ฝ่า‘คลื่นปฏิรูป’และมรสุมการเมืองไทย รัฐต้องไปให้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง

กานต์ ยืนยง 3 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 3176 ครั้ง

คือช่วงหลังวิกฤตการเมืองปี 2535 ช่วงนี้มีการจัดตั้งคณะปฏิรูปสองคณะอันได้แก่ (1) คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) โดยมี ศ.น.พ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน และ (2) คณะกรรมการปฏิรูปทางการเมือง (คปก.) โดยมี นายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน ผลผลิตของทั้งสองคณะนี้กล่าวได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

ในขณะที่ช่วงวิกฤตการเมืองปี 2549-จนถึงปัจจุบัน ช่วงนี้มีการจัดตั้งคณะปฏิรูปอีกสามคณะอันได้แก่ (1) คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.นนทบุรี ทำหน้าที่ประธาน (2) คณะกรรมการเพื่อศึกษาปัญหารากเหง้าของความขัดแย้ง ซึ่งมีคณะกรรมการอีกห้าคณะย่อยคือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน, คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน, คณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน, คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยมี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน , และ คณะทำงานปฏิรูปสื่อ โดยมี รศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ในขณะนั้น) เป็นประธาน และ (3) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน

จากข้อมูลข้างต้นนี้ เราคงพอจะสรุปว่าปัญหาการเมืองไทยในรอบยี่สิบปีมานี้ อยู่ในวงจรในลักษณะดังต่อไปนี้ กล่าวคือ เริ่มจาก ปัญหาการเมืองในระบบ -> การทำรัฐประหาร -> การร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะรัฐประหาร -> การโต้กลับจากการเมืองมวลชนบนท้องถนน -> การจัดตั้งคณะปฏิรูป -> การร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะปฏิรูป -> และย้อนกลับไปสู่ปัญหาการเมืองในระบบ

ดูท่าทางเราคงจะทำการปฏิรูปการเมืองอย่างเดียวไม่พอ สงสัยเห็นทีจะต้องปฏิรูปคณะปฏิรูปด้วยกระมัง จึงจะทำการให้การเมืองไทยหลุดจากวงจรที่เป็นปัญหานี้ออกไปได้

สภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์คงจะสร้างปัญหาเพิ่มต่อไปในวงจรดังกล่าว ด้วยการขาดความชอบธรรมจากการมีส่วนร่วมจากฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียตามที่ควรจะเป็น ในที่นี้อย่างน้อยเราก็ได้รับทราบว่า ตัวแทนจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลซึ่งอย่างน้อยประกอบไปด้วย พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ได้เข้าร่วมอยู่ในกระบวนการปฏิรูปนี้ นอกเหนือไปจากนี้ก็ยังน่าสงสัยว่าผลผลิตของสภาปฏิรูปดังกล่าว(ซึ่งน่าจะนำไปสู่ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการออกกฎหมายนิรโทษกรรม) จะเป็นตัวนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองครั้งต่อไปอีกหรือไม่

ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยสภาพที่ซับซ้อนและโครงสร้างที่ไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากทั้งภายในและภายนอกของสังคมไทยเอง ประกอบกับความไร้เสถียรภาพจากสภาพการณ์ในระดับโลก สังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในหลากหลายมิติพร้อมกัน อย่างน้อยก็ทั้งในมิติด้านการเมืองและโครงสร้างการปกครอง, มิติด้านเศรษฐกิจและการจัดสรรทรัพยากร, และมิติด้านอัตลักษณ์และวัฒนธรรม

ข้อสังเกตเหล่านี้ ผมไม่ได้เป็นผู้ค้นพบด้วยตนเอง แต่เป็นผลมาจากการเข้าร่วมโครงการร่างฉากทัศน์อนาคตของประเทศไทย โครงการนี้นอกเหนือจากการขับเคลื่อนจากภาคประชาสังคมซึ่งน่าจะถูกมองได้ว่าเป็นกลางทางการเมืองพอ ผู้ขับเคลื่อนไม่จำเป็นต้องมีบารมีที่คนทั้งสังคมจำต้องฟัง (ถึงมีในขณะนี้ก็คงหายากเต็มที ที่จะเป็นผู้ที่ไม่ถูกมองว่าเลือกข้างเลือกฝ่ายทางการเมือง) แต่มีเครือข่ายเพียงพอที่จะดึงกลุ่มคนที่เป็นตัวแทนจากผู้คนอันหลากหลายในสังคมที่มีความเห็นต่าง กระทั่งเผชิญหน้ากัน ทำการคัดเลือกเครื่องมือที่เหมาะสม ซึ่งสามารถสร้างสภาพแวดล้อมและความไว้เนื้อเชื่อใจให้มาทำงานร่วมกันได้

ด้วยกฎ Chatham House[2] ผมไม่สามารถบอกได้ว่าผู้เข้าร่วมในโครงการดังกล่าวมีใครบ้าง และไม่สามารถบอกได้ว่าใครพูดอะไรในที่ประชุม แต่ผมสามารถบอกภาพรวมของภาพที่กำลังจะกลายเป็นฉากทัศน์อนาคตของสังคมไทยได้ ความท้าทายทั้งสามมิติในสังคมไทยที่เป็นข้อสรุปจากโครงการดังกล่าว (โครงการกำลังเผยแพร่รายงานที่เป็นข้อสรุปของที่ประชุมนี้ต่อสาธารณะในเวลาอันใกล้นี้) สอดคล้องกับโครงการศึกษาที่ SIU ได้จัดทำมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 อย่างน่าประหลาด โครงการศึกษาดังกล่าวจะกลายมาเป็นหนังสือสามเล่มที่พูดถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทั้งสามด้านด้วยกันคือ (1) หนังสือเล่มแรก (ถังความคิด) ซึ่งพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งจำเป็นต้องสร้างให้สังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและต้องมีการแก้ไขปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น (2) หนังสือเล่มที่สอง (Transform Thailand) ซึ่งพูดถึงความจำเป็นในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในทศวรรษข้างหน้าของสังคมไทย และ (3) หนังสือเล่มที่สาม (Redefine Thailand) ซึ่งพูดถึงความจำเป็นในการปรับตัวด้านอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของสังคมไทย[3]

ในความเป็นจริง มีโครงการที่พยายามแก้ปัญหาโครงสร้างของสังคมไทยหลายโครงการด้วยกัน ผมเองก็ได้มีส่วนร่วมอยู่ในเวทีเหล่านั้นบ้างตามสมควร โครงการเหล่านี้มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ แต่ปัจจัยที่ทำให้ผลการศึกษาจากโครงการเหล่านั้นจะถูกกล่าวถึง นอกจากที่มาที่มีความชอบธรรมดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ผลการศึกษาเหล่านั้นจำเป็นต้องแตะโครงสร้างที่มีปัญหาของสังคมไทยด้วย อาทิเช่น การปฏิรูปสถาบันหลักในสังคมไทย เช่น สถาบันกษัตริย์ สถาบันกองทัพ และสถาบันตุลาการ เป็นต้น ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำและการกระจายทรัพยากร ตลอดจนกล่าวถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์เรื่องของ “ความเป็นไทย” ที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งในทางการเมืองส่วนกลาง และความรุนแรงในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย

ความจำเป็นในการแตะโครงสร้างที่มีปัญหาของสังคมไทย ที่หลายเรื่องอาจถูกมองว่าเป็นข้อเสนอการปฏิรูปอย่างถึงราก ก็เพราะความท้าทายในปัจจุบันมีความซับซ้อนอย่างมาก ทำให้โครงสร้างในปัจจุบันไม่อาจรองรับได้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมอีกต่อไป ที่สำคัญ ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในสามมิติไม่ได้เกิดขึ้นแยกจากกันเป็นเอกเทศต่างหาก แต่มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงและส่งผลต่อเนื่องถึงกันไปมา ดูได้จากวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤตที่โดยตัวมันเองมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง อาจบอกได้ว่าสังคมไทยกำลังมาถึงทางแพร่ง และทางเลือกที่สังคมไทยจะเลือกในการตอบสนองวิกฤตการณ์เหล่านี้ (ซึ่งในแต่ละทางเลือกล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับรากเหง้าความเป็นมาที่หยั่งลึกของสังคมไทย) จะเป็นตัวชี้ขาดที่กำหนดว่าต่อไป สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่และนำไปสู่คุณภาพในระดับที่สูงขึ้น หรือสังคมไทยยังคงจมปลักอยู่ในวงจรที่มีปัญหาและนำไปสู่ความรุนแรงครั้งใหม่ที่อาจถึงกับสั่นคลอนเสถียรภาพของสังคมไทย

อันที่จริง ผมควรจะบอกด้วยว่า นับแต่นี้ต่อไปกระบวนการปฏิรูปที่เกิดขึ้นไม่สามารถเป็นกระบวนการที่นำเสนอโดยการสั่งการ หรือเป็นข้อเสนอจากบนลงล่างดังที่เคยเป็นมาได้อีกต่อไป แต่จะเป็นกระบวนการปฏิรูปที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคประชาสังคมที่มีที่มาจากฐานรากของสังคม การที่ข้อเสนอจากกระบวนการปฏิรูปในลักษณะนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับการแพร่หลายและความกว้างขวางในการสร้างบทสนทนาต่อข้อเสนอในการปฏิรูปที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมอีกโสดหนึ่งด้วย



[1] ดูข้อมูล สารพัด'ปฏิรูป'แบบไทยๆ 20 ปี 5 คณะ..พายเรือในอ่าง? http://www.suthichaiyoon.com/home/details.php?NewsID=4444

[3] ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูบทสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่พูดถึงปัญหาทั้งสามมิติที่กลายมาเป็นหนังสือทั้งสามเล่มได้ที่นี่ http://www.siamintelligence.com/special-scoop/

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: