1.หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร
หรือ คุณชายหมู เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2495 เป็นบุตรของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ (พระโอรสใน จอมพลเรือ จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) และหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา (นามสกุลเดิม ณ ถลาง) สมรสกับนางสาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา (นามสกุลเดิม ภมรบุตร)มีบุตรคนที่ 1 ชื่อ หม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร (จากการสมรสกับนางนุชวดี บำรุงตระกูล) คนที่ 2 ชื่อ หม่อมหลวงวราภินันท์ บริพัตร (จากการสมรสกับนางสาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา)
การศึกษา
- ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ณ โรงเรียน Cheam (ดำรงตำแหน่ง หัวหน้านักเรียน) และโรงเรียน Rugby
ประเทศอังกฤษ (ดำรงตำแหน่ง หัวหน้า House หรือสี และได้รับทุนการศึกษาเรียนดีเด่น) (พ.ศ. 2506-พ.ศ. 2513)
- ระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 2 และปริญญาโท ณ Pembroke College มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศ
อังกฤษ ทางด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (PPE) (พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2520)
- ระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ประเทศสหรัฐอเมริกาทางด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (พ.ศ. 2521)
- ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พ.ศ. 2548
ตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พฤศจิกายน 2540 - กุมภาพันธ์ 2544)
- คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (เมษายน 2542 - พฤษภาคม 2546)
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร (พฤศจิกายน 2539 - พฤศจิกายน 2543 และมกราคม 2544 - 27 พฤศจิกายน 2551)
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ และแบบสัดส่วนกลุ่มที่ 6 กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, สมุทรปราการ
(มีนาคม 2548 - กุมภาพันธ์ 2549 และ 23 ธันวาคม 2550 - 27 พฤศจิกายน 2551 ตามลำดับ)
- คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (มีนาคม 2548 - 27 สิงหาคม 2551)
- รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (มีนาคม 2548 - 27 สิงหาคม 2551)
- รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร (เมษายน 2548 - กุมภาพันธ์ 2549)
- กรรมการคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร (23 ธันวาคม 2550 - 27 พฤศจิกายน 2551)
- ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (11 มกราคม 2552)
ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2539
- รับราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2536
- ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2534
- ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2531 และ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2534
- ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ. 2531 - พ.ศ. 2532
- ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางด้านนโยบายต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2536
- นายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2537
- ประธานคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาการพาณิชย์ฝ่ายต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ (พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537)
พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2536
- ประธานคณะทำงานร่วมอาเซียน-เวียดนาม เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียน-เวียดนาม
พ.ศ. 2537
- สมาชิกของ COMMISSION FOR A NEW ASIA
พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2547
- กรรมการบริหารสถาบันพระปกเกล้า
พ.ศ. 2545 - 2547
- ประธาน Council of Liberal and Democrats (CALD)
- อาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาหรือหลักสูตรของหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น กองทัพ กระทรวงมหาดไทย
กรมตำรวจ กรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยโคลัมเบียแห่งนครนิวยอร์ค และ
มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์แห่งกรุงวอชิงตัน ดีซี
- ประธานคณะทำงานร่วมอาเซียน-กัมพูชา-ลาว เพื่อศึกษาและเสนอแนะ แนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง
อาเซียน-กัมพูชา-ลาว
- เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ดร.พิจิตต รัตตกุล) ในคณะกรรมการต่างๆ คือ
1. ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
2. ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการสำนักงานตลาด
3. ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตและ ประพฤติมิชอบในวงราชการกรุงเทพมหานคร
4. กรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการยุติธรรม
เส้นทางการเมือง
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เริ่มเข้ามาทำงานแวดวงการเมืองครั้งแรกขณะเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อพ.ศ.2531 โดยเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มนักวิชาการ 99 (ร่วมกับ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวานิช)ทำการล่ารายชื่อนักวิชาการ 99 คน ยื่นถวายฎีการ้องทุกข์เพื่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีใจความว่า “...เนื่องจากผู้นำทางการเมืองที่รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาล มิได้วางตนเป็นกลางอย่างแท้จริง ปล่อยให้มีการนำกำลังทหารของชาติซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันและช่วยพัฒนาประเทศ มาแสดงพลังสนับสนุนสถานภาพทางการเมืองส่วนบุคคล จนก่อให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกจนเกินความจำเป็น...” จนส่งผลให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลงจากตำแหน่ง
ครั้งที่สองเข้าร่วมทีมที่ปรึกษาด้านนโยบายนายกรัฐมนตรี หรือ "ทีมบ้านพิษณุโลก" ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลมากในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ท้ายสุดต้องลาออกจากตำแหน่ง เมื่อคณะนายทหารชุมนุมกดดันเนื่องจากไม่พอใจในคำสัมภาษณ์ที่กระทบต่อโรงเรียนนายร้อย จปร. หลังจากนั้นจึงกลับไปเป็นอาจารย์จุฬาฯ เหมือนเดิม
ปี พ.ศ.2538 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เล่นการเมืองเต็มตัว โดยลงเลือกตั้ง ส.ส. กทม. เขต 2 สังกัดพรรคนำไทยของ นายอำนวย วีรวรรณ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จากนั้นย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์จนได้เป็น ส.ส.กทม. ในพ.ศ.2539 พ.ศ.2544 และ ส.ส.ระบบสัดส่วน ในพ.ศ.2550
ทั้งนี้ในช่วงที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศ ในรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2542 ได้เกิดเหตุการณ์กองกำลังติดอาวุธของนักศึกษาพม่า บุกเข้ายึดสถานเอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทรเหนือ และจับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน
หลังการเจรจาต่อรองเป็นเวลาหลายชั่วโมง ผู้ก่อการร้ายยินยอมปล่อยตัวประกัน แลกกับให้ทางการไทยจัดเฮลิคอปเตอร์ไปส่งที่ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นชายแดนไทย-พม่า โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น เสนอตัวเป็นตัวประกันนั่งโดยสารไปด้วยเพื่อรับรองความปลอดภัยจนกระทั่งถึงที่หมาย ทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นยุติลงได้โดยไม่มีการสูญเสียชีวิต ชื่อ “สุขุมพันธุ์” จึงเป็นฮีโร่ในชั่วพริบตา
และในปี พ.ศ.2543 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ในระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 14 - 16 มิถุนายน พ.ศ.2543
บันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีสาระสำคัญส่วนหนึ่ง คือ การสำรวจและปักหลักเขตแดนทางบกจะดำเนินการโดยใช้เอกสารหลักฐานที่ผูกพันไทยและกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศ คืออนุสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904 สนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907 กับพิธีสารแนบท้าย และ แผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของ คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน
ต่อมาในปี พ.ศ.2551 หลังเกิดกรณี นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามในเอกสารแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งอาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศไทยโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เกิดการโจมตี มรว.สุขุมพันธุ์ และ พรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ไทย-กัมพูชา พ.ศ.2543 ที่ระบุให้การจัดทำหลักเขตแดนยึดตามแผนที่ฝรั่งเศส-สยาม (ค.ศ.1904) เป็นแนวทาง โดยไม่ระบุ แผนที่แอล 7017 ของสหรัฐอเมริกา ที่ไทยใช้อ้างอิง ซึ่งอาจตีความได้ว่ามีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศ มาตั้งแต่ พ.ศ.2543 ก่อนการลงนามของนายนพดล ปัทมะ เรื่องดังกล่าว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ชี้แจงว่าการระบุถึงแผนที่ ค.ศ.1904 เป็นการระบุประกอบเอกสารหลักคือ อนุสัญญา ค.ศ.1904 และ สนธิสัญญา ค.ศ.1907 ซึ่งแผนที่จะขัดหรือแย้งไม่ได้ การลงนามในปี พ.ศ.2543 จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเงา
และเมื่อการเมืองเกิดการพลิกผัน หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 9 ต่อ 0 ชี้มูลความผิด นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคดีทุจริตโครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,800 ล้านบาท และนายอภิรักษ์ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบนั้น คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์จึงมีมติส่งชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ลงสนามเลือกตั้ง กทม. ในนามพรรค โดยให้เหตุผลว่า เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และสามารถสานต่อนโยบาย รวมถึงประสานงานระหว่าง ส.ก.-ส.ข.ได้อย่างดี
ความสำเร็จและความ(เกือบ?)ล้มเหลวของ"ผู้ว่า"
นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร สรุปแจงผลงานเด่นของผู้ว่าฯ สุขุมพันธ์ ว่า จากวันเวลาเข้ารับตำแหน่งและได้ประกาศจะพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ทั้งด้านกายภาพและการบริการประชาชน โดยหยิบเอาปัญหาจราจรเป็นสิ่งแรกที่พยายามผลักดันให้แก้ไข จึงถือเป็นผลงานเด่นอันดับแรกลุล่วงสำเร็จลงได้ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบเนื่องจากการเติมโตของเมืองรวดเร็วมาก แต่ได้เพิ่มโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนระบบรางไว้ คือ โครงการรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท อ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร สายสีลม สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร และตากสิน-เพชรเกษม ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร รวมถึงขยายเส้นทางเดินเรือคลองแสนแสบจากวัดศรีบุญเรืองไปถึงมีนบุรี 14 ท่า ให้ประชาชนได้เดินทางสะดวกขึ้น
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวถือเป็นลงงานอันดับสอง เช่น การคืนพื้นที่สีเขียวท้องสนามหลวง ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องยากแต่ท่านผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์ก็สามารถเข้าไปปรับปรุงพื้นที่กลับคืนให้คนกรุงเทพฯ เข้าไปใช้ประโยชน์ และเที่ยวชมความสวยงาม พร้อมการพักผ่อนหย่อนใจได้ นอกจานี้ยังมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายแห่ง รวมพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ เกินเป้า 5,000 ไร่ที่ตั้งไว้
อันดับสามเรื่องความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินประชาชน ได้ ติดตั้งกล้อง CCTV เป็นกลไกดูแลความปลอดภัย ป้องปรามการเกิดเหตุ และจับคนกระทำผิดไปลงโทษ ติดตั้งเกินเป้า 20,000 กล้อง แม้จะล่าช้าไปบ้างก็เข้าเป้า สำหรับเรื่องนี้ ยังคงเดินหน้าติดตั้งอีกในปี 2556 ถึง 40,000 ตัว รวมถึงติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างได้เกินครึ่งจากเป้าที่ตั้งไว้ 50,000 ดวง และยังคงเดินหน้าติดตั้งต่อไป แม้จะติดปัญหาเข้าไปดำเนินการในพื้นที่เอกชน ซึ่งประเด็นนี้ทางสำนักงานกฎหมายและคดีก็กำลังหาแนวทางแก้ไข
อันดับสี่ด้านการบริการการแพทย์และสาธารณะสุข ได้สร้างโรงพยาบาลในพื้นที่เขตบางขุนเทียนขนาด 200 เตียงเปิดบริการแล้ว พร้อมเดินหน้าสร้างศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย ดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร ทั้งนี้จากแนวโน้มสถิติกรุงเทพมหานครจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากปี 2556 อีก 767,516 คน และจะเพิ่มจนถึง 1 ล้านคนในเวลาอันใกล้นี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมการรองรับการดูแลสังคมอนาคต นอกจากนี้ยังกำหนดสร้างโรงพยาบาลเพิ่มอีก 2 แห่งในพื้นที่เขตคลองสามวาและดอนเมือง
อันดับห้าซึ่งด้านการศึกษา สร้างหลักสูตร “โตไปไม่โกง” บรรจุทำการเรียนการสอนในโรงเรียนสังกัด กทม. ปลูกฝังคุณธรรม 5 ประการให้เด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะเติบโตไปเป็นทรัพยากรบุคคลที่ดีมีคุณภาพอย่างมีคุณธรรม พัฒนาประเทศชาติในอนาคต ขณะนี้ประเทศไทยถูกจัดอันดับเมืองของการทุจริต นับเป็นเรื่องน่าห่วงยิ่ง ถ้าไม่เริ่มปลูกฝังเด็กตั้งแต่บัดนี้สภาพสังคมที่เป็นอยู่ก็จะหลอหลอมเด็กให้โตไปอย่างผิดทางที่ชาชินกับการทุจริต หลักสูตร “โตไปไม่โกง” เป็นผลงานเด่นมีการขานรับกว้างขวาง นอกจากนี้ยังเริ่มโครงการอาหารเช้าในโรงเรียนสังกัดกทม.เป็นครั้งแรกด้วย เพื่อ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง แถมยังช่วยดูแลคุณภาพการศึกษาของนักเรียนให้เริ่มต้นวันด้วยสติปัญญาสมองอันปราดเปรื่องเป็นที่พึงพอใจของผู้ปกครอง
มีการเพิ่มพื้นที่กิจกรรมสำหรับเยาวชน ทั้งศูนย์เรียนรู้กทม. ห้องสมุดขนาดใหญ่ ศูนย์เยาวชนกทม. และบ้านหนังสือ ให้เด็กและเยาวชนได้มีที่ไปใช้เวลากับการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างมีประโยชน์ป้องกันไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด นอกจากผลงานเด่น 5 อันดับ 5 ด้านที่กล่าวมานั้น ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ตรงนี้ก็ถือเป็นผลงานของผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์ ด้วยที่สามารถรักษาพื้นที่หลายเขต ย่านเศรษฐกิจของเมืองไว้ได้ ไม่เกิดน้ำท่วมทั้ง 50 เขตตามที่หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์
ส่วนทางด้านสภา กทม.ที่ได้ทำงานร่วมกับผู้ว่าฯสุขุมพันธ์ ทั้งพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อจัดสรรให้โครงการต่างๆตามความจำเป็นเร่งด่วน ออกข้อบัญญัติต่างๆช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้คนกรุงเทพฯ รวมถึงสะท้อนปัญหาความเดือดร้อน และความต้องการของประชาชนผ่านสภากรุงเทพมหานคร และเร่งรัดติดตามโครงการต่างๆเพื่อประโยชน์ของประชาชนนั้น นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตห้วยขวางสะท้อนมุมมองว่า ผลงานที่มองเห็นเป็นรูปธรรมมี ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า สายสีลมไปบางหว้า (ตากสิน-เพชรเกษม) ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ขอชื่นชมผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์ ที่มีความกล้าตัดสินใจเดินหน้าส่วนต่อขยายไปฝั่งธนบุรีโดยใช้งบประมาณ กทม.แก้ไขปัญหาให้คนกรุงเทพฯ โดยไม่รองบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล
ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็อยู่ในเกณฑ์ที่ประชาชนพึงพอใจ การบริการจัดเก็บขยะ ดูแลรักษาความสะอาดสภาพบ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล พื้นที่สีเขียวที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนงานที่ถือว่าทำได้ไม่ดีคือ งานบริหารงานบุคลคล การแต่งตั้งโยกย้ายล่าช้าทำให้ข้าราชการเสียสิทธิความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ ขาดขวัญกำลังใจการทำงานบริการประชาชน อีกงานที่ผู้บริหารชุดนี้ทำไม่สำเร็จ คือ ภาพรวมในการแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยที่ปัจจุบันมีผู้ค้าเกิดขึ้นเยอะมากผุดขึ้นทุกพื้นที่เป็นดอกเห็ด โดยที่กทม.ไม่สามารถจัดการบังคบให้อยู่ในระเบียบได้เลย
จากรายงานพิเศษของหนังสือพิมพ์แนวหน้ากล่าวว่า เหล่าข้าราชการให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานที่ยังไม่สำเร็จ ของผู้ว่าฯ ได้แก่ โครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงแม้จะประกาศขึงขังเมื่อคราวเข้ารับตำแหน่งว่าจะเดินหน้าทุกทางเพื่อแก้ปัญหา แต่จนครบวาระเรื่องยังคงไม่คืบหน้าเงียบหายไปอีกไม่รู้บทสรุปอยู่ที่ไหน
โครงการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนมีการศึกษาแผนระยะยาวจะสร้างทีกรอยน์ จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้เริ่ม แค่สร้างเขื่อนไม้ไผ่กันคลื่นชั่วคราว ขณะที่พื้นดินก็ยังคงถูกกัดเซาะอยู่เรื่อยๆ
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์แก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะยาว ก่อนหน้าประกาศเสียงดังจะเดินหน้า 4 อุโมงค์ใหญ่เชื่อมทางระบายน้ำ 4 มุมเมืองไม่ให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่กทม.ในอนาคต ก็ยังไม่คืบ (พิษฝนตกหนักช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2555 ที่ทำสถิติฝนตกมีปริมาณสูงสุดในรอบ 50 ปี มีปริมาณฝนสะสมเกือบ100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เกินศักยภาพการระบายน้ำ จึงเกิดคำถาม อุโมงค์ยักษ์มีจริงหรือไม่ ร้อนถึงหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์พาลงพื้นที่ ชี้จุดอุโมงค์ยักษ์มีจริง แจงประชาชนให้เข้าใจว่า อุโมงค์ยักษ์ทำงานเต็มที่แล้ว และระบายน้ำได้โดยใช้เวลาไม่ข้ามคืนเหมือนสมัยอดีตผู้ว่า และท้ายที่สุดกทม.ก็ออกมาชี้แจงว่า ศักยภาพการระบายน้ำอุโมงค์ยักษ์พระราม 9 มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท ครอบคลุมการระบายน้ำ 50 ตารางกิโลเมตร เช่น ลาดพร้าว ห้วยขวาง มีนบุรี เท่านั้น หากจะให้กทม.น้ำไม่ท่วม ต้องสร้างอุโมงค์ยักษ์อีก 3 แห่ง ภายใต้งบประมาณทั้งหมด 1.6 หมื่นล้านบาท)
ตลาดนัดจตุจักรที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครมาตลอดหลายปีในสมัยนี้เสียการครอบครองดูแลคืนกลับไปเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย แม้จะมีโครงการสร้างตลาดใหม่รูปแบบเหมือนจตุจักรที่เขตบางบอน แต่จะทำให้โด่งดังเท่าตลาดนัดจตุจักรนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ทั้งปัญหาการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ปัญหาสายไฟและสายสาธารณูปโภครกรุงรัง กำลังดำเนินการนำลงใต้ดินแต่ก็ไม่ทั่ว ซึ่งเข้าใจว่าอยู่นอกเหนืออำนาจ แต่ต้องเร่งประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง
การประสานงานกับรัฐบาล หลายเรื่องยังไม่ราบรื่นหลายโครงการสะดุดล่าช้า เช่น เรื่องการจ่ายเงินเยียวยาผู้เดือดร้อนน้ำท่วม หรือล่าสุดการก่อสร้างสนามบางกอก ฟุตซอล อารีน่า เพื่อการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 ครั้งที่ 7 ก็โยนกันไปมา จนเกิดปัญหาฟีฟ่าไม่ให้ใช้เป็นสนามแข่งขัน โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย และกลายเป็นว่า ผู้ว่ากทม.สร้างสนามนี้ให้คนกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ การดำเนินงานของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยังมีเหตุให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เช่น เรื่องกล้องซีซีทีวีทั่วกรุง ที่กทม. เคยประชาสัมพันธ์ว่ามี 2 หมื่นตัวทั่วกรุงเทพ แต่ถูกโลกออนไลน์เปิดข้อมูลว่า มีกล้องดัมมี่หรือกล้องปลอม มากถึง 500 ตัว ทั่วพื้นที่ ซึ่งในครั้งแรก กทม. ปฏิเสธก่อนยอมรับว่ามีการติดตั้งกล้องดัมมี่จริง เพราะต้องทยอยจัดซื้อกล้อง แต่ก็เป็นไปตามหลักการรักษาความปลอดภัยของสากล ที่ต้องมีกล้องดัมมี่ไว้หลอกตามจุดต่างๆ แต่ภายหลังม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ก็สั่งรื้อกล้องดัมมี่ออกให้หมด และยืนยันว่าจะติดตั้งกล้องจริงให้ครบ 10,000 ตัวภายในปีพ.ศ.2555 ขณะที่การติดตั้งกล้อง ซีซีทีวี 2 หมื่นตัวแรก กรมสอบสวนคดีพิเศษรับไปเป็นคดีพิเศษ เพื่อตรวจสอบการประมูลที่มีมูลค่ากว่า 2,031 ล้านบาท
จากนโยบายหาเสียงสู่นโยบายหลัก ขยายโครงการบีทีเอสให้ครอบคลุม กับกรณีต่อสัญญาจ้างบีทีเอส 30 ปี ก่อนหมดสัญญาจริงในปี 2572 ที่กทม. ใช้งบประมาณ 1.9แสนล้านบาท ที่หลายฝ่ายจับตาว่าเป็นโครงการทิ้งทวนตำแหน่งผู้ว่า คล้ายกรณีจัดซื้อรถดับเพลิงของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าคนเก่า ซึ่งม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โต้กลับว่าทำเพื่อผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายกว่า 6 พันล้านบาท แต่โครงนี้แรงกลายเป็นคดีพิเศษของดีเอสไอ ซึ่งมีการออกหมายเรียกผู้บริหารกรุงเทพ รวมถึงผู้บริหารกรุงเทพธนาคมรวม 11 คน มาชี้แจงข้อกล่าวหาในวันที่ 2 มกราคม 2555 ซึ่งอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งผู้ว่า จนถูกวิจารณ์จากพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง
*************************************
2.พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ (ชื่อเดิม เสรี เตมียเวส) เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2491 ที่จังหวัดธนบุรี เป็นบุตร นายชื้น และ นางอรุณ มีชื่อเล่นว่า "ตู่" สมรสกับ นางพัสวีศิริ (สกุลเดิม เทพชาตรี) มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ น.ส.ศศิภาพิมพ์ , นายทรรศน์พนธ์ และ น.ส.ทัศนาวัลย์
การศึกษา
2510 - 2513 อุดมศึกษา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 24 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
2508 - 2509 เตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนเตรียมทหาร กรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 8 (รุ่นเดียวกับ พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ, พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท, พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม พล.ร.อ.วีรพล วรานนท์ ร.น. , พล.อ.อ. อาคม กาญจนหิรัญ และพล.ต.อ.ปรุง บุญผดุง)
2501 - 2507 มัธยมศึกษา โรงเรียนทวีธาภิเศก กรุงเทพมหานคร
2497 - 2500 ประถมศึกษา โรงเรียนเลิศวิทยา ธนบุรี
ประวัติการทำงาน
2550
- ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- ที่ปรึกษา (สบ10)
2549
- ที่ปรึกษา (สบ10)
2541
- ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
2541
- ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ
2540
- ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
- ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
2538
- รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
2537
- ผู้ช่วยผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ (ทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าตำรวจภาค 2)
- รองผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ (ทำหน้าที่รองหัวหน้าตำรวจภาค 2)
- ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
2536
- ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
2535
- ผู้บังคับการกองวิทยาการ ภาค 3
- ผู้บังคับการตำรวจภูธร 6
- ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 2
2534
- ผู้บังคับการประจำกรมตำรวจ (ทำหน้าที่ข่าวสาร) สำนักงานสารนิเทศ
2533
- ผู้บังคับการกองปราบปราม
2531
- รองผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
2530
- รองผู้บังคับการตำรวจภูธร 2
2529
- ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดชลบุรี
2526
- ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดมุกดาหาร
2525
- รองผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดมุกดาหาร และรักษาการในตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดมุกดาหาร
2522
- สารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
2519
- สารวัตรสถานีตำรวจภูธร อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
- ผู้บังคับกองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
2516
- ผู้บังคับหมวด กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
- หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดนครพนม
2515
- หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการตำรวจภูธรเขต 4 ปฏิบัติการอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
2514
- ผู้บังคับหมวดสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
- ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล
ชีวิต ชื่อเสียง และความสั่นไหวกับการรับราชการตำรวจ
เคยรับราชการอยู่ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ช่วง พ.ศ. 2515-2524 ได้ต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "วีรบุรุษนาแก" และจับกุมข้าราชการระดับสูงในจังหวัด ที่ลงไปเล่นการพนันในเรือกลางลำน้ำโขง
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการกองปราบปราม เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อ พ.ศ. 2533-2534 ขณะ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และต้องพ้นจากตำแหน่ง ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 เนื่องจากสนิทสนมกับ พลตรี มนูญกฤต รูปขจร
นอกจากนี้ เมื่อดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ (ทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าตำรวจภาค 2) ได้จับกุม และดำเนินคดีกับนายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ ผู้กว้างของของจ.ชลบุรี และภาคตะวันออก ในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินทิ้งขยะที่เข้าไม้แก้ว จนศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกกำนันเป๊าะ
ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อจาก เสรี เป็น เสรีพิศุทธ์ เนื่องจากภรรยาป่วย ทั้งพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์และภรรยาจึงเปลี่ยนชื่อเพื่อให้ถูกโฉลกตามความเชื่อ
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มีภาพลักษณ์เป็นนายตำรวจมือปราบที่ซื่อตรง ได้ฉายาว่า "มือปราบตงฉิน" ผู้มีอำนาจในหลายรัฐบาลมักเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ให้เข้ามาสืบสวนสอบสวนคดีอื้อฉาวที่สังคมและสื่อตั้งข้อสงสัย ทำให้ได้รับผลกระทบจากการเมืองบ่อยครั้ง โดยมักถูกโยกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้ควบคุมกำลัง เช่น กองวิทยาการตำรวจ หรือ ประจำกรมตำรวจ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ก็ยังได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ เช่น ผู้บัญชาการตำรจสอบสวนกลาง จเรตำรวจแห่งชาติคนแรก แต่ต่อมาก็ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษา สบ.10 ก่อนจะมารักษาการในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 แทน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ที่ได้รับคำสั่งไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้มีประกาศ ฉบับที่ 1 แต่งตั้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ได้รับการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เมื่อต้นปี พ.ศ.2551 ภายหลังพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ต.อ.ทินกร มั่งคั่ง อดีตนายเวร ที่ถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ปลดออกจากราชการ ลงนามหนังสือร้องเรียนถึงนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้ลงรับหนังสือร้องเรียนทั้ง 3 ฉบับ ไว้พร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 รุ่งขึ้น นายสมัคร ก็ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ฯ ทันที โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าข้ามขั้นตอน ไม่ทำการสืบสวนข้อเท็จจริงตามกฎหมายเสียก่อน และในวันเดียวกันนั้นก็ได้ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ฯ ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รักษาราชการแทน
ต่อมา วันที่ 8 เมษายน ปีเดียวกัน นายสมัครฯ ก็ได้ออกคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 73/2551 ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ออกจากราชการไว้ก่อน โดยที่ยังไม่ทันได้เริ่มทำการสอบสวนใดๆ ทั้งสิ้น และแต่งตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาทฯ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. แทน หลังจากนั้น ในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ได้ทำการแถลงข่าวถึงเรื่องที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยกล่าวว่าตนถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม
จนกระทั่งนายสมัครถูกลุ่มพันธมิตรขับไล่ ยึดทำเนียบรัฐบาล และถูกคำสั่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 กันยายน 2551 ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาทถูกนายอภิสิทธิ์ มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 228/2552 ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2552 ลงโทษปลดออกจากราชการ และยังตกเป็นจำเลยในคดีที่ถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ฟ้องอีกหลายคดี
เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้ยุติการสอบสวน และยกเลิกคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจากราชการไว้ก่อน ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2553
ในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ได้เปิดตัวแสดงเจตนาที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในต้นปี พ.ศ. 2556 ในนาม "กลุ่มพลังกรุงเทพ"
*****************************************
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ