รถแท็กซี่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทยโดย พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตนายทหารที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ร่วมกับพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ ก่อตั้งบริษัท แท็กซี่สยาม ขึ้นเมื่อ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 กิจการแท็กซี่ดังกล่าว เพื่อช่วยทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้มีอาชีพหลังจากปลดจากราชการ โดยนำเอารถเก๋งยี่ห้อออสติน ขนาดเล็กออกวิ่งรับจ้าง โดยติดป้าย "รับจ้าง" ไว้ข้างหน้า-หลังของตัวรถ
แท็กซี่บุกเบิกของไทย คิดค่าโดยสารตามระยะทางเหมือนในปัจจุบัน โดยในเวลานั้นคิดค่าโดยสารเป็นไมล์ / ไมล์ละ 15 สตางค์ ในสมัยนั้นจึงนิยมเรียกว่า "รถไมล์"
ปล. 1 ทีมงาน รู้ไปทำไมว่า ไม่แน่ใจว่า พระยาเทพหัสดินคือโชเฟอร์แท็กซี่คนแรกด้วยหรือไม่ แต่เดาว่าน่าจะเป็นเจ้าของอู่แท็กซี่คนแรก โดยแท็กซี่ในสมัยบุกเบิกมีอยู่ 14 คัน แต่ประสบปัญหาขาดทุนจนต้องเลิกกิจการในที่สุด เนื่องจากค่าโดยสารแพง และผู้โดยสารก็ยังไม่คุ้นเคยจึงไม่ยอมนั่ง นอกจากนี้ในกรุงเทพฯ ยังมีรถรับจ้างอื่นๆ อยู่มากและราคาถูกกว่า ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2490 มีผู้นำรถยนต์นั่งมาให้บริการในลักษณะรถแท็กซี่อีก โดยเป็นรถยี่ห้อเรโนลต์ คิดค่าโดยสาร กม.ละ 2 บาท
ปล. 2 หลังจากรถเรโนลต์เริ่มเสื่อมสภาพแล้วก็มีการนำรถออสตินแวนสองประตูสีเทามาใช้แทน และเปลี่ยนเป็นรถดัทสันบลูเบิร์ด เป็นโตโยต้า มิตซูบิชิ แลนเซอร์แชมป์ กระทั่งยุคปัจจุบัน อู่นิยมนำรถยี่ห้อโตโยต้ามาทำเป็นรถแท็กซี่มากที่สุด
ปล. 3 ถือว่ากิจการแท็กซี่ในประเทศไทย คิดค่าโดยสารตามระยะทางมาตั้งแต่ต้น และแท็กซี่ติดมิเตอร์ก็มีมาตั้งแต่ปี 2501 อย่างไรก็ตามสมัยนั้นไม่มีการบังคับ ทั้งโชเฟอร์และผู้โดยสารก็นิยมชำระค่าโดยสารตามการต่อรองและความพอใจทั้งสองฝ่าย กระทั่งในปี 2535 การจราจรในกรุงเทพฯ เริ่มติดขัด การต่อรองค่าโดยสารจะยิ่งทำให้จราจรติดขัด กรมการขนส่งทางบกในฐานะผู้ควบคุมการขนส่งสาธารณะจึงกำหนดให้ติดมิเตอร์ แท็กซี่ในกรุงเทพฯ ก็ติดมิเตอร์มาจนถึงปัจจุบัน
ปล. 4 พระยาเทพหัสดิน ในปี 2481 ถูกควบคุมตัวหลังการปราบปรามกบฎพระยาทรงสุรเดช ตรงกับ สมัยที่ จอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยพระยาเทพหัสดินถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และขังไว้ที่เกาะตะรุเตา ต่อมาเมื่อนายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีทำให้พระยาเทพหัสดินได้รับการปล่อยตัวในปี 2487 หลายปีต่อมาพระยาเทพหัสดิน ได้รับหนังสือขอโทษจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เข้าใจผิดในเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดและขอการอโหสิ
ต่อมาเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงครามมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง พระยาเทพหัสดินได้เลื่อนยศจาก พลโท เป็น พลเอก และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในปี 2491 ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
พระยาเทพหัสดิน ถึงแก่กรรมในวันที่ 4 กรกฎาคม 2494
ปล. 5 "บริษัท แท็กซี่สยาม" สมัยที่พระยาเทพหัสดินก่อตั้ง ไม่เกี่ยวกับ "สหกรณ์แท็กซี่สยาม" ที่ปัจจุบันมีนายวิฑูรย์ แนวพานิช เป็นประธานสหกรณ์
ปล. 6 เท่าที่ทีมงานทราบ หลังจากสมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของพระยาเทพหัสดิน ไม่ค่อยปรากฏบุคคลใดที่ประกอบอาชีพในวงการแท็กซี่แล้วได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอีกเลย
[ที่มา: [1] http://th.wikipedia.org/wiki/พระยาเทพหัสดิน
[2] http://mail.vcharkarn.com/varticle/39102
[3] http://th.wikipedia.org/wiki/ชินวัฒน์_หาบุญพาด
[4] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1332649892
ที่มา https://www.facebook.com/know4what // รู้ไปทำไมว่า
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ