ที่นี่สะพานควาย...‘เฮียง้วน กิติศักดิ์’     ผู้นั่งมองเวลาและความเปลี่ยนแปลง

อุบลวรรณ กระปุกทอง โรงเรียนนักข่าว TCIJ 3 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 9339 ครั้ง

...แต่หากมองผ่านสายตาของคนที่ผูกพันและอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้แต่เก่าก่อน อาจพบว่า นี่คือช่วงเวลาขาลงของสะพานควายซึ่งกำลังโรยรา จนแทบไม่ต่างอะไรกับชายแก่ที่เคยผ่านวันวัยแห่งความรุ่งเรืองของชีวิตมาแล้ว

ยิ่งเมื่อหันหลังให้สี่แยกสะพานควาย แล้วมุ่งหน้าเดินเลาะริมถนนประดิพัทธ์ ก็จะพบกับรูปธรรมที่แสดงถึงความซบเซาของย่าน ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมเก่า ที่ไม่ได้อุดมไปด้วยนักท่องเที่ยวเช่นอดีต หรือร้านค้าดั้งเดิมที่ทยอยปิดตัว ที่เห็นยังเฟื่องฟูก็มีเพียงตลาดมืดของธุรกิจแลกเงิน ...แต่หากมองให้ดีก็จะพบว่า บนถนนประดิพัทธ์ยังมีร้านค้าร้านหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นนายเหนือเวลา แม้สภาพภายนอกจะถูกเคลือบไว้ด้วยความเก่า ทั้งของตัวตึกอาคารและป้ายชื่อร้าน ที่ใช้กันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ซึ่งขัดแย้งกับภายในร้านที่มีชายวัยสี่สิบคนหนึ่ง นั่งทำหน้าที่ทั้งเฝ้ามองและซ่อมแซมเวลาของหลายคนให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

แรกเริ่มธุรกิจนาฬิกา ในยุคอันรุ่งเรือง

กิติศักดิ์ เลียงสุนทรสิทธ์ หรือ เฮียง้วน ผู้สืบเชื้อสายช่างซ่อมนาฬิกา เล่าว่า พ่อเขาเริ่มต้นอาชีพช่างซ่อมนาฬิกา ตั้งแต่ก่อนปี 2510 จากการเป็นเด็กฝึกงานที่ร้านอะไหล่เก่าย่านเยาวราช แล้วอาศัยการเรียนรู้แบบครูพักลักจำจนมีวิชาติดตัว ก่อนจะย้ายมาเป็นช่างที่ร้านนาฬิกาของพี่ชายแถววงเวียนใหญ่ ครั้นเมื่อปี 2517-2518 ก็ย้ายไปเปิดร้านค้าและร้านรับซ่อมนาฬิกาของตัวเองที่สามแยกพระปะแดง แต่บริเวณนั้นเป็นชานเมือง ยังไม่มีความศิวิไลซ์มากนัก  ในปี 2524 พ่อของเขาจึงตัดสินใจย้ายร้านอีกครั้งมาอยู่ที่ย่านสะพานควาย ซึ่งเป็นย่านที่มีชื่อเสียงในเรื่องการเป็นแหล่งจำหน่ายนาฬิกา

            “สมัยก่อนใครจะซื้อนาฬิกาต้องมาที่ย่านสะพานควาย เท่าที่นับได้แถวนี้มีร้านนาฬิกาเกือบ 30 ร้าน”

ส่วนเฮียง้วนเริ่มเรียนรู้ทักษะการซ่อมมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ผ่านการรื้อนาฬิกาดีๆ จนพัง  ครั้นกว่าจะฝึกจนมีทักษะก็เข้าช่วงวัยรุ่นแล้ว แต่ก็ไม่ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นช่างซ่อมนาฬิกาเช่นผู้เป็นพ่อ เพราะช่วงต้นเขาได้หันเหไปเรียนเศรษฐศาสตร์ และทำงานเป็นพนักงานบริษัทหลักทรัพย์  แม้ภายในใจจะรู้ดีว่าวันหนึ่งเขาต้องเดินกลับมาสู่สายอาชีพนี้อย่างแน่นอน

“พ่อผมซ่อมนาฬิกาจนตาย” เมื่อพ่อจากไป เขาในฐานะลูกชายคนโตของตระกูล จึงต้องเข้ารับช่วงต่อกิจการ สำหรับเฮียง้วน เขามองว่าช่างซ่อมนาฬิกามีอยู่ 2 ประเภท คือ ซ่อมแล้วไปไม่รอดกับซ่อมแล้วไปรอด ซึ่งจะรอดหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ ที่ต้องประกอบไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ รู้จักสังเกตและใช้ความคิดในการแก้ไขปัญหา

             “ผมเก็บความรู้จากพ่อไม่ถึง 80 เปอร์เซนต์ แต่ก็ถือว่าไปรอด เพราะพ่อนี่ก็ถือว่ามีความรู้เต็มร้อย วงการนาฬิกายกให้เขาเป็นช่างซ่อมที่มีฝีมือหนึ่งในห้าของประเทศไทย ด้วยเขาสามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่าง นาฬิกาที่คนอื่นทำไม่ได้ แต่เขาทำได้ เช่น ต่อแกนนาฬิกาโบราณ ซึ่งงานพวกนี้ต้องมีที่สมาธิและความใจเย็น คนใจร้อนไม่มีสิทธิ์”

ปัจจุบันทักษะในการซ่อมนาฬิกาโบราณก็กลายเป็นทักษะพิเศษ ที่หาช่างทำได้ยากขึ้นทุกวัน เนื่องจากนาฬิกาโบราณมีความละเอียด และต้องใช้เวลาในการซ่อมนาน เฮียง้วนเชื่อว่า เหตุที่ช่างปัจจุบันไม่กระตือรือร้นที่จะฝึกซ่อมนั้น ก็ด้วยอะไหล่ในการซ่อมนาฬิกาโบราณนั้นหายาก ถ้าซ่อมแล้วสะดุดตรงที่ไม่มีอะไหล่ ก็เหมือนเสียเวลาเปล่า ต่างกับคนสมัยก่อนที่เขามีเวลามาก หากไม่มีอะไหล่เขาก็จะดัดแปลงวัสดุอื่น ๆ มาใช้เป็นอะไหล่แทน

ไม่เพียงการเป็นลูกชายช่างใหญ่นาฬิกาเท่านั้นที่ส่งเสริมให้เฮียง้วนสืบทอดกิจการของพ่อ แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนชอบเอาชนะ นั่นยิ่งทำให้เขาทำงานทุกวันอย่างมีความสุข

                “ผมเป็นคนประเภทชอบเอาชนะ ถ้าเป็นช่างบางคน ซ่อมไม่ได้เขาก็อาจจะคืนของให้ลูกค้าเลย แต่ถ้าผมยังทำไม่ได้ ก็จะจำจดอยู่กับนาฬิกาเรือนนั้น หาสาเหตุให้ได้ พอชนะมันได้ เราก็รู้สึกภูมิใจ ส่วนลูกค้าก็โชคดีไปด้วยที่จะได้นาฬิกากลับไปใช้”

จากปี 2541 ที่เฮียง้วนเข้ารับช่วงต่อกิจการอย่างเต็มตัว แม้จะเป็นนายตัวเอง แต่ด้วยความรับผิดชอบ บวกกับจิตสำนึกของคนค้าขาย ก็ทำให้เขาเลือกจะเปิดร้านทุกวันแบบไม่มีวันหยุด นอกจากมีธุระจำเป็น “เป็นหน้าที่ของพ่อค้าที่จะต้องรับผิดชอบต่อลูกค้า” เฮียง้วนว่าอย่างนั้น



สะพานควายกับการหายไปของนาฬิกา

           “อนึ่งยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองไร้ขีดจำกัดเริ่มกลืนกินย่านสะพานควาย ตลาดหาย ห้างขึ้นมาแทน ร้านค้าเก่าแก่หาย คอนโดมิเนียมขึ้นมาแทน ร้านค้าแผงลอยข้างถนนหาย มินิมาร์ทขึ้นมาแทน ค่าเช่าค่าที่ปรับราคาสูงขึ้นมาก จนทำให้คนตัวเล็กๆ อย่างเรา หากินได้แค่เพียง หาเงินเพื่อจ่ายค่าเช่าไปวัน ๆ ความเจริญไม่เคยหยุด แต่จะทำให้คนเล็ก ๆ อย่างเรานั้นหยุดหายใจ เนื่องจากค่าเช่าที่ราคาปรับตัวสูงมากตามความเจริญที่ได้มากลืนกิน อาณาจักรของผมกับคุณพ่อ ผมจึงตัดสินใจย้ายออกมาจากสะพานควาย ...”

นี่คือคำประกาศติดหน้าร้าน อธิบายถึงเหตุผลที่ช่างชัย ช่างซ่อมนาฬิกาฝีมือดีอีกคนหนึ่งของย่านสะพานควาย ตัดสินใจย้ายร้าน

จากอดีตที่เคยรุ่งเรือง ปัจจุบันร้านนาฬิกาที่ย่านสะพานควายเหลืออยู่เพียง 7 ร้านเท่านั้น หลายร้านที่มีอันต้องจากย่านนี้ไป ก็คงเกิดขึ้นด้วยหลายเหตุผล ทั้งย้ายไปเพื่อหาแหล่งลงทุนใหม่เช่นเดียวกับช่างชัย หรือบ้างเกิดวิกฤตทางการเงิน ไม่ก็หันไปประกอบธุรกิจอย่างอื่นแทน

                  “ส่วนใหญ่ร้านที่หายไปคือ ร้านที่ไม่มีช่างซ่อมของตัวเอง แต่ต้องจ้างช่างมารับงานซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาเรื่องรายได้และจรรยาบรรณของช่าง ต่างกับที่เจ้าของร้านเป็นช่างซ่อมโดยตรง ก็มักจะทำงานอย่างละเอียด มีจรรยาบรรณ เพื่อรักษาชื่อเสียง เขาถึงอยู่ได้”

                  “ยิ่งภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ รายได้หลักเกิดจากการบริการ การซ่อม มากกว่าการขาย ถ้ามีจรรยาบรรณกับตัวเอง ลูกค้าก็จะไม่หนีไปไหน การทำธุรกิจนาฬิกา ไม่ใช่ทำให้รวยนะ แต่ทำให้ไม่ลำบาก ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าไม่มีจรรยาบรรณกับตัวเอง ลูกค้าก็หนี” เฮียง้วนให้ความเห็น

นอกจากนั้นเฮียง้วนยังย้อนอดีตให้ฟังว่า สมัยก่อนย่านสะพานควายจะมีกลุ่มแขกจากประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นนักท่องเที่ยวขาประจำ ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของย่านนี้ให้ยิ่งคึกคัก แต่หลังเกิดคดีเพชรซาอุฯ ซึ่งเป็นที่โจทย์จันและสร้างความบาดหมางระหว่างประเทศ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จึงทยอยหายหน้าไป

ส่วนการเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพอย่างการสร้างสะพานข้ามแยกซึ่งเป็นสะพานเหล็กที่เน้นความรวดเร็วในการก่อสร้าง เพื่อแก้ปัญหาการจราจรนั้น (หลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส ก็รื้อสะพานนี้ออก) แม้จะมีหลายคนวิเคราะห์ว่า สะพานข้ามแยกทำให้ผู้คนขับรถผ่านเลยแยกนี้ไปโดยไม่ได้จอดแวะ รวมถึงคนบางกลุ่มที่เชื่อว่า สะพานที่สร้างขึ้นนั้นได้เปลี่ยนฮวงจุ้ยของพื้นที่ เป็นเสมือนการตัดลำตัวมังกร ทำให้ย่านการค้าที่เคยรุ่งเรืองกลับซบเซา แต่เฮียง้วนกลับไม่ได้เห็นด้วยกับทั้งสองกระแส แม้สะพานควายจะไม่ได้คึกคักเช่นอดีต นั่นก็ไม่ได้ลบความเชื่อมั่นของเขาที่ว่า ร้านค้าที่ยังอยู่ได้ คือร้านที่ลูกค้าไว้วางใจ มีความน่าเชื่อถือ มีจรรยาบรรณ หากคิดเอาแต่ผลประโยชน์ก็อาจต้องจบตัวเร็ว

            “โซนสะพานควาย คนรุ่นใหม่เขาไม่มาเดินหรอก ถ้าเขาอยากได้นาฬิกาสักเรือนหรืออยากซ่อมนาฬิกา เขาก็เลือกไปเดินตามห้างมากกว่า แต่สะพานควายที่อยู่ได้วันนี้ เกิดจากความเชื่อถือของลูกค้าเดิมที่เป็นผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งเขาเจาะจงมาซ่อมนาฬิกาที่ร้านเก่าของเขา ในส่วนลูกค้าซึ่งผ่านทางมาอาจมีเพียง 20 เปอร์เซนต์ เท่านั้น”

เมื่อเวลายังมี นาฬิกายังอยู่ ...ร้านซ่อมย่อมไม่ตาย

            “ผมเกิดมาในช่วงที่นาฬิกามีสถานะเป็นเครื่องประดับแล้ว ใครมีนาฬิกาถือว่าดูทันสมัย ดูเด่น  แต่เดี๋ยวนี้บางคนบอกว่านาฬิกาไม่จำเป็น เนื่องจากมีโทรศัพท์มือถือที่บอกเวลาได้ แต่ผมมองว่านาฬิกายังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะแค่สะบัดข้อมือคุณก็ดูเวลาได้”

ถึงนาฬิกาข้อมือดูเหมือนจะลดความสำคัญลงไป ในยุคที่โทรศัพท์มือถือเป็นมากกว่าปัจจัยที่ 5 แต่ในทัศนะของเฮียง้วน เขามองว่ามือถือเป็นเพียงของใช้ในระดับปัจเจก ขณะที่นาฬิกาแขวนหรือนาฬิกาปลุกนั้นเป็นของใช้ส่วนรวม ที่แทบทุกบ้านยังคงต้องมี

นอกจากโทรศัพท์มือถือจะเป็นคู่แข่งสำคัญ ก็ยังมีอีกกระแสหนึ่งรุกเข้าโจมตีร้านนาฬิกา นั่นก็คือ การผลิตนาฬิการาคาถูกจำนวนมากของโรงงานอุตสาหกรรมจากประเทศจีน

            “ถึงสินค้าเหล่านี้จะสวย แต่ก็เป็นการสวยแต่รูป คุณภาพข้างในไม่ดี เมื่อซื้อมาแล้วมีปัญหา คนส่วนใหญ่ก็จะไม่กลับไม่ซื้ออีก เป็นเหมือนการจ่ายเงินค่าสินค้าเพื่อให้รู้ว่ามันไม่ดี มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ต้องการสินค้าฉาบฉวย เปลี่ยนได้บ่อยๆ ตามแฟชั่น”

เฮียง้วนจึงไม่ได้มองว่านาฬิการาคาถูกจากจีนคือ คู่แข่งทางธุรกิจที่สำคัญ อาจเพราะรู้ดีว่า ยังมีกลุ่มคนที่มีความหมายกับร้านซ่อมนาฬิกาของเขา นั่นคือคนที่มีความผูกพันกับนาฬิกาสักเรือนหนึ่ง แม้จะต่างเหตุผลต่างที่มา แต่หากนาฬิกาเรือนนั้นมีความหมายและคุณค่าในทางจิตใจ ไม่ว่าเสียมาก เสียน้อย เจ้าของก็ย่อมยินดีพร้อมจะซ่อมเพื่อให้นาฬิกาเรือนนั้นได้กลับมีชีวิต และทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง

เช่นเดียวกับการทำหน้าที่เป็นผู้ซ่อมแซมเวลาที่เดินช้าไปบ้าง หยุดเดินไปบ้างของเฮียง้วน ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากความรักในอาชีพ

            “การซ่อมนาฬิกาเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ถ้าเรารักการซ่อม มันก็ยิ่งสนุก และทุกครั้งที่ลงมือซ่อมนั่นก็คือ แบบทดสอบที่ท้าทายความสามารถ”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: