ชี้ห้วยตู้ป้องกันเด็กไม่ได้ แนะหลายฝ่ายต้องช่วยกัน

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล และชนากานต์ อาทรประชาชิต ศูนย์ข่าว TCIJ 4 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1171 ครั้ง

 

วันที่ 9 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่นำโดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเดินหน้าหวยออนไลน์ตามความเห็นและข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ว่าการนำเครื่องจำหน่ายสลากออนไลน์มาจำหน่ายสลาก 6 หลัก และสลากเลขท้าย 2-3 ตัว จะช่วยแก้ปัญหาความต้องการหมายเลขของผู้ซื้อได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ เพราะสามารถซื้อเลขที่ต้องการจากเครื่องจำหน่ายสลากได้ เป็นการแก้ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา แก้ไขการทุจริตการจัดสรรโควตาให้พ่อค้าคนกลาง และป้องกันการฟอกเงินจากกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

หวยออนไลน์ที่คั่งค้างมาตั้งแต่ 2548 นับตั้งแต่ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเซ็นสัญญากับบริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด (แอลจีที) จนล็อกซเล่ย์ตัดสินใจฟ้องสำนักงานสลากฯ จึงเป็นอันยุติลง พิเศษ ดิศวัฒน์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด (แอลจีที) ยืนยันว่า “เรื่องคดีทุกอย่างก็จบ ถอนฟ้อง” แม้ว่าที่ผ่านมาแอลจีทีจะเสียหายไปกว่า 3 พันล้านบาทแล้วก็ตาม

 

พิเศษอธิบายว่า สิ่งที่คนทั่วไปเรียกว่า ‘หวยออนไลน์’ เป็นการสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นการซื้อขายทางอินเตอร์เน็ตและซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องควรเรียกผลิตภัณฑ์ตัวนี้ว่า การจำหน่ายสลากด้วยเครื่อง ซึ่งเป็นระบบสากลเหมือนในต่างประเทศ คือมีผู้ขายให้ มิใช่ให้ผู้ซื้อกดเองหรือซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต

 

 

            “ลักษณะการซื้อสลากผ่านเครื่องจำหน่ายสลากจะมีคนซื้อ คนขาย ไม่ใช่ว่ามีเครื่องอยู่ในร้านสะดวกซื้อ อยากจะขายหวย 24 ชั่วโมงก็ได้ แบบนี้ไม่ใช่ เวลาเราปิดระบบที่บริษัท ทุก ๆ ที่ในประเทศจะขายไม่ได้ ซึ่งช่วยให้ควบคุมได้ง่ายขึ้น”

 

 

พิเศษย้ำว่าแอลจีทีไม่ใช่เจ้ามือ เป็นเพียงผู้รับจ้างให้บริการ ทำระบบเกมสลากและติดตั้งเครื่องจำหน่ายสลากตามคำสั่งของสำนักงานสลากฯ เท่านั้น ส่วนใครจะเป็นตัวแทนจำหน่าย ทางสำนักงานสลากฯ เป็นผู้คัดเลือก แล้วส่งรายชื่อให้แก่ทางบริษัท เพื่อให้บริษัทไปดำเนินการติดตั้งตามคำสั่งของสำนักงานสลากฯ ซึ่งตอนนี้ติดตั้งไปประมาณ 6,000 เครื่อง

 

ส่วนเครื่องจำหน่ายสลากอีก 6,000 เครื่องที่เหลือ จะติดตั้งที่ไหน อย่างไร พิเศษกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับทางนโยบายของสำนักงานสลากฯ ว่า หลังจากนี้จะให้แอลจีทีติดตั้งเครื่องอีกกี่เครื่องและจุดไหนบ้าง เนื่องจากส่วนนี้แอลจีทีไม่ได้เป็นผู้กำหนด เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตาม

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การจำหน่ายสลากด้วยเครื่องนับเป็นประเด็นอ่อนไหวในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบทางสังคมต่อเด็กและเยาวชนที่อาจจะเกิดตามมา เนื่องจากเกรงว่า สิ่งนี้กำลังจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการพนันได้ง่ายดายขึ้นกว่าเดิม

 

ประเด็นนี้ พิเศษกล่าวว่า ทางสำนักงานสลากฯ ได้วางมาตรการไว้แล้ว เช่น จุดติดตั้งเครื่องจำหน่ายต้องไม่อยู่ใกล้วัดและโรงเรียน ตัวแทนจำหน่ายต้องไม่ขายให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้น ซึ่งหากตัวแทนจำหน่ายคนใดละเมิดระเบียบที่วางไว้ ทางสำนักงานสลากฯ จะมีบทลงโทษตามมา

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการข้างต้นไม่ใช่เครื่องการันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะปฏิบัติได้ผล สถานการณ์ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างการนำใบเลือกเลขมากรอกแล้วฝากผู้ใหญ่ซื้อให้ดูจะเป็นเรื่องที่คงต้องเกิดขึ้น พิเศษยอมรับว่า เทคโนโลยีจัดการเรื่องทำนองนี้ไม่ได้

 

 

            “ผมจึงบอกว่าการจำหน่ายสลากด้วยเครื่องต้องมีคนขาย ไม่ได้ซื้อเองหรือขายทางอินเตอร์เน็ต ดังนั้น วิธีการควบคุมตั้งแต่ต้น ตัวแทนจำหน่ายเองต้องมีความรับผิดชอบที่จะไม่ขายให้เยาวชน ถ้าเด็กมาซื้อเอง ปฏิเสธการซื้อขายได้ เพราะเห็นตัวตน แต่ถ้าฝากใครมาซื้อ ควบคุมไม่ได้หรอกด้วยกลไกแบบนี้ การป้องกันตรงนี้ ผมว่าเป็นเรื่องของทุกภาคส่วนครับที่ต้องร่วมกันรณรงค์ ทางสำนักงานสลากฯ ก็ใส่ใจตรงนี้เหมือนกัน เกรงว่าจะมีเยาวชนเข้ามาเล่น สำนักงานสลากฯ ก็ต้องวางมาตรการเพื่อควบคุมดูแลตัวแทนจำหน่าย จุดนี้ต้องขึ้นกับกฎระเบียบที่ตั้งไว้ เขาจะมีคนออกสำรวจ ตรวจสอบได้ ว่าตัวแทนคนไหนทำผิดระเบียบ”

 

แต่พิเศษแสดงความเห็นว่า เคยงานวิจัยระบุว่า เยาวชนเล่นหวยน้อยมาก เพราะ 15 วันออกที ไม่ทันใจ เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะเล่นพนันบอลมากกว่า

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: