ดิจิตอลทีวี (Digital TV) คือ ทีวีที่ทำงานในรูปแบบดิจิตอลสัญญาณภาพ และเสียงในรูปแบบของดิจิตอลมีคุณภาพที่ดีกว่าอนาล็อก (Analog) โดยภาพและเสียงมีความคมชัดกว่ามาก อีกทั้งยังมีการถูกรบกวนในอัตราที่น้อยกว่า
นอกจากดิจิตอลทีวีจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่าอนาล็อกในด้านคุณภาพของสัญญาณแล้วยังถือว่าเป็นการใช้ความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในระบบดิจิตอลทีวีมีการส่งข้อมูลเป็น bit และสามารถส่งข้อมูลได้มากกว่าแบบอนาล็อก มีการผสมคลื่นแบบ COFDM (Coded Orthogonal Frequency Division Multiplexing) โดยในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำส่งไปยังหลายรายการโทรทัศน์ จึงเรียกได้อีกแบบหนึ่งว่า การแพร่กระจายคลื่นแบบหลากหลายรายการ (Multicasting) ในหนึ่งช่องสัญญาณ การส่งสัญญาณเป็นแบบดิจิตอลจึงทำให้ได้คุณภาพของภาพและเสียงดีกว่าด้วย
ยกตัวอย่างเช่น โทรทัศน์ระบบ HDTV โดยทั่วไป ดิจิตอลทีวีจะใช้สัญญาณดิจิตอลที่ถูกบีบอัด และเข้ารหัสซึ่งอาจเป็นรูปแบบ MPEG-๒ หรือ MPEG-๔ ส่งผลให้ในการรับชมนั้นจำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์ถอดรหัส ซึ่งอาจมีมาพร้อมกับตัวเครื่องรับโทรทัศน์ เช่น โทรทัศน์รุ่นใหม่ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อรองรับระบบดิจิตอล หรือจะเป็นอุปกรณ์ถอดรหัสที่แยกกัน เช่น อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณที่เรียกว่า STB (Set Top Box) ซึ่งใช้ถอดรหัสสัญญาณและป้อนให้กับเครื่องรับโทรทัศน์อนาล็อกที่มีใช้งานทั่วไป หากเป็นการรับชมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Personal Computer) จะสามารถใช้การ์ดรับสัญญาณที่สามารถถอดรหัสได้เลย สรุปก็คือดิจิตอลทีวีในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์
ระบบดิจิตอลทีวีที่คิดค้นกันขึ้นมา ปัจจุบันมีอยู่ 3 ระบบคือ
1.ATSC ของอเมริกาเหนือ
2. DVB ของยุโรป
3.ISDB ของญี่ปุ่น
ซึ่งทั้งหมดสามารถส่งสัญญาณภาพวิดีโอและเสียงออดิโอที่มีคุณภาพมากขึ้น (เช่น HDTV และ 5.1 Dolby surround) รวมทั้งข้อมูลบริการ (Data) อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดเป็นลักษณะของดิจิตอลจึงไม่แปลกที่ต่อไปทีวีจะสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เนตได้ สามารถชอปปิ้ง เล่นเกมส์ออนไลน์ โหวตให้คะแนนดารา หรือทำงานในลักษณะ Interactive ต่างๆ ได้มีบริการในลักษณะของ VoD (Video on Demand) โดยมีรายการให้เลือกชมอย่างมากมาย
หากจะอธิบายถึงระบบส่งสัญญาณที่เป็นดิจิตอลทีวีในเชิงเทคนิค จะเห็นได้จากในรูปด้านล่าง
ประกอบด้วยส่วนสำคัญต่างๆ ดังนี้คือ ตัวMPEG encoder ทำหน้าที่ในการบีบอัดสัญญาณภาพและเสียงเพื่อให้มีบิตเรทที่ลดลงหลายๆ เท่า (เช่น ที่ความละเอียด 720x480/576 pixels และความเร็วภาพ 30 fps (SDTV) ตัวบีบอัดสัญญาณ MPEG2 สามารถลดบิตเรตที่ต้องใช้จาก 120-150 Mbps ให้เหลือแค่ประมาณ 49 Mbps เท่านั้น) หลังจากนั้น ตัว Packetizer ทำหน้าที่ในการแบ่งข้อมูลที่เป็น Streaming data ที่ออกมาจากตัว บีบอัดสัญญาณให้เป็น Packet ที่เรียกว่า PES (Packetized Elementary Stream) ก่อน แล้วทำการจัดแบ่งความยาวของข้อมูลให้เหมาะสมตามลักษณะการใช้งานอีกครั้งหนึ่ง กรณีที่ส่งข้อมูลไปยัง Media Storage ต่าง ๆ เช่น ฮาร์ดดิสก์ หรือแผ่นดีวีดี ที่มีสัญญาณรบกวนน้อย ข้อมูลในแต่ละ Packet ก็สามารถส่งคราวละมาก ๆ ได้ (เช่น 2Kbytes) เรียกว่า MPEG2Program Stream ส่วนกรณีที่ส่งข้อมูลผ่านตัวกลางที่มีสัญญานรบกวนมากๆ เช่น การส่งออกอากาศก็จะต้องแบ่งข้อมูลให้สั้นลงเพื่อความปลอดภัยของการส่ง เราเรียกว่า MPEG2 Transport Stream ซึ่งในแต่ละ Packet จะถูกกำหนดมีความยาวคงที่แค่ 188 ไบต์เท่านั้น
Multiplexer ทำหน้าที่ในการมัลติเพลกข้อมูล Packet ต่างๆ ที่เป็นทั้งภาพ เสียง หรือข้อมูลอื่น ๆ เข้าด้วยกันเป็น Streaming เดียว ก่อนที่จะเข้าไปทำการ Channel Coding สำหรับการเข้ารหัสเพื่อให้แต่ละ Packet โดยจะมีการเพิ่มไบต์พิเศษเข้าไป 16ไบต์ (รวมเป็น 204 ไบต์ในแต่ละ Packet กรณีที่เป็น Transport Stream) เพื่อให้ด้านรับสามารถตรวจสอบข้อมูลว่ามีความถูกต้องหรือไม่ ทั้งยังสามารถ Recover ไบต์ที่ผิดต่าง ๆ ได้สูงสุดถึง 8 ไบต์ ในขั้นตอนสุดท้าย ตัว Modulation จะทำหน้าที่ในการมอดูเลตข้อมูลดิจิตอลในแบบต่างๆ เพื่อส่งผ่านตัวกลางไปยังผู้รับ ซึ่งอาจจะเป็น QPSK, QAM หรือ COFDM กรณีที่เป็นการส่งผ่านดาวเทียม (DVB-S) หรือสายเคเบิ้ล (DVB-C) หรือออกอากาศภาคพื้นดิน (DVB-T) ตามลำดับ ซึ่งจะได้ช่องการส่งข้อมูลดิจิตอลที่มีความเร็วบิตเรตที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ช่องสัญญาณทีวีภาคพื้นดินที่มีความกว้างแบนด์วิธ 6-7MHzสามารถส่งข้อมูลได้เร็วถึง 19.3 Mbps ทำให้เราใส่ช่องรายการทีวีปกติปัจจุบันได้ถึง 4-5 ช่องเลยทีเดียว (เรียกลักษณะการแพร่ภาพแบบนี้ว่า Multicast) หรืออาจใส่ช่องรายการที่มีคุณภาพภาพและเสียงในระดับ HDTV เข้าไปได้เลย
มีหลาย ๆ นิยามสำหรับ “ดิจิตอลทีวี” แต่โดยภาพรวมแล้วดิจิตอลทีวี เป็นระบบการรับส่งสัญญาณภาพและเสียงที่มีข้อมูลที่มีการเข้ารหัสเป็นดิจิตอล ทีมีค่า “0” กับ “1” เท่านั้น โดยมีกระบวนการต่าง ๆ ที่จะทำการแปลงสัญญาณภาพและเสียงให้เป็นดิจิตอล มีการบีบอัดข้อมูล ทำการเข้ารหัสข้อมูล ก่อนที่จะทำการมอดูเลตข้อมูลดิจิตอลเหล่านี้เพื่อส่งผ่านตัวกลางไปสู่ผู้รับปลายทางซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับระบบทีวีอนาลอก
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนจากการส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบอนาล็อก สู่แบบดิจิตอล มีข้อเสียที่ตามมา คือ
1.ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่ม เพราะเมื่อใช้คนละระบบกัน ทีวีที่บ้านที่เราใช้กันมานานย่อมใช้ไม่ได้อีกต่อไป ต้องซื้อทีวีใหม่ที่เป็นระบบดิจิตอล หรืออาอจเลือกซื้อ "กล่อง" แปลงสัญญาณ ซึ่งในส่วนนี้ ล่าสุด ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุมัติการแจกคูปองเงินสันบสนุนอุปกรณ์เปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทางทีวีในระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอล แก่ 22 ล้านครัวเรือน เบื้องต้นมีกำหนดแจกในเดือนกันยายน 2556
2.ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ทีวีช่องต่างๆ ยังไม่เป็นระบบดิจิตอลทั้งหมดนั้น การถ่ายทอด "โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ" อาจทำให้ช่องสถานีที่เป็นอนาล็อกไม่สามารถถ่ายทอดร่วมด้วยได้ ก็จะดูได้แต่ช่องสถานีที่เป็นดิจิตอลแล้ว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายระหว่างรัฐกับช่องสถานี หากประชาชนส่วนใหญ่ยังใช้ทีวีแบบเดิมอยู่ อาจถ่ายทอดในระบบอนาล็อกก็เป็นได้
3.เมื่อเป็นดิจิตอลทีวี ย่อมมีช่องสถานีและรายการเป็นร้อยเป็นพันได้ ซึ่งยากต่อการกำกับดูแล โดยเฉพาะในแง่ของความเหมาะสมของเนื้อหา เพราะช่องและรายการที่ได้รับชมอยู่ทุกวันนี้นั้นก็แทบจะดูได้ไม่หมดอยู่แล้ว หากมีเพิ่มอีกเป็นร้อยๆช่อง กสทช.และหน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่ด้านความเหมาะสมหรือคัดกรองการออกอากาศคงหืดขึ้นคอไม่น้อย
ประวัติโทรทัศน์ประเทศไทย
ระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial) ที่ให้บริการในประเทศไทย เริ่มออกอากาศเป็นครั้งแรกเป็นระบบอนาลอก (AnalogTV) เมื่อปีพ.ศ 2498 โดย“สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวี” เป็นการส่งด้วยระบบขาวดำ M/NTSC 525 เส้น ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงจากระบบเดิม คือ ระบบ M/NTSC มาเป็นระบบทีวีสี PAL – B 625 เส้น ที่นิยมใช้กันในแถบยุโรป ด้วยความกว้างของช่องสัญญาณแต่ละช่อง (Bandwidth) เท่ากับ 6-7 MHz ทั้งนี้การส่งสัญญาณแบบอนาลอก ปัจจุบันถึงขีดจำกัดในการพัฒนาเทคนิคและคุณภาพของความคมชัดของภาพในการส่ง จึงไม่มีการพัฒนา HDTV แบบอนาลอก (High Definition TV) แต่ได้มีการพัฒนาระบบทีวีที่เป็นดิจิตอลขึ้นมาเพื่อรองรับการส่งข้อมูลภาพที่มีความละเอียดมากขึ้น โดยอาศัยอัลกอริทึม MPEG2 หรือ MPEG4 ที่เป็นหัวใจสำคัญในการที่จะบีบอัดสัญญาณภาพและเสียงให้มีบิตเรทที่น้อยลง และสามารถส่งแพร่ภาพเป็นลักษณะของ Digital Packets ไปยังผู้รับปลายทางได้
กิจการโทรทัศน์ในประเทศไทยก็มีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย โทรทัศน์ถือเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและบทบาทต่อผู้ชมสูง ด้วยคุณสมบัติที่สามารถให้ได้ทั้งภาพ เสียง ความรวดเร็ว ความสมจริง ทำให้ความนิยมในโทรทัศน์เพิ่มขึ้น จนปัจจุบัน สื่อโทรทัศน์ก็ถือเป็นสื่อหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อสังคมมาก สื่อโทรทัศน์ในประเทศไทยมีวิวัฒนาการแบ่งออกได้เป็น 6 ยุค ได้แก่
1.ทศวรรษ 2490 ยุคบุกเบิกโทรทัศน์ไทย (2491-2499)
2.โทรทัศน์กับเครื่องมือทางการเมือง (พ.ศ. 2500-2509)
3.ยุคเติบโตและการก้าวสู่โทรทัศน์ระบบสี (2510 – 2519)
4.การพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (2520-2529)
5.ยุคทองของโทรทัศน์ไทย (2530-2539)
6.การแข่งขันทางธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตก
1.ทศวรรษ 2490 ยุคบุกเบิกโทรทัศน์ไทย (2491-2499)
2493 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้อ่านบทความของสรรพศิริ วิริยศิริ เจ้าหน้าที่ข่าวต่างประเทศของกรมโฆษณาการ เกี่ยวกับปรากฏการณ์การประดิษฐ์โทรทัศน์ในยุโรปและ อเมริกา ทำให้จอมพล ป. มีความคิดที่อยากจะตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นในประเทศไทยบ้าง เพื่อใช้เป็นสื่อเพื่อการศึกษา การแพทย์ การสาธารณสุข และเป็นเครื่องมือตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามและเสริมอิทธิพลทางการเมืองให้กับตัวเอง
ในตอนแรกจะจัดตั้งสถานีโทรทัศน์โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่เนื่องจากประเทศยังประสบปัญหาด้านการเงินอยู่ จนมีคนคัดค้านเรื่องนี้พอสมควร สุดท้ายจึงมีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นภายใต้ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงานและฝึกอบรมด้านโทรทัศน์ที่บริษัท อาร์ซีเอ ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีการประกวดราคาเครื่องรับส่งโทรทัศน์และการเตรียมงานด้านเทคนิคโทรทัศน์ขึ้น และในช่วงทศวรรษนี้เอง กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ ได้ทรงบัญญัติศัพท์ วิทยุโทรทัศน์ ขึ้นใช้
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการนำวิทยุ โทรทัศน์เข้ามาเป็นครั้งแรกคือ นายประสิทธิ์ ทวีสิน ประธานกรรมการบริษัทวิเชียรวิทยุและโทรภาพ โดยนำเครื่องส่ง 1 เครื่อง เครื่องรับ 4 เครื่องหนักกว่า 2 ตัน ทำการทดลองให้คณะรัฐมนตรีชมเป็นครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาล และต่อมาเมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2495 เปิดให้ประชาชนที่ศาลาเฉลิมกรุง ได้มีผู้ชมอย่างล้นหลามด้วยเป็นของแปลกใหม่
วันที่ 24 มิถุนายน 2498 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำพิธีเปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหมขึ้น เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีคุณจำนง รังสิกุล เป็นหัวหน้าสถานีคนแรก และออกอากาศในระบบขาวดำ โดยรายการในระยะแรกเป็นรายเพื่อความบันเทิง เช่น นำลิเกมาเล่นสดออกทีวี มีรายการสนทนา รายการตอบคำถามชิงรางวัล และ ละคร
2.โทรทัศน์กับเครื่องมือทางการเมือง (พ.ศ. 2500-2509)
โทรทัศน์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการทหารและการเมือง ระหว่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ จอม พลสฤษดิ์ ธนรัชต์ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ยึดอำนาจได้จากการปฏิวัติและได้ริเริ่มแนวคิดในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 2 ขึ้นในประเทศไทย โดยใช้งบประมาณจากหน่วยงานทหารในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ระบบขาวดำ) ขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างทหารและประชาชน และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2501 (ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ขาวดำ ได้เปลี่ยนมาออกอากาศในระบบสีภายใต้ชื่อสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5)
ดังนั้น ในยุคนี้ มีโทรทัศน์ในไทยแล้ว 2 ช่อง คือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม และ ตั้งสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ระบบขาวดำ)
3.ยุคเติบโตและการก้าวสู่โทรทัศน์ระบบสี (2510 – 2519)
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2510 สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เริ่มแพร่ภาพออกอากาศในระบบสีเป็นสถานีแรกในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินการของบริษัทกรุงเทพฯและวิทยุ จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานจากกองทัพบก โดยออกอากาศการถ่ายทอดการประกวดนางสาวไทยป็นรายการแรก
26 มีนาคม 2513 สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการในระบบสี ถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 2 ของประเทศไทยที่ออกอากาศในระบบสี ภายใต้การดำเนินการของบริษัทบางกอก เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด
ในระหว่างนั้น ช่วงปี 2511 เมื่อมีโทรทัศน์แล้ว 3 ช่อง จึงมีความคิดก่อตั้งทีวีพูล หรือ โทรทัศน์รวมกันเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อให้โทรทัศน์แต่ละช่องได้ร่วมถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญด้วยกัน โดยใช้ทรัพยากรเดียวกัน จึงมีการก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2511 มีพลตรีประสิทธิ์ ชื่นบุญ เป็นประธานคนแรก
เมื่อมีโทรทัศน์สีเกิดขึ้นสองช่อง ทำให้โทรทัศน์ระบบขาวดำต้องปรับตัวเองเพื่อให้แข่งขันได้ในตลาด ในปี 2517 ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านเทคโนโลยีโทรทัศน์ของประเทศไทย เพราะสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศในระบบขาวดำ 2 ช่องที่มีอยู่เดิมได้เปลี่ยนระบบออกอากาศมาเป็นระบบสี คือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 (ระบบขาวดำ) เปลี่ยนมาเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 (ระบบสี) และ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ระบบขาวดำ) เปลี่ยนมาเป็น สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 (ระบบสี) จนกระทั่งเกิดการควบคุมสื่อทีวีขึ้น
2519 เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ช่อง 9 เป็นช่องเดียวที่รายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเกิดผลกระทบต่อรัฐบาล และรัฐบาลรู้ถึงอิทธิพลของทีวีในการสื่อสาร ดังนั้น จากเหตุการณ์นั้นทำให้
•กรรมการผู้จัดการและทีมข่าวถูกปลด
•รัฐบาลควบคุมสี่อ กำหนดเนื้อหารายการที่เสริมความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
•ให้ออกอากาศข่าวภาคค่ำตอน 20.00
•ให้บันทึกเทปรายการที่เกี่ยวกับการเมืองล่วงหน้า
•ยุบช่อง 9 เปลี่ยนเป็น สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. ในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ
4.การพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (2520-2529)
เมื่อเกิดโทรทัศน์สีแล้ว ทุกช่องก็ต่างต้องแข่งขันกันอย่างเต็มที่ โดยสถานีโทรทัศน์ทุกช่องแข่งกันปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพระบบสีของตัวเอง แต่จากเหตุการณ์ที่เริ่มมีการควบคุมสื่อในการนำเสนอข่าวสารมากขึ้น และการแสดงความคิดทางการเมืองก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ทำให้สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ มุ่งเน้นนำเสนอความบันเทิง และมุ่งผลิตรายการที่จะทำให้ได้ผลกำไรทางธูรกิจ
ในยุคสมัยนี้มีการนำเข้าละครจีนที่เป็นหนังชุดหลายเรื่องจนได้รับความนิยมและสร้างเรตติ้งให้สถานีโทรทัศน์อย่างมาก ด้านบริษัทไทยโทรทัศน์นั้นถูกยุบด้วยเหตุผลว่าขาดทุน และก่อตั้งขึ้นเป็นองค์การสื่อสารมวลชนมาบริหารงานสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 แทน
5.ยุคทองของโทรทัศน์ไทย (2530-2539)
ทศวรรษนี้ถือเป็นยุคทองของกิจการโทรทัศน์ไทยเนื่องจากเป็นทศวรรษที่ประเทศไทยมีครบทั้งโทรทัศน์ประเภทรับชมได้โดยไม่เสียค่าสมาชิก หรือ ฟรีทีวี (Free TV) และ โทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก (Subscription TV) นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศไทยเติบโตเป็นอย่างมาก
ในทศวรรษนี้มีเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เกิดขึ้น ดังนี้
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 มีการทดลองออกอากาศสถานีโทรทัศน์สีแห่งประเทศไทยช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ขึ้น ซึ่งเป็นสถานีที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำหน้าที่เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทางราชการสู่ประชาชน และเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมไปถึง การเสริมสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ตลอดจนเป็นสถานีโทรทัศน์แม่ข่ายให้แก่ สถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาค ในเครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ (ปัจจุบันก็คือ ส.ท.ท 11)
นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกขึ้น 3 รายคือ
เดือนตุลาคม 2532 สถานีโทรทัศน์ ไอบีซี เคเบิ้ล ทีวี เริ่มดำเนินกิจการธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกรายแรกของประเทศ ภายใต้การดำเนินงานโดย บริษัท อินเตอร์เนชันแนล บอร์ดคาสติ้ง คอร์เปอเรชั่น จำกัด
ปี พ.ศ. 2533 สถานีโทรทัศน์ ไทยสกาย เคเบิ้ล ทีวี เริ่มดำเนินธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก ภายใต้การดำเนินการของบริษัทสยามบอร์ดคาสติ้ง จำกัด (ต่อมาสถานีโทรทัศน์ ไทยสกาย เคเบิ้ล ทีวี ได้ยุติการดำเนินธุรกิจลงในปี 2540 เนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ)
พ.ศ. 2537 บริษัทยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวิร์ค จำกัด เริ่มดำเนินการธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกในนามของ ยูทีวี
พ.ศ. 2537 สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เริ่มดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์แบบฟรีทีวี ภายใต้ปรัชญาทีวีเสรี โดยมีบริษัทสยามเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน และดำเนินการบริหารสถานี ต่อมาสถานีโทรทัศน์ไอทีวี มีการเปลี่ยนสมาชิกผู้ถือหุ้น และการซื้อขายกิจการผ่านตลาดหลักทรัพย์ จนภายหลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อ เป็นสถานีโทรทัศน์ระบบยูเฮชเอฟทีไอทีวี และเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นในเวลาต่อมาสถานีโทรทัศน์ระบบยูเฮชเอฟทีไอทีวีต้องยุติการออกอากาศไป โดยช่องสัญญาณดังกล่าวได้นำมาใช้ส่งสัญญาณสถานีโทรทัศน์สาธารณะช่องทีพีบีเอสแทน
นอกจากนี้ ในยุคนี้ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศเติบโต สื่อมีรายได้มากขึ้นจากเม็ดเงินของโฆษณาจากภาคธุรกิจ ทำให้สื่อโทรทัศน์มีเงินลงทุนในการผลิตรายการดีๆ และมีคุณภาพมากขึ้น ในช่วงนี้ มีการผลิตรายการต้นทุนสูง เช่น ละครที่มีการลงทุนมาก ไปถ่ายทำต่างประเทศ รายการต้นทุนสูง ถ่ายทำนอกสถานที่ หรือแม้แต่ข่าวภาคภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม รายการโทรทัศน์ก็ยังมุ่งเน้น “ความบันเทิง” อยู่นั่นเอง
ในประเด็นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า รากฐานของรสนิยมในการชมโทรทัศน์ที่ “ต้องการความบันเทิง” มากกว่าอย่างอื่นนั้นเป็นเพราะตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของการมีโทรทัศน์ในไทย รายการก็เน้นความบันเทิงมาตั้งแต่แรก โดยมีปัจจัยทั้ง รายการบันเทิงผลิตได้ง่าย ต้นทุนไม่สูง ประกอบกับ การควบคุมเรื่องการเมืองและการนำเสนอข่าวสารทำให้โทรทัศน์ไม่อยากเจ็บตัว อีกทั้งรายการบันเทิงสามารถสร้างกำไรทางธุรกิจให้สถานีโทรทัศน์ได้มาก ตามแนวคิด โทรทัศน์เชิงพาณิชย์ ที่ประเทศไทยคงได้แนวคิดมาจากการไปฝึกและดูงานจากบริษัท RCA ของสหรัฐ ซึ่งมีระบบโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ ทำให้ การชมโทรทัศน์ในไทยมุ่งเน้นในเรื่อง “ความบันเทิง” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
6.การแข่งขันทางธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตก
สภาพเศรษฐกิจในทศวรรษ 2540 ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย โดยสถานีโทรทัศน์ต่างต้องปรับตัวและการบริหารสถานีให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเขตเศรษฐกิจในยุคฟองสบู่แตก เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับกิจการโทรทัศน์ในทศวรรษนี้ มีดังนี้
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 ได้จัดตั้งโครงการ Thai TV Global Network ขึ้นเพื่อเผยแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ไทยผ่านดาวเทียมไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 ยูทีวี และ ไอบีซี ตัดสินใจรวมกิจการกันเนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระทางการเงินที่เกิดจากสภาพปัญหาเศรษฐกิจในขณะนั้น โดยได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อเป็น บริษัท ยูไนเต็ด บอร์ดคาสติ้ง คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และออกอากาศโทรทัศน์ประเภทบอกรับเป็นสมาชิกภายใต้ชื่อ ยูบีซี (ต่อมาในปี 2549 ยูบีซีได้มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ และเปลี่ยนชื่อมาเป็น ทรูวิชั่นส์)
เดือนมิถุนายน 2548 องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยได้เริ่มทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อสมท. ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี
***********************************
ที่มา
http://www.mediafire.com/?sharekey=698437694f76d54a00d27174b47c665780957fe9df53b4bcb8eada0a1ae8665a
http://www.oknation.net/blog/rt201dpu/2009/07/05/entry-2
http://www.ee.mut.ac.th/Article/DTV.pdf
http://www.mediamonitor.in.th/main/knowledge/2011-06-21-07-08-27/533-digital-tv-social-media-.html
http://tddf.or.th/tddf/topong/readart.php?id=00836f
http://www.torakom.com/article_index.php?sub=article_show&art=212
http://www.telco.mut.ac.th/telco/index.php/en/news/3-2009-08-14-13-13-16/210--digital-television
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ