ตู้ทิ้งเด็กในต่างแดน

23 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 4734 ครั้ง


 

โดยลักษณะทั่วไปของตู้ทิ้งเด็กนี้มีความคล้ายคลึงกันในแต่ละประเทศ เป็นตู้ที่มีฝาเปิดปิด ภายในเป็นห้องควบคุมอุณหภูมิและสะอาด ผู้ที่นำมาทิ้งจะเปิดฝาแล้วนำเด็กวางไว้บนที่นอนที่จัดไว้ให้ ปิดฝาแล้วเดินจากไปได้เลย จากนั้นหลายนาทีจะมีเสียงสัญญาณดังขึ้นที่ห้องของเจ้าหน้าที่เพื่อให้นำเด็กไปดูแลต่อ บางประเทศอาจมีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ แต่ไม่สามารถเห็นหน้าผู้ทิ้งได้ หรือมีการวางข้อความถึงการขอเด็กคืน โดยข้อมูลของพ่อแม่หรือผู้ที่นำเด็กมาทิ้งจะไม่มีการบันทึกและเปิดเผย ดังนั้นเด็กจะไม่ทราบว่าพ่อแม่ที่แท้จริงของตนนั้นเป็นใคร

 

ขณะที่คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ โดยเชื่อว่าเด็กทุกคนมิสิทธิที่จะทราบว่าพ่อและแม่ของตนเป็นใคร

 

มาเรีย เฮอร์ซอก นักจิตวิทยาเด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ กล่าวว่า ทางเลือกที่ดีกว่า ทั้งในอดีตและปัจจุบันก็คือ การเสริมสร้างความเข้าใจและการช่วยเหลือให้ผู้เป็นแม่ก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ กลุ่มผู้ที่สร้างตู้ทิ้งเด็ก กำลังสื่อสิ่งที่ผิดๆให้แก่ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ว่าพวกเธอมีสิทธิที่จะปกปิดการตั้งท้อง ปกปิดการคลอดบุตรในสถานการณ์ไม่มีการควบคุมใดๆ และท้ายสุดคือการทอดทิ้งทารก

 

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่นำแนวความคิดนี้ไปใช้ อาทิ

 

ประเทศเกาหลีใต้

บาทหลวง ลี จอง รัก ซึ่งประจำอยู่ที่โบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งในย่านนันก๊อก ถิ่นอาศัยของชนชั้นแรงงาน ที่ยากลำบากในกรุงโซล เขาพยายามช่วยเหลือเด็กทารกที่ถูกพ่อแม่นำมาทิ้ง ด้วยการทำกล่องติดที่ข้างโบสถ์ เรียกว่า "กล่องทารก"  ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับตู้จดหมาย โดยเมื่อเสียงกระดิ่งดังขึ้นเมื่อใด นั่นก็หมายความว่า มีเด็กทารกถูกนำมาทิ้งไว้ในกล่องนี้อีกราย ปรากฏว่า เจตนาดีของบาทหลวงลี กลับทำให้มีเด็กทารกถูกนำมาทิ้งเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม บาทหลวงท่านนี้ระบุว่า นอกจากการไร้ความรับผิดชอบของคนเป็นพ่อแม่แล้ว กฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยการรับบุตรบุญธรรม ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ก็มีส่วนทำให้เด็กทารกถูกนำมาทิ้งกันมากขึ้น โดยกฎหมายฉบับใหม่ต้องการสร้างความโปร่งใสในขั้นตอนการรับอุปการะเด็ก จึงบังคับให้พ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ต้องแจ้งชื่อเสียงเรียงนามของตน เพื่อบันทึกเป็นหลักฐาน แต่ในความเป็นจริงนั้น พ่อแม่เหล่านี้ ไม่อยากเปิดเผยตัวตน

 

บาทหลวงลีเปิด "กล่องทารก" เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2552 จุดประสงค์ก็เพื่อสร้างสถานที่ที่ปลอดภัยในการทิ้ง มิได้สนับสนุนให้มีการทิ้งลูกแต่อย่างใด แต่ปรากฏว่า กลับมีเด็กถูกนำมาทิ้งในกล่องนี้เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยเดือนละ 5 คน เป็น 10 คนในเดือนสิงหาคม 2555 และ 14 คนในเดือนกันยายน 2555 ทำให้บาทหลวงลีถูกหลายคนวิจารณ์ว่า การเปิดกล่องทารกเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้แม่มาลูกมาทิ้งมากขึ้น สำหรับทารกที่ถูกนำมาทิ้งเหล่านี้ทางโบสถ์จะขึ้นทะเบียนกับรัฐบาล และมอบให้สถานสงเคราะห์เลี้ยงดูต่อไป

 

ประเทศญี่ปุ่น

โรงพยาบาลจิเคอิ เมืองคุมาโมโตะ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียว ประมาณ 900 กิโลเมตร และเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของโบสถ์คาทอลิกได้ผลิตตู้เบบี้ แฮช (Baby Hatch) หรือตู้รับทารก (ถูกทิ้ง) แห่งแรกในญี่ปุ่น ทำขึ้นที่กำแพงด้านนอกบริเวณชั้น 1

 

ระบบการทำงานของตู้เบบี้ แฮช  ย่อๆ ว่าภายในตู้จะมีทั้งเตียง อุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น สภาพอากาศภายในมีการรักษาระดับอุณหภูมิให้คงที่อยู่ที่ 36 องศา ตลอดเวลา มีระบบสัญญาณส่งเสียงไปที่บริเวณแผนกเด็กอ่อน ชั้น 2 ของโรงพยาบาล

 

พยาบาลจะมองเห็นทารกจากกล้องทีวีวงจรปิด แต่จะไม่เห็นใบหน้าของคนที่เอาเด็กมาหย่อนไว้ อีกทั้ง ยังปกป้องผู้นำทางรกมาทิ้งโดยทำเป็นกระจกทึบบริเวณประตู้หน้าต่างที่ใกล้กับตู้ทิ้ง เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เห็นหน้าของคนที่เอาเด็กมาใส่ไว้  จากนั้นเจ้าหน้าที่จะดูแลทารกไว้ที่โรงพยาบาลสักระยะ เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อเด็กที่อาจเปลี่ยนใจ อยากกลับมารับลูกคืน สามารถมารับลูกกลับคืนไปได้ แต่ถ้าหากเลยจากระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ก็จะส่งต่อทารกไปไว้ตามสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าหรือบ้านพักเด็กอ่อนต่างๆ เป็นลำดับต่อไป

 

กลุ่มผู้สนับสนุนในญี่ปุ่น มองว่าเป็นช่องทางช่วยกระตุ้นอัตราการเกิดขึ้นมาทดแทนประชากรสูงอายุที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ  การรักษาชีวิตเด็กให้อยู่รอดปลอดภัย การลดปัญหาการทำแท้ง หรือการนำทารกไปปล่อยทิ้งให้ตายตั้งแต่แบเบาะ

 

ฝ่ายที่คัดค้าน ก็มองว่านี่อาจจะยิ่งทำให้วัยรุ่นขาดความรับผิดชอบ เพราะนอกจากจะไม่มีความผิด ยังไม่มีใครเห็นหน้าหรือรู้ด้วยว่าคุณเป็นใคร

 

ประเทศจีน

จีนได้ทดลองนำตู้ทิ้งเด็กนี้มาใช้เช่นกัน โดยติดตั้งที่ด้านหน้าสำนักงานสวัสดิการสังคมเมืองสือเจียจวง มณฑลเหอเป่ยโดยใช้งบประมาณ 100,000 หยวน หรือราวๆ 500,000 บาท ในการจัดวางระบบถ่ายเทอากาศและอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และเช่นเดียวกับประเทศอื่น ที่หลังจากพ่อแม่ออกจากตู้ทิ้งลูกไปนานหลายนาทีแล้ว สัญญาณกริ่งภายในตู้จะดังขึ้นให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานรับทราบ จากนั้นจำดำเนินการแจ้งสถานะของเด็กกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

สถิติทิ้งลูกซึ่งลดลงตั้งแต่มีตู้พักทารก เมื่อ 1 มิถุนายน 2554 โดยจำนวนล่าสุดของเด็กถูกทิ้งอยู่ที่ 75 คน รวมเด็ก 26 คน จากตู้ น้อยกว่าจำนวนเด็กถูกทิ้งในปี 2553 ที่ 83 คน และอีก 105 คน ในปี 2552

 

อย่างไรก็ตาม ตู้ทิ้งทารกช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของเด็กๆ เหล่านี้ ได้มากกว่าร้อยละ 66 จากเดิมที่ไม่ถึงร้อยละ 50  ขณะที่บางรายทิ้งลูกสาวเพราะสังคมรังเกียจ หรือเพราะเด็กมีความพิการ ความบกพร่อง

 

ศูนย์สวัสดิการสังคมเด็กและการอุปถัมภ์แห่งชาติ เชื่อว่าตู้ทิ้งทารกมีความสำคัญและเป็นนโยบายที่เห็นแก่ชีวิตเด็กเป็นหลัก และเป็นสิทธิของเด็กที่จะมีชีวิตรอด

ประเทศรัสเซีย

เมื่อ พ.ศ. 2555 สำนักงานสาธารณสุขท้องถิ่นของรัสเซียเป็นผู้  ริเริ่มโครงการตู้ทิ้งเด็ก (babybox)  มีการติดตั้งตู้ดังกล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ตามเมืองต่างๆ อาทิ โซชี, โนโวรอสซิสก์ และอาร์มาเวีย ในเขตปกครองคราสโนดาร์ โดยภายในระยะเวลาเพียงเดือนเดียวหลังจากติดตั้ง มีเด็กที่ถูกทิ้งแล้ว 1 คน เป็นทารกเพศหญิง ซึ่งยังคงมีสุขภาพดี และถูกส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่หน่วยรับเลี้ยงเด็กแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะมีผู้ใจบุญรับอุปการะเธอต่อไป โดยได้แนวความคิดมาจากโครงการลักษณะคล้ายกันของแอฟริกาใต้

 

ประเทศแอฟริกาใต้

แอฟริกาใต้ได้นำเอาวิธีนี้มาใช้เมื่อ พ.ศ.2554 ในชื่อโครงการเบบี้เซฟ หรือ ปกป้องเด็กแรกเกิด โดยมีการใช้กล่องออกแบบพิเศษติดตั้งไว้ที่เมืองเคปทาวน์ ด้านโฆษกของหน่วยงานที่ริเริ่มโครงการนี้แสดงความหวังว่า ระบบดังกล่าวจะช่วยให้มารดาที่ประสบปัญหาสามารถทำให้ที่พวกเธอไม่สามารถเลี้ยงดูได้ยังคงปลอดภัย นอกจากนั้น โครงการนี้ยังขยายไปยังอีกหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี ปากีสถาน และออสเตรีย

 

ประเทศสหรัฐอเมริกา

ใน 49 รัฐ มีการบัญญัติกฎหมายสถานที่ปลอดภัยสำหรับทารก โดยมารดาที่ไม่พร้อมในการเลี้ยงดูลูกของพวกเธอสามารถนำเด็กๆไปฝากไว้ตามสถานที่ต่างๆ อาทิ โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ และโบสถ์ สำหรับในบางรัฐ

 

ประเทศเยอรมนี

ถนนเส้นหนึ่งในย่านชานกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี มีป้ายบอกทางที่นำไปสู่สถานที่ตั้งของตู้ทิ้งเด็ก หรือ ที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า "เปลเด็ก" หรือ "Babywiege"

 

ตู้ดังกล่าว ทำมาจากสแตนเลสอย่างดี พร้อมหูจับเพื่อดึงเข้าและดึงออก พร้อมที่นอนและผ้าห่มอย่างดีสำหรับทารก พร้อมทั้งจดหมายแนะนำ ที่ระบุว่า พ่อแม่ที่เปลี่ยนใจสามารถนำลูกกลับไปเลี้ยงได้ตลอดเวลา

 

กระบวนการในการทิ้งทารกจะเป็นความลับและไม่มีการเปิดเผยชื่อและตัวตน ดังนั้น จึงไม่มีใครทราบว่าคนที่อุ้มเด็กมา และกลับไปมือเปล่านั้นคือใคร  ซึ่งก่อให้เกิดข้อโต้แย้งที่ว่า ผู้ทิ้งอาจเป็นได้ทั้งพ่อและแม่หรือใครก็ได้  หลายคนวิจารณ์ว่า ผู้ทิ้งอาจเป็นได้ทั้งพ่อ หรือไม่ก็ผู้คุมหญิงโสเภณี ที่มาจัดการภารกิจให้เสร็จสิ้น

 

เควิน บราวน์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮมกล่าวว่า ผลการศึกษาในฮังการีพบว่า ไม่จำเป็นว่าคนที่นำเด็กมาทิ้งจะต้องเป็นแม่ แต่อาจเป็นพ่อ ญาติ เพื่อน คนคุมโสเภณี หรือใครก็ได้ คำถามก็คือ กล่องดังกล่าว ช่วยส่งเสริมสิทธิสตรีหรือไม่ และแม่ของเด็กเองเป็นผู้ยินยอมให้นำเด็กมาทิ้งไว้ที่นี่หรือไม่  อีกทั้งกระบวนการให้คำปรึกษา ยังถูกตัดออกจากกระบวนการทั้งหมดโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจเป็นภัยต่อทั้งตัวแม่และทารก

 

ในกรณีหนึ่งที่เมืองฮัมบูร์กของเยอรมนี ภายในช่วงเวลา 10 ปี มีผู้นำทารกมาทิ้งแล้วกว่า 42 คน ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา  แม่ 17 ติดต่อขอรับเด็กกลับในภายหลัง และ 14 รายขอนำทารกกลับหลังจากทิ้งไม่กี่วัน

 

สเตฟฟานี วอลเพิร์ต ซึ่งดูแลสถานที่รับเลี้ยงทารกที่ฮัมบูร์ก กล่าวว่า ย้อนไปเมื่อปี 1999 พบทารก 5 รายถูกทิ้ง โดย 3 รายเสียชีวิต หลังจากนั้น การหาหนทางเพื่อช่วยชีวิตเด็กๆจึงเกิดขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมีประเทศฮังการี อิตาลี กลุ่มประเทศทะเลบอลติก ประเทศแถบยุโรปตะวันออก แต่ยังไม่มีท่าทีว่าจะมีในประเทศไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: