บทวิเคราะห์ : ไม่มีวันนั้นที่หัวลำโพง

กานต์ ยืนยง 4 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1811 ครั้ง

มีข่าวแพร่ออกมาตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า การที่คณะกรรมาธิการแปรญัตติร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำการแก้ไขปัญหาที่เป็นหลักสาระสำคัญของกฎหมาย จนกระทั่งแผกออกไปจากเจตนาแรกเริ่มที่นำเสนอโดยคุณวรชัย เหมะ ก็ดี หรือมีการกำชับอย่างหนักแน่นจากผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทย ให้ส.ส.ทุกคนโหวตลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายฉบับนี้  โดยไม่มีการยกเว้นว่าจะเป็นส.ส. ที่มีที่มาจากมวลชนสายเสื้อแดงหรือไม่ก็ดี เหล่านี้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้สนับสนุนที่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ประเด็นที่คนกลุ่มนี้ยอมรับร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ ก็เป็นเพราะมีการนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มคนที่พวกเขาเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการสั่งการให้มีการล้อมปราบประชาชนในช่วง เมษายน-พฤษภาคม 2553 ส่วนในซีกของปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าที่มีความเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดงก็มองกันว่า เป็นการสร้างธรรมเนียมที่ไม่ต้องรับผิด (impunity) ในหมู่ชนชั้นนำหรือผู้ที่ลงมือเอาชีวิตตลอดจนสร้างความเสียหายต่อบุคคล ไร้ซึ่งความชอบธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน เพราะมีการบังคับตามกฎหมายให้ผู้เสียหายที่อยู่ในเหตุการณ์ ต้องยอมรับการที่ต่อไปนี้จะไม่มีวันรับทราบว่า ใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเหตุการณ์ดังกล่าวมีเงื่อนงำและมีผู้กระทำผิดอย่างไรบ้าง คงไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์ที่ว่าผู้กระทำผิดเหล่านั้นได้มีการรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้น หรือออกมาขอโทษต่อผู้เสียหายและได้รับอโหสิกรรมตามที่ควรจะเป็น

ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นมวลชนที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน ก็คัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ให้การนิรโทษกรรมต่อการกระทำผิดของพรรคการเมืองและนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม โดยเฉพาะคดีการคอร์รัปชั่น ซึ่งกลับจะกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เลวร้ายต่อรัฐบาลในอนาคต ที่หากสามารถกำดุลอำนาจของจำนวน ส.ส. ในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่งได้ ก็สามารถนิรโทษกรรมความผิดของตนอะไรก็ได้ ที่เคยกระทำมาในอดีต นี่ยังไม่รวมถึงการแก้ไขช่วงระยะเวลาในการนิรโทษกรรมจากร่างกฎหมายต้นฉบับให้ถอยเลยจากช่วงหลังรัฐประหาร ไปจนถึงปี 2547 ซึ่งหลายคนมีข้อสงสัยว่าคงต้องการให้คลุมระยะเวลาในช่วงที่มีการสลายมวลชนในช่วง กรือเซะ – ตากใบ แต่นี่ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ ไม่มีใครทราบถึงเหตุผลเบื้องหลังที่เกิดขึ้นในการขยายระยะเวลาดังกล่าว

แต่ทั้งนี้ น่าสังเกตอยู่เหมือนกันว่า ในช่วงรณรงค์การคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของคนทั้งสองกลุ่ม ต่างก็ขับเน้นประเด็นที่ตนสนับสนุน หรือมองว่ามีความเสียหายอยู่คนละด้าน และทอนเหตุผลของอีกฝ่ายที่ตนไม่เห็นด้วย หรือไม่เห็นว่าเป็นปัญหาลงไป ที่มองตรงกันอยู่บ้างคือทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ดูจะเห็นด้วยตรงกันที่ไม่รวมเอาผู้ต้องโทษคดี ป.อาญา 112 (หรือที่เรียกกันว่าคดีหมิ่นฯ) ให้อยู่นอกการนิรโทษกรรม ไม่ว่าที่มาของการต้องโทษนั้นมีเหตุมาจากแรงจูงใจทางการเมืองในช่วงความขัดแย้งหลังรัฐประหาร 2549 มาหรือไม่ก็ตาม หากเป็นไปตามแนวทางนี้ ก็เท่ากับเหลือช่องการพ้นโทษให้ผู้ต้องโทษคดีหมิ่นฯ นี้ เพียงช่องทางเดียวคือการขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเมื่อดูจากประวัติการพ้นโทษของผู้ต้องโทษในคดีนี้  ก็ต้องยอมรับว่ามีโอกาสสูงที่จะพ้นโทษออกมาด้วยช่องทางนี้

เรื่องนี้ก็นับว่าน่าสังเกตอยู่เหมือนกัน ที่ว่าจนถึงที่สุดแล้ว ลักษณะการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นฯ นี้มีลักษณะยืดหยุ่นไม่เต็มตามข้อบัญญัติตามกฎหมาย ที่กำหนดให้ระยะต้องโทษจำคุกตามกฎหมายในระยะ 3-15 ปี เริ่มจากการพิจารณาโทษซึ่งก็มักมีการผ่อนผันให้ 1 ใน 3 คือมีโทษจำคุก 5 ปี และเมื่อผู้ต้องโทษขอพระราชทานอภัยโทษ โดยส่วนใหญ่ก็จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษและพ้นจากโทษจำคุก ในทางปฏิบัติผู้ต้องโทษจึงอาจไม่ต้องโทษในขั้นต่ำสุด 3 ปีด้วยซ้ำ ยกเว้นเสียแต่ว่าผู้ต้องโทษต้องการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องในการกระทำของตนเอง ในกรณีนี้ก็มักจะปรากฏว่ามีการขยายระยะเวลาการลงโทษในชั้นการดำเนินคดีเพิ่มออกไปจากโทษปกติอีก

คำถามคือ เหตุผลอะไรที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์เหล่านี้ และเราสามารถใช้เหตุผลนี้ทำนายถึงสถานการณ์ต่อไปข้างหน้าได้หรือไม่

ในช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ผมและเพื่อนร่วมงานที่ SIU ได้ร่วมทำงานวิจัยเพื่อค้นหาว่า อะไรเป็นใจกลางของอัตลักษณ์ของความเป็นไทย จนได้ข้อสรุปออกมาเป็นหนังสือที่ชื่อว่า “Redefine Thailand : นิยามใหม่ประเทศไทย” ผมได้ข้อสรุปอยู่สองประการคือ 1) ใจกลางอัตลักษณ์ของความเป็นไทย อยู่ที่อุดมการณ์พุทธแบบเถรวาทและสถาบันกษัตริย์ ทั้งสองเรื่องนี้เชื่อมโยงด้วยหลักการจักรพรรดิราชและภาพอุปมาของอุดมคติในสังคมอินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และ 2) ใจกลางอัตลักษณ์ในข้อแรกนี้จะถูกปกป้องรักษาเอาไว้ เป็นหลักการที่รัฐไทยไม่อาจยอมให้มีการกระทบกระเทือนได้ ส่วนหลักการในข้ออื่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน แม้จะยอมรับเอามาใช้ แต่หากจำเป็นก็สามารถเสียสละทิ้งไปได้

เมื่อพิจารณาในเรื่องนี้ ถามว่าพรรคเพื่อไทยเสียจุดยืน หรือสูญเสียหลักการตามข้อกล่าวหาของกลุ่มคนเสื้อแดงและปัญญาชนที่เห็นใจคนเสื้อแดงบางกลุ่มหรือไม่ คำตอบคือ ไม่

เพราะการต่อสู้หลักการทางการเมืองที่ผ่านมาของ พรรคไทยรักไทย / พรรคพลังประชาชน / พรรคเพื่อไทย ภายใต้วาทกรรมที่เรียกว่า “ไพร่-อำมาตย์” จึงเป็นเพียงอาวุธทางการเมืองในแง่หนึ่ง เช่นเดียวกับ จำนวนที่นั่งของ ส.ส. ในสภา พลังของเงินทุนและเครือข่ายทางการเมืองที่สนับสนุน ช่องทางการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์/วิทยุ/โทรทัศน์ ฯลฯ ทั้งหมดถูกประกอบกันขึ้นเพื่อสร้างโมเมนตัมทางการเมืองในการเอาชนะในการต่อสู้ทางการเมืองกับฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งคู่แข่งขันที่เป็นเป้าหมายหลักก็คือพรรคประชาธิปัตย์ และผมก็มองว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ใช้กลวิธีในลักษณะเดียวกันในการต่อสู้ทางการเมือง

เพราะจากการกล่าวหาของคุณจิตตนาถ ลิ้มทองกุล[1] บุตรชายของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อการนำมวลชนของ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และเหล่า ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์บนท้องถนน ว่าไม่ได้มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูประบบการเมืองที่ล้มเหลว ไม่มีความจริงใจที่จะยกระดับการชุมนุมตามสถานการณ์ และถึงที่สุดแล้วเวทีสามเสนของพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ต่างอะไรกับเวทีการปราศรัยหาเสียงของพรรค และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ ASTV จำเป็นจะต้องยุติการถ่ายทอดสดกิจกรรมที่เวทีสามเสน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือคุณจิตตนาถใช้คำอุปมาอุปมัยว่า การนำมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์เปรียบเสมือนการเดินรถจักรที่ไปไม่ถึงสถานีจุดหมาย และสถานีสามเสนคงเป็นสถานีสุดท้ายของพรรคประชาธิปัตย์

            “แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ยังคงยึดมั่นในแนวทางเดิม ๆ ปลุกให้คนมาม็อบเยอะ ๆ ให้ความหวังนู่นนี่นั่นแต่ไม่คิดจะทำอะไร สามเสนคงจะเป็นสถานีสุดท้ายของพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้ เพราะเมื่อมวลชนเห็นแล้วว่า ไม่อาจพึ่งพาหาความหวังอะไรกับประชาธิปัตย์ได้ในยามวิกฤติ ในที่สุดก็จะก้าวข้ามผ่านสถานีสามเสนไปสู่ชุมทางประชาชน ปล่อยให้ประชาธิปัตย์ตกขบวนไปด้วยตัวเองในที่สุด”

ที่น่าสนใจก็เพราะ คำอุปมาอุปมัย “รถไฟที่ไปไม่ถึงสถานีปลายทาง” เรื่องนี้ตรงกันกับข้อสังเกตของคุณจักรภพ เพ็ญแข[2] อดีตแกนนำ นปช และอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลคุณสมัครอย่างน่าประหลาด

            “สามปีที่ผ่านมาผมมองย้อนกลับไปถึงความแตกร้าวทางความคิด “บางซื่อ-หัวลำโพง” ที่ทำให้แกนนำหลายคนยังมองกันกันไม่ติดหรือไม่สนิทใจมาจนบัดนี้ ยิ่งเวลาผ่านไปผมยิ่งรู้สึกว่านั่นเป็นสาระสำคัญของขบวนการต่อสู้ภาคประชาชน ฝ่ายบางซื่อชูธงสะสมชัยชนะและสงวนเลือดเนื้อ ฝ่ายหัวลำโพงอ้างความมุ่งมั่นของประชาชน บวกกับแรงหนุนจากผู้นำการเมืองที่มิได้อยู่ในสนามให้เดินหน้าต่อ”

มีคนสงสัยและสงสัยมากขึ้นทุกทีว่า การออกมาเคลื่อนไหวที่เป็นเอกเทศ โดยไม่รวมกับมวลชนกลุ่มอื่นของพรรคประชาธิปัตย์นั้น เอาเข้าจริงก็เป็นเพียงการรักษาฐานมวลชน และจะไปไม่ถึงการโค่นรัฐบาล เหมือนสมัยเมื่อแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนำมวลชนเช่นเมื่อในอดีต จริงอยู่แม้การตื่นตัวของประชาชนในการคัดค้านรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ ดูเหมือนเริ่มสั่งสมโมเมนตัมและดูเหมือนว่าประกายไฟนั้นเริ่ม “จุดติด” และอาจจะ “ลามทุ่ง” คุณสุเทพและบรรดาแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจคิดว่า หากสามารถเดินขบวนมวลชนออกมาได้จำนวนนับแสน และสามารถโค่นรัฐบาลลงไปได้ก็ดี ถึงอย่างไรพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมีแกนนำส่วนหนึ่ง ที่ยังคงรักษาฐานที่มั่นของพรรคเอาไว้ และรักษาการเมืองในรัฐสภา ก็คงสามารถพร้อมรับการถ่ายโอนอำนาจรัฐจากพรรคเพื่อไทยต่อไปได้ พรรคเพื่อไทยก็จะกลายมาเป็นฝ่ายค้านในสภา

แต่หากไม่สามารถขับไล่รัฐบาลออกไปได้ (และอันที่จริงก็น่าสงสัยอยู่ว่าจะทำได้อย่างไร หากกองทัพประกาศอย่างชัดเจนว่า จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว หรือในอีกความหมายหนึ่งคือจะไม่เข้ามาทำการรัฐประหาร) ก็ดีอีกเช่นกัน เพราะคุณสุเทพ และคุณอภิสิทธิ์ก็จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ได้ด้วย บรรดาผู้นำทหารในกองทัพ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และเหล่า “มือมืด” และ “มือที่สาม” “มือที่สี่” ทั้งหลายที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงของการแย่งชิงอำนาจนับตั้งแต่การทำรัฐประหารเป็นต้นมา รวมไปถึงผู้นำกองทัพที่ทำการรัฐประหารเมื่อปี 2549 นั้นด้วย ก็ต่างได้รับอานิสงส์จากกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้กันอย่างถ้วนหน้า

และนี่ก็เป็นธรรมเนียมการเมืองแบบไทย ๆ ที่เมื่อชนชั้นนำทางการเมืองทำความผิดอะไรไว้ หากยังสามารถรักษาเครือข่ายอำนาจอยู่ได้ ก็ไม่มีทางได้รับผิดและมักจะนิรโทษกรรมให้ตนเอง เช่นเดียวกับคณะรัฐประหารที่นิรโทษกรรมความผิดของตนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 2549 และค้างผลการกระทำของตนให้มีผลตามกฎหมายเอาไว้ใน มาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อผู้มีอำนาจฝ่ายตรงข้ามได้อำนาจรัฐอีกครั้ง หาก “ประนีประนอม” กันได้ ก็นิรโทษกรรมความผิดของตนนั้น “ทับ” ลงไปอีกที

ในความเป็นจริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างหน้าจะเป็นไปตามเหตุผลดังที่แสดงไว้นี้หรือไม่ กระบวนการและคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีต่อกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้จะเป็นตัวบ่งบอกเองว่า เหตุผลเบื้องหลังของกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้เป็นไปตามที่ผมได้แสดงมาหรือไม่

แต่เรื่องนี้ ทำให้ผมคิดย้อนไปถึงวันคืนที่ผมและเพื่อน ๆ ซึ่งยังถือว่าเป็น “เยาวชน” ทางการเมือง ในค่ำคืนบนถนนที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มั่นสุดท้ายของประชาชน เมื่อปี พ.ศ.2535 จู่ ๆ พวกเราก็ได้รับทราบว่า รัฐบาลสุจินดาลาออกแล้ว และมีการถ่ายทอดสด การเข้าเฝ้าฯ ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นแกนนำมวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และหัวหน้ารัฐบาลในเวลานั้น

ครั้นแล้วเหตุการณ์ความวุ่นวายทั้งหมด ก็เป็นอันยุติลงอย่างสงบราบคาบ แปลกประหลาดมหัศจรรย์เหมือนเมื่อตอนเค้าลางของความวุ่นวายก่อตัวขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ผู้อยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของประชาชนไม่เคยต้องออกมารับผิดชอบ เรื่องราวคลี่จางหายไปตามกาลเวลา ราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น เพื่อสะสมตัวไปรอเอาให้เกิดวิกฤตทางการเมืองในอีก 14 ปีต่อมา ครั้งนี้ผมก็สงสัยว่าเหตุการณ์ก็คงยุติลงอย่างอัศจรรย์เช่นเดียวกัน ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยคงจะคลี่ม่านปิดการขัดแย้งที่ยาวนานลง หลีกทางให้กับกิจกรรมในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ แต่ความขัดแย้งนั้นยังคงอยู่และคงจะปรากฏตัวมาหลอกหลอนเราอีกในอนาคต

เพราะขบวนรถไฟขบวนนั้น ไม่เคยเดินทางถึงสถานีหัวลำโพง

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก โพสทูเดย์ แนวหน้า กรุงเทพธุรกิจ ไอเอ็นเอ็น ไทยรัฐ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: