‘พงศ์พรหม ยามะรัต’กลุ่มBigTree แนะพัฒนากรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 3 มี.ค. 2556


 

 

การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ในพื้นที่มักกะสัน ภาคประชาชนไม่ได้เรียกร้องให้เป็นสวนสาธารณะเพียงอย่างเดียว แต่ความหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการ ทำให้พื้นที่นั้นสร้างรายได้ และเป็นพื้นที่ของคนกรุงเทพฯทั้ง 10 ล้านคนไม่ใช่คนเพียงกลุ่มเดียว และแน่นอน หากกรุงเทพมหานครยอมรับแนวคิดเช่นนี้ มักกะสันจะเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาแนวนี้ และอีกหลายพื้นที่จะตามมา

 

ศูนย์ข่าว TCIJ  สัมภาษณ์ พงศ์พรหม ยามะรัต จากกลุ่ม Big Tree ถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่มักกะสัน รวมไปถึงนโยบายของผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าเป็นจริงได้หรือไม่ อย่างไร

 

 

 

 

ผลักดันพื้นที่มักกะสันให้เป็นสวนสาธารณะ

 

 

ตอนนี้พยายามผลักดันให้ไปทั้งสองอย่างพร้อมกัน คือต้องตอบโจทย์ของฝ่ายการเมือง ว่าหากคุณต้องการเงินเท่านี้สมมติว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี แทนที่จะต้องสร้างตึกให้เต็มพื้นที่แต่แบ่งมาทำอย่างอื่น และสามารถตอบโจทย์การเงินได้ด้วย อีกส่วนหนึ่งขอมาทำเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ ผมว่าโมเดลแบบนี้ค่อนข้างน่าสนใจ มาร่วมกันหาวิธีที่หาเงินได้ด้วยและเป็นประโยชน์ด้วย ซึ่งเราไม่เห็นด้วยกับการสร้างตึกให้เต็มพื้นที่ตั้งแต่แรก คนในเมืองจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย วันนี้เด็กเข้าแต่ห้าง และตามมาด้วยปัญหาอาชญากรรม กรุงเทพฯมีพื้นที่สาธารณะเพื่อพัฒนาคนในเมืองน้อยมาก

 

นอกจากกลุ่มบิ๊กทรีแล้ว วันนี้ยังมีกลุ่มคนรักมักกะสันที่ก่อตั้งขึ้นมาร่วมทำงานอยู่ด้วยกัน ตอนนี้กลุ่มนี้ไปไกลกว่าพวกเรามาก ลงพื้นที่หาข้อมูล มักกะสันเป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะถามไปถึงผู้บริหารบ้านเมืองว่า มองกรุงเทพฯคืออะไร เพราะการที่จะสร้างคอมเพล็กซ์เพราะทุกคนจะอ้างปริมาณเงิน ผมถามต่อว่าปริมาณเงินที่จะเกิดขึ้นถูกสร้างโดยอะไร ผู้บริหารเมืองอื่น ๆ เขาตอบได้ ผู้บริหารกรุงเทพมหานครตอบได้หรือไม่ เงินหรือสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะคน  เราต้องสร้างคนให้เกิดขึ้นมาให้ได้ก่อน ถามว่าในเมืองกรุงเทพฯทุกวันนี้มีสถานที่สร้างคนอยู่กี่แห่ง

 

ถ้าในต่างประเทศอย่างเช่น ชิคาโก สหรัฐอเมริกา วันเสาร์- อาทิตย์เราจะเห็นคนไปที่ต่าง ๆ ทั่วเมือง ห้างกลายเป็นที่ที่คนไม่เต็ม ชิคาโกจะมีพิพิธภัณฑ์ อะควาเรี่ยม ต่าง ๆ มากมาย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กเกิดจินตนาการ ความรู้  มีห้องสมุดสาธารณะที่ดี ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเปิด 24 ชั่วโมง  คนที่อยู่ในเมืองแบบนี้จะมีคุณภาพ และถ้าให้คนเหล่านี้ไปสร้างเมือง 4-5 ปีเงินจะกลับมาเป็นแสนล้าน

 

แต่ถ้าเรายังพยายามที่จะสร้างธุรกิจ เศรษฐกิจจากสิ่งก่อสร้างอยู่ เราไปต่อไม่ได้ การสร้างธุรกิจจากสิ่งก่อสร้าง ตัวอย่างคือ เมืองดีทรอยต์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ผมพยายามเอาเมืองในประเทศเดียวกันมาเปรียบเทียบ ดีทรอยต์พยายามที่จะสร้างโรงงาน สร้างตึกสูง ๆ ใน 40 ปีที่ผ่านมา คนหนีออกจากเมืองดีทรอยต์ไปแล้วเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากร สถิติอาชญากรรมพุ่งสูงขึ้น การยิงกันในเมืองนี้เป็นเรื่องปกติ นี่คือตัวอย่างที่สร้างเมืองด้วยวัตถุและสิ่งก่อสร้าง

 

การสร้างเมืองต้องผสมกันระหว่างการสร้างวัตถุและการสร้างเนื้อหาข้างใน การสร้างเนื้อหาข้างในต้องเริ่มจากคน เราต้องยอมรับว่าการใช้พื้นที่เมืองในปัจจุบันของกรุงเทพมหานครเละมาก มีแต่ห้างสรรพสินค้า  ขายของอย่างเดียว ไม่สร้างจินตนาการให้คน ถ้าให้นึกถึงพิพิธภัณฑ์เราจะนึกไม่ออก นึกถึงแต่เซ็นทรัล สยามพารากอน กันหมด

 

 

 

ผมคิดว่าวันนี้ สังคมต้องลุกขึ้นมาเรียกร้อง ถ้านักการเมืองและภาครัฐยังต้องการเงินอยู่เดี๋ยวเราจะทำให้ เงินเท่าที่ท่านต้องการ แต่เรามีวิธีคิดและนวัตกรรมมากกว่า ให้ท่านได้เงินเท่าเดิม แต่เราขอพื้นที่ครึ่งหนึ่งไปเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้คนในเมือง 10 กว่าล้านคนให้เข้ามามีส่วนร่วม มีโอกาสในการใช้

 

อย่างที่สอง ต้องมีพิพิธภัณฑ์ในการต่อยอดทางปัญญาให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมได้ คือเหมือนกับเป็นโรงเรียนแห่งใหม่ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ อันนี้เป็นการสร้างความคิดทำให้คนไปสร้างรายได้ต่อ อันนี้น่าจะเป็นวิธีคิดในการบริหารการเมืองยุคใหม่แล้ว ในขณะที่ปีนี้ปี 2013 แล้วแต่เราจะไปเดินตามแบบเมืองดีทรอยต์เมื่อปี 1950 ที่ยอมรับว่าตัวเองเดินผิดทาง  ซึ่งเมืองไทยกำลังจะเดินตาม

 

 

โมเดลของมักกะสันเป็นอย่างไร

 

เริ่มจากคิดว่าจะใช้นวัตกรรมอะไรในพื้นที่ สร้างโรงแรม ศูนย์ค้าส่ง ค้าปลีก ไม่ใช่นวัตกรรม ไม่ต้องคนฉลาดก็คิดออก การที่คุณจะบริหารพื้นที่ขนาดนั้นเพื่อต้องการเงิน 7 หมื่นล้าน หาคนเก่งๆมาคิด หานวัตกรรมมาใช้ แบ่งพื้นที่ตรงนี้ให้เล็กลง  ให้คนที่คิดเป็นใช้พื้นที่ไม่ถึงครึ่งหาเงินให้ได้เท่าที่คุณต้องการ

 

ส่วนพื้นที่ที่เหลือขอภาคประชาชนไปจัดสรรทำสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ลองคิดดูดี ๆ ถ้าตรงนี้เกิดเป็นนวัตกรรมในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบใหม่ขึ้นมา มีพิพิธภัณฑ์ชั้นเยี่ยมของเอเชีย คนทั่วโลกต้องมาตรงนี้ สวนสาธารณะชั้นเยี่ยม ไม่ใช่แค่ปลูกหญ้า ปลูกต้นไม้ ผมพูดถึงโบทานิกา การ์เด็น (BOTANICA GARDEN) ผมขอใช้คำว่าพื้นที่ทั้งพื้นที่มักกะสันในอนาคตคนทั่วโลกต้องมา ทำไมเราไม่หาโอกาสจะเอาชนะสิงคโปร์  ผมพูดถึงรายได้เป็นแสนล้าน วันนี้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดจึงจะสามารถสร้างได้

 

 

พื้นที่อื่นๆ ของกทม.ทำแบบมักกะสันได้ไหม

 

 

มีผู้สมัครผู้ว่าฯ 2-3 ท่าน เคยมาขอหารือ ผมเคยเสนอโมเดลที่ฝั่งธนบุรี ผมคิดถึงเวนิซ ใช้รูปแบบเวนิซที่เมืองไทยเคยเป็นในสมัยก่อนดึงกลับมา ฟื้นฟูใหม่ มูลค่าพื้นที่จะขึ้น คนฝั่งธนจะรวยทันที  หรือคลองสาน เป็นพื้นที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม การจัดการพื้นที่แต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน ผมเคยไปดูแถวหนองจอก ทำเป็นธุรกิจสะอาดที่มูลค่าสูง ดึงดูดนักลงทุน กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแท้

 

 

นโยบายสิ่งแวดล้อมของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.

 

 

ผู้สมัครหลายท่าน พูดเรื่องพื้นที่สีเขียว เช่น เมืองสีเขียว หรือจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวเท่านี้  แต่ในมุมของผม ผมไม่เห็นว่าเป็นมุมสีเขียวและเป็นการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเลย ซึ่งที่ผมบอกว่าไม่มีเพราะว่า ในความเห็นของผมการนำประเด็นสิ่งแวดล้อมมาบวกกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน คืออะไร กรุงเทพมหานครในอีก 10 ปีข้างหน้า ท่านมองว่ามันคืออะไร  สิ่งที่ต้องทำย้อนหลังกลับมาเป็นอย่างไร ซึ่งผมหมายถึงนโยบาย

แต่นโยบายที่เสนอ เหมือนหยิบแต่ละก้อน แต่ละชิ้นมา ท่านหนึ่งพูดในเรื่องการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ จะมีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น จะมีทางจักรยานเพิ่มขึ้น ผมมองว่าเหมือนเราเป็นโรคเบาหวานแล้วเริ่มเป็นแผล  หมออีกคนให้ยาแก้ปวด อีกคนให้ยาแดง แต่ไม่ได้คิดไปถึงการแก้ปัญหาแบบองค์รวมว่า ต้องตั้งเป้าก่อนเลยว่าต้องรักษาคนนี้ให้หายจากเบาหวานให้ได้ เมื่อตั้งเป้าแล้ววิธีทำคืออะไร มันจะน่าสนใจกว่า

เพราะฉะนั้น วันนี้เราคงต้องมองว่า ปัญหาคืออะไรแล้วอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะคืออะไรในเอเชีย ก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า การที่จะทำให้เมืองเมืองนี้ขยับต่อไปข้างหน้าได้ คน 10 กว่าล้านคน อยากอยู่เมืองนี้และมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีคุณภาพ คนสิงคโปร์ คนอเมริกัน คนอินโดนีเซีย เมื่อมาอยู่เมืองไทยเขาต้องการเมืองอย่างไร เขาจะสามารถมีชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ดึงดูดการลงทุนได้  ซึ่งผู้สมัครแต่ละท่านต้องมองย้อนกลับมาว่า ถ้าจะทำให้ถึงเป้านั้น วันนี้ต้องทำอะไรบ้าง แบบนี้ถึงจะเป็นนโยบาย

 

ผมยกตัวอย่าง สมมติว่าผมจะสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผมมีนโยบายว่า จะเพิ่มสวนพื้นที่สวนสาธารณะ 100 ไร่ ผมมีคำถามว่า 100 ไร่ มากหรือน้อย สังเกตไหมว่าไม่มีใครรู้ที่จริงแล้วต้องมานั่งคิดว่าอัตราส่วนที่เหมาะสมคืออะไร และรายละเอียดที่ต้องคิดต่อไปคือ 100 ไร่ ภายในกี่ปีและต้องทำอย่างไร จึงต้องขอเรียนตามตรงว่าวันนี้ผมยังมองไม่เห็นนโยบายสีเขียว หรือนโยบายการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน จากผู้สมัครท่านใดเลย

 

 

อำนาจของผู้ว่าฯกทม.มีจำกัด

 

 

มี 2 เรื่องคือทำได้กับทำไม่ได้  เรื่องที่ทำได้ทันทีมีค่อนข้างมาก  อย่างเช่น เรื่องง่ายๆเลยเพิ่มพื้นที่สีเขียว เอาแผนที่ของ 50 เขตมานั่งกางดู ผมเองใช้ทุนส่วนตัวบินไปดูงานที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพราะเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างรวดเร็วมาก ภายในเวลา 10 ปี จากปี 1999 ถึงปัจจุบัน เขาสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้หลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ทีนี้ สิ่งเหล่านี้อยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯกทม.อยู่แล้วคือ หาพื้นที่ในแต่ละเขตและตั้งตัวชี้วัดขึ้น ให้แต่ละเขตทำการบ้านส่งกลับมาว่า แต่ละเขตมีพื้นที่สาธารณะที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวเท่าไหร่ ง่าย ๆ เลย เช่นการเพิ่มความถี่ของต้นไม้ข้างถนน แค่นี้เพิ่มพื้นที่สีเขียวได้แล้ว และอยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯด้วย  รถของกทม.ที่ไปตัดต้นไม้ ประสานกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ตัดต้นไม้ให้มันถูกวิธีกว่านี้ ซึ่งเมืองอื่นๆที่มีสายไฟฟ้าเหมือนกรุงเทพฯ แต่ทำไมต้นไม้ของเขาโตได้ ทุกวันนี้ยังพูดกันเสมอว่า ที่ต้องตัดต้นไม้ให้โกร๋นเพราะไปชนสายไฟ  คำถามคือสายไฟเหมือนกันแต่ทำไมเมืองอื่นเขาถึงมีวิธีตัด

 

 

 

เราเคยทำแผนเสนอกรุงเทพมหานครไปแล้ว หลังจากที่ไปดูงานที่เซี่ยงไฮ้ เขาจะมีวิธีการตัดกิ่งให้มันเลื้อยหลบสายไฟ จนทะลุและขึ้นไปโตอยู่ข้างบน ซึ่งไม่ต้องไปดูเมืองที่ดีกว่าเรา แค่ไซง่อน ที่เวียดนาม ต้นไม้ที่ปลูกยุคเดียวกับเรา เขาพูดชัดเจนว่า ต้นไม้นี้ที่ปลูกพร้อมกรุงเทพมหานคร วันนี้สูงทะลุสายไฟไปโตอยู่ข้างบน สวยงาม ดังนั้นวิธีตัดกิ่งพวกนี้มันมีวิธีของเขาอยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร เพียงแต่ว่าภาครัฐต้องเอาใจใส่ อันนี้ผมพูดในส่วนของอำนาจหน้าที่

 

อีกอันหนึ่งคือ นอกเหนืออำนาจหน้าที่ ที่ผมเคยพูดไปว่าระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร มันเก่ามาก ซึ่งไม่ใช่แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว เรื่องปากท้อง การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาการศึกษา การดึงดูดการลงทุน วันนี้ต้องคิดใหม่ ทำใหม่หมด ดังนั้นระเบียบบริหารราชการ จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมต้องขอฝากไปยังผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 3 มีนาคมนี้ว่า ท่านต้องรีบแก้ระเบียบเหล่านี้ เพื่อจะได้ขยายอำนาจหน้าที่ให้ทันกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานคร เพราะอย่าลืมว่า หลังปี 2015  คนที่เดินในกรุงเทพฯ ไม่ใช่คนเดิมๆแล้ว เป็นคนจีน คนสิงคโปร์ คนมุสลิม จะมีความหลากหลายมากขึ้น และคนเหล่านี้จะนำมาซึ่งโอกาสในการลงทุน ดังนั้นกรุงเทพมหานครจะต้องเป็นเมืองที่สร้างพื้นฐานโอกาสให้กับคนเหล่านี้  รวมถึงคนกรุงเทพฯ 10 กว่าล้านคนให้เขาได้มีโอกาสและทำให้เมืองโตไปข้างหน้าได้  ดังนั้นเราต้องการระเบียบตัวใหม่

 

ผมขอกลับมาที่พื้นฐานก่อนว่าผู้สมัครแต่ละคนมีความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนแค่ไหน ถ้าเป็นคนซีกเดียวกับรัฐบาลและมาเล่นการเมือง อาสามาเป็นผู้ว่าฯกทม. ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงคงไม่ได้เกิดขึ้น  ตรงนี้ผมจะมองที่ตัวโปรดักส์ก่อน ถ้าโปรดักส์ดี การจัดการมันเกิดขึ้นได้  สิ่งที่สำคัญคือวิสัยทัศน์ คือการกล้าทำและกล้าจะเปลี่ยน และความหวังดีจริงๆต่อคนกรุงเทพมหานคร ที่ผมอยากจะเห็น

 

ในศักยภาพการบริหารงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผมเชื่อว่ายังมีอะไรอีกหลายอย่างให้ผู้ว่าฯได้แสดงฝีมือ ผมขอมาท้าความสามารถผู้ว่าฯ ในกรอบอำนาจของท่านที่ไม่ต้องยุ่งกับรัฐบาลท่านสามารถทำได้หรือไม่

 

ข้อต่อมา ในสิ่งที่เลยจากอำนาจผู้ว่าฯ ผมคิดว่าวันนี้ภาคประชาชนมีพลังแรง ถ้าท่านจะทำในสิ่งที่ถูกต้องและท่านไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล ภาคประชาชนจะกดดันรัฐบาลให้ท่านเอง ท่านไม่ต้องกลัวเรื่องพวกนี้ เพราะฉะนั้นรอยต่อ หรือไม่ต่ออย่าไปสน สนที่ว่าตัวโปรดักส์ ตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ จะมีคุณสมบัติ วิสัยทัศน์ ความกล้าและกึ๋นขนาดไหนมากกว่า

 

ข้อเสนอกับผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม.

 

 

ถ้าในภาพรวม ผมมีภาพชัดว่าผู้สมัครท่านต้องแสดงให้เห็นก่อนว่า การที่จะปู 4 ปีซึ่งเป็น 4 ปีที่สำคัญมากๆ เพราะจะส่งผลกระทบในอีก 10 ปีข้างหน้า ขอฝากคำถามคือในอีก 10 ปีข้างหน้า ท่านมองกรุงเทพฯคืออะไร และกรุงเทพฯจะหมายถึงอะไรในความหมายของคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ

 

ในคำถามที่ 2 ที่ผมบอกว่าคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ผมหมายถึงคนที่อยากอยู่ในกรุงเทพฯด้วยนะ ไม่ใช่คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ เพราะมีคนหลากหลายที่อยู่ในกรุงเทพฯ ให้เขารู้สึกว่าเมืองนี้มันคืออะไร มันคือเมืองที่อยากจะให้ลูกเติบโตมาหรือเปล่า มันคือเมืองที่เดินแล้วปลอดภัยหรือเปล่า ตื่นแล้วอยากออกไปข้างนอก อยากออกไปทำงาน อยากออกมาวิ่งหรืเปล่า  หรือเป็นเมืองที่ต้องทำงานเพราะสภาวะกดดัน หรือปั่นจักรยานแล้วจะโดนชนหรือเปล่า หรือเดินอยู่แล้วโดนใครตีหัว หรือเป็นเมืองที่หาโอกาสในชีวิตไม่ได้ เป็นคำถามที่ผู้สมัครต้องตอบให้ได้ ในอีก 4 ปีข้างหน้า คืออนาคตที่จะกำหนดกรุงเทพมหานคร 

 

ขอบคุณภาพจาก นิตยสารสารคดี และ Google

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: