กสม.จี้สอบคลังเก็บ'กัมมันตรังสี' ระบุที่สงขลามี29แห่งอยู่ในชุมชน สั่งเร่งขนย้าย-ให้ความรู้ประชาชน

วันชัย พุทธทอง ศูนย์ข่าว TCIJ 4 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3056 ครั้ง

 

 

 

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ลงพื้นที่เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีประชาชนร้องเรียนสถานที่จัดเก็บสารกัมมันตรังสีของบริษัท ชลัมเบอร์เจอร์โอเวอร์ซีส เอส เอ จำกัด (Schlumberger Overseas S.A Limited) ซึ่งตั้งอยู่ในย่านชุมชนบริเวณ ถ.ไทรงาม เขตเทศบาลนครสงขลา เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อชุมชน

 

นายพิรศักดิ์ กมลสุโกศล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ชลัมเบอร์เจอร์โอเวอร์ซีส เอส เอ จำกัด (Schlumber ger Overseas S.A Limited) ชี้แจงว่า ขณะนี้บริษัทกำลังเตรียมเคลื่อนย้ายวัสดุสารกัมมันตรังสีไปยังสถานที่จัดเก็บแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยจะเคลื่อนย้ายสารกัมมันตรังสีให้เสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะมีการรายงานให้ทางจังหวัดทราบทุกระยะ

 

นายพิรศักดิ์กล่าวต่อว่า ยืนยันถึงความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายสารกัมมันตรังสี ซึ่งจะใช้รถทรัคขนส่ง อีกทั้งผู้ขับยังต้องได้รับใบอนุญาตขับรถในระดับ 4 และทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายสารกัมมันตรังสี จะมีรถตำรวจนำทางทุกครั้ง และหลังจากที่ทางบริษัทได้ทำการสำรวจแล้วพบว่า นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ที่ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา น่าจะเป็นพื้นที่เหมาะสมในการจัดเก็บสารกัมมันตรังสี มากกว่าเขตอุตสาหกรรม หมู่ 1 ต.หัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา บนพื้นที่ราว 45 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายเดิม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            “เราเลือกนิคมอุตสาหกรรมเพราะเชื่อว่าที่นี่ดีที่สุด และน่าจะเป็นแบบอย่างสำหรับบริษัทอื่น ในการทำเรื่องที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนชุมชน” นายพิรศักดิ์กล่าว

 

 

นายกิตติศักดิ์ ปันอุดมทรัพย์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบปริมาณสารกัมมันตรังสีของบริษัท ชลัมเบอร์เจอร์โอเวอร์ซีส เอส เอ จำกัด (Schlumberger Overseas S.A Limited) อยู่ในระดับที่ปลอดภัย โดยความรุนแรงของกัมมันตรังสีที่ใช้อยู่ในระดับ 3 จาก 5 ระดับตามมาตรฐาน ทั้งนี้ใน จ.สงขลามีสถานที่จัดเก็บวัสดุกัมมันตรังสี ทั้งหมด 29 แห่ง ประกอบด้วย ด้านอุตสาหกรรม 11 แห่ง, การแพทย์ 6 แห่ง และใช้ในการศึกษาวิจัยอีก 12 แห่ง ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้มีการตรวจประเมินไปแล้ว 16 แห่ง

 

ด้านนายบรรจง นะแส เครือข่ายพลเมืองสงขลา กล่าวว่า ประเด็นที่ทางเครือข่ายพลเมืองสงขลากังวล คือ กระบวนการการใช้สารกัมมันตรังสี ซึ่งไม่มีการเปิดเผยว่ามีตัวไหนบ้าง อันตรายมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งการติดฉลากให้ประชาชนทั่วไปได้รู้ว่าเป็นสารอันตรายนั้นก็ยังเป็นข้อข้องใจ รวมไปถึงระบบการป้องกันความปลอดภัยว่ามีมากน้อยเพียงใด

 

             “การจัดเก็บสารกัมมันตรังสีในประเทศไทยนั้นมี 888 แห่ง และอยู่ในสงขลา 29 แห่ง แต่ก็ไม่รู้ว่ามีที่ไหนบ้าง ซึ่งเราก็รู้ว่ามีของ บริษัท ชลัมเบอร์เจอร์โอเวอร์ซีส เอส เอ จำกัด ด้วย และทั้งหมดนั้นมีสารชนิดอะไรบ้าง ก็ไม่ยอมบอก อยู่ตำบลไหน อยู่บ้านใครบ้าง เราก็ไม่รู้ ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิของเราในเรื่องที่เอาวัตถุกัมมันตรังสีมาไว้ในพื้นที่ชุมชนแล้วไม่มีการบอกกล่าวกันในเชิงสาธารณะ” นายบรรจงกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทั้งนี้หลังจากเสร็จสิ้นการไต่สวนข้อเท็จจริง นายบรรจงยังกล่าวอีกว่า ต้องรอดูเดือนพฤศจิกายน ตามที่บริษัท ชลัมเบอร์เจอร์โอเวอร์ซีส เอส เอ จำกัด บอกว่าจะย้าย ซึ่งหากไม่ย้าย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติให้สัญญาแล้วว่า จะต่อสัญญาให้เพียงบริษัทนี้เพียง 6 เดือน ถ้าไม่ย้ายทางบริษัทก็คงต้องปิดตัวลง และบริษัทอื่น ๆ ที่ครอบครองสารกัมมันตรังสีอีก 11 นั้น ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยังไม่ใช้คำตอบว่า เก็บถูกต้องหรือไม่ ซึ่งทางเครือข่ายพลเมืองสงขลาจะติดตามต่อไป

 

นางชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า สำหรับสิทธิผู้บริโภคด้านข้อมูลข่าวสาร คิดว่าจำเป็นมากที่ทางบริษัท ชลัมเบอร์เจอร์โอเวอร์ซีส เอส เอ จำกัด จะต้องขึ้นป้ายให้ใหญ่กว่านี้ และมีเนื้อหาเข้าใจง่าย สามารถสื่อสารให้คนในพื้นที่เข้าใจข้อมูลได้ นอกจากนี้อีก 1 ปีข้างหน้า ก็ควรให้ความรู้ ข้อมูลข่าวด้านสารกัมมันตรังสีแก่ประชาชน อีกทั้งต้นทุนความเสี่ยงของประชาชนจากอันตรายของสารกัมมันตรังสีควรตกอยู่ที่บริษัทผู้ประกอบการ ไม่ใช่เป็นความรับผิดชอบของรัฐ และควรมีการพัฒนาระบบภาคีเครือข่ายเพื่อตั้งรับต้นทุนความเสี่ยงของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ อีกด้วย

 

ขณะที่ รศ.ดร.พญ.พิชญา พรรคทองสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า โดยทั่วไปมีการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพย้อนหลังได้ เนื่องจากเขามีข้อมูลสิ่งสำคัญย้อนหลังไป 30 ปี ซึ่งจากที่ทางบริษัทได้ชี้แจงนั้น เหมือนกับไม่แน่ใจว่า มีข้อมูลชุดดังกล่าวหรือไม่ คือถ้ามีข้อมูลชุดดังกล่าว ก็สามารถเอามาเชื่อมโยงกับอุบัติการณ์การเกิดมะเร็ง เรามีข้อมูลมะเร็งย้อนไปเกือบ 20 ปี เราอาจเชื่อมโยงไปถึงว่าผลกระทบด้านสุขภาพมันมีอยู่จริงหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำกันทั่วโลก แต่ที่ผ่านมาไม่มีการรับผิดชอบหรือมีกฎหมายในเรื่องนี้ ซึ่งจะช่วยให้เราก้าวต่อไปได้ดีขึ้น เพราะอายุการใช้งานของรังสีอย่างน้อย 30 ปี และเราก็มีการจัดเก็บสารกัมมันตรังสีในประเทศไทยนั้นมี 888 แห่ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จากนั้น น.พ.นิรันดร์กล่าวปิดท้ายว่า หากไม่กำหนดด้านสิทธิมนุษยชน ก็จะไม่มีหลักประกันว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร และให้ยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ดังนั้นกฎกระทรวงระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ สามารถออกมาได้โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย ประเด็นเรื่องสิทธิเกี่ยวกับโรงงานสารกัมมันตรังสี จึงต้องให้ความสนใจ คือ เรื่องสิทธิการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

 

 

“อย่าคิดว่าการมีส่วนร่วมจะเป็นแค่การประชุมและชี้แจงก็พอแล้ว การมีส่วนร่วมจะทำให้ท่านมีแนวคำถามที่ตอบได้หมด เช่น ติดประกาศให้ชาวบ้านรู้เรื่อง ไม่ใช่ว่าติดประกาศแล้ว แค่สัญลักษณ์ในประกาศชาวบ้านก็ดูไม่รู้เรื่องอย่างนี้ ไม่รู้จะติดทำไม สิทธิการมีส่วนร่วม คือประชาชนต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารกัมมันตรังสีว่ากระทบกับชาวบ้าน แล้วชาวบ้านจะไม่รู้ได้อย่างไร ต้องทำให้ชาวบ้านรู้เรื่อง ไม่ใช่รู้ภาษาเรา การที่เขาไม่รู้ข้อมูลมันทำให้เขาตื่นตระหนก แล้วถ้าการที่เขาตื่นตระหนก คุณจะบอกว่าเขาโง่ นั่นหมายความว่าคุณโง่กว่า เพราะคุณไม่ทำให้เขารู้ การมีส่วนร่วมคือต้องทำให้เขารู้ก่อน” น.พ.นิรันดร์กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

น.พ.นิรันดร์กล่าวอีกว่า แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมา 30 ปีของบริษัท ไม่ได้คิดถึงการสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งทางบริษัทต้องศึกษาด้วยในระยะยาว ว่าจะเกิดผลกระทบหรือไม่ เพราะเราไม่รู้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะเจอมะเร็งอะไร จึงกลับไปทบทวนระเบียบกฎกระทรวง ให้นึกถึงการมีส่วนร่วม และสำหรับองค์กรท้องถิ่นนั้น เขากระจายอำนาจให้เราในการดูแลชุมชนดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ถ้าโครงการใด ๆ สร้างผลกระทบองค์กรปกครองท้องถิ่นต้องสร้างการมีส่วนร่วม เพราะเป็นตัวแทนภาคประชาชน ซึ่งต้องจัดประชุมและพูดคุย เป็นหน้าขององค์กรส่วนท้องถิ่น เทศบาลต้องมีหน้าที่ทำการมีส่วนร่วม เพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ประชาชนต้องรู้  ต้องดูแลคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อประชาชน

 

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน จะนำข้อสรุปทั้งหมดไปพิจารณาข้อเท็จจริงอีกครั้งว่า มีการดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่จัดเก็บสารกัมมันตรังสี ถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านกฎหมายหรือไม่ เพื่อสร้างความปลอดภัย และความมั่นใจให้แก่ประชาชน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบริษัทที่ครอบครอง/ใช้วัสดุกัมมันตรังสี ด้านอุตสาหกรรม ในจ.สงขลา มีดังนี้

 

1.บริษัท บีเจ เซอร์วิส อินเตอร์เนชั่นเนล (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 93/1 อาคารจีพีเอฟ วิทยุ ตึกบี ถ.วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ที่อยู่สถานที่เก็บ/ใช้ : บริษัท บีเจ เซอร์วิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 39/15 ซอยกาญจนวนิช 29 ถ.กาญจนวนิช ต.เขารูปช้าง อ.เมือง สงขลา จ.สงขลา

 

2.บริษัท เฟอร์นิช บอร์ด จำกัด เลขที่ 2 อาคารเพลินจิตเซ็นต์เตอร์ ชั้น 5 ถ.สุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ที่อยู่สถานที่เก็บ/ใช้ : บริษัท เฟอร์นิช บอร์ด จำกัด จ.สงขลา เลขที่ 417/14 ถ.กาญจนวนิช ต.พะวง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

 

3.บริษัท เวทเธอร์ฟอร์ด เคเอสพี จำกัด เลขที่ 399 อาคารอินเตอร์เซนจ ชั้น 31 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ที่อยู่สถานที่เก็บ/ใช้ : บริษัท เวทเธอร์ฟอร์ด เคเอสพี จำกัด เลขที่ 239/20-23 หมู่ที่ 1 ถนนสงขลา-ระโนด ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา

 

 

 

 

 

4.บริษัท สยาม ไฟเบอร์บอร์ต จำกัด เลขที่ 417/112-113 ถ.กาญจนวนิช ต.พะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่อยู่สถานที่เก็บ/ใช้ : บริษัท สยาม ไฟเบอร์บอร์ต จำกัด เลขที่ 417/112-113 ถ.กาญจนวนิช ต.พะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

 

5.บริษัท สยาม หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 87/1 หมู่ 1 ถ.กาญจนวนิช ต.บ้านพรุ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่อยู่สถานที่เก็บ/ใช้ : บริษัท สยาม หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 87/1 หมู่ 1 ถ.กาญจนวนิช ต.บ้านพรุ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

 

6.บริษัท เอ็กซ์โปร โอเวอร์ซีส์ อิงค์ เลขที่ 123 อาคารซันทาวเวอร์ บี ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตจักร กรุงเทพมหานคร ที่อยู่สถานที่เก็บ/ใช้ : บริษัท เอ็กซ์โปร โอเวอร์ซีส์ อิงค์ เลขที่ 287/2 หมู่ที่ 5 ถ.สงขลา-ระโนด ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา

 

7.บริษัท ฮัลลิเบอร์ตัน เอ็นเนอจี เซอร์วิสเซส อิงค์ เลขที่ 123 อาคารซันทาวเวอร์ส B ชั้น 15 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร จ.กรุงเทพมหานคร ที่อยู่สถานที่เก็บ/ใช้ : บริษัท ฮัลลิเบอร์ตัน เอ็นเนอจี เซอร์วิสเซส อิงค์ เลขที่ 234/2 หมู่ 2 ถ.ลพบุรีราเมศวร์ ต.พะวง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา

 

8.บริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซีส์ เอส.เอ.จำกัด เลขที่ 555 ถนนพหลโยธิน แขวงจตุจักร เขตจตุจักร จ.กรุงเทพมหานคร ที่อยู่สถานที่เก็บ/ใช้ : บริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซีส์ เอส.เอ.จำกัด (สงขลา) เลขที่ 30 ถ.ไทรงาม ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา

 

9.บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เลขที่ 19 ไทยพาณิชย์ปาร์คอาคาร 3 ชั้น 5 ถ.รัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร จ.กรุงเทพมหานคร ที่อยู่สถานที่เก็บ/ใช้ : บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เลขที่ 2 ถ.แหล่งพระราม ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา

 

10.บริษัทไซแอนติฟิค ดริลลิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล เลขที่ 14 ซอยพหลโยธิน 24 แยก 4 ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร จ.กรุงเทพมหานคร ที่อยู่สถานที่เก็บ/ใช้ : บริษัทไซแอนติฟิค ดริลลิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล เลขที่ 120/8 หมู่ที่ 1 ต.ชิงโค อ.สิงหนคร จ.สงขลา 90000

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: