แนะปรับระบบประกันสังคม ลดความเหลื่อมล้ำต่างด้าว

1 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1960 ครั้ง

คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม (คปก.) ร่วมกับ คณะทำงานติดตามประกันสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (MWG) และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ประกันสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ มองมุมไหนในมิติ AEC”

ต่างด้าวถูกนายจ้างโกงเงินประกันสุขภาพ

นายบัณฑิต แป้นวิเศษ คณะกรรมการปฏิบัติการเครือข่ายเพื่อแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลตัวเลขแรงงานข้ามชาติ 3  สัญชาติ (พม่า ลาว กัมพูชา) ที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฏหมาย โดยการบันทึกของสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ประมาณ 977,195 คน ในขณะที่ตัวเลขของกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เดือนกรกฎาคม 2555  และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มีตัวเลขแรงงานข้ามชาติ 3  สัญชาติ ประมาณ 1.3 ล้านคน ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้อง ประมาณการว่า มีจำนวนแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ที่ทั้งจดทะเบียน และไม่จดทะเบียน ไม่น้อยกว่า 2-3 ล้านคนทั่วประเทศ

นายบัณฑิตกล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการพัฒนารูปแบบกลไก เพื่อการเข้าถึงหลักประกันทางสังคม ที่เหมาะสมสำหรับแรงงานข้ามชาติ และองค์กรภาคีเครือข่าย ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับแกนนำสหภาพแรงงาน และแกนนำแรงงานข้ามชาติ พบว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม เนื่องจากนายจ้างบางรายไม่ยอมแจ้งนำลูกจ้างเข้าประกันสังคม แต่มีการหักเก็บเงินค่าจ้างลูกจ้างไปแล้วอ้างว่าจะนำเงินส่งประกันสังคมให้ หรือกรณีการเข้าไม่ถึงข้อมูลในด้านการใช้สิทธิ และช่องทางการไปใช้สิทธิประกันสังคม ทำให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นสมาชิกประกันสังคมส่วนใหญ่ จะไปหาซื้อยาตามร้านขายยา หรือไปรักษาที่คลินิกใกล้สถานที่พักของตนเอง

นอกจากนี้จากการเปิดเผยข้อมูลของนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุว่า แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว จะต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมในปีแรก คือปี 2553 แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2555 สำนักงานประกันสังคมระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพียง 217,927 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนสถิติตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด

ประกันสุขภาพคิดเพื่อคนไทยไม่เหมาะแรงงานต่างด้าว

นายบัณฑิตกล่าวว่า สาเหตุที่แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อย เนื่องจากระบบประกันสังคมถูกออกแบบมาใช้สำหรับพลเมืองไทย ที่ต้องได้รับการคุ้มครองในระหว่างการทำงานจนถึงวัยชรา หรือหลังเกษียณอายุในการทำงาน แต่กลุ่มแรงงานข้ามชาติอยู่อาศัยทำงานได้เพียง 4 ปี ต้องเดินทางกลับประเทศตนเอง ตามเงื่อนไขนโยบายรัฐเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ และกฎหมายแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2551 ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติ เข้าไม่ถึงการใช้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม ตามมาตรา 33 ของกฎหมายประกันสังคม เช่น สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล, ลาคลอด, เงินสงเคราะห์บุตร, ชดเชยการขาดรายได้, การประกันการว่างงาน, และบำนาญชราภาพ อีกทั้งปัจจุบันมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ... ที่เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมวาระ 1 ไปสู่วาระ 2  และ 3  โดยทั้งนี้มีมาตราที่น่าเป็นห่วง และมีผลต่อการปรับสิทธิประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติในอนาคต รวมถึงการเกี่ยวร้อยต่อนโยบายรัฐบาลที่จะนำแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองทำงานแบบถูกกฎหมาย และได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมในมิติประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

แนะปรับนโยบายให้เหมาะกับต่างด้าวรับเออีซี

ดังนั้นคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม ในนามคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมกับคณะทำงานติดตามประกันสังคม ที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ เห็นความจำเป็นที่จะทำงานติดตามต่อเนื่อง และเพื่อสร้างทางเลือก โดยอาศัยข้อมูลเชิงปรากฏการณ์ด้านสถานการณ์ปัญหาเชิงลึก และการสร้างเสริมรูปแบบกลไกการเข้าถึงสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับนโยบาย และกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องจากพื้นที่สู่นโยบาย ในทางปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน สู่การรณรงค์ปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายประกันสังคม ในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) 2558 อีกด้วย

จวกรัฐเรียกเก็บไม่มีเงื่อนไข แต่ตอนจ่ายกลับมีเงื่อนไข

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างถูกฎหมายทุกคน ควรจะได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากตอนเราเรียกเก็บเงินประกันสังคมเราเรียกเก็บแบบไม่มีเงื่อนไข แต่ทำไมเมื่อเราจะจ่ายเงินประกันจึงมีเงื่อนไขและข้อจำกัด นอกจากนี้การเข้ามาเป็นผู้ประกันตน น่าจะมีสิทธิตั้งแต่วันแรกที่จ่ายเงินไป ตนได้เสนอให้มีการปรับระยะเวลาในการใช้สิทธิประโยชน์ให้เริ่มต้นหลังจากเข้าเป็นผู้ประกันตนได้เลย ทั้งนี้จะเป็นผลดีต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีพ.ศ. 2558 เหมือนบริษัทเอกชนที่ทำประกันชีวิต แล้วได้รับความคุ้มครองตั้งแต่วันแรก แต่เงินประกันสังคมกว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับสิทธิครอบคลุมจะต้องใช้เวลา 1-3 เดือน หลังจากที่ได้จ่ายเงินไปแล้ว ซึ่งแรงงานในประเทศอาเซียนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ซึ่งจะทำให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นประเทศไทยควรมีมาตรการ ในการรองรับแรงงานเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบเหมาช่วงหรือเอ้าท์ซอส ประกันสังคมยังไม่ได้เข้าไปดูแลแรงงานในส่วนนี้ เมื่อเรารู้ปัญหาแล้ว เราก็ควรจะต้องรีบแก้ไข ทั้งนี้ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพก็ควรเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติโดยรัฐจะต้องพิจารณารับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87และ 98 ที่อนุญาตให้แรงงานมีสิทธิรวมตัว เพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ หากถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ไม่ใช่ต้องทนยอมรับสภาพเหมือนในปัจจุบัน

ชี้ต้องไม่เลือกปฏิบัติเรื่องการเข้าเมือง

นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ตัวแทนจากมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า ปัญหาของแรงงานข้ามชาติกับการเข้าถึงสิทธิประกันสังคมยังมีการเลือกปฏิบัติ และไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้เหมือนลูกจ้างไทย เนื่องจากนายจ้างจะรับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนโดยตรงแก่แรงงานข้ามชาติ เฉพาะรายที่ประสบอันตราย ทั้งนี้ประกันสังคมได้ระบุเป็นนโยบายว่า จะดูแลแรงงานข้ามชาติ เฉพาะในส่วนของแรงงานที่เข้าเมืองที่ถูกกฎหมาย และแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วเท่านั้น ซึ่งตนเห็นว่านโยบายดังกล่าวขัดแย้งกับกฎหมายประกันสังคม ซึ่งให้การดูแลลูกจ้างทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเชื้อชาติและอื่น ๆ จึงอยากให้ประกันสังคมทบทวนนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งผลกระทบจากนโยบายเห็นได้ชัดคือ กรณีการทำงานและส่วนใหญ่มักเป็นกรณีบาดเจ็บสาหัส และต้องมีการร้องเรียนถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ต้องออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทน แต่นายจ้างบางรายนั้นก็ยังเกลี้ยกล่อมต่อรองจ่ายเงินทดแทนให้แรงงานข้ามชาติน้อยและล่าช้ากว่าที่กฏหมายกำหนดไว้

นอกจากนี้ตนเห็นว่า ควรมีการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมเนื่องจากเป็นการออกแบบสำหรับผู้ประกันตนที่เป็นคนไทยเท่านั้น ซึ่งในการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมนั้น การให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติกรณีเจ็บป่วย ควรเป็นความรับผิดชอบตามสิทธิประโยชน์ของสำนักงานประกันสังคมเช่นเดิม รวมถึงกรณีค่าชดเชยในการเจ็บป่วย รวมถึงกรณีของการคลอดบุตร แต่ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมควรจะเลือกทำสัญญากับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้รูปแบบการบริการแบบประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการดูแลด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมไม่ได้ครอบคลุมในส่วนนี้ ส่วนสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ทางเครือข่ายเห็นพ้องกับข้อเสนอของรัฐบาลที่จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 77 ทวิ ซึ่งจะให้แรงงานข้ามชาติสามารถขอรับเงินบำเหน็จในกรณีที่สิ้นสุดสัญญาจ้างและต้องการกลับประเทศต้นทาง ไม่ต้องรอให้อายุครบ 55 ปี

ปรับกฎหมายให้เท่าเทียมทั้งแรงงานไทย-ต่างด้าว

ขณะที่ นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายประกันสังคมในประเทศไทย ที่บังคับใช้ทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติพันกันเหมือนงูกินหาง สิ่งสำคัญคือ เราควรพูดคุยกันในเรื่องเงื่อนไขของการปรับแก้กฎหมาย ที่จะสามารถรองรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กฎหมายเราจะต้องทำให้ทุกคนที่เป็นแรงงานในประเทศอาเซียน ได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน โดยยึดหลักของมาตรฐานสากลซึ่งขณะนี้ก็เหลือระยะเวลาอีก 3 ปี ทุกประเทศก็จะเปิดประเทศอย่างเสรี เราจึงควรใช้เวลานี้ในการปรับแก้กฎหมายให้รองรับกับทุกสถานการณ์ของแรงงานดีกว่าต้องมานั่งแก้ใหม่หลังจากเปิดเสรีอาเซียนแล้วเพราะจะทำให้เกิดความยุ่งยาก

ด้านนายดร.อารักษ์ พรหมมณี รองเลขาธิการประกันสังคมกล่าวว่า ตามหลักการของประกันสังคมจะให้ความคุ้มครองกับแรงงานในระบบ ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาคือแรงงานนอกระบบ ที่จะต้องมาพิจารณาว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้าถึงสิทธิได้อย่างไร และได้รับการดูแลอย่างไร ทั้งนี้ปัจจุบันแรงงานนอกระบบก็กำลังจะกลายเป็นแรงงานในระบบ ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานขึ้นทะเบียนประกันสังคมแล้ว 342,236 คน จากแรงงานทั้งหมด 1,500,000 คน และในส่วนที่เหลือก็กำลังอยู่ในระหว่างการบริการจัดการ อย่างไรก็ตามประกันสังคมมีแนวคิดที่จะสร้างการปฏิบัติที่มีความเท่าเทียม แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่มีความเหมาะสม และต้องดูเงื่อนไขของการทำงานและระยะเวลาในการพำนักในประเทศไทย รวมถึงจะต้องสร้างข้อตกลงในเรื่องสิทธิประกันสังคมกับกลุ่มอาเซียน ซึ่งถ้าเรามีข้อตกลงได้ เรื่องการเปิดเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: