‘ฉันทนา’เศร้า-สังเวยค่าแรง300บ. รง.อ้างขาดทุน-บีบเซ็นชื่อออกเอง ส.อ.ท.จับตาไตรมาส2เจ๊งอีก10%

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 4 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2800 ครั้ง

 

ในที่สุดมาตรการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทก็พ่นพิษ เมื่อผู้ประกอบการโรงงานจำนวนมากเริ่มทะยอยปิดกิจการไปหลังเทศกาลปีใหม่ แม้นายจ้างจะอ้างว่า สาเหตุที่ต้องเลิกกิจการไม่เกี่ยวกับการนโยบายค่าแรง 300 บาทของรัฐบาล แต่มาจากการขาดทุนจากการทำธุรกิจ แต่ลูกจ้างส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีวี่แววว่าโรงงานจะเลิกกิจการแต่อย่างใด

 

 

 

ม็อบฉันทนาร้องผู้ว่าฯสระบุรีช่วยเจรจาค่าชดเชย

 

 

ล่าสุดเหตุการณ์ ลูกจ้างบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด อ.เมือง จ.สระบุรี โรงงานผลิตชุดชั้นใน กว่า  300 คน รวมตัวกันประท้วงการปิดกิการของบริษัท หลังกลับจากการเยี่ยมบ้านในช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นตัวอย่างแรกของกรณีนี้ ที่เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงแรงงานจะต้องหาทางออก และให้ความช่วยเหลือกับลูกจ้างที่ต้องตกอยู่ในสถานะตกงานอย่างไม่รู้ตัว จำนวนกว่า 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและทำงานในบริษัทแห่งนี้มาเป็นเวลานาน

 

สำหรับการเรียกร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้ พนักงานทั้งหมดยื่นข้อเรียกร้องต่อนายถาวร พรหมมีชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ขอให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย หลังประกาศปิดกิจการตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา หลังการหารือกว่า 1 ชั่วโมง โดยมีตัวแทนจากสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสระบุรี พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสระบุรี จัดหางานจังหวัดสระบุรี และแรงงานจังหวัดสระบุรี แม้จะมีการตกลงเบื้องต้น แต่ดูเหมือนลูกจ้างหลายคนจะยังไม่มีความมั่นใจ

 

นางอธิตา จินดารมณ์ รองประธานสหภาพแรงงานวีณาการ์เมนต์ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมหารือร่วมกับท่านรองผู้ว่าฯ และหน่วยงานรัฐ โดยมีการโทรศัพท์ติดต่อกับฝ่ายนายจ้าง ถึงเรื่องค่าชดเชยต่าง ๆ ที่ลูกจ้างควรจะได้รับ กรณีที่นายจ้างปิดกิจการ โดยฝ่ายนายจ้างนัดจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้กับทุกคน ในวันที่ 5 มกราคม 2556 รวมถึงเรื่องการจ่ายค่าชดเชย ก็จะขอเจรจากันอีกครั้ง ในวันที่ 5 มกราคม 2556 และต่อไปนี้ขอให้ทุกคนรอฟังข่าวความเคลื่อนไหว เฉพาะกรรมการสหภาพแรงงานเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

 

 

ช็อกกลับจากเที่ยวปีใหม่ก็ต้องตกงาน

 

 

 

นางรำพึง หน่อพงษ์ ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง กล่าวทั้งน้ำตาว่า “รู้สึกช็อกมาก เพราะไม่คิดว่าจะเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ และเป็นช่วงปีใหม่ทุกคนได้หยุดอยู่กับครอบครัว และทุกคนกำลังดีใจกับสวัสดิการที่ได้รับ หลังจบข้อเรียกร้องได้เพียงวันเดียว ตอนนี้คือน้ำตาไม่ไม่ไหลแล้ว และตัวแทนก็บอกว่า วันที่ 5 มกราคม 2556   นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างที่ค้างไว้ให้กับพวกเรา ส่วนค่าชดเชยยังไม่รู้จะได้จริงหรือเปล่า เพราะตัวเองก็มีภาระทั้งลูก สามี และพ่อแม่ เราทำงานที่นี่มานาน หวังว่าจะพอทำงานเลี้ยงครอบครัวไปวัน ๆ แต่วันนี้มันจบแล้วไม่มีงานทำแล้วรู้สึกเสียใจมาก ๆ และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป อยากขอร้องให้นายจ้างอย่าปิดโรงงาน เราทำงานมากว่า 10 ปี เราต้องดูแลครอบครัว เรารักนายจ้าง นายจ้างไม่รักพวกตนหรืออย่างไร”

 

 

 

ฝันมีรายได้เพิ่ม ชีวิตจะดีขึ้น แต่กลับไม่มีงานทำ

 

 

ขณะที่ลูกจ้างหลายคนยังคงตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่มั่นใจ โดยส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่าบริษัทจะปิดกิจการ เพราะก่อนหน้านี้พวกตนยังทำงานอยู่ตามปกติ โดยไม่มีประกาศแจ้งเตือนใด ๆ ทำให้ไม่มีใครคิดว่า หลังจากกลับจากเทศกาลปีใหม่แล้วจะกลายเป็นคนตกงาน และที่ผ่านมาไม่ได้มีใครคิดเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพราะไม่คิดว่าผลจากนโยบายการขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท จะส่งผลกระทบมากขนาดนี้

 

 

             “ตอนนี้มืดไปหมด ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป คงต้องรอสหภาพแรงงานว่าจะให้ทำอย่างไร และจะทำอะไรในทางกฎหมายได้บ้าง ก่อนหน้านี้เราก็ได้ฟังคนพูดเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท แต่คิดว่าน่าจะทำให้คนงานมีเงินใช้มากขึ้น ส่วนผลกระทบที่ไม่ดีอาจจะมีบ้าง แต่ไม่คิดว่าจะทำให้ถึงขั้นตกงานขนาดนี้” พนักงานคนหนึ่งกล่าว

 

 

 

นายจ้างอ้างไม่เกี่ยวขึ้นค่าแรง แต่เหตุจากกิจการขาดทุน

 

 

อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีดังกล่าว นายกิติพงษ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากการพูดคุยกับนายจ้างทราบว่า ไม่เกี่ยวกับนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท แต่เป็นเรื่องของการประกอบกิจการขาดทุน ซึ่งแจ้งให้ทราบว่า ได้แจ้งให้กับพนักงานรับรู้มานานแล้ว ว่าการธุรกิจขาดทุนมาตลอด แต่พนักงานไม่เข้าใจ ยังคงคิดว่านายจ้างมีกำไรจากการธุรกิจอยู่ แม้กระทั่งเคยจะให้ดูงบดุลแล้วก็ตาม ซึ่งสิ่งนี้เป็นข้อมูลที่นายจ้างให้มา

 

อย่างไรก็ตามขณะนี้ ลูกจ้างได้เขียนแบบคำร้องทุกข์ (คร.7) เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และจะเชิญผู้เกี่ยวข้องเพื่อมาพิจารณา ซึ่งหากนายจ้างต้องจ่ายก็ต้องจ่าย อีกประการหนึ่งคือการเขียน คร.7 หากนายจ้างมีปัญหาเรื่องเงินไม่สามารถจ่ายเงินได้ การเขียนแบบ คร.7 ก็จะการันตีได้ว่า ลูกจ้างจะได้รับเงินสงเคราะห์ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะช่วยลดภาระให้กับผู้ใช้แรงงาน ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายเงินหรือค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง หลังจากนี้จะมีการประสานไปทางฝ่ายนายจ้าง เกี่ยวกับการนัดจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่ ซึ่งจะมีการประสานงานอีกครั้งหนึ่ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กลุ่มแรงงานสตรีหาทางช่วยเหลือผู้หญิงท้องแก่

 

 

ทางด้านน.ส.ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า สถานการณ์การเลิกจ้างที่เกิดขึ้นในพื้นที่สระบุรีครั้งนี้ เป็นการเลิกจ้างกลุ่มผู้หญิงทำงาน มีทั้งผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ มีลูกเล็กที่ต้องเรียน ส่วนงานประกันสังคมต้องเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาด้วย

 

 

              “สำนักงานประกันสังคมควรต้องมีแนวคิด ในการหามาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่เป็นผู้หญิง ที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ใช่แค่การได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเพียงอย่างเดียว เพราะช่วงที่ตั้งครรภ์จะหางานทำไม่ได้ต้องไปพบแพทย์ จนกว่าจะคลอดลูก และต้องให้นมลูกอีก 3 เดือน จะเอาอะไรมาเลี้ยงดูจุนเจือครอบครัว รัฐโดยสำนักงานประกันสังคมต้องหามาตรการมาช่วยเหลือในช่วงระยะเวลาดังกล่าว และยังมีเรื่องของการรายงานตัวทุกเดือน การต้องไปหางานเพื่อเข้าเงื่อนไขการได้รับสิทธิกรณีว่างงาน คนตั้งครรภ์จะทำอย่างไร” น.ส.ธนพรกล่าว

 

 

 

เศร้าใจนายจ้างให้คนงานป่วยเซ็นใบลาออก

 

 

น.ส.ธนพรกล่าวต่อว่า สิ่งที่รู้สึกแย่กับนายจ้างมากที่สุดคือ กรณีที่นายจ้างเปิดให้ลูกจ้างลาออกด้วยความสมัครใจ พร้อมข้อเสนอจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างร้อยละ 80 แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ที่แย่ที่สุดคือ กรณีลูกจ้างที่ป่วยเป็นมะเร็งรักษาตัวอยู่ที่บ้าน นายจ้างเดินทางเอาใบลาออกไปให้ลูกจ้างคนนี้เซ็นลาออก ปัญหาคือนายจ้างรู้อยู่แล้วว่าจะปิดกิจการ แต่ทำไมให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก ซึ่งทำให้ลูกจ้างต้องเสียสิทธิในการที่จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ และได้รับเงินกรณีว่างงานเพียงร้อยละ 30 ทั้งที่ควรได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานร้อยละ 50 ซึ่งรัฐต้องมีการตรวจสอบจริยธรรมของนายจ้างด้วยไม่ใช่โอนอ่อนว่านายจ้างไม่มีปัญญาจ่าย แบกรับภาระไม่ไหว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไม่เชื่อโรงงานขาดทุน

 

 

สำหรับประเด็นที่นายจ้างอ้างว่าขาดทุน กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีมีการของบดุลของบริษัท วีณาการ์เมนต์  จำกัด มาดูพบว่า ในปี 2553 มีกำไรจากการขายให้ลูกค้าต่างประเทศกว่า 50 ล้านบาท และขายภายในประเทศอีกเกือบ 20 ล้านบาท ในปี 2554 งบดุลขาดทุนกำไร 7 ล้านบาท แต่มีสินค้าในคลัง และวัตถุดิบรวมแล้วหลายสิบล้านบาท ซึ่งลูกจ้างเล่าให้ฟังว่า ช่วงก่อนปีใหม่นายจ้างยังมีการเร่งผลิตสินค้า และการเจรจาข้อตกลงสภาพการจ้างใหม่ นายจ้างก็ตกลงเซ็น เพื่อปรับสภาพ เพิ่มสวัสดิการการจ้างงานให้กับลูกจ้างเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555

 

 

            “ประเด็นการแก้ไขปัญหาหน่วยงานรัฐ โดยกระทรวงแรงงาน ต้องมีการตรวจสอบ การที่นายจ้างอ้างว่า ปิดกิจการเพราะการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทนั้นจริงหรือไม่ หรือประเด็นปัญหาจริง ๆ มาจากแนวคิดที่ว่าค่าจ้างเท่ากันอยู่แล้ว ที่สระบุรีมีองค์กรสหภาพแรงงานมาช่วยดูแลเรื่องสิทธิให้กับลูกจ้าง แต่อีกโรงงานไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่ต้องมีค่าขนส่งสินค้า และไม่ต้องมีสวัสดิการอะไรให้ และจริงแล้วยังไม่มีใครได้ยินเสียงจากนายจ้างว่า ปัญหาคืออะไรจึงปิดกิจการ และหน่วยงานรัฐเองพูดได้คำเดียวว่านายจ้างแย่ต้องปิด” น.ส.ธนพรวิจันทร์กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส.อ.ท.ชี้ไตรมาสน่า โรงงานเจ๊งเพิ่มแน่อีก 10 %

 

 

จากรายงานของกระทรวงแรงงานระบุว่า ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว ทำให้โรงงานซึ่งส่วนใหญ่ใช้แรงงานเข้มข้นในการผลิตสินค้า เช่น รองเท้า สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม มีปัญหาในการดำเนินธุรกิจต่อ จนต้องปิดกิจการแล้วหลายแห่ง โดยทยอยปิดกิจการไปแบบเงียบ ๆ ก่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศที่ระบุว่า โรงงานผลิตรองเท้าทนสู้การจ่ายค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว จนต้องปิดกิจการไปแล้วมากกว่า 30 แห่ง โดย จะเริ่มเห็นโรงงานปิดตัวลงและจะชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2 ประมาณ 5-10 เปอร์เซนต์ ของธุรกิจทั้งหมด

 

ขอบคุณภาพจากมติชน, ผู้จัดการ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: