ปีพ.ศ.2553 เดือนเมษายน อินเดียเผชิญภาวะคลื่นความร้อนทั่วประเทศด้วยอุณหภูมิสูงเกือบ 44 องศาเซลเซียสหรือ111 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 52 ปี มีชาวอินเดียอย่างน้อย 80 คน ที่เสียชีวิตในเดือนนี้ด้วยอากาศร้อน
ที่ประเทศบราซิล กรุงริโอ เดอจาเนโรก็เผชิญกับสภาพอากาศร้อนสูงสุดในรอบ 25 ปี วัดอุณหภูมิได้ถึง 50 องศาเซลเซียส และมีรายงานว่าที่รัฐเซาเปาโลมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนจัดแล้ว 56 คน
ในปีพ.ศ.2555 เดือนกรกฎาคมมีรายงานข่าวพื้นที่ทางภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด เผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 38-41 องศาเซลเซียส มีรายงานผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากสภาพอากาศร้อนจัด มากกว่า 30 คน ในรัฐแมริแลนด์ 13 คน เมืองชิคาโก 18 คน แต่รายที่น่าสะเทือนใจ คือการเสียชีวิตของเด็กทารก อายุ 4 เดือน ในเมืองกรีนฟิว รัฐอินดีแอนา ที่ถูกทิ้งไว้ในรถท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ตำรวจจับกุมพ่อเด็กที่ยังเป็นวัยรุ่น อายุเพียง 18 ปี ที่ปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้ทารกเสียชีวิต
ปีเดียวกันนี้ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของเกาหลีใต้ แถลงว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม มีผู้เสียชีวิตเพราะคลื่นความร้อนแล้ว 14 คน ในจำนวนนี้ 11 คน เสียชีวิตในช่วง 2 สัปดาห์ หลังจากทางการประกาศเตือนภัยคลื่นความร้อนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ส่วนที่ กรุงโซล อุณหภูมิสูงทะลุ 35 องศาเซลเซียสมา ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม
ด้านกระทรวงอาหาร เกษตร ป่าไม้ และประมง แถลงว่า มีสัตว์เศรษฐกิจล้มตายกว่าล้านตัว ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ประกอบด้วย ไก่ 967,156 ตัว เป็ด 41,660 ตัว นกกระทา 6,000 ตัว หมู 518 ตัว และวัว 6 ตัว
ขณะเดียวกัน อากาศร้อนจัดทำให้สาหร่ายในแม่น้ำเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว กรุงโซลต้องประกาศเตือนภัยสาหร่ายเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลายจุดของแม่น้ำฮัน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำดื่มของเมือง
ช่วงปลายเดือนเมษายนมีรายงานว่า พื้นที่ตอนกลางและตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป เกิดภาวะอากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงทะลุเกิน 42 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมหลายประเทศ ทำให้ประชากรโรมาเนีย ออสเตรีย และบัลแกเรีย เสียชีวิตเพราะร่างกายทนความร้อนไม่ไหวไปแล้ว 18 ราย
เมืองร้อนอย่างประเทศไทยหนีไม่พ้นภัยจากอากาศร้อนเช่นกัน แม้จะไม่พบว่าหน่วยงานใดมีการจัดทำข้อมูลสถิติผู้เสียชีวิตเนื่องจากอุณภูมิที่สุงขึ้นมาก แต่เพียงจากการสืบค้นการรายงานข่าวจากแหล่งต่างๆ ก็พบว่าปีพ.ศ.2555 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยยี่สิบราย กระจายตัวทั่วภูมิภาค รวมไปถึงสัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งอาศัยตามธรมชาติหรือที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ ไม่ว่าจะเป็น ฝูงนก ปลา หรือควาย
ปีนี้ พ.ศ.2556 ก็ร้อนไม่แพ้ปีที่ผ่านมา เมื่อเดือนมกราคม เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มีอุณหภูมิพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 74 ปี โดยอยู่ที่ 45.8 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดของซิดนีย์ 45.3 องศาเซลเซียส ที่ครองตำแหน่งมายาวนานตั้งแต่ปี 2482 และอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงฤดูร้อนของออสเตรเลียในปีนี้ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสูงถึง 50 องศาเซลเซียส
ในประเทศไทยนับตั้งแต่ต้นปีมีผู้เสียชีวิตเนื่องด้วยอากาศร้อนแล้วอย่างน้อย 8 คน ไม่รวมคนที่คลายร้อนด้วยการเล่นน้ำจนจมน้ำเสียชีวิต ซึ่งมีอีกหลายราย และเริ่มมีปรากฎการตายของปลาในแม่น้ำมูลเป็นจำนวนมากแล้ว
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้เข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ประกอบกับ โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้อุณหภูมิของประเทศไทย ในหน้าร้อน สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยได้รับผลกระทบจากความร้อน มีจำนวนเพิ่มขึ้น ดังนี้ ในปี 2551 จำนวน 80 ราย และเสียชีวิต 4 ราย, ปี 2552 มีผู้ป่วยจำนวน 89 ราย และเสียชีวิต 8 ราย และในปี 2553 มีผู้ป่วยจำนวน 198 ราย และเสียชีวิต 18 ราย ซึ่งสำหรับโรคจากความร้อนที่สำคัญ ได้แก่
1. โรคลมแดด (Heat Stroke) เป็นโรคที่เกิดจากความร้อนที่มีอาการรุนแรงที่สุด อาจเสียชีวิตได้
2. โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) เป็นโรคที่เกิดในขณะที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง
3. โรคตะคริวแดด (Heat Cramps) มักเกิดในคนเสียเหงื่อมาก ระหว่างทำงานหนักหรือออกกำลังกาย ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้เป็นตะคริว
4. ผิวหนังไหม้แดด (Sunburn) ผู้ป่วยจะมีผิวหนังเป็นรอยแดง จะปวดแสบร้อนเล็กน้อย โดยทั่วไปจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงต่อโรคจากความร้อน มี 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. เด็กเล็ก 2. ผู้สูงอายุเกิน 65 ปี 3. ผู้ที่ท้วมหรืออ้วน 4. ผู้ใช้แรงงานอย่างหนัก หรือผู้ออกกำลังกายหนัก 5. ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือ กำลังรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ
อาการของโรค ฮีทสโตรก
โรคฮีทสโตรก เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนในร่างกาย (core temperature) สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการที่เบื้องต้น ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศรีษะ ความดันต่ำ หน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าง่าย และยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียน ซึ่งอาจมีอาการเพิ่มเติมอีก ได้แก่ ภาวะขาดเหงื่อ, เพ้อ, ชัก, ไม่รู้สึกตัว, ไตล้มเหลว, มีการตายของเซลล์ตับ, หายใจเร็ว, มีการบวมบริเวณปอดจากการคั่งของของเหลว, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, การสลายกล้ามเนื้อลาย, ช็อค และเกิดการสะสมของ fibrin จนไปอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็กทำให้อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
แบ่งตามสาเหตุการเกิดโรคออกเป็น 2 ประเภท คือ
- Classical Heat Stroke เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่มีมากเกินไปส่วนใหญ่เกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง มักเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่สำคัญ คือ อุณหภุมิร่างกายสูง, ไม่มีเหงื่อ
- Exertional Heat Stroke เกิดจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป มักจะเกิดในหน้าร้อนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักกรีฑา อาการคล้ายกับ Classical แต่ต่างตรงที่กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออก นอกจากนี้ยังพบการเกิดการสลายเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และพบไมโอโกลบินในปัสสาวะด้วย
บุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคฮีทสโตรก
บุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคฮีทสโตรก ได้แก่ ทหารที่เข้ารับการฝึกโดยปราศจากการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมในการเผชิญสภาพอากาศร้อน รวมถึงบรรดานักกีฬาสมัครเล่นและผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น รวมทั้งผู้สูงอายุ เด็ก คนอดนอน คนดื่มเหล้าจัด และผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย
สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก
สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก ก็คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที
หากพบเจอผู้เป็นโรคลมแดดสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้ โดย
• นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก
• ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศรีษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน
• เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
วิธีการป้องกันโรคลมแดด คือ
• หากรู้ว่าจะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนก็ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน
• ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
• สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี
• ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป
• หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด
• หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ แก้น้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน
• หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพย์ติดทุกชนิด
• ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง
*********************************************
ภัยจากอากาศร้อนนั้นน่ากลัวไม่แพ้อากาศหนาวเลย มีประชาชนป่วยและเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย เมื่อถามถึงมตรการป้องกันดูแลของรัฐ ก็ทำให้นึกถึงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553 – 2557 ที่กำหนดขอบเขตของสาธารณภัย แบ่งเป็นด้านสาธารณภัย 14 ประเภท รวมถึงภัยแล้งและภัยจากอากาศหนาว ด้านความมั่นคง 4 ประเภท แต่ก็มิได้กำหนดถึงภัยจากอากาศร้อน ซึ่งในวาระเร่งด่วนนี้คงต้องออกทางมาตราการทางสาธารณสุข ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะใช้อำนาจหน้าที่ ป้องกัน ฟื้นฟู ดูแลประชาชนอย่างไรในขณะนี้ หวังว่าภัยจากอากาศร้อนนี้ที่ยิ่งทวีความรุนแรงจะได้รับการพิจารณาถึงความสำคัญจากหน่วยงานเกี่ยวข้องที่พี่น้องประชาชนวางใจให้ดูแล
แอบขอเล่าประสบการณ์ของข้าพเจ้าเองกับวิธีการรับมือความร้อน ผู้เขียนก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อว่าตัวเองสามารถอยู่กับความร้อนได้ตามสโลแกนประเทศไทยที่มีฤดูเพียง ร้อน ร้อนมาก ร้อนที่สุด จึงมิได้เตรียมตัวรับมือกับภัยที่กำลังคืบคลานมา กลางเดือนเมษายน ปีพ.ศ.2555 เครื่องปรับอากาศ ณ ที่พำนักของข้าพเจ้า หรือ แอร์คอนดิชั่นเนอร์ หรือที่ใครบางคนอาจสถาปณาเป็นเครื่องช่วยชีวิตนั้น ได้ทรยศต่อความไว้วางใจแล้วสิ้นชีวิตไปต่อหน้าต่อตา! กระนั้น ข้าพเจ้าก็ยังชะล่าใจ เพราะคิดว่าเราก็ไม่ได้ถูกเลี้ยงดูในบ้านที่ติดแอร์ฯ เด็กจนโตก็ยังเปิดพัดลมตัวเดียวอ่านการ์ตูนสบายใจเฉิบได้ แต่แล้วก็ต้องเสียใจ สุดท้าย ยามค่ำคืนในช่วงเดือนนั้น ข้าพเจ้าเทียวซื้อน้ำแข็งยูนิคเท่าที่จะหาได้ ใส่กระติกน้ำใบใหญ่ เปิดพัดลมตัวเดียวที่มีเป่าน้ำแข็งให้ไอเย็นกระจายตัว ถูบ้านวันละหลายรอบ ฟังดูขำแต่ก็ลดอุณภูมิไปได้ 1-2 องศา จึงเป็นบทเรียนแก่ตนเองว่าอย่าได้ชะล่าใจกับอากาศร้อน เพราะอาจทำให้คุณถึงตายได้
*********************************************
ที่มา
มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
เนชั่นชาแนล
สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่องเจ็ด
สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น
หนังสือพิมพ์ข่าวสด
หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์
หนังสือพิมพ์แนวหน้า
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
หนังสือพิมพ์มติชน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ