‘ไผ่ป่า’พันธุ์ไม้แห่งป่าเบญจพรรณ ต้นหญ้ายักษ์ที่มีประโยชน์สารพัน กลางป่าใหญ่ที่ไม่มี‘ต้นสัก’แซมปน

อำนวย อินทรักษ์ 26 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 9026 ครั้ง

ถนนแหวกเข้าป่าเลาะชายเขาไต่ระดับขึ้นไป

 

ป่าที่เห็นก่อนเป็นลำดับแรก เป็นป่าที่มีความสำคัญในประเทศไทยของเราเหลือเกิน เพราะเป็นป่าขนาดใหญ่ ที่มักจะมีไม้คุณภาพดีทางการก่อสร้างขึ้นอยู่อย่างมากมาย บ้านเรือนไม้ทั้งหลายทำขึ้นมาจากไม้ในป่าชนิดนี้เกือบทั้งนั้น และใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ดีที่สุด ยิ่งกว่าไม้จากป่าใด ๆ ในโลกนี้

 

 

 

 

สภาพป่าออกจะแล้ง ไม่มีที่ลุ่มน้ำขัง ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ จึงออกจะโตช้า และแกร่งเกินไม้จากป่าอื่น จะเป็นรองในเรื่องความแข็งแกร่ง ก็เพียงไม้จากป่าเต็งรังที่แล้งกว่า ต้นไม้โตช้ากว่าเท่านั้น

 

เพราะต้นไม้นั้น ยิ่งโตช้าก็มักจะยิ่งแข็ง ยิ่งแกร่ง

 

นักวิชาการท่านเรียกป่าชนิดนี้ว่า “ป่าผสมผลัดใบ”

 

แปลจากภาษาอังกฤษว่า Mixed deciduous forest ความหมายคือ เป็นป่าที่มีพรรณไม้ผสมกันทั้งไม้ผลัดใบและไม่ผลัดใบ

 

ที่ว่าไม้ไม่ผลัดใบ ก็ไม่ใช่มันจะไม่ผลัดใบแก่ทิ้งเสียทีเดียว แต่มันจะค่อย ๆ ผลัดใบเก่าและงอกใบใหม่ทีละใบสองใบเรื่อยไป ไม่ใช่ทิ้งใบเก่าพรึบ แล้วงอกใบใหม่พรับ พร้อมกันทั้งต้นเหมือนกับไม้ผลัดใบ

 

งงหน่อยๆ ใช่ไหมล่ะ ก็...พูดแบบวิชาการไง

 

บางทีเรียกป่าชนิดนี้ว่า “ป่าเบญจพรรณ” เหมือนกับที่เคยเรียกกันมานาน

 

คำว่าเบญจพรรณ พจนานุกรมบอกว่าหมายถึง ห้าสี ห้าอย่าง หรือประมาณว่าหลายอย่างคละกัน

 

ผมจึงสันนิษฐานที่มาของชื่อป่าชนิดนี้หมับเข้าให้ว่า มาจากคุณสมบัติของมันนั่นเอง คือ ธรรมดาของป่าชนิดนี้ มีไม้หลายชนิดที่มีคุณภาพดีล้ำเลิศในการก่อสร้าง และทำเฟอร์นิเจอร์ เพราะมันทั้งแข็ง ทั้งแกร่ง ทั้งเหนียว รับแรงได้ดี ทนทาน เนื้อแน่น ลูบละเอียดเนียน แล้วยังลวดลายสวยงาม แบบเข้ม ๆ อีกต่างหาก ยากที่จะมีไม้ในป่าชนิดอื่นในโลกดีเท่า แล้วมันยังมีจำนวนมากพออีกต่างหาก

 

จัดเป็นไม้ชั้นเทพก็คงได้

 

 

 

 

ไม้ขั้นเทพทั้งห้า ที่อยู่คู่ป่าเบญจพรรณ คือ สัก ประดู่ แดง มะค่า และชิงชัน หรือเก็ดแด

 

ป่าเบญจพรรณนี้ ถ้าจะว่าอย่างนักวิชาการแล้ว บางทีท่านก็แบ่งย่อยลงไปอีก เป็นเบญจพรรณที่มีไม้สัก กับเบญจพรรณที่ไม่มีต้นสักขึ้น

 

ไม้สักธรรมชาตินั้น มีแต่ที่ภาคเหนือ เพราะมันชอบอากาศแบบ หน้าร้อนร้อนจัด หน้าหนาวหนาวจัด ดินระบายน้ำดี และอากาศแห้ง อย่างที่บนภูเขา หรือที่เชิงเขา

 

เบญจพรรณเขาใหญ่เป็นพวกที่ไม่มีต้นสัก ต้นสักที่เห็นใกล้ ๆ กับศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่นั้น คนนำมาปลูกไว้ ตั้งแต่เมื่อไรแล้วก็ไม่รู้ สอบถามคนเก่าหลายคนแล้ว ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจน น่าจะสี่ห้าสิบปี พอ ๆ กับการประกาศให้เขาใหญ่ เป็นอุทยานแห่งชาติอันดับหนึ่งของประเทศไทย

และธรรมดาของป่าเบญจพรรณทั่วไปนั้น มักจะมีไผ่ขึ้น เป็นธรรมชาติ หรือนิเวศวิทยาของมันว่างั้นเถอะ ไม่ว่าจะเป็นเบญจพรรณแบบไหนก็ตาม จะมีหลายชนิดไผ่ขึ้นเสียด้วยซิครับ

 

 

 

 

ป่าเบญจพรรณเขาใหญ่ฝั่งปากช่องก็เหมือนกัน มีทั้งไผ่ลำเล็ก ที่เรียกว่า ไผ่ไร่ ไผ่ลำใหญ่แบบมีหนาม เรียกไผ่ป่า และลำใหญ่แบบไม่มีหนาม เรียกไผ่พอก

 

ไผ่ ซึ่งเป็นหญ้ายักษ์ที่อายุยืนยาว ขยายเหล่ากอแพร่พันธุ์ออกไปได้ไม่หยุด บางชนิดอายุเกือบร้อยปี จึงจะออกดอกและเป็นผล ผลไผ่ลักษณะคล้ายเมล็ดข้าว ซึ่งก็เป็นหญ้าอีกจำพวกหนึ่ง แต่เป็นหญ้าขนาดเล็กหญ้าเด็ก ๆ ข้าวกับไผ่นั้น ออกรวงออกลูกให้ผลแล้วตาย คงเหลือไว้แต่เชื้อพันธุ์เหมือนกัน

 

แต่ต่างกันตรงที่ไผ่อายุนานมาก พอๆ กับคน คือร่วมร้อยปี ไม่ใช่อายุสามเดือนเหมือนข้า;

 

ถ้าหลายล้านปีที่แล้ว เกิดอาเพท พืชพรรณในโลกกลับตาลปัตร์กับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นไผ่ออกรวงเร็ว อายุสั้น ส่วนข้าวอายุยืน เจ็ดแปดสิบปีถึงจะออกผล ผู้คนบนโลกก็คงจะหุงขุยไผ่กินแทนข้าว

 

ไผ่มีนับร้อยนับพันชนิด ทุกชนิดออกผล หรือเมล็ด แล้วเลี้ยงให้ผลแก่จัด พร้อมที่จะงอกเป็นต้นกล้า หรือขยายพันธุ์ได้แล้ว มันก็พร้อมใจกันตายแบบยกกอ ไม่มีเหลือหลอแม้แต่หน่อเดียว ถึงคนจะแยกกิ่งก้านมันไปชำแล้วปลูกที่ไหน ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลข้ามน้ำข้ามทะเลก็ตาม มันก็จะได้รับสัญญาณ ให้ตายอย่างพร้อมเพรียงกัน รู้กันโดยอัตโนมัติตามรหัสดีเอ็นเอ เราเรียกว่า ไผ่ตายขุย

 

ขุยไผ่ เป็นอาหารโปรดของสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะนกและไก่ทั้งหลาย

 

ผมเป็นอีกคนหนึ่ง ที่สนใจไผ่ ชอบต้นไผ่ ลำไผ่ กอไผ่ หน่อไผ่  เมื่อมาอยู่ประจำที่เขาใหญ่ ก็ต้องขึ้นและลงเขาอยู่บ่อย ๆ ซึ่งก็จะทำให้เห็นไผ่ข้างทางนี้อยู่ตำตา ตลอดทุกสัปดาห์เดือนปี เป็นเวลากว่าสิบปี

 

 

 

 

แต่ละฤดูกาล จะเห็นไผ่เปลี่ยนแปลงไปตามวัย ทั้งแก่ ไผ่หนุ่ม และหน่อไผ่ แล้ววันหนึ่ง  ผมก็ได้ข้อคิดสำคัญและน่ารัก จากไผ่พวกนั้น

 

ทุก ๆ ปลายฤดูฝน จะเห็นไผ่หนุ่ม ยังไม่มีกิ่งก้านสาขา  มีเพียงปลายแหลม ชะลูดตรงขึ้นสู่ท้องฟ้า อย่างท้าทายกับช้างป่าและพายุร้าย

 

ลำไผ่หนุ่มจึงตรง จนออกจะเด่นเป็นสง่า ไม่คด ไม่งอ ไม่เอียงเฉ หรือโอนเอน...เลยแม้แต่น้อย แม้แต่ยามลมแรงก็ไม่เปลี่ยนแปลง จนดูคล้ายกับว่า  ชีวิตข้ามีท้องฟ้าเป็นเป้าหมาย กระนั้น

 

อีกมุมหนึ่ง ลำไผ่อ่อน หรือหน่อแก่ นั้น แท้จริงแล้วมันใช้การงานอะไรแทบไม่ได้เลย  กินหน่อก็เลยเวลาสมควรเสียแล้ว แก่ไป  ครั้งจะอามาจักตอก  ก็ใช้ไม่ได้อีก อ่อนไป  ที่เป็นประโยชน์ในป่าคือ มันคืออาหารโปรดของช้าง

 

ไผ่วัยนี้ ได้แสดงอาการบ่งบอก ความแข็งแบบมะลื่อทื่อ ซึ่งจะต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับไผ่แก่ ที่ผ่านร้อน ผ่านแล้ง ผ่านหนาว โต้ลมแรงทุกรอยต่อฤดูกาลมา ซึ่งจะมีองค์ประกอบมากขึ้น คือมีทั้งกิ่งและใบ

 

จนดูเหมือนกับว่า ลำไผ่แก่ ๆ นั้นมีแต่ภาระอันหนักอึ้งลำไผ่ อันผ่านร้อนผ่านหนาวมานานปีนั้น จะมีทั้งความเหนียว และความแกร่ง  โดยเฉพาะตรงข้อ และตาหรือแขนงนั้น จะทั้งแข็งและแกร่งยิ่งกว่าไม้ใดๆ  ผมรู้สึกว่า มันจะแข็งและแกร่งยิ่งกว่าไม้เนื้อแข็งทั่วไปเสียอีก มีดที่ใช้ตัดฟันตาไผ่นั้น  ถ้าเหล็กไม่ดี ไม่กล้าจริง  สับเข้าไปถึงสะท้าน หงายคมมีดดู  อ้าวบิ่นซะแล้ว

 

 

 

 

เหล็กกล้าที่ผ่านไฟแดงวาบ ๆ มาแล้ว ยังบิ่นได้เมื่อมาเจอตาไผ่แต่ในความแข็ง และแกร่ง  กลับแฝงไว้ด้วยความอ่อนช้อย ระเริงลม เพียงพัดแผ่ว ๆ ต้นแก่ก็ไหวลู่ พะเยิบพะยาบ อ่อนล้อเล่นลมลมแรงก็พลิ้วสะบัด ครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงแม้จะมีพายุกล้าบ้าบิ่น กระแทกกระทั้น กระโชกโฮกฮาก ตึงตังลั่นเปรี้ยง กิ่งไม้น้อยใหญ่หักโค่นโครมครามระเนระนาดอย่างไร  ก็ไม่ทำให้ไผ่แก่ ๆ ที่มีภาระนักหนานั้น เอนราบ หรือล้มกลิ้งลงไปได้เลย

 

ไผ่เพียงลู่ระเนน  โบกสะบัด กระชากกลับ  เพื่อที่จะลู่ลงใหม่อีกครั้ง อีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง เท่านั้น

จึงนิยามไผ่ได้อีกอย่างหนึ่งว่า

ถ้ามันแข็ง แปลว่า มันยังอ่อน

แต่ถ้ายิ่งอ่อน ก็แน่นอนว่ามันยิ่งแกร่ง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: