บทวิเคราะห์ : รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขาลง ต่อจากนี้เป็นของจริง

กานต์ ยืนยง 1 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3925 ครั้ง

 

 

การปรับครม. ครั้งนี้เป็นการปรับครม. ครั้งใหญ่ไม่ใช่การปรับเฉพาะจุดที่มีปัญหา แถมยังเป็นการปรับเร็วกว่ากำหนดจากเดิมที่ว่ากันว่าจะมีการปรับหลังจากเปิดประชุมสภาฯ สมัยสามัญทั่วไปในเดือนสิงหาคม เมื่อเป็นเช่นนี้การปรับ ครม. ครั้งนี้ รัฐบาลไม่ใช่คนกำหนดเกมแต่กลับต้องกลายเป็นฝ่ายรับมือ ไม่ว่ารัฐบาลจะประเมินว่ากระแสผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านเริ่มไต่ขึ้นสู่กระแสสูงก็ดี หรือความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเริ่มเสียหายจากการที่รัฐบาลไม่สามารถอธิบายเรื่องโครงการรับจำนำข้าวได้อย่างชัดเจนเพียงพอก็ตามที

            ความจริง ถ้าเปรียบเทียบกับสถานการณ์ช่วงวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เมื่อสองปีก่อน วิกฤตครั้งนั้นหนักหนากว่ามาก การตอบสนองของรัฐบาลก็เรียกได้ว่าเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำอยู่หลายครั้ง ส่วนการชุมนุมใหญ่ของเสธ.อ้าย และกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามเมื่อปีกลาย ถ้าอ่านแผนการระหว่างบรรทัดแล้วก็ต้องมองว่าเป็นการชุมนุมที่คาดการณ์ไปถึงผลได้ผลเสีย แต่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ก็เอาตัวรอดมาได้ทั้งสองครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นผู้นำฝ่ายค้านอย่างคุณอภิสิทธิ์เองนอกจากถูกเล่นงานเรื่องคดีความก็ยังต้องถือว่าเสียการเมือง จากคำให้สัมภาษณ์ของเขาที่ทำได้ไม่ดีนักในกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ BBC อีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            ถ้าพิจารณากันให้ดีตัวแปรรายรอบรัฐบาลในปีนี้ก็แทบไม่ต่างไปจากสองปีก่อน สไตล์การบริหารงานของคุณยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากเดิมมากมาย คนกลุ่มไหนที่ไม่ชอบรัฐบาลก็ยังคงไม่ชอบรัฐบาลต่อไปด้วยเหตุผลเดิม ส่วนคนกลุ่มไหนที่ยังสนับสนุนรัฐบาลก็ยังสนับสนุนรัฐบาลกันต่อไปด้วยเหตุผลเดิม แต่ที่สถานการณ์เปลี่ยนไปจนทำให้รัฐบาลต้องตั้งรับขนาดนี้ ก็คงสามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีสาเหตุอยู่สองสามประการ ประการแรกอาจเป็นเพราะว่าระยะเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ของรัฐบาลหมดไปแล้ว (เป็นจริงที่ว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใด ก็จะมีเวลาที่ปลอดจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งตอนต้นของการบริหารงานใหม่ ๆ รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ดูจะมีช่วงระยะเวลาตรงนี้ยาวนานเป็นพิเศษแถมคร่อมข้ามมาถึงช่วงวิกฤติใหญ่ช่วงน้ำท่วมด้วยซ้ำไป) ส่วนสาเหตุประการที่สองเมื่อมองจากปัจจัยภายนอกรัฐบาลก็อาจเป็นเพราะว่า กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเริ่มรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นมากขึ้น การชุมนุมแสดงพลังแม้จะยังมีน้ำหนักไม่มาก แต่เริ่มมีแนวโน้มที่จะรวมคนได้เพิ่มมากขึ้นทุกที ที่สำคัญการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลมีลักษณะต่างออกไปจากการชุมนุมสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ หรือรัฐบาลคุณสมัคร-คุณสมชาย ที่มีการนำจากแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างชัดเจน แต่การชุมนุมครั้งนี้มีลักษณะที่เกือบเรียกได้ว่า “เป็นไปเอง” และ “ไร้การนำ” คนเหล่านี้ทำการสื่อสารรวมตัวกันผ่านสื่อทางสังคม (social media) ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ชมที่เฝ้ามองภายนอกแม้จะได้ยินข่าวลือ(ที่ให้ข่าวโดยคุณเฉลิม) กันว่าพรรคฝ่ายค้านบ้าง นายทุนเก่าบ้าง หรือแม้แต่กลุ่มผู้ชุมนุมในชุดใหม่นี้อันที่จริงก็เป็นคนกลุ่มเดิมๆ แต่ด้วยการชุมนุมแบบ “ไร้การนำ” นั่นเอง ก็ทำให้ผู้ชมที่เฝ้ามองเหล่านั้นเชื่อได้อย่างสนิทใจว่าคนเหล่านี้มาชุมนุมกันด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ไม่ได้มีผลประโยชน์แอบแฝงอะไร กลายเป็นมองว่าสิ่งที่คุณเฉลิมพยายามจะเปิดโปง เป็นเพียงการบลัฟหรือการใส่ร้ายไปเสียอีก

            แต่ประการที่สำคัญจริง ๆ ที่ผมจะเน้นในบทความนี้ เห็นจะได้แก่ การที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์พ่ายแพ้ไปแล้วในสงครามระหว่างมันสมอง ไม่ใช่ในแนวรบด้านการเมืองเพราะรัฐบาลโดยอาศัยปัญญาชนที่เห็นใจกลุ่มคนเสื้อแดง และบรรดาแกนนำ นปช เองก็ดี คนเหล่านี้ยังทำหน้าที่ในการผลิตวาทกรรมทางการเมืองตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามได้ดี (ความจริงต้องมองว่าฝ่ายค้านเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำด้วยซ้ำ) แต่เป็นในแนวรบด้านเศรษฐกิจ ถ้าดูจากผลการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์[2] จะเห็นว่าไม่มีรัฐมนตรีคนไหนในรัฐบาลได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งสักคน ตัวคุณยิ่งลักษณ์เองได้คะแนนเพียง 3.66 คะแนน คุณบุญทรง อดีต รมว.พาณิชย์ยิ่งแล้วใหญ่ได้คะแนนต่ำที่สุดเพียง 2.50 คะแนน ในขณะที่เมื่อเทียบกันแล้ว คุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คะแนนถึง 7.11 คะแนน

 

 

 

            ธนาคารแห่งประเทศไทยบริหารงานได้ดีหรือเปล่าเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานตัวเลขขาดทุนจากผลอัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงิน[3] (นี่เป็นตัวเลขขาดทุนจริง ๆ ไม่ใช่มีลักษณะงบประมาณเพื่อการอุดหนุนหรือ Subsidy ซึ่งผมจะพูดถึงต่อไปข้างล่าง) ในระดับ 6 แสนล้านบาท – 8 แสนล้านบาท จากการทำการดูดซับดอลลาร์ (Sterilization)[4] โดยไม่มีคำถาม ไม่มีข้อสงสัยจากผู้สื่อข่าวเลยแม้แต่น้อยก็เป็นเรื่องที่น่าโชคดีอย่างผิดสังเกต ถ้าไม่คิดว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนนี้เอง ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายผิดพลาดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนเป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้เศรษฐกิจต้องตกต่ำครั้งใหญ่[5]

            ในความเป็นจริงหัวหอกที่ออกมาโจมตีรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจก็ต้องถือว่าเป็นสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ TDRI เมื่อไม่นานมานี้ คุณอัมมาร สยามวาลา ออกมาอภิปรายว่า "นโยบายรับประกันราคา มีข้อดีคือทำให้กลไกตลาดทำงานอย่างเต็มที่"[6]

            ซึ่งผมรู้สึกมีปัญหาและงงกับตรรกะของคุณอัมมารในเรื่องนี้ คือไม่ว่าจะเป็นนโยบายรับประกันราคา (นโยบายประกันราคาพืชผล) หรือนโยบายรับจำนำข้าว ต่างก็จัดอยู่ในนโยบายที่เรียกว่า Subsidy ทั้งคู่ ต่างกันตรงที่ว่า การรับประกันราคาจะจ่ายเงินเฉพาะส่วนต่างตรงไปให้เกษตรกร ส่วนการรับจำนำข้าวจะรับซื้อข้าวทั้งหมดในราคาที่กำหนดไว้[7]

            การรับประกันราคาก็มีผลบิดเบือนกลไกตลาดเหมือนกันคือ มีแนวโน้มที่จะทำให้พ่อค้าคนกลางรวมหัวกันกดราคารับซื้อจากชาวนาในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะรู้ว่าถึงอย่างไรชาวนาก็ขายข้าวให้อยู่แล้ว และชาวนาก็คาดหวังว่าจะไปรับเงินส่วนต่างนั้นจากรัฐบาล ยิ่งกดราคาข้าวต่ำลงเท่าไหร่ พ่อค้าคนกลางก็ยิ่งไประบายข้าวในตลาดโลกง่ายขึ้น เพราะต้นทุนในมือของตนถูกกว่าคู่แข่งในประเทศอื่น (ในแง่นี้หมายถึง รัฐบาลนอกจากจะอุดหนุนชาวนา แล้วยังอุดหนุนพ่อค้าคนกลางให้ขายข้าวราคาถูกในตลาดโลกอีกต่างหาก)

            นอกจากนี้ปัญหาการทุจริตจะถูกผลักมาอยู่ที่ชาวนากับผู้ตรวจสอบ คือมีแนวโน้มที่ชาวนาจะแจ้งผลผลิตเกินจริง คืออาจจะแจ้งว่ามีที่นาอยู่ 10 ไร่ แต่มีผลผลิตไม่ถึง 10 ไร่ ในทางปฏิบัติก็ต้องมีการสุ่มตรวจสอบ และก็เป็นไปได้ที่ตรงนี้เป็นช่องทางการทุจริต คือคนตรวจอาจจะรู้เห็นเป็นใจกันกับชาวนาแล้วแบ่งผลประโยชน์กัน วิธีแก้ที่เขาได้ทำการเสนอมา เท่าที่ผมพอจะทราบคือ เขาก็พยายามใช้ดาวเทียมธีออส ตรวจจับพื้นที่เพาะปลูกว่ามีการปลูกพืชชนิดที่กำหนดในโครงการรับประกันจริงหรือไม่ แล้วคำนวณกลับมาเป็นผลผลิตต่อไร่ เพื่อชดเชยราคารับประกันที่เป็นส่วนต่างให้เกษตรกรอีกที แต่ข้อมูลที่มีในขณะนี้ดาวเทียมก็ไม่สามารถแยกแยะพืชผลได้ถูกต้องพอ ทะเบียนการจดจำนองพื้นที่ก็มีปัญหา มีช่องโหว่ในการทุจริตอีกมาก

            ทั้งสองเรื่องนี้เป็น Deadweight loss ในแง่นโยบายทางเศรษฐกิจแน่ ๆ ถ้าพูดแรง ๆ ก็ต้องบอกว่า คุณอัมมารพูดโกหกหรือบิดเบือนในแง่นี้

            ถ้าคุณอัมมารยึดถือเรื่องกลไกตลาดเป็นตัวตั้งจริง ต้องปฏิเสธนโยบายประเภท Subsidy ทุกประเภท เหมือนเปเปอร์ฉบับนี้

 

Herein lies the logic behind the World Bank policy prescription: removal of subsidies. In this world, subsidies are a form of market distortion which leads to a misallocation of resources and a reduction in social welfare.[8]

 

 

            ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายถึงว่า นโยบายรับจำนำข้าวจะไม่มีปัญหา อย่างที่ทราบกันในช่องทางทุจริต ที่สื่อมวลชนตีแผ่กันมากยิ่งกว่าสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ตัวอย่างเช่น การเปิดเผยตัวเลขผลการดำเนินงานของโครงการเป็นรายปีให้ตรวจสอบต่อสาธารณะอย่างในรัฐบาลนี้ ไม่ปรากฏในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์มาก่อน นอกจากนี้ก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณที่ใช้ (หมายถึงงบหมุนเวียนที่ใช้รับซื้อข้าวเปลือกทั้งหมดจากชาวนา) ก็มากกว่านโยบายประกันราคาฯ และต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องโกดัง และการบริหารจัดการ รวมถึงการระบายข้าวออกไปอีก นโยบายประกันราคาฯ ถูกออกแบบมาให้แก้จุดอ่อนเรื่องนี้ของนโยบายรับจำนำข้าว

            แต่อย่างที่พูดไปข้างต้นแล้วว่า นโยบายประกันราคาฯ จะทำให้ราคาตลาดไม่ไปไหน กลับมีแนวโน้มทำให้ราคาตลาด (ภายในประเทศ) ตกลงเสียอีก นโยบายรับจำนำข้าวมองเกมใหญ่กว่านั้น คือต้องการยกระดับราคาข้าวในประเทศ ซึ่งมีผลทันทีเพราะรัฐบาลเป็นผู้แทรกแซงรายใหญ่ แต่มองเกมถัดไปคือการยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก

            ราคาอาหารในตลาดโลกซึ่งก็รวมถึงข้าว มีแนวโน้มสูงขึ้นแน่ ๆ ในอนาคต ถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า กำลังผู้บริโภคที่เป็นประชากรโลกที่มีฐานะยากจนจะได้รับการปรับปรุงให้พ้นขีดความยากจนมากขึ้นทุกวัน เพียงแต่ในช่วงนี้ที่ราคาอาหารในตลาดโลกไม่ขยับไปไหนก็เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัว[9] รวมถึงการเจรจาเรื่องการรวมกลุ่มประเทศผู้ผลิตข้าวส่งออก (OREC) ก็ยังไม่คืบหน้า[10] แต่ในอดีตราคาข้าวเคยปรับตัวสูงขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว

 

 

 

 

 

กราฟราคาข้าวในตลาดโลก[11]

 

            อันนี้เป็นความเสี่ยงแน่ ๆ แต่ถ้าประสบความสำเร็จ ก็ต้องบอกว่าเป็นการแก้ปัญหาได้ยั่งยืนกว่า การประกันราคาฯ ซึ่งต้องบอกว่าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมหรือการกำหนดราคาของผู้มีอำนาจเหนือตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า โอกาสจะแก้ปัญหาระยะยาวไม่มีและกลายเป็นการสนับสนุนงบประมาณแบบไม่รู้จบ เวลามองนโยบายรับจำนำข้าว จึงต้องมองเป็น Package มองเฉพาะตัวนโยบายนี้อันเดียวไมได้ และเมื่อมองถึงเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในระยะยาว ผมจึงเห็นไปในทางสนับสนุนนโยบายรับจำนำข้าว

            ถ้าในเมื่อทั้ง นโยบายการประกันราคาฯ และนโยบายการรับจำนำข้าว เป็น Subsidy ทั้งคู่ มีปัญหาเรื่อง deadweight loss ทั้งคู่ แต่มีเหตุผลเพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกรทั้งคู่ ดังนั้นความชอบธรรมของนโยบายทั้งสองนี้จึงต้องอยู่ที่การตัดสินจากการสนับสนุนของสาธารณะ โดยผ่านกลไกการเลือกตั้ง

            แต่ก็ต้องมีการขีดข้อจำกัดของการใช้นโยบายประเภทนี้เหมือนกัน ซึ่งก็กลับมาที่การควบคุมผ่านกรอบวินัยทางการคลัง คือต้องกำหนดไปเลยว่าในแต่ละนโยบายประเภทนี้มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ต่อสัดส่วนของงบประมาณทั้งหมด และในระยะยาวก็ต้องควบคุมงบประมาณรายจ่ายจะต้องสมดุลกับงบประมาณรายได้ และควบคุมหนี้สาธารณะไม่ให้เกินเพดานที่ตั้งไว้ (เช่น 50-60% ของ GDP เป็นต้น)

            อันที่จริงน่าสงสัยอยู่ว่าที่ TDRI เกาะติดเรื่องนี้เพราะ TDRI ไปสนับสนุนนโยบายประกันราคาของพรรคประชาธิปัตย์ (หรืออันที่จริงคือให้คำแนะนำกับพรรคประชาธิปัตย์ในนโยบายเรื่องนี้และลงไปดำเนินนโยบายเอง) ดังคำอธิบายของ ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง ในเรื่องนี้ “เอาเข้าจริงแล้ว ผมคิดว่านโยบายใดๆ ก็ตามที่พยายามใช้วิธียกระดับราคาข้าว หรือราคาสินค้าต่างๆ ให้สูงกว่าราคาตลาดโลก ในขณะที่เรายังดำรงฐานะเป็นผู้ส่งออก และยังส่งออกจำนวนมาก มันสร้างปัญหาในระยะยาวทั้งนั้น แม้กระทั่งนโยบายที่ใช้ในยุคพรรคประชาธิปัตย์ซึ่ง TDRI มีส่วนไปทำนโยบายให้”[12]

            การคัดค้านของ TDRI ในช่วงหลังมีการจัดติวให้กับผู้สื่อข่าวด้วย[13] เมื่อมีข้อมูลตัวเลขการขาดทุนของนโยบายการรับจำนำข้าวของคณะอนุกรรมการปิดโครงการ รับจำนำข้าวที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน หลุดออกมาเผยแพร่ที่สื่อ และต่อมาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ได้ใช้ตัวเลขดังกล่าวตั้งข้อสงสัยเรื่องวินัยการคลังของรัฐบาลโดยถึงกับบอกว่าอาจจะปรับอันดับตัวเลขความน่าเชื่อถือลง (แต่ต่อมาให้ข่าวปฏิเสธ)[14] จนนำไปสู่การที่ต้องมีการโยนเรื่องไปมาระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ และกลายมาเป็นการปรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกอย่างที่เรารับทราบกันอยู่ แต่น่าสงสัยเหมือนกันว่า TDRI จัดติวผู้สื่อข่าวแบบนี้ในสมัยพรรคประชาธิปัตย์ด้วยหรือไม่ เพราะในท้ายที่สุดมันก็จะมาตรวจสอบพวกเขาเองด้วยเหมือนกัน

            ดูเหมือนคุณทักษิณจะมีสังหรณ์เกี่ยวกับความสำคัญของแนวรบด้านเศรษฐกิจ และปัญหาจากสถาบันวิจัยเชิงนโยบายหรือ Think Tanks อย่าง TDRI นี้อยู่บ้าง ดูได้จากการที่เขาออกมาเปรยถึงการสนับสนุนสถาบันวิจัยเชิงนโยบายในประเทศไทย “ของไทยเรายังขาดตรงนี้มาก ไม่มีองค์กรที่เป็น Think Tank คนที่พูดทุกวันนี้ มีตั้งแต่พูดเพราะเข้าใจเอาเอง พูดเพราะฟังเขามาแล้วเชื่อเลย บางคนก็แต่งเรื่องเอาเองเพราะเรามีหนังสือนิยายมากกว่าตำราเรียน หรือหนังสือที่เป็นองค์ความรู้”[15]

            ในเมืองไทยถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วสถาบันวิจัยเชิงนโยบายของไทยมีสภาพที่แข่งขันกันน้อยกว่ามาก หากวัดกันด้วยการยอมรับจากแวดวงการทูตระหว่างประเทศ ที่มีการเผยแพร่เคเบิ้ลการสื่อสารออกมาใน Wikileaks แล้ว ของประเทศไทยจะมีการพูดถึงเฉพาะ TDRI[16] (มีการพูดถึงสถาบันพระปกเกล้าฯ ในฐานะสถาบันวิจัยเชิงนโยบายอยู่บ้าง แต่ถ้าจะว่าไปสถาบันพระปกเกล้าฯ มีลักษณะเด่นในแง่การเป็นสถาบันฝึกอบรมในลักษณะเดียวกับวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรมากกว่า) ในขณะที่มาเลเซียมีสถาบันวิจัยเชิงนโยบายที่ถูกอ้างอิงในเคเบิลอย่างน้อยสามแห่งด้วยกัน[17]

 

 

 

            ผมเชื่อว่าคุณภาพการถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะในประเทศไทยยังมีน้อยอยู่ก็เพราะเหตุผลที่มีการแข่งขันกันนำเสนอความเห็นด้านนี้น้อยเป็นปัจจัยหลัก มือเศรษฐกิจที่ทำงานให้กับรัฐบาลหลังฉากก็หลีกเลี่ยงที่จะออกมาตอบโต้ในที่สาธารณะทั้งที่อันที่จริงถ้าจะตอบโต้ก็สามารถทำได้ แต่กลับกลายเป็นการตอบโต้ที่มี เป็นการตอบโต้ด้วยวาทกรรมทางการเมืองเสียมากกว่าซึ่งผิดฝาผิดตัว รังแต่จะทำให้ฟังไม่ขึ้นไปเสียอีก (เช่นไม่มีการพูดเรื่องหลักวินัยทางการคลัง และหลักประชาธิปไตยทางการคลังเลยเป็นต้น) จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่คนชั้นกลางจะรู้สึกว่ารัฐบาลมีจุดอ่อนด้านเศรษฐกิจ และนับต่อจากนี้ไปแนวรบด้านนี้จะถูกเจาะมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท ทั้งที่สองเรื่องนี้มีความจำเป็นกับประเทศชาติและไม่ว่าพรรคการเมืองไหนขึ้นมาบริหารก็จะต้องดำเนินการเหมือนกัน (แม้จะมีรายละเอียดการดำเนินการที่ต่างกันก็ตามที)

            ผมเคยไปเข้าเยี่ยมพูดคุยกับคุณเสนาะ อูนากูลอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ความจริงแวดวงผู้นำทางความคิดเหล่านี้ไม่ใช่แวดวงที่กว้างขวางอะไรมากมายนัก แต่เป็นแวดวงแคบผู้คนรู้จักกันหมด และมักแลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์ของรัฐบาลอยู่เนือง ๆ ผมได้รับทราบทัศนะของผู้นำทางความคิดเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่มีความเห็นทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาล แต่ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลนั้นออกจะมากอยู่สักหน่อย

            ยิ่งถ้ารัฐบาลเพียงแต่ปรับครม. ปรับยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ แต่เนื้อหาสาระการบริหารจัดการยังขาดการฟังความเห็นจากภาคประชาชน นอกเหนือจากการปรับประสิทธิภาพการบริหารงานด้วยแล้ว การทำงานยังเห็นแก่เฉพาะพวกพ้องของตนให้ตำแหน่งรัฐมนตรีหรือที่ปรึกษาในฐานะของรางวัลทางการเมืองแทนที่จะเป็นการทำงานอย่างจริงจัง ไม่มีการดำเนินนโยบายเชิงรุก ก็สงสัยว่าคนเหล่านั้นคงจะไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น

 

 


[5] ดูบทความของกุลลดา เกษบุญชู มี้ด ใน siamintelligence: คำอธิบายอยู่ที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ในประการแรก ได้มีการกำหนดมาตรการทางการเงินที่ไม่ยืดหยุ่น เช่น ไม่ยอมเพิ่มช่วงของการขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้กำหนดมาตรการรับมือกับปัญหาการเงินโดยให้การลดค่าเงินเป็นทางเลือกสุดท้าย ที่น่าสนใจคือไอเอ็มเอฟได้ให้การสนับสนุนต่อการกำหนดมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งก็เท่ากับการสนับสนุนให้มีการปกป้องค่าเงินบาทนั่นเอง, ดูเพิ่มเติมที่ http://www.siamintelligence.com/the-book-save-life-3/

[7] ลองดู infographic ที่ไทยรัฐสรุปและเปรียบเทียบนโยบายทั้งคู่ เอาไว้ได้ดีที่นี่ http://www.thairath.co.th/page/price_guarantee

[9] มีงานวิจัยที่ชี้ว่าแม้ราคาข้าวในตลาดโลกจะไม่กลับไปอยู่ที่ตันละ $US 300 - $US 400 เหมือนในอดีต แต่ก็จะทรงราคาอยู่ในระดับปัจจุบันที่ $US 500 - $US 600 ไปอีกหลายปี ดูข้อมูลเพิ่มเติม ftp://ftp.fao.org/docrep/fao/011/ak232e/ak232e00.pdf

[10] ดูข่าวความเคลื่อนไหวการจัดตั้ง OREC https://www.facebook.com/AseanImportExportTrading/posts/288811564558784

[13] ดูข้อมูลเพิ่มเติม http://tdri.or.th/wp-content/uploads/2012/12/rice-pledge-press-training.pdf

[16] ดูข้อมูลเพิ่มเติม http://cablegatesearch.net/search.php?q=TDRI&qo=35840&qc=0&qto=2010-02-28

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: