'นิติราษฎร์'แนะแยกปชช.ในพรบ.นิรโทษ ล้างผลพวงรปห.ชำระคดีใหม่รวมทักษิณ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 1 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2152 ครั้ง

การแปรญัติของนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ที่เพิ่มเนื้อหาครอบคลุมผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมมากกว่าร่างแรกของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ซึ่ง ‘เหมาเข่ง’ นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกศาลพิพากษาแล้วหรืออยู่ระหว่างกระบวนการจะหลุดจากพันธนาการทางกฎหมายทันที

เป็นเหตุให้อุณหภูมิทางการเมืองร้อนระอุขึ้นมาทันที ไม่ว่าจากฟากสีแดงหรือฝั่งสีเหลือง รวมไปถึงประชาชนทั่วไป วานนี้ (31 ตุลาคม 2556) กลุ่มนิติราษฎร์นำโดย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล และน.ส.สาวตรี สุขศรี จึงออกแถลงการณ์ความเห็นต่อร่างดังกล่าว ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

นิติราษฎร์ชี้ ร่างนิรโทษวาระ 2 ขัดหลักการร่างกฎหมาย

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับสุดซอยที่ถูกแปรญัติโดยประยุทธ์ มาตรา 3 มีเนื้อหาว่า

‘บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง’

ทางกลุ่มนิติราษฎร์เห็นว่า จากวาระแรกที่นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน แล้วเปลี่ยนเป็นเหมารวมนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่ขัดกับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสภาในวาระที่ 1 เป็นการต้องห้ามตามข้อ 117 วรรคสาม แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2551 ซึ่งทำให้กระบวนการตราพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ห้ามมิให้การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

ยันต้องไม่นิรโทษคนสั่งสลายการชุมนุม-คดี 112 ต้องนิรโทษด้วย

กลุ่มนิติราษฎร์ยังเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับดังกล่าว ยังมีปัญหาที่ติดตามมา 6 ประการคือ

1.การนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม นอกจากจะไม่เป็นธรรมต่อผู้สูญเสียแล้ว ยังขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) การปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรอดพ้นจากความรับผิดเหมือนในอดีตยังจะเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานที่เลวร้ายให้อยู่ต่อไปและสร้างความเคยชินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหาร ในการปฏิบัติต่อประชาชนในลักษณะดังกล่าวโดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับผิดทางกฎหมายในอนาคต

2.การยกเว้นไม่นิรโทษกรรมบุคคลที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองก็ตาม การบัญญัติกฎหมายเช่นนี้ถือว่าขัดหรือแย้งกับหลักแห่งความเสมอภาคที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เนื่องจากหลักดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกัน ให้เหมือนกัน และปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกัน ให้แตกต่างกันตามสภาพของสิ่งนั้น ๆ

3.การนิรโทษกรรมมีผลกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ซึ่งครอบคลุมเหตุการณ์จำนวนมาก มีบุคคลที่อาจได้รับประโยชน์หลายกลุ่มและบุคคลดังกล่าวถูกดำเนินคดีในขั้นตอนที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความซับซ้อน หลายกรณีไม่อาจระบุแน่ชัดได้ว่าบุคคลใดบ้างเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ขณะที่ร่างพ.ร.บ. กำหนดให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย จึงอาจทำให้การวินิจฉัยไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคในชั้นของการบังคับใช้กฎหมายในท้ายที่สุด

4.แม้กระบวนการกล่าวหาบุคคลที่เกิดขึ้น โดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 จะไม่มีความชอบธรรม บุคคลที่ถูกกล่าวหาและถูกพิพากษาว่ามีความผิดสมควรได้รับคืนความเป็นธรรม แต่โดยที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มุ่งนิรโทษกรรมแก่บุคคลที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีสภาพและลักษณะของเรื่องแตกต่างจากการกระทำของบุคคลที่ถูกกล่าวหา โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) การเสนอให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลดังกล่าว ในสภาวการณ์ความขัดแย้งของสังคมขณะนี้ อาจเหนี่ยวรั้งให้การหาฉันทามติในการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้า หรือไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย จึงควรแยกการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมของบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการทำรัฐประหาร ด้วยการลบล้างผลพวงของรัฐประหารตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ก่อนหน้านี้

5.ร่างพ.ร.บ. กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นการนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2547 ถือว่าไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่ 1 ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 และการกำหนดระยะเวลาเช่นนี้ อาจส่งผลให้เหตุการณ์หรือการกระทำความผิดบางอย่าง ที่ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่เกี่ยวเนื่องกับรัฐประหาร ได้รับประโยชน์ไปด้วย

6.การนิรโทษกรรมจะทำให้บุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทำให้รัฐต้องคืนสิทธิให้แก่ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม เช่น คดียึดทรัพย์ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้รับนิรโทษกรรม รัฐมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สิน ซึ่งคณะนิติราษฎร์เห็นว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหานั้น แม้จะมีความชอบธรรมเต็มที่ในการได้รับทรัพย์สินคืน แต่การได้รับคืนทรัพย์สินควรเป็นไปโดยการลบล้างคำพิพากษาตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหารไม่ใช่ด้วยการนิรโทษกรรม

แยกประชาชนออกจากนักการเมือง

นอกจากนี้ กลุ่มนิติราษฎร์ยังมีข้อเสนอแนะว่า

1.ต้องแยกบุคคลที่กระทำความผิดจากเหตุจูงใจทางการเมือง ออกจากบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

2.ต้องไม่นิรโทษกรรมบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุม ไม่ว่าจะในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใด ๆ ตามร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งที่กลุ่มนิติราษฎร์เคยเสนอไว้

3.สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กร ที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้ลบล้างคำพิพากษา คำวินิจฉัย และการดำเนินกระบวนพิจารณาในทุกขั้นตอน ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการทำรัฐประหาร ตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร

4.แต่เพื่อให้การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่กระทำความผิด หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจากเหตุจูงใจทางการเมืองเป็นไปโดยรวดเร็ว ภายใต้ข้อจำกัดที่เป็นอยู่ กลุ่มนิติราษฎร์เห็นว่า การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.บ. จนขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการในวาระที่ 1 จนเกิดปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ. ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงไม่สามารถใช้เป็นฐานการพิจารณาในวาระที่ 2 ได้ สภาผู้แทนราษฎรจึงควรลงมติว่ากระบวนการตรา พ.ร.บ. นี้ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 117 วรรคสาม เพื่อให้ร่างดังกล่าวตก ไป และให้สภาผู้แทนนราษฎรมีมติยกเลิกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดเดิม และตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อเริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ในวาระที่ 2 ใหม่

(อ่านแถลงของนิติราษฎร์ฉบับเต็มได้ที่ http://www.enlightened-jurists.com/blog/83)

ไม่นิรโทษคดี 112 ขัดหลักความเสมอภาค

ดร.วรเจตน์กล่าวว่า การนิรโทษกรรมครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอ้างว่าไม่ทำเช่นนั้นจะขัดกับหลักความเสมอภาค ถือเป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมีสาระต่างจากประชาชนคือเป็นผู้ที่ถืออำนาจรัฐ สาระสำคัญของเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนจึงแตกต่างกัน การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนโดยไม่นิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค

น.ส.สาวตรีกล่าวเสริมว่า โดยระบบกฎหมายปกติเจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีกฎหมายที่ยกเว้นโทษได้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 70 ระบุว่า เจ้าพนักงานหรือบุคคลใดก็ตาม ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นคำสั่งที่ชอบโดยกฎหมาย หากเกิดความเสียหายขึ้นย่อมได้รับการยกเว้นโทษ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องพิสูจน์ตนเองต่อศาลว่าเชื่อเช่นนั้นจริงหรือไม่

            “แต่ชัดเจนอยู่แล้วว่า การสั่งฆ่าพลเมือง อย่างไรเสียก็ไม่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานของรัฐก็ไม่สามารถอ้างอิงมาตรานี้ เพื่อยกเว้นโทษได้ ซึ่งต้องไปพิสูจน์ในศาล”

ส่วนกรณีมาตรา 3 วรรค 2 ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่ระบุว่า การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดร.วรเจตน์กลับเห็นว่า ส่วนนี้ต่างหากที่ขัดกับหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ แม้ทางนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย จะอ้างว่า การกระทำผิดตามมาตรา 112 ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองก็ตาม ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า

            “การนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 หมายความว่าจะมีการนิรโทษกรรมทุกฐานความผิดที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น คนที่ทำผิดฐานทำให้เสียทรัพย์จะได้รับการนิรโทษกรรมมีมูลเหตุจากความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น เงื่อนไขคือฐานความผิดต้องเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าบอกว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าไม่เกี่ยวการเมือง ถ้ายังไม่มีการพิสูจน์ แบบนี้เท่ากับจะนิรโทษกรรมทุกฐานความผิด ยกเว้น 112 เพราะอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการเมืองก็ได้ แต่ถ้าเกี่ยว แล้วทำไมจึงไม่นิรโทษกรรมให้ แบบนี้ถือว่าขัดกับหลักความเสมอภาคแน่ๆ”

หวั่นถอยถึงปี 47 อาจนิรโทษคลุมถึงกรณีกรือเซะ-ตากใบ

ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า เหตุใดจึงต้องเปลี่ยนระยะเวลาการนิรโทษกรรมจากวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึง วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เป็นครอบคลุมตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ซึ่ง ดร.ปิยบุตร อ้างการตั้งข้อสังเกตของนายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา ว่า อาจเกี่ยวข้องกับกรณีเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกรณีกรือเซะและตากใบในปี 2547

อย่างไรก็ตาม ดร.ปิยบุตรกล่าวว่า การย้อนเวลากลับไปครอบคลุมหลังวันที่ 19 กันยายน 2547 ก็ถือว่าขัดกับหลักการในวาระแรก ที่สำคัญเวลาที่ครอบคลุมเกือบ 10 ปี ซึ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย อาจทำให้บางเหตุการณ์ที่ผู้ร่างไม่ต้องการให้เกิดการนิรโทษกรรม กลับได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย

นิรโทษกรรมต้องแยกประชาชนให้ชัด

ส่วนแนวทางการนิรโทษกรรมของกลุ่มนิติราษฎร์ คือการเสนอร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง ซึ่งเสนอไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2556 ที่สามารถดำเนินการได้ทันที โดยประเด็นสำคัญของร่างนี้จะมีการแยกกลุ่มบุคคลอย่างชัดเจน คือจะนิรโทษกรรมผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองและกระทำผิดโดยมีเหตุจูงใจจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

น.ส.สาวตรีกล่าวว่า กลุ่มนิติราษฎร์แยกประชาชนออกเป็น 4 กลุ่มคือ คนที่มีความผิดไม่ว่าจะเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ในฐานฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในพระราชอาณาจักร พ.ศ.2551 กลุ่มนิรโทษกรรมโดยทันที ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใดของกระบวนการยุติธรรม

กลุ่มที่ 2 ผู้ที่เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมในพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และมีการกระทำความผิดทางอาญา หากเป็นความผิดลหุโทษให้ได้รับนิรโทษกรรมทันที

กลุ่มที่ 3 คือผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมในพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แล้วกระทำความผิดที่ไม่ใช่การทำผิด พ.ร.ก. และไม่ใช่ความผิดลหุโทษ แต่เป็นความผิดอาญาที่มีโทษสูง เช่น เผาทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย กลุ่มนี้จะยังไม่ได้รับการนิรโทษกรรมโดยทันที แต่จะได้นิรโทษก็ต่อเมื่อได้พิสูจน์แล้วว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

กลุ่มที่ 4 คือผู้ที่ไม่ว่าจะเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ก็ตาม แต่มีการกระทำความผิดขึ้นและถูกกล่าวหา โดยมีข้อสงสัยว่ามีเหตุจูงใจทางการเมือง ในที่นี้อาจเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยไม่ต้องมีการลงมือกระทำ กลุ่มนี้อยู่ในข่ายที่อาจได้รับการนิรโทษกรรม โดยต้องพิสูจน์ว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ แต่ต้องไม่ขัดกับพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ลงนามหรือให้สัตยาบันไว้

             “ถามว่าทำไมเราจึงรวมแกนนำด้วย เราก็ถามกลับว่า แกนนำหมายถึงใคร นิยามได้หรือไม่ หรือหมายถึงแค่คนที่เดินขึ้นไปบนเวที เรามองว่าแยกให้ชัดได้ยาก เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนเราจึงไม่ได้แยกไว้ แต่เน้นหนักที่มูลเหตุจูงใจทางการเมืองเป็นหลัก”

และเหตุที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้มีการนิรโทษกรรม โดยเสนอเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการนิรโทษกรรมครั้งนี้มีความสลับซับซ้อนมากกว่าครั้งอื่น ๆ มีการปล่อยทอดเวลาให้ยาวออกไป ทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีหลายคนอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการยุติธรรม การจะนิรโทษกรรมรวมโดยไม่จำแนกอาจไม่เหมาะสม จึงควรทำเป็นรัฐธรรมนูญ เพราะเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ. อาจถูกตีตกในสภา อีกทั้งกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญก็มีแนวโน้มจะเร็วกว่าการออก พ.ร.บ.

อีกเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญ เพราะนิติราษฎร์เสนอให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยความขัดแย้ง โดยเป็นผู้พิจารณาว่า บุคคลที่จะได้รับนิรโทษกรรมนั้นมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ คณะกรรมการกลุ่มนี้จึงมีอำนาจเสมือนหนึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจเสมือนศาล เพราะคำวินิจฉัยผูกพันศาลและองค์กรอื่น ถ้าออกเป็น พ.ร.บ. แล้วมีองค์กรที่มีอำนาจเหนือกว่าหรือเท่ากับศาล ผลคือ พ.ร.บ. ฉบับนั้นจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

วรเจตน์ชี้นิรโทษกรรมสุดซอย ไม่สามารถดำเนินคดีทักษิณตามกระบวนการปกติอีกครั้งได้

ส่วนกรณีคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลุ่มนิติราษฎร์เคยเสนอว่า ให้ใช้เสียงประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อชี้ลงไปที่ใจกลางของปัญหา โดยยกเลิกมาตรา 37 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ทำให้เกิดการเสียเปล่าไปเสมือนหนึ่งไม่เคยมีตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้สามารถนำผู้กระทำรัฐประหารมาลงโทษได้ ซึ่งมาตราดังกล่าวระบุว่า

‘บรรดาการกระทําทั้งหลายซึ่งได้กระทําเนื่องในการยึดและควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทําของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือของผู้ซึ่งได้รับคําสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทําไป เพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทําดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าเป็นการกระทําเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทําอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทําในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทํา หรือผู้ถูกใช้ให้กระทํา และไม่ว่ากระทําในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง’

ดร.วรเจตน์กล่าวอีกว่า แม้จะลบล้างคำพิพากษาซึ่งเป็นผลพวงของรัฐประหาร และคืนเงินที่ยึดมาให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว แต่การลบล้างเช่นนี้ยังเปิดโอกาสให้รัฐสามารถกลับไปดำเนินคดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ ถ้าเห็นว่าควรต้องมีการดำเนินคดี แม้จะมีประเด็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เคยถูกดำเนินคดีไปแล้วจะดำเนินคดีซ้ำได้หรือไม่ แต่กรณีนี้ ดร.วรเจตน์ เห็นว่าสังคมต้องเลือกระหว่างการนิรโทษกรรมไปเลยโดยทำอะไรไม่ได้หรือจะเปิดโอกาสให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้อีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่การออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมพ.ต.ท.ทักษิณ แม้ว่าในทางพื้นฐานแล้วสามารถทำได้ ดร.วรเจตน์ ก็ตั้งคำถามว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะเมื่อนิรโทษกรรมแล้วการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะพ้นผิดโดยสิ้นเชิง และไม่สามารถดำเนินคดีใหม่ได้อีก เพราะจะเป็นการฟ้องซ้ำ

 

ขอบคุณภาพแถลงข่าวจาก ประชาไท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: