยานทั้งหมด ตอกย้ำให้เห็นถึงความล้มเหลวในการควบคุมการแพร่กระจายของพืชจีเอ็มโอจากแปลงทดลอง และความไม่ชอบธรรมของการทดลองพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย อีกทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทดลองพืชจีเอ็มโอในประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือ อย่ายอมให้มีการทดลองจีเอ็มโอในพื้นที่เปิด ไม่ว่าจะเป็นพืชชนิดใดก็ตามในประเทศไทย และไปให้พ้นจากมายาคติที่ว่า “จีเอ็มโอคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี” พร้อมกับหันมาส่งเสริมองค์ความรู้อื่นที่เอื้อให้เกิดความยั่งยืนต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

 

อ้างอิง

[1] http://www.biothai.net/node/191

[2] http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=7bi8wxR-VFA

[3] http://www.measwatch.org/writing/2584

 

 

*************************************

 

ที่มา

http://www.thaibiotech.info

http://www2.thaieurope.net

http://www.asoke.info

สินค้า GMOs : ความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านอาหารและการบริโภค โดย ดร.ปิยะศักดิ์  ชอุ่มพฤกษ์ ภาควิชาพฤษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรมศุลกากร

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: